แค่เพื่อนครับเพื่อน

ข้อเสนอทางออกของทางแยกสังคมไทยในละครลูกกวาด

กิตติศักดิ์ คงคา  

 

 

            หากจะพูดถึงโครงสร้างสังคมไทยในช่วงเวลาหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา คงไม่มีภาพใดฉายชัดมากไปกว่าความแตกแยกทางอุดมคติทางการเมืองและสังคมที่เปลี่ยนผ่านมาตั้งแต่ยุคสมัยของคนเสื้อเหลืองคนเสื้อแดงไปจนถึงยุคสมัยของเด็กรุ่นใหม่คนรุ่นเก่า สื่อร่วมสมัยจำนวนมากพูดถึงปรากฏการณ์ทางสังคมนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่เรื่องเล่าเหล่านั้นกลับแตกต่างออกไปเมื่อถูกเล่าผ่านน้ำเสียงของซีรีส์วาย ละครโทรทัศน์แนวที่มักจะถูกปรามาสว่าไม่ได้สื่อสารสิ่งใดกับสังคมมากกว่าการส่งเสริมวัฒนธรรมไอดอลชายรักชาย

            แค่เพื่อนครับเพื่อน (Bad Buddy Series) คือละครชุดที่ผลิตโดยบริษัท GMMTV ออกอากาศทุกวันศุกร์เวลา 20.30 น. ทางช่อง GMM25 ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2564 จนถึง 21 มกราคม 2565 บทละครดัดแปลงมาจากนวนิยายเรื่อง “หลังม่าน” เขียนโดยนักเขียนสองคนได้แก่ Afterday กับ –West– และได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เอเวอร์วาย ละครโทรทัศน์เรื่องแค่เพื่อนครับเพื่อนได้รับหลากรางวัลจากหลายเวที อาทิ รางวัล Best LGBTQ+ Program Made in Asia จากเวที Content Asia Awards 2022

            แค่เพื่อนครับเพื่อน (หลังม่าน) บอกเล่าชะตากรรมของผู้ชายสองคนได้แก่ภัทรและปราณ ทั้งคู่เกิดมาในครอบครัวที่เกลียดขี้หน้ากันและเป็นศัตรูกันในทุกช่องทาง เมื่อทั้งคู่เข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยต่อ ภัทรมาเรียนต่อคณะวิศวกรรมศาสตร์ ส่วนปราณมาเรียนต่อคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ทั้งสองคณะไม่ถูกกันและเกิดเรื่องชกต่อยกันบ่อยครั้ง ภัทรและปราณจึงเป็นคนคู่หนึ่งที่อยู่ท่ามกลางความแตกแยกจากทั้งปัจจัยภายนอก (กลุ่มเพื่อนและครอบครัว) ไปจนถึงปัจจัยภายใน (ความรู้สึกต่อต้าน) ตลอดมา

            เรื่องราวของภัทรและปราณอาจจะไม่ซับซ้อนหากความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนไม่ได้พัฒนากลายเป็นความรักในสุดท้าย เขาทั้งคู่จึงต้องพยายามรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของความรู้สึกของตนที่ขัดแย้งกับสภาพสังคมภายนอกที่ไม่เอื้อให้คนทั้งคู่รักกันได้ แต่เมื่อพัฒนาเป็นความรักแล้ว ภัทรกับปราณก็ต้องพยายามหาวิถีทางเพื่อจะจัดการกับความขัดแย้งของปัจจัยรอบด้านเพื่อรักษาความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ให้อยู่รอดปลอดภัย ท่ามกลางโจทย์ใหญ่อย่างครอบครัวที่ไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง

            แค่เพื่อนครับเพื่อนเป็นละครโทรทัศน์ในกลุ่มแนว (Genre) ที่เรียกว่าซีรีส์วาย คำว่าวายในที่นี้มาจากคำว่า Yaoi (ยาโอย) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มจากประเทศญี่ปุ่นที่ครอบคลุมถึงสื่อประเภทต่าง ๆ เช่น ละคร การ์ตูน นิยาย เป็นต้น ยาโอยจะเล่าเรื่องความรักที่มีตัวละครคู่หลักเป็นผู้ชายและผู้ชาย โดยจะมีน้ำเสียงการเล่าไปแตกต่างจากวัฒนธรรม LGBTQ+ คือยาโอยจะมองลักษณะสังคมเป็นแฟนตาซีที่ผู้ชายสามารถรักกันได้เป็นปรกติ และจะหลีกเลี่ยงการแตะต้องประเด็นเรื่องเพศสภาพความเป็นเกย์ออกไป

            ซีรีส์วายจึงมักจะถูกมองว่าเป็นวัฒนธรรมที่ฉาบฉวยและนำอัตลักษณ์ทางเพศของเกย์มาหากิน โดยมุ่งเน้นไปที่ความจิ้น (ฉากรักหวานระหว่างคู่ชายชาย) และละทิ้งประเด็นอื่นทางสังคมไปจนหมด แต่ยิ่งอุตสาหกรรมวายเติบโต วัฒนธรรมวายก็ถูกหลอมรวมไปกับวัฒนธรรม LGBTQ+ ซีรีส์วายสมัยใหม่จึงมักมีการวิพากย์ไปถึงประเด็นอื่นทางสังคมอย่างแนบเนียน สร้างประเด็นการยอมรับเพศหลากหลาย ผ่านลักษณะความบันเทิงที่ได้เติบโตอย่างต่อเนื่องและแทบจะกลายมาเป็นกระแสหลักของสังคม

            หากดูแค่เพื่อนครับเพื่อนด้วยมุมมองของซีรีส์วายธรรมดาเรื่องหนึ่ง แค่เพื่อนครับเพื่อนก็ถือเป็นเรื่องเล่าของผู้ชายสองคนที่รักกันภายใต้กรอบข้อจำกัดทางสังคมที่เต็มไปด้วยอุปสรรค ทั้งเรื่องเพศสภาพความเป็นเกย์ ทั้งเรื่องกลุ่มเพื่อนที่ไม่ถูกกัน ไปจนถึงครอบครัวที่จงเกลียดจงชังแม้อาศัยใช้รั้วร่วมกัน หากแต่เมื่อมองลึกลงไปถึงโครงสร้างของเรื่องเล่าโดยละเอียด ซีรีส์เรื่องนี้กำลังนำเสนอวิธีการดำรงชีวิตอยู่ภายใต้สภาพสังคมที่แตกแยก โดยเฉพาะมุมมองที่แตกต่างกันอย่างมากของคนในครอบครัว

            แค่เพื่อนครับเพื่อนสะท้อนความแตกแยกออกมาสามรูปแบบหลัก ผ่านความสัมพันธ์ของสามกลุ่มบุคคล ได้แก่ (1) ภัทรและครอบครัวของภัทร สะท้อนถึงสภาพสังคมชายเป็นใหญ่ (2) ปราณและครอบครัวของปราณ สะท้อนถึงสภาพสังคมอำนาจนิยม และ (3) ครอบครัวของภัทรและครอบครัวของปราณ สะท้อนถึงสภาพสังคมแตกแยกจากความเห็นต่างทางอุดมการณ์ โดยแต่ละความแตกแยกถูกนำเสนอ “ทางออก” ของปัญหาไว้อย่างแนบเนียนภายใต้วิธีการรับมือของตัวละครหลักทั้งสองตัว

 

            1) ภัทรและสภาพสังคมชายเป็นใหญ่

            ภัทรเป็นลูกชายคนโตที่เติบโตมาในครอบครัวคนจีนซึ่งประกอบไปด้วย ป๊า (พ่อ) ม้า (แม่) และภา (น้องสาว) ตลอดเวลาตั้งแต่เด็กจนโตภัทรจะถูกพ่อกดดันให้เติบโตมาตามลักษณะความเป็นชายในอุดมคติของพ่อเสมอ ภัทรต้องเรียนในคณะที่แสดงความเป็นชาย (วิศวกรรมศาสตร์) ภัทรต้องอยู่ในสถานะที่แสดงความเป็นชาย (จ่าฝูงประธานรุ่น) และภัทรจะต้องมีความสนใจที่แสดงความเป็นชาย (กีฬารักบี้) และเมื่อภัทรทำได้ ภัทรก็จะได้รับการตบรางวัลจากทั้งสิ่งของ (รถยนต์) และไม่ใช่สิ่งของ (ตำแหน่งลูกคนโปรด)

            ภาผู้เป็นน้องสาวเองก็เติบโตมาในลักษณะสังคมชายเป็นใหญ่แบบเดียวกัน แต่ความแตกต่างคือภาจะไม่ได้รับความกดดันให้เป็นไปตามที่คนเป็นพ่อต้องการ (ไม่มีข้อกดดันเรื่องการเรียน สภาพสังคม หรืองานอดิเรก) แต่ในขณะเดียวกันภาก็จะถูกกดทับด้วยบทบาทความเป็นหญิงที่ต้องรับใช้ความเป็นชายอีกที เช่น ภามีหน้าที่ต้องทำงานบ้านแทนพี่ชาย ภาจะไม่ได้รับสิ่งของ (รถยนต์) อย่างพี่ชาย และภาก็ไม่เคยมีโอกาสจะเป็นลูกคนโปรดอย่างพี่ชาย

            ความเป็นชายในครอบครัวของภัทรกลายมาเป็นปัจจัยที่กดดันทั้งลูกชายและลูกสาว ลูกชายเองก็ถูกบีบบังคับให้ต้องเป็นลูกในอุดมคติ หากผิดพลาดก็จะโบยตีตัวเองว่ายังดีไม่พอจะทำให้พ่อภูมิใจ ในขณะเดียวกันลูกสาวก็กลายมาเป็นลูกที่ไม่ถูกรักและพูดถึง ตัวละครเองแสดงบาดแผลที่ได้รับมาโดยไม่รู้ตัวเหล่านี้ออกมาในการกระทำที่พยายามตอบสนองไปทางที่สังคมชายเป็นใหญ่ต้องการ หรือแม้กระทั่งตัวละครอย่างพ่อของภัทรก็ถูกหล่อหลอมมาจากพ่อของพ่อของภัทรอีกที

            ภัทรและภาได้นำเสนอทางออกในสภาพสังคมชายเป็นใหญ่ออกมาอย่างเรียบง่าย วิธีดังกล่าวคือการไม่ส่งต่อสังคมแบบนี้ไปให้กับคนรุ่นต่อ ๆ ไปอีก เห็นได้จากถึงแม้ว่าสภาพสังคมของภัทรกับภาจะเอื้อให้กับความเป็นชาย ภัทรมีอำนาจพอจะข่มน้องสาวได้อย่างที่พ่อแม่จะไม่ต่อต้าน แต่ภัทรกับภาเองก็เลือกที่จะเข้าใจกันอย่างพี่น้องและตัดคำว่าเพศออกไป ทั้งคู่ออกแบบสภาพความสัมพันธ์ที่ปลอดภัยให้กับกันและกัน ต่างฝ่ายต่างเก็บความเจ็บปวดจากชายเป็นใหญ่ไว้ที่ตนเป็นรุ่นสุดท้าย

 

            2) ปราณและสภาพสังคมอำนาจนิยม

            ปราณเป็นลูกชายคนเดียวที่เติบโตมาในครอบครัวคนไทยที่เคร่งครัด แม่ของปราณเป็นคนเจ้าระเบียบและขีดเส้นให้ลูกเติบโตมาในเส้นทางที่สมควรโดยไม่สนใจความรู้สึกของลูก ในขณะที่สังคมบ้านของปราณสะท้อนให้เห็นลักษณะอำนาจทางเพศ สังคมบ้านปราณกลับสะท้อนให้เห็นลักษณะอำนาจทางอายุและบทบาทในครอบครัว พ่อแม่ถูกต้องเสมอ พ่อแม่เป็นผู้บงการชีวิตลูกเสมอ และพ่อแม่เป็นผู้กำหนดว่าอะไรถูกอะไรควร

            ปราณจึงเติบโตมาท่ามกลางสภาพครอบครัวที่กดดัน พ่อแม่ของปราณไม่มีมีลักษณะทางอุดมคติด้านเพศอย่างบ้านภัทรที่มีกรอบว่าผู้ชายที่ดีจะต้องมีลักษณะแบบใด ในทางตรงข้าม พ่อแม่ของปราณดูจะเปิดกว้างกว่าในลักษณะการเลือกใช้ชีวิต เช่น รับได้หากปราณจะเป็นเกย์ แต่พ่อแม่ของปราณกลับมีอุดมคติต่อความเป็นลูกที่ชัดเจน นั่นคือลูกที่ดีจะต้องเชื่อฟังพ่อแม่และถือคำของพ่อแม่เป็นประกาศิต หลายครั้งคำสั่งของพ่อแม่ของปราณก็ไม่มีเหตุผลเพียงแต่ต้องการใช้อำนาจจากความเป็นพ่อแม่เท่านั้น

            ปัญหาของครอบครัวปราณดำเนินมาจนถึงจุดแตกหักเมื่อปราณไม่สามารถทำตามคำสั่งพ่อแม่ได้อีกต่อไป เมื่อความต้องการของลูกและพ่อแม่แตกต่างกันชัดเจน รอยบาดหมางใหญ่ในบ้านก็เกิดขึ้น ปราณหนีออกจากบ้านไปช่วงเวลาหนึ่งก่อนจะกลับมาพูดคุยทำความเข้าใจกับพ่อแม่ในสุดท้าย นั่นอาจจะแสดงออกถึงทางออกของปัญหาที่ปราณพยายามจะนำเสนอให้พูดความต้องการของตนออกไปอย่างตรงไปตรงมา หลีกเลี่ยงการอดทนทำตามคำสั่ง และแสวงหาจุดร่วมในการอยู่ด้วยกัน

 

            3) ภัทรปราณและสภาพสังคมแตกแยกทางอุดมการณ์

            ปมปัญหาใหญ่ที่สุดในเรื่องแค่เพื่อนครับเพื่อนอยู่ที่ประเด็นความขัดแย้งระหว่างบ้านภัทรและบ้านปราณ พ่อของภัทรกับแม่ของปราณเกลียดกันด้วยปมปัญหาในอดีต นั่นส่งผลทำให้บ้านของภัทรบังคับให้ภัทรต้องเกลียดปราณ และบ้านของปราณบังคับให้ปราณต้องเกลียดภัทร แต่เมื่อภัทรกับปราณรักกัน นั่นจึงกลายเป็นความขัดแย้งรุนแรงระหว่างภัทรกับครอบครัวและปราณกับครอบครัว เหมือนซีรีส์กำลังโยนปัญหามาให้คนดูว่าหากเรามีทัศนคติทางอุดมการณ์ที่แตกต่างจากพ่อแม่อย่างรุนแรง เราจะทำอย่างไร?

            ความขัดแย้งในระดับครอบครัวของภัทรปราณจึงไม่ได้สะท้อนถึงแค่ปัญหาของการเกลียดขี้หน้าคนข้างบ้าน แต่เราสามารถทาบทับปัญหาระหว่างลูกกับพ่อแม่ด้วยปัญหาใดก็ได้ เช่น พ่อแม่รับไม่ได้ที่ลูกเป็นเกย์ พ่อแม่รับไม่ได้ที่ลูกเรียนคณะที่ตัวเองไม่ชอบ พ่อแม่รับไม่ได้ที่ลูกมีทัศนคติทางการเมืองที่แตกต่างไปจากตน โดยภาพของภัทรปราณในแค่เพื่อนครับเพื่อนต่างก็แสดงถึงขั้วตรงข้ามตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งในแง่ระหว่างภัทรกับปราณเอง หรือในแง่ความเป็นลูกที่มีต่อพ่อแม่

            แค่เพื่อนครับเพื่อนแฝงนัยยะทางการเมืองไว้หลากหลายจุดในเรื่องราว อาทิ ถังขยะหน้าบ้านของภัทรกับปราณเป็นสีเหลืองกับสีแดงอันเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองไทยที่แตกแยกมายาวนานกว่าทศวรรษ หรือในฉากทะเลาะวิวาทกันระหว่างกลุ่มเพื่อนของภัทรกับปราณในตอนที่หนึ่งของซีรีส์ ภัทรกับปราณก็ไปหลบซ่อนตัวเองอยู่ในซอกแคบ ๆ ในมหาวิทยาลัยหน้าห้องที่มีหมายเลขของกฎหมายมาตราที่กำลังเป็นที่วิพากย์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในสังคม

            เมื่อเหตุการณ์ในเรื่องเข้มข้นมาจนถึงลำดับที่พ่อแม่ของภัทรกับปราณจับได้แล้วว่าคนทั้งคู่คบหาเป็นแฟนกัน ตัวละครทั้งสองตัวจึงเลือกที่จะหนีออกจากบ้านเพื่อไปทบทวนเป้าหมายชีวิตของตนเองต่อว่าจะทำอย่างไรต่อไป จากตอนแรกที่ใช้วิธีแอบคบกันโดยไม่ให้พ่อแม่รู้ แต่เมื่อพ่อแม่รู้แล้วจะเป็นอย่างไรต่อ สะท้อนกลับมาที่สภาพของหลายครอบครัวที่ไม่มีรู้อุดมการณ์ซึ่งกันและกันจึงไม่เคยบาดหมาง แต่เมื่อรู้แล้วว่าพ่อแม่ต่างกับลูกอย่างไรบ้าง แล้วครอบครัวจะดำเนินไปต่ออย่างไร

            ภัทรกับปราณเลือกวิธีการตัดสินใจที่จะกลับบ้านมาบอกพ่อแม่ว่าต่างฝ่ายต่างเลิกคบกันแล้ว แสดงตนว่าเป็นลูกที่อยู่ในโอวาทพ่อแม่ตามเดิม ในขณะเดียวกันภัทรกับปราณก็แอบคบกันต่อไปโดยที่คาดหมายว่าพ่อแม่จะไม่รู้ แต่บทละครของแค่เพื่อนครับเพื่อนก็แสดงออกมาในตอนจบว่าพ่อแม่ของทั้งคู่ก็ต่างรู้กันหมดอยู่ดีว่าลูกชายแอบคบกัน แต่พ่อแม่ของทั้งสองฝ่ายก็ยอมถอยกันคนละก้าวให้ลูก คือไม่เลือกที่จะไปขัดขวางแบบในอดีต แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่อาจยอมรับได้อย่างเต็มปากเต็มคำ

            แค่เพื่อนครับเพื่อนกำลังเสนอทางออกให้กับเหล่าผู้คนที่จำเป็นต้องอยู่ในสภาพสังคมที่มีความขัดแย้งทางอุดมการณ์อย่างรุนแรงว่า เราอาจจะต้องมองหาคุณค่าของความสัมพันธ์และรักษาสิ่งที่ดีเหล่านั้นไว้ หลีกเลี่ยงการปะทะกันซึ่งความคิดทางอุดมการณ์ที่ไม่มีใครถูกใครผิด ผสานสังคมที่เต็มไปด้วยความแตกแยกให้ดำรงอยู่ต่อไปได้ ในขณะเดียวกันเบื้องลึกภายใน เราก็ยังต้องหยัดยืนในความเชื่อทางอุดมการณ์ที่เราเชื่อมั่นว่าถูกต้องและไม่สูญเสียตัวตนของตนเองไปอีกด้วย

            จากคำพูดของเจ้าของบ้านพักที่ให้ภัทรกับปราณไปอาศัยตอนหนีออกจากบ้านที่ว่า... ที่เอ็งถามว่าทำไมลุงถึงไม่เลิกทำ (หมู่บ้านปลอดขยะ) อะนะ ลุงคิดว่าต่อให้ทำแล้วถึงมันจะเปลี่ยนโลกทั้งใบไม่ได้ แต่มันเปลี่ยนความรู้สึกของลุงที่มีต่อโลกใบนี้ได้ เอ็งอาจจะมองว่าลุงคนเดียวเปลี่ยนโลกนี้ไม่ได้ แต่ลุงอยากให้มองว่าโลกนี้ก็เปลี่ยนคนอย่างลุงไม่ได้เหมือนกัน (บทละครเรื่องแค่เพื่อนครับเพื่อน ตอน 11)

            บทละครเรื่องแค่เพื่อนครับเพื่อนซึ่งดัดแปลงมาจากนวนิยายเรื่องหลังม่านนี้จึงกำลังเสนอแก่นเรื่องที่บอกว่าเราอาจจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งได้ แต่เราสามารถหาวิธีอยู่ร่วมกับโลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งอย่างมีความสุขและไม่สูญเสียตัวตนไปได้ และนั่นจึงกลายมาเป็นตอนจบที่ทั้งฝั่งภัทรปราณและพ่อแม่ต่างก็ยังยึดถือความเชื่อของตนเองต่อไป แต่ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถอยู่ร่วมกันในครอบครัวได้อย่างมีความสุข

            แค่เพื่อนครับเพื่อนอาจจะทำงานกับคนดูในฐานะซีรีส์วายสร้างความสุขและส่งคนดูให้เข้านอนไปพร้อมกับรอยยิ้ม แต่สารประกอบตั้งต้นตั้งแต่นวนิยายไปจนถึงบทละคร ชะตากรรมของตัวละครหลักทั้งสองตัวต้องอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งมหาศาลไปตลอดทั้งเรื่อง นั่นก็ไม่ต่างกับชีวิตของคนดูที่ต้องประสบกับความขัดแย้งครั้งแล้วครั้งเล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพสังคมไทยในปัจจุบันที่กำลังมีช่องว่างระหว่างอุดมการณ์ทางการเมืองในแต่ละช่วงวัยอย่างชัดเจน

            บทสรุปของชีวิตภัทรกับปราณจึงกลายเป็นข้อเสนอต่อสังคมว่าให้เปลี่ยนจากมุมมองที่พยายามจะชี้นิ้วให้ทุกคนในสังคมเห็นด้วยไปในแนวเชื่อใดแนวเชื่อหนึ่ง มาเป็นการทำความเข้าใจและยอมรับกับความเชื่อที่หลากหลายในสังคมให้ได้ หาพื้นที่ที่รักษาความสัมพันธ์ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างไม่บาดหมาง ส่วนเรื่องอุดมการณ์ต่าง ๆ ก็เก็บรักษาไว้ใช้ในยามที่ต้องใช้ แต่ไม่ใช่หยิบขึ้นมาวางบนโต๊ะกับข้าวและต่อสู้ฟาดฟันกันให้ครอบครัวแตกหัก

            ภาพสะท้อนของบทละครไม่ได้พยายามบอกว่าลูกกำลังเป็นตัวร้ายในเรื่องเล่าของพ่อแม่ หรือพ่อแม่กำลังเป็นตัวร้ายในเรื่องเล่าของลูก แต่ต่างฝ่ายต่างก็เป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งที่มีความต้องการของตนเองที่แน่วแน่ และเมื่อต้องมาสวมบทบาทในความเป็นครอบครัว มีความต้องการขัดแย้งจากอีกฝ่าย ปัญหาในสังคมจึงเกิดขึ้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ลูกต้องถูกต้องหรือพ่อแม่จะต้องถูกต้อง หากแต่ก็ถอยกันออกมามองในฐานะความเป็นมนุษย์และตัดสินกันไปตามเนื้อผ้า

            ภัทรกับปราณจึงเป็นภาพสะท้อนตัวตนของผู้คนในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งสารพัดจากภายในและภายนอก ปัญหาเรื่องอคติด้านเพศ วัย และอุดมการณ์ และแค่เพื่อนครับเพื่อนก็ได้เสนอทางออกเรียบง่ายผ่านการแก้ปัญหาของตัวละครหลัก คือ ไม่ส่งต่อสภาพสังคมเลวร้ายให้ยุคสมัยต่อไป หันหน้ามาพูดถึงปัญหากันอย่างตรงไปตรงมา และแสวงหาวิธีการอยู่ร่วมในความความสัมพันธ์แตกแยกนั้นโดยไม่สูญเสียตัวตนไป

            สังคมอุดมคติที่ผู้คนล้วนมองเห็นและมีความเชื่อไปในทิศทางเดียวกันโดยสมบูรณ์คงจะเป็นไปไม่ได้ แต่สภาพความเชื่อของผู้คนที่มองเห็นและยอมรับความแตกต่างทางความคิดของผู้อื่นและหาหนทางอยู่ร่วมกันอย่างให้เกียรติซึ่งกันและกันย่อมเป็นไปได้ แค่เพื่อนครับเพื่อนจึงอาจจะไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าการหยิบสภาพสังคมแตกร้าวมาวางบนโต๊ะอย่างตรงไปตรงมา สื่อสารกับผู้รับสื่อว่านี่เป็นเรื่องปรกติว่าที่ไม่อาจแก้ไขได้ ก่อนปลอบประโลมด้วยความเชื่อสุดท้ายว่าคนเราทุกล้วนโอบรับความแตกต่างของสังคมไว้ได้อย่างแน่นอน

 

รายการอ้างอิง

            บริษัท จีเอ็มเอ็มทีวี จำกัด (ผู้ผลิต). (2565, 14 มกราคม). Bad Buddy แค่เพื่อนครับเพื่อน [ละครโทรทัศน์]. กรุงเทพฯ : จีเอ็มเอ็ม25.

 

Visitors: 81,108