พ้นท้องทะเล ทุ่มเทฝันใฝ่ อยู่ในโลกงาม

The Little Mermaid (2023)

อินจันทน์ สินธนพรตะวัน 

 

 

          ความทรงจำเกี่ยวกับเรื่องเล่า “นางเงือก” (Mermaids) ตัวละครดังกล่าว ผ่านการเปลี่ยนแปลงทั้งทางความหมายและการนำความคิดนั้น ๆ ไปใช้ ภายใต้การเล่าเรื่องซ้ำที่มีประวัติเก่าแก่นับ 1,000 ปีก่อนคริสตกาล ทำให้ผู้วิจารณ์นึกถึงวาทะของ วอลเตอร์ เบนจามิน (Walter Benjamin) ในหนังสือรวมบทความ Illuminations (1968) ที่ว่า “การเล่าเรื่องย่อมเป็นศิลปะแห่งการเล่าซ้ำแล้วซ้ำเล่า” และแนวคิดเรื่อง “ศิลปะส่องทางให้แก่กัน” (“the mutual illumination of the arts) ของอุลริช ไวส์ชไตน์ (Ulrich Weisstein) ทำให้เกิดแรงบันดาลใจต่อการดัดแปลงเกี่ยวกับนางเงือกดำเนินอยู่ภายใต้ผลงานอันหลากหลาย

          The Little Mermaid (1837) เรื่องเล่านิทานโบราณสัญชาติไอริชของ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน (Hans Christian Andersen ) เป็นบทประพันธ์ที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวด แสนทุกข์ระทมของเงือกสาว ผู้ยอมแลกทุกอย่าง เพื่อสังเวยให้กับความรัก และจบลงด้วยโศกนาฏกรรม สู่เรื่องเล่าชวนฝันของเจ้าหญิงดิสนีย์จนกลายมาเป็น The Little Mermaid (1989) นับว่าเป็นเรื่องราวของเงือกน้อย อันโด่งดังมากที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์โลกร่วมสมัยในฉบับของดิสนีย์ (Disney) แอนิเมชั่นปี 1989 ได้รับการหยิบยืมมาสร้างสรรค์ใหม่และทำลายฉากโศกนาฏกรรมของตัวบทต้นฉบับแอนเดอร์เซนอย่างหมดสิ้น จนดำเนินมาสู่การดัดแปลงภาพยนตร์ The Little Mermaid (2023) ฉบับไลฟ์แอ็กชั่น ที่ผสมผสานชิ้นส่วนของวรรณกรรรมต้นฉบับและเอกลักษณ์ตามขนบเจ้าหญิงดิสนีย์ได้อย่างไร

 

"But a mermaid has no tears, and therefore she suffers so much more."

(Hans Christian Andersen, The Little Mermaid, 1837)

 

“เพราะนางเงือกไม่มีน้ำตา ดังนั้นเธอจึงต้องทุกข์ทรมานทบทวี”

 

          ภาพยนตร์เปิดฉากด้วยภูมิทัศน์ของคลื่นมหาสมุทรที่งดงามและเงียบงัน อีกทั้งปรากฏข้อความบทประพันธ์ดังกล่าว ผู้ที่ถือว่าเป็นแรงบันดาลใจ และอาจมองได้ว่าเป็นการเคารพต้นฉบับ (textual fiderlity) อย่างหนึ่งในแวดวงเกี่ยวกับการดัดแปลง แต่ทว่าตัวบทดังกล่าว นอกจากสามารถกลับไปสนทนากับวรรณกรรมต้นฉบับแล้ว ยังส่งผลต่องานดัดแปลงฉบับของดิสนีย์เองได้อย่างดี ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญ ส่งผลต่อการกระทำของตัวละคร เงือกน้อย “แอเรียล” ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง 

          แม้ว่า The Little Mermaid (2023) เงือกน้อยผจญภัย มีโครงเรื่องไม่สลับซับซ้อนและเป็นเส้นเรื่องเดียวกันกับตัวต้นฉบับปี 1989 นั่นคือ แอเรียล ลูกสาวคนสุดท้องของราชาไทรทัน เงือกน้อยผู้หลงใหลโลกเหนือมหาสมุทร ที่เป็นถิ่นที่อยู่ของเหล่ามวลมนุษย์ แม้ว่าจะมีกฎของโลกใต้สมุทรได้ห้ามนางเงือกมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ เงือกน้อยใช้เวลาในแต่ละวันของเธอไปกับการผจญภัยสะสมสิ่งของมนุษย์จากซากปรักหักพังของเรือ ในวันหนึ่งชีวิตเธอได้เปลี่ยนไปตลอดกาล เมื่อเธอได้ช่วยเหลือเจ้าชายคนหนึ่ง นามว่า อีริค จากพายุโหมกระหน่ำ และได้ทำพันธสัญญากับแม่มดทะเล เออร์ซูล่า ด้วยการแลกเสียง เพื่อขาของมนุษย์ โดยมีระยะเวลาเพียงสามวันที่เธอต้องทำความรู้จักกับอีริค และได้รับจุมพิตจากรักแท้ เธอจึงจะกลายเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ แต่ในฉบับภาพยนตร์ดัดแปลงครั้งนี้ กลับวางฉากท้องเรื่องและโครงเรื่องที่มีความละเอียดและลึกซึ้งมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวตนของตัวละครแอเรียล ซึ่งบทวิจารณ์นี้มุ่งเน้นไปที่ตัวละครเอกนี้เป็นสำคัญ

          เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกตัวแสดงอย่าง ฮัลลีย์ เบลีย์ (Halle Bailey) และการนำเสนอตัวละครในงานดัดแปลงภาพยนตร์เข้ามาเปลี่ยนแปลงความเข้าใจที่มีต่อตัวละครและถูกกระแสวิพากษ์อย่างรุนแรง ผู้วิจารณ์ก็แทบไม่อยากเชื่อสายตาว่าในยุคเทคโนโลยีกว้างไกลจนเหนือจินตนาการ ปัญญาประดิษฐ์ถูกผลิตขึ้นอย่างก้าวกระโด แต่เพียงเพราะภาพจำที่ไม่ตรงปก ผิวขาวผมแดง ในปี 1989 ที่มีให้เห็นคำพูดดังกล่าวอย่างดาษดื่น และยึดถือมั่นว่าจนเกิดเป็น #notmyAriel ซึ่งเป็นสารนอกตัวบท ที่เลี่ยงไม่ได้ตั้งแต่การประกาศแคสต์นักแสดง ภาพยนตร์ตัวอย่าง และความคิดเห็นกระจัดกระจายบนอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่เมื่อได้รับการประสบการณ์ในการชมภาพยนตร์ดังกล่าว ยิ่งทำให้ความคิดแจ่มแจ้งยิ่งขึ้นว่าแก่นเนื้อแท้ของแอเรียลคือเป็นอย่างไร ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ก็สามารถทำตามความฝันและมุ่งปราถนาถึงสิ่งที่ต้องการอย่างเงือกน้อย ที่ยอมสละความสามารถพิเศษอย่างกล่องเสียงไซเรนของตนเอง เพื่อทำตามความฝันที่ต้องการอยากรู้จักโลกมนุษย์ อันฝันใฝ่มาโดยตลอด และฮัลลีย์ แสดงบทบาทตัวละคร แอเรียล ที่ไร้เดียงสา และเสียงราวกับไซเรนที่อธิบายภายในเรื่องว่าสามารถเกิดขึ้นจริงได้อย่างไม่น่าเชื่อ 

 

“Out of the sea, wish I could be... part of that world”

“พ้นท้องทะเล ทุ่มเทฝันใฝ่ อยู่ในโลกงาม”

 

          เนื้อความจากเพลง Part of Your World เป็นแก่นเรื่องของ The Little Mermaid (2023) ที่ปรากฏชัดตั้งแต่องค์แรกของภาพยนตร์ คือ ประเด็นอารมณ์ปราถนาของเงือกน้อย ที่เต็มไปด้วยถ้อยคำ แสวงหาและสำรวจผจญภัยโลกเหนือท้องทะเล เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนั้น โดยฉากท้องเรื่องได้นำเสนอเรื่องราวไประนาบเดียวกันกับเพลงจากมิวสิคัลในแต่ละเหตุการณ์ ต่อมาเมื่อแอเรียลได้พบกับอีริค และช่วยชีวิตเขาจากเรืออับปาง 

 

“Watch and you'll see, someday I'll be

Part of your world”

“ตั้งตาตั้งใจ สักวันจะไป

อยู่ในโลกเธอ”

 

          แล้วจึงเกิดบทเพลง Part of Your World (reprise I) ขึ้น เพื่อย้ำเตือนอีกครั้งและเป็นแรงกระตุ้นที่แอเรียลต้องการว่าในสักวัน เธอจะไปเป็นส่วนหนึ่งในโลกนั้นให้จงได้ ขณะนั้นแอเรียล ได้ใช้ความสามารถเสียงบรรเลงเพลงไซเรน ที่สามารถรักษาอาการบาดเจ็บและบาดแผลได้ ซึ่งตรงกับบทประพันธ์ต้นฉบับและพบได้ในตัวบทเกี่ยวกับเรื่องเล่าเสียงไซเรนของนางเงือก ที่มีอำนาจและความสามารถดังกล่าว ตั้งแต่ในยุคกรีกโบราณ ซึ่งเป็นส่วนผสมเพิ่มเติมและขยายความจากสำนวนเดิมในแอนิเมชั่น ในทำนองเดียวกัน อีริค เป็นตัวละครที่กลับด้านกับแอเรียล มีความหลงใหลผจญภัยในท้องทะเล ศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องเล่านางเงือกต่างๆ และสะสมเครื่องใช้ใต้ทะเล หลังได้รับการช่วยเหลือ เขาก็ตั้งคำถาม อยากจะตามหาเสียงนั้นที่ตราตรึงอยู่ภายในใจ ในบทเพลง Wild Uncharted Waters เป็นอีกหนึ่งจุดที่ทำให้เห็นพัฒนาการตัวละครที่ละเอียดขึ้นในงานดัดแปลง แม้จะถูกแม่ของเขา กล่าวว่าเป็นหญิงในจินตนาการไม่มีอยู่จริง และละเมอคิดไปเอง แต่ไม่กลับทำให้จิตใจเชื่อมั่นของอีริคสั่นคลอน

          ต่อมา เมื่อเหตุการณ์พันธสัญญาระหว่างเออร์ซูล่าและแอเรียลเสร็จสิ้น เธอได้ขึ้นขา และแลกกล่องเสียงไซเรนของเธอไป ถูกช่วยจากชาวประมงและนำตัวไปพักที่ราชวัง เป็นจุดที่แตกต่างและยิ่งขับเน้นความเป็นอื่นของแอเรียล กับโลกมนุษย์มากขึ้น ไม่ได้ถูกพบและเชื้อเชิญจากเจ้าชายอีริคโดยตรงอย่างในวรรณกรรมต้นฉบับและสำนวนแอนิเมชั่น บทเพลงของแอเรียล For the First Time เป็นตัวบทที่แสดงถึงแอเรียลได้รับประสบการณ์ใหม่ ไม่คุ้นเคยกับชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ ได้รู้ว่าสัตว์ใต้ท้องทะเลอย่างเธอ กุ้งหอยปูปลา เป็นอาหารให้แก่มนุษย์ ซึ่งแอเรียลได้รับการแต่งองค์ทรงเครื่องใหม่ ทำความสะอาดร่างกาย กลิ่นสาปสาหร่ายที่เกาะติดผิวหนังเธอ จากปากสาวรับใช้ ยิ่งทำให้ตัวตนของเธอที่จากมานั้น มีสิ่งที่แตกต่างกันอย่างไกลลิบลับ และเป็นครั้งแรกที่เธอรู้สึกตื่นกลัว ตระหนก วิตกกังวล ราวกับว่าแรงโน้มถ่วงของโลกดึงเธอให้ดำดิ่งลง เมื่อได้พบกับอีริคอีกครั้ง เขาผิดหวังและคิดว่าเธอไม่ใช่หญิงสาวคนนั้นที่กำลังตามหา เนื่องจากแอเรียลเสียสละเสียงแก้วนั้นไปแล้ว  

          เหตุการณ์ต่อมาทำให้แอเรียล และอีริค ได้ทำความรู้จักกันมากขึ้น ณ ฉากห้องสะสมของอีริค อีริคได้แลกเปลี่ยนความรู้และวัฒนธรรมเกี่ยวกับโลกมนุษย์ให้แอเรียลได้ฟัง ซึ่งเป็นฉากที่สร้างบรรยากาศระหว่างทั้งคู่ให้เกิดความสนิทสนม (intimacy) กันยิ่งขึ้น อีกทั้งไปเที่ยวชมเมืองโดยรอบ และพลบค่ำดื่มดำไปด้วยบทเพลงโรแมนติกอย่าง Kiss The Girl จวนจนทั้งคู่เกือบได้จุมพิตกันและกัน แต่ถูกขัดขวางไว้ ในท้ายเรื่องเกิดจุดวิกฤต เออร์ซูล่า ใช้กลลวง หลอกล่ออีริคด้วยเสียงไซเรนของแอเรียลที่บรรจุในเปลือกหอย ในบทเพลง Vanessa’s Trick ทำให้อีริคถูกสะกดจิต และคิดว่าเป็นเสียงผู้หญิงในวันนั้นที่ช่วยเขา ซึ่งเสียงไซเรนดังกล่าว ก็มีคุณสมบัติที่สามารถหลอกล่อกะลาสีให้กระโดดน้ำจบชีวิตได้ เป็นข้อที่พบเห็นจากเรื่องเล่าเทพนิยายกรีกและวัฒนธรรมตะวันตกอีกนัยหนึ่งได้ อีริคจึงตกลงกับวาเนสซ่า (เออร์ซูล่าจำแลงร่างกายมา) และจัดงานวิวาห์เกิดขึ้น เมื่อแอเรียลทราบข่าว จึงเสียใจและถ่ายทอดความรู้สึกผ่านเสียงเพลงอีกครั้ง ในบทเพลง Part of Your World (Reprise II) ที่ว่า

 

“Risking it all only to fall

Back where I started …

What did I give to live where you are?

Where do I go with nowhere to turn to?”

“สู้ทนฟันฝ่าแต่กลับต้องมาจบตรงที่เคยนั่ง

แลกอะไรไปเพื่อได้เพียงมาเจอ

แล้วจะไปแห่งหนใด จะหันหน้าไปทางไหน”

 

          จนมาถึงเหตุการณ์สะเทือนอารมณ์ต่อความรู้สึกตัวละคร แอเรียล ที่ทุกข์ระทมตั้งแต่ถูกราชาไทรทันทำลายของสะสมในถ้ำของเธอ มาถึงการเสียสละสิ่งสำคัญ เพื่อทำความรู้จักกับโลก และกลับถูกทอดทิ้ง จบลงตรงที่เคยนั่งที่เดียวกันกับเธอได้พบกับอีริคครั้งแรก การรำพึงระพันกับตนเองครั้งนี้ เป็นฉากโขดหินที่มีความสำคัญต่อเนื้อเรื่อง แต่น้ำตาของเธอก็ยังไม่รินไหล แม้จะเจ็บสาหัสเพียงใด ต่อมา สกัตเทิล เป็นนกที่คอยช่วยเหลือแอเรียลร่วมกับเซบาสเตียน และฟลาวเดอร์ มาแจ้งข่าวให้ได้รับรู้ว่าผู้หญิงคนนั้นคือแม่มดทะเลแปลงกายมา จึงทำให้แอเรียล ลุกขึ้นสู้ ทำให้สามารถนำเสียงกลับคืนร่างกายได้อีกครั้ง แต่ก็ไม่ทันเวลาเนื่องจากครบกำหนด 3 วัน ตะวันตกดินเสียแล้ว ซึ่งเหตุการณ์ช่วงสุดท้ายจึงเป็นการต่อสู้ระหว่างแอเรียลที่มีอีริคอยู่เคียงข้างกับแม่มดทะเล ที่ได้ครอบครองตรีศูลของไทรทัน เธอเอาชนะมาด้วยการขับเรือชนด้วยตนเอง แตกต่างจากฉบับแอนิเมชั่นที่เป็นอีริค ทำให้ช่วยราชาไทรทันอีกครั้ง เธอจึงต้องตัดสินใจเลือกฝั่งท้องทะเล แม้ว่าจะโหยหาฝั่งบนดินแค่ไหน ด้วยความเทิดทูลที่มีต่อพ่อที่ยอมเสียสละ แต่อย่างไรก็ตามเนื้อเรื่องจบลงด้วยสุขสมหวัง ราชาไทรทัน ยอมปล่อยให้ลูกสาวที่รักได้ไปใช้ชีวิตอยู่บนโลกมนุษย์ และในทุกงานเทศกาลสำคัญอย่าง The Coral Moon เธอจะกลับไปใต้ท้องทะเล พบปะพี่น้องของเธอ เนื้อเรื่องจึงจบด้วยความสุขสมหวัง ซี่งแตกต่างจากฉบับวรรณกรรมอย่างสุดขั้ว 

 

          โลกใต้ท้องทะเล กับโลกเบี้องบน

 

          ความแตกต่าง ขั้วตรงข้าม ณ จุดที่ยืนอยู่ ตลอดทั้งเรื่องของ The Little Mermaid (2023) มีการจัดวางองค์ประกอบและทิศทางของความหมายในเนื้อเรื่อง ที่มีโลกทั้งคู่ วางคู่ขนานกันตลอดทั้งเรื่อง เริ่มด้วยฉากเพลง Under the Sea ที่มีหมู่ปลาดาวและสัตว์ทะเลโบกพริ้วครีบราวกับเป็นกระโปรง เต้นรำ เพื่อโน้มน้ามให้แอเรียล มองเห็นสิ่งสวยงามใต้ท้องทะเลที่เรามีอยู่ ซึ่งแอเรียลก็มีความสุขและร่าเริงไปกับเสียงเพลง ตัดมาเป็นคู่ตรงข้ามกับ บนผืนดิน ในตลาดนัด ที่แอเรียลกับอีริคได้ไปเยี่ยมชม อีกทั้งได้เต้นระบำและสะบัดผ้ากระโปรงของมนุษย์ ร่วมสนุกสนานไปกับเสียงเพลงของมนุษย์

          ในรายละเอียดของฉากการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมโลกใต้ท้องทะเลและโลกเบื้องบนระหว่างแอเรียลกับอีริค แอเรียลได้สอนการใช้เครื่องดนตรี หอยที่สามารถเป่าเป็นแตรได้แก่อีริค และหินที่กักเก็บคริสตัลงามไว้ให้แก่อีริค ในทางกลับกันอีริค แลกเปลี่ยนความรู้และวัฒนธรรมประเทศต่างๆ ของมนุษย์ให้แก่แอเรียล รวมไปถึงตัวตนของตัวละครทั้งสอง ที่ให้ความสนใจสลับด้านกัน แอเรียลที่สนใจมนุษย์ถ่ายทอดผ่านท่วงทำนองแห่งเสียงเพลงตลอดทั้งเรื่อง ส่วนอีริคให้ความสนใจกับโลกใต้ท้องทะเล ล้อไปกับฉากเพลง Wild Uncharted Waters มีการจัดวางองค์ประกอบภาพเชื่อมโยงกับ ภาพ Wanderer above the Sea of Fog (1818) ในภาพวาดของ Caspar David Friedrich  ซึ่งมีนัยประหวัดถึงการโอบกอดแห่ง Sublime ธรรมชาติ และความงดงามของความโดดเดี่ยวท้องทะเล หลังจากที่เขาได้พบเจอกับเสียงแอเรียลในครั้งนั้น จากภาพนักเดินทางเหนือทะเลหมอก ประจันหน้ากับสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เอิบอาบทั่วร่างกาย ผสานรับการตัวตนของอีริคในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี  และในเมื่อยามทุกข์ยาก การต่อสู้กับแม่มดทะเลท้ายเรื่อง เออร์ซูล่า ถูกเรือที่เป็นสิ่งประดิษฐ์จากมนุษย์ ขับเคลื่อนและทำลายเอาชนะด้วยน้ำมือของแอเรียล

          จนท้ายที่สุด ทั้งคู่ได้แต่งงานกัน โลกความรักที่ไม่แบ่งพรมแดน เหนือจินตนาการ ความรักระหว่างเงือกและมนุษย์เกิดขึ้นจริงได้ “ใครจะไปจินตนาการได้ถึงสิ่งนี้” เป็นถ้อยคำที่เอ่ยจากพระราชินี แม่ของอีริคในท้ายเรื่อง ซึ่งตลอดทั้งเรื่องเธอยืนกราน และพร่ำบอกว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เหตุการณ์สำคัญที่ตัวตนของแอเรียลนั้นไม่มีเพียงแค่โหยหาต่อโลกมนุษย์ ในตอนจบ แอเรียล ได้เผชิญหน้าและหวนระลึกถึงความทรงจำต่อคลื่นทะเลที่ซัดเข้าสู่ฝั่ง มีสีหน้ายังมีติดค้างอยู่ในใจ แม้ว่ากำลังจะได้ออกไปสำรวจโลก น่านน้ำไร้แผนที่กับอีริค เพื่อแสวงหาองค์ความรู้ เพื่อมาพัฒนาบ้านเมือง หากสังเกตได้ว่าบริบทของเรื่อง คล้ายกับยุคศตวรรษที่ 18 ในยุคค้าแลกเปลี่ยนสินค้ากันระหว่างเรือแถบทะเลคาริบเบียนในโลกความเป็นจริง แม้ว่าภายในภาพยนตร์ได้กล่าวว่าเป็นโลกในจินตนาการที่ไม่มีอยู่จริงก็ตาม ในระหว่างใกล้จบ ราชาไทรทัน จึงปรากฏตัวและมาส่งแอเรียล ทำให้แอเรียลเกิดความรู้สึกตื้นตันและสิ่งที่ค้างคาในใจ “ขอบคุณที่ฟังเสียงของลูก” ซึ่งเป็นคำพูดของแอเรียลที่เกิดขึ้น เป็นนัยยะแสดงความขอบคุณราชาไทรทันที่ยอมรับในตัวตนของเธอ การเลือกเส้นทาง เพื่อใช้ชีวิตบนโลกมนุษย์ ในฐานะของมนุษย์ และน้ำตาแห่งความยินดี ไหลอาบแก้มของเธอ เป็นน้ำตาที่มีความสุข ต่างกับตัวบทเปิดเรื่องที่นำเสนอไว้ อีกนัยหนึ่งคือ เธอได้กลายเป็นมนุษย์อย่างแท้จริงแล้ว หมู่มวลเผ่าพันธุ์เงือกและพี่สาวของแอเรียล ต่างมาแสดงความยินดีถ้วนหน้า ซึ่งตัวละครแต่ละตัว มีเอกลักษณ์และแตกต่างทางชาติพันธุ์อย่างชัดเจน เสมือนกับความหลากหลายที่เป็นสายรุ้งในตอนจบที่เกิดขึ้น 

          รวมไปถึง โปสเตอร์โปรโมตของภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว นับเป็นสารนอกตัวบท ที่เน้นย้ำถึงเส้นแบ่งระหว่างใต้ท้องทะเลและผืนโลกได้เป็นอย่างดี แอเรียลที่นั่งอยู่บนโขดหิน เงยหน้ารับกับแสงท้องฟ้า คล้ายปุยเมฆที่วาดมาจากภาพวาดสีน้ำมัน ชวนให้ฝันจินตนาการถึงโลกเบื้องบน ที่แอเรียลสงสัยใคร่รู้และปรารถนาเป็นส่วนหนึ่ง ตัดกับสีน้ำทะเลกระทบแสงเงา ที่ดูสมจริง โลกความเป็นจริง ณ ถิ่นท้องทะเลที่เธออยู่

          อย่างไรก็ตาม แม้ผู้วิจารณ์แสดงทัศนะเส้นแบ่งระหว่างโลกทั้งสองตลอดทั้งเรื่อง แต่โลกทั้งสองก็มีสัญญะทางความหมายในหลายอย่าง ที่มีความเหมือนและความเชื่อร่วมกัน ตลอดไปจนถึงอุปกรณ์ประกอบฉากที่แสดงนัยเชิงเปรียบเปรย และแสดงความหมายทางวัฒนธรรม

 

          กลุ่มดาว ลูกโลก และไฟ 

 

          ภายในถ้ำของแอเรียล ปรากฏภาพที่ชื่อว่า The Astronomer by Candlelight (1650s) วาดโดยแคร์ริต เดา (Gerrit Dou) ศิลปินชาวดัตซ์ที่มีชีวิตช่วงศตวรรษที่ 17 เป็นภาพที่ใช้เทคนิคแสงและเงาได้อย่างยอดเยี่ยม สื่อนัยยะทางความหมายเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และการขวนขวายในเชิงปัญญา ตัวละครในภาพ เป็นชายนักดาราศาสตร์ อันเป็นตัวแทนของความสนใจในดาราศาสตร์ ดวงดาว และการศึกษาจักรวาล และมีอุปกรณ์ประกอบในภาพอย่าง ทรงกลมฟ้า (Celestial Globe) ที่มีลักษณะเหมือนลูกโลก แต่ใช้เพื่อแสดงกลุ่มดาว และวงเวียนในมือของชายผู้นี้ กำลังเพ่งสมาธิและสนใจใคร่รู้ในเรื่องของดวงดาวและจักรวาล เปลวไฟจากแสงเทียนที่เกิดเป็นเงาบนทรงกลมฟ้า เปลวไฟ มีนัยยะความหมายเกี่ยวกับความรู้มาตั้งแต่ตำนานทางตะวันตก (mythology) การตื่นรู้ในดินแดนที่ไม่รู้ สอดคล้องกับตัวตนของแอเรียลในฉบับภาพยนตร์ได้หลากหลายแง่ 

          ตามความเชื่อของชาวเงือก มีความเชื่อเรื่องกลุ่มดวงดาวเช่นกัน และดินแดนที่ชายในภาพวาดที่กำลังศึกษาดินแดนแห่งที่ใหม่ เหมือนกับแอเรียลกำลังเรียนรู้เรื่องของโลกมนุษย์ ในห้องสมุดของอีริค ซึ่งมีเปลวไฟ และเปลวเทียนโอบล้อมทั้งคู่ เสมือนความรู้ที่กำลังเปล่งประกายอยู่ภายในห้องโถงนี้ จากการแนะนำของอีริค บอกเล่าเรื่องราวให้แอเรียลฟัง รวมไปถึงฉากเพลง Kiss the Girl มีการใช้สัญลักษณ์ดวงดาว เพื่อบอกใบ้ชื่อแอเรียล และอีริคก็ได้เอ่ยกล่าวว่า ชาวกะลาสีใช้ดาวในการบอกทิศนำทางยามค่ำคืน ซึ่งโลกมนุษย์ก็มีความเชื่อเช่นเดียวกับโลกใต้ท้องทะเล “ชื่อที่จารึกไว้ในดวงดาว ช่างเป็นชื่อที่ไพเราะ” เป็นคำกล่าวของอีริค ที่พูดถึงชื่อของแอเรียล เป็นอีกหนึ่งฉากที่ทำให้ความสัมพันธ์ตัวละครถูกพัฒนาให้แนบชิดใกล้ยิ่งขึ้น และได้รู้ว่าเปลวไฟใช้สำหรับจุดเทียน เพื่ออ่านหนังสือ ภาพที่เธอเห็นในถ้ำมาทั้งชีวิต การได้เรียนรู้ผ่านวัฒนธรรมของมนุษย์ได้ลึกซึ้งขึ้น ซึ่งต่างจากจากตอนขึ้นบกครั้งแรก และเธอเห็นเปลวไฟ และสัมผัสมันครั้งแรก ถูกมันแผดเผา ในบทเพลง For thr First Time

          และในตอนจบช่วยวางรากฐานให้แก่แก่นความหมายของเรื่องได้เป็นอย่างดี ดังที่กล่าวไว้ตลอดทั้งเรื่อง ไม่ใช่เพียงกับการสมรสระหว่างอีริคและแอเรียลที่เหนือจินตนาการ แต่แอเรียล ได้รับการยอมรับตัวตนจากราชาไทรทัน ท่ามกลางความหลากหลายระหว่างชาติพันธุ์มนุษย์และชาวเงือกที่มาเป็นสักขีพยาน การเลือกเส้นทางใหม่ของแอเรียลที่ได้เปลี่ยนชีวิตไปตลอดกาล The Little Mermaid (2023) เงือกน้อยผจญภัย กับเรื่องราวที่เปี่ยมล้นไปด้วยแรงปรารถนา ยอมสละตน เพื่อหวังใจไปยังสิ่งที่สูงส่ง เป็นความเด็ดเดี่ยวและมุ่งมั่นที่อยากจะเป็นสิ่งในสิ่งที่อยากเป็นอย่างแท้จริง

 

Visitors: 72,522