2024A001

#หลงยุคหลุดสมัย : เมื่อเขตแดนของวรรณกรรมกำลังขยายตัว

จิรุตม์ ชนะ

 

 

          อันที่จริงก็นับว่าจวนครึ่งปีได้ที่ผมได้อ่าน#หลงยุคหลุดสมัยซึ่งเขียนโดยวัน รมณีย์ ความประทับใจแรกที่ปรากฏคงไม่ผิดจากคำชมผสมชัง “ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ไม่อัจฉริยะก็บ้าไปแล้ว”

          ครั้นจะตามล่าหาตัวผู้เขียน ผมก็คว้าน้ำเหลว คำนำของทางสำนักพิมพ์แซลมอนระบุเอาไว้เสียด้วยซ้ำ “...เราไม่รู้มาก่อนว่าเขาคือใคร …เมื่อพยายามติดต่อเพื่อพูดคุยถึงการนำงานมาตีพิมพ์ เขาก็ไม่ยอมปรากฏกาย… มีเพียงข้อความที่ระบุให้เราตีพิมพ์งานเหล่านี้ได้ โดยมีข้อแม้ว่าต้องคงเนื้อหาทุกตัวอักษรที่เขียน ต้องไม่ปรับการเว้นวรรคและตัวสะกดที่อาจไม่ตรงกับพจนานุกรม รวมถึงไม่ต้องสืบหาว่าวัน รมณีย์ คือใครด้วย”

          #หลงยุคหลุดสมัย เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่สั้นสมที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเรื่องสั้น นับเนื้อหาแท้ ๆ ก็เพียง 60 และอีกเศษหนึ่งส่วนสี่หน้ากระดาษเอห้า รวมเพียงสามเรื่องสั้น ที่ได้ตีพิมพ์ก็คงเป็นเพราะเคมีลีลาปากกาของวัน รมณี และจังหวะที่ลงตัวกับความต้องการของสำนักพิมพ์แซลมอน ซึ่งมีความต้องการจะทำหนังสือขนาด "พอดีคำ” เสียพอดิบพอดี เนื้อหาของเรื่องสั้นทั้งสาม มีแก่นร่วมเล่าถึงผู้ที่ถูกรบกวน(Disrupt)โดยความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ค่านิยม สังคม หรือกล่าวได้ว่าพวกเขาคือผู้หลงยุคหลุดสมัยทั้งสิ้น

          จ๊ะเอ๋ คือเรื่องสั้นเรื่องแรก ประดุจน้ำในอ่างให้หย่อนปลายเท้าสัมผัสอุณหภูมิ ความน่าสนใจแรกที่ผมตระหนักได้คือรูปแบบการจัดหน้า เมื่อผนวกกับการประกาศของวัน รมณีที่ให้กับทางสำนักพิมพ์ตอนต้นว่า “...ต้องไม่ปรับการเว้นวรรค” ยิ่งทำให้น่าสนใจว่าอะไรคือจุดประสงค์นี้ ต้องออกตัวว่าผมไม่ใช่ผู้ที่นิยมไลท์ โนเวล(Light Novel)ซึ่งมีย่อหน้าปรากฏมากกว่า หากการอ่านเรื่องสั้นอันอุดมด้วยข้อความติดเป็นพืดภายในเขตย่อหน้าหนึ่ง ทำให้คิดถึงรูปแบบวรรณกรรมแปลสไตลผู้ใหญ่ยังอ่อน(Young Adult)หรือนวนิยายเก่า ๆ ให้ตั้งข้อสังเกตนี่ก็คือขั้นตอนแรกในการสร้างความหลงยุคหลุดสมัยให้กับรวมเรื่องสั้นชุดนี้

          จ๊ะเอ๋มีสามฉากหลัก ฉากแรกเริ่มฉายภาพชายชราขี้เหงา ร่ำร้องสารภาพกับภาพเสมือนของจ๊ะเอ๋ เมียผู้ล่วงลับในตู้โทรศัพท์ที่จำลองภาพนางออกมาได้ ว่าที่แท้ตลอดมาความสัมพันธ์คู่ชีวิตของทั้งคู่ได้มาจากการจ่ายเงินให้บริษัทด้านความสัมพันธ์สร้างอัลกอริทึ่มเพื่อโน้มน้าว ชี้นำ อาจกล่าวกลาย ๆ ว่าคล้ายล้างสมองและจำลองพรหมลิขิตให้ทั้งคู่ได้พบรักตามความตั้งใจของชายชราคนนั้น ฉากสองคือการบรรยายบุรุษที่สอง แทนตัวผู้อ่านเป็นจ๊ะเอ๋ ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาดังปัญญาประดิษฐ์จำลองเป็นเมียของชายชราดังกล่าว แต่แม้จะเป็นเพียงภาพเสมือน กระนั้นความทรงจำและสติสตังยังครบถ้วน กลายเป็นว่าจุดนี้เองก็เฉลยว่าในมุมมองของจ๊ะเอ๋เอง เจ้าตัวก็ใช้บริการจากเจ้าบริษัทที่ว่าเพื่อทำให้ได้พบรักกับอีกฝ่ายไม่ต่างกัน

          และในบทสุดท้ายจะย้ายเป็นมุมมองผู้เป็นหลานของชายชรา ฟังผู้เป็นพ่อบ่นปู่ที่เอาเงินเอาเวลาไปคุยกับเมียจำลอง และก็ประจวบเหมาะกับข่าวบริษัทด้านความสัมพันธ์ดังกลาวถูกฟ้องร้อง เมื่อพบความจริงว่าเป็นบริษัทเองต่างหากที่สร้างอัลกอริทึ่มให้ลูกค้าชอบกันเอง และขาดความมั่นใจผ่านสื่อต่าง ๆ จนต้องมาใช้บริการของบริษัท

          ผมชอบเรื่องนี้เป็นพิเศษ ด้วยว่าประเด็นหลักของเรื่องที่แท้ก็เป็นประเด็นเชิงปรัชญาลัทธิสสารนิยม(Materialism) ซึ่งเชื่อว่ามนุษย์ไม่มีเจตจำนงค์เสรี หากเกิดจากสภาพแวดล้อม และสิ่งเร้ารอบข้างหลอมรวมเป็นนิสัย ความทรงจำ ทัศนคติ และกระทั่งตัวตน ล้อเล่นกับความช่างหลงตัวเองของมนุษย์ที่บางหนก็คิดไปเสียว่าเรานี่แหละเป็นเจ้าของตน เป้นปัจเจกชนโดยแท้ โดยใช้ความสัมพันธ์คู่รักให้ย่อยง่าย แฝงเร้นด้วยประเด็นที่ทันสมัยอย่างอัลกอริทึ่มและสื่อ เหมือนคำกล่าวของจิม มอร์ริสัน (Jim Morrison) ที่มีความว่า “ผู้ใดคุมสื่อ ผู้นั้นคุมคน” ในรูปแบบที่น่ากลัวยิ่งไปอีก เมื่อสื่อนั้นไม่ใช่โทรทัศน์จอเงินที่ทุกคนได้ดูได้รู้เหมือน ๆ กัน แต่เป็นสื่อในมือที่กระจัดกระจายและยิ่งยากจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร จริงไม่จริง และยากยิ่งจะที่ตระหนักว่าเรากำลังหลงทางหรือเปล่า ความไม่อาจตามทันนั้นก็หลงยุคหลุดสมัยไม่น้อย

          นอกจากนี้ในส่วนที่กล่าวถึงมุมมองของจ๊ะเอ๋ร่างปัญญาประดิษฐ์ ก็เป็นอีกคำถามปรัชญาสุดจะโมเดิร์นว่าคอมพิวเตอร์ ”คิด”ได้หรือไม่

          บุษบา กล่าวถึงตัวเอกหญิงที่มีความต้องการจะตะเกียกตะกายหนีความยากจน และในที่สุดก็ตกปากรับข้อเสนองานจากสถาบันวิจัยประหลาดที่รายได้วันหนึ่งเท่ากับเงินเดือนรวม 7 ปี ซึ่งงานที่ว่าคือการทำความสะอาดวัตถุในห้องหน่วงเวลา การทำงานหนึ่งวันในห้อง กินเวลาถึง 7 ปีข้างนอก

          แม้จะมีประเด็นที่น่าสนใจว่าจะเล่นกับเส้นเวลาอย่างไรได้บ้าง ผมคิดว่าแอบน่าเสียดายที่เรื่องกลับตั้งใจรวมความสนใจไปที่กระแสสำนึกของตัวเอกหญิงปากหมา การตัดสินใจจะทอดทิ้งที่บ้านเอาตัวรอด การกลับมาบ่นการรัฐประหารกับละครน้ำเน่าที่ยังคงอยู่รอดกาลเวลาเกือบทศวรรษหลังออกจากห้องหน่วงเวลาได้ หรือกระทั่งตอนท้ายที่เศรษฐกิจของประเทศถึงคราวฉิบหายเงินเฟ้อถล่มทลาย เงินเดือนตามข้อเสนอที่รวมแล้วทั้งสิ้นสามสิบห้าปี กลายเป็นปึกแบงค์กงเต๊กซื้อได้แค่น้ำอัดลมกระป๋องเดียว

          แน่นอนว่าผมเจียมตัวในฐานะนักเขียนสมัครเล่น ยากจะพูดเต็มปากว่าเสียดายแนวคิด(Concept)ของเรื่องนี้ ทว่ายังคงมีส่วนที่ทดแทนกันได้บ้าง นั่นคือสำบัดสำนวนที่แสดงออกถึงความเป็นตัวตนของวัน รมณีย์ได้จัดจ้านมากยิ่งขึ้น ถ้อยคำหยาบโลน ความแสบสันในการจิกกัด พวงคำพ่วงท้ายยาวเป็นหางว่าว ฟุ่มเฟือย ดูบุร่ำบุโราณ อีกทั้งจุดที่ผมไม่ชอบเป็นการส่วนตัวดังกล่าวนั้น ก็อาจพิจารณาได้ว่าผู้เขียนมีทัศนะที่แปลกใหม่ และตั้งใจจะเสนอเรื่องราวที่ดูเหมาะจะเป็นภาพใหญ่ซับซ้อน กระนั้นกลับเลือกละเมียดละไมกับจุดเล็ก ๆ เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ขันสุดป่วย และเอาเข้าจริง หากจะมีใครสักคนที่หลงยุคหลุดสมัยจริง ๆ ตามชื่อเรื่อง ก็คงไม่พ้น บุษบาตัวเอกในเรื่องนี้

          และเรื่องสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุดสำหรับการกล่าวถึงในบทวิจารณ์นี้ คือ หลงยุคหลุดสมัย เรื่องสั้นในลำดับสุดท้ายที่ใช้เดียวกันกับชื่อหนังสือ(ต่างเพียงไม่มี # นำหน้า) เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงทางยุคสมัยในรูปแบบที่ต่างจากสองเรื่อองแรก เพราะนี่คือการเปลี่ยนแปลงของวรรณกรรม

          ในเรื่องหลงยุคหลุดสมัยจะเล่าถึงวิกฤติศรัทธาของนายจรูญผู้เชื่อมั่นในวรรณกรรมรูปแบบดั้งเดิม แสดงถึงทัศนคติเชิงอนุรักษ์นิยมและการมองว่าวรรณกรรมควรเป็นของและมีลักษณะของความเป็นผู้มากลากดี(Elitist) คำว่าวรรณกรรมนี้ไม่ที่ว่างให้งานชั้นต่ำจำพวกนิยายแชท(Chat Novel) นิยายแฟนฟิคชั่น(Fan-Fiction) นิยายภาษาวิบัติ นิยามแนวทดลองขั้นสุด ในเรื่องเองก็ยังคงมีบทหยาบโลนอยู่ สิ่งที่เด่นและตราตรึงของเรื่องนี้คือส่วนที่เป็นการตอบโต้กันระหว่างถ้อยคำจากผู้นิยมใน "วรรณกรรมใหม่" เหล่านี้ และการตอบโต้จากนายจรูญซึ่งกลายเป็นนักเขียนดังในสายทางดั้งเดิม

          เรื่องบานปลายไปถึงจุดที่วรรณกรรมกลายเป็นโค้ด กลายเป็นชิปให้เอาไปอมเพื่อเสพกันเลยทีเดียว ตอนจบนั้นเจ็บแสบและตลกร้ายมาก ทำเอาผมตบเข่าฉาดร้องลั่นว่า “ให้มันได้พรรค์นี้สิวะ!” หวังไว้ยิ่งว่าพวกท่านจะได้โอกาสในการพิสูจน์ส่วนนี้เอง

          แม้ว่าประเด็นของเรื่องจะดูเบาบางกว่าสองเรื่องก่อน แต่กลับเป็นเรื่องที่ชวนให้ผู้สนใจในงานเขียนได้ใคร่ครวญมากที่สุดด้วย อะไรกันที่จะอยู่ในร่มเงาแห่งวรรณกรรมได้ ในเมื่อพจนานุกรมนั้นบัญญัติไว้เพียง “งานหนังสือ, งานประพันธ์, บทประพันธ์ทุกชนิดทั้งที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง”

          ก็ในเมื่อวรรณกรรมเก่าก่อนเองก็มีมากโขที่เดินเรื่องด้วยจดหมาย ทำไมนิยายแชทจึงอาจไม่ใช่วรรณกรรม หากทุกวันนี้หนุ่มสาวกำลังมีแนวคิดทำนองหลังยุคสมัยใหม่(Post Modernism) เป็นเรื่องขันว่าอาจไม่มีอะไรใหม่และเป็นต้นฉบับ(Original)โดยแท้อีกแล้ว ทำไมนิยายแนวแฟนฟิคฯจึงอาจไม่ใช่วรรณกรรม หากภาษาดิ้น เติบโต และเปลี่ยนแปลงได้ตามยุค อะไรจะทำให้เรามั่นใจว่าสักวันหนึ่งคำว่าขวด จะไม่กลายเป็น ค๋วด หากวันหนึ่งการเขียนว่า ฃวด ก็เคยถูกต้องมาก่อน และหากมองวรรณกรรมเป็นศิลป์ ก็ยังมีคำถามทางสุนทรียศาสตร์ร่วมว่าอะไรคือขอบเขตของการทดลองของมัน

          ประเด็นสุดท้ายที่ผมใคร่อยากนำเสนอ และจำเป็นจะต้องอยู่ต่อเนื่องจากการเขียนถึงเรื่องสั้นหลงยุคหลุดสมัย คือขอบข่ายของการเสพวรรณกรรมที่ขยายขึ้นมา ไม่นานนี้ขณะที่ผมพยายามจะหาตัววัน รมณีย์ ผมพบว่ามีหนังสือชื่อหลงยุคหลุดสมัย ฉบับครบรอบ 30 ปีออกมาเสียแล้ว!

          ผมกุมขมับ ไอ้เล่มที่ผมถือในมือยังไม่ทันจะสองปีดีแท้ ๆ (พิมพ์ในปี2565) ในแวบแรกนั้นผมแอบจะอดพาลคิดไม่ได้ว่าวัน รมณีย์ก็แอบจะมีความย้อนแย้งในตนอยู่บ้าง หากว่าเขาหรือเธอหวังให้ผู้อ่านเสพเพียงผลงานจึงเลือกทำตนเป็นฤาษีลึกลับ การทำแบบนี้แม้จะไม่ได้ใช้ตัวตนของตนโดยตรงเพื่อขายของ หากเป็นการอาศัยบริบทนอกตัวงานวรรณกรรมนั้นก็เป็นเรื่องที่น่าสงสัยและน่าสนใจไม่น้อย ในลักษณะคล้ายไข่อีกเตอร์(Easter Egg)ที่วัฒนธรรมป็อป(Pop Culture)มักจะใช้กันเป็นส่วนมาก

          นั่นทำให้ผมเกิดความคิดว่าส่วนหนึ่งของการเสพอรรถรสของวรรณกรรม อาจจะไม่ใช่ที่ตัวเนื้อของวรรณกรรมเองก็ได้ เราชอบวรรณกรรมสักเรื่องหนึ่งเพราะอะไรกัน เพียงเพราะเนื้อหาซาบซึ้งอมตะตามที่มักไว้ชื่นชมหนังสือคลาสสิคหรือ บางหนก็เพียงเพราะมันได้บันทึกบางส่วนของประวัติศาสตร์และสังคมได้อย่างพอเหมาะพอเจาะกับเวลา หรือบางทีก็อาจเป็นสื่ออื่นประกอบร่วม เหมือนศิลปะเชิงผสมที่ไม่จำเป็นจะต้องจำกัดความสร้างสรรค์ให้อยู่ในรอยทีแปรงก็ได้

          กระบวนการหนึ่งที่พอจะสังเกตได้คือการสร้างบรรยากาศของความหลงยุคหลุดสมัยให้กับตัวหนังสือตั้งแต่ก่อนจะได้เข้าเนื้อหา การวางสัญลักษณ์ # ที่ดูจะเป็นได้ทั้งในนามของแฮชแท็ก(Hashtag)ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการทำให้ทันสมัย(Modernize)จากเครื่องหมายดั้งเดิม หรืออาจเป็นได้ทั้งเครื่องหมาย “สี่เหลี่ยม” ไว้โทรออกที่เด็กยุคอาร์สยามอย่างผมยังพอจะเกิดทัน หรือกระทั่งการจัดหน้าและสำบัดสำนวน ทั้งที่เรื่องกำลังกล่าวถึงและแสดงทัศนะต่อความเปลี่ยนแปลง หากกล่าวลอยก็ด้วยหัวข้อที่ดูจะหัวก้าวหน้า แต่กลับเลือกจะใช้สายตาของผู้ที่หลุดยุคหลุดสมัย หาใช่ผู้ล้ำยุคทันสมัยไม่

          ยิ่งประกอบกับการออกหนังสืออีกชุดเพื่อจะสร้างกลิ่นอายของความหลงยุคกว่าเก่า ผมแว่วมาว่าในฉบับครบรอบสามสิบปีนั้นมีการลงปีที่พิมพ์เป็นปี 2595 ซึ่งเหล่านั้นยิ่งทำให้เรื่องนี้บันเทิงเข้าไปอีก หรือกระทั่งความลึกลับในตัวตนของนักเขียน ส่วนเหล่านี้เองก็ล้วนนอกเหนือจากเพียงเนื้อความ นอกเหนือจากแค่สิ่งที่ตัวอักษรบอก แต่เป็นบริบทใต้บรรทัด(Sub Text)ที่ผู้เขียนได้สร้างพื้นที่ในการเสพวรรณกรรมของเขาขึ้นมาในที่ทางของเขาเอง

          ท้ายที่สุดผมคงไม่ได้มาตอบคำถามที่ได้โปรยทิ้งไว้มาตลอด ไม่ได้มาฟันธงหรือตามจับนักเขียนลึกลับคนนี้ กล่าวถึงขั้นว่านี่เป็นการทดลองที่ล้ำสุด ๆ หรือกระทั่งมาอวยยศเชิดชูการเขียนงานชิ้นนี้ขึ้น กระทั่งตัววัน รมณีย์ก็ได้ทิ้งเศษเสี้ยวทรรศนะของตนจากประโยคหนึ่งในเรื่องสั้นหลงยุคหลุดสมัยว่า “ใหม่ไม่ได้แปลว่าดี และสักแต่แปลกก็ไม่ได้แปลว่าสร้างสรรค์” กระนั้นการได้ตั้งคำถามและลองได้คิดทบทวน ก็คงเป็นสิ่งวัน รมณีย์อยากให้เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน และผมก็คาดหวังว่าเราจะได้พบกับงานวรรณกรรมรสแปร่งปร่าทว่าลงตัวเช่นนี้ รวมถึงหวังว่าเราคงได้พบวัน รมณีย์อีกครั้งในสักที่ สักวัน หรือในสักนามแฝงหนึ่ง

Visitors: 81,109