2024A002
รักษ์กาลาปากอส
ธีร์จุฑา ปฏิเวธ
“กาลครั้งหนึ่ง ณ กาลาปากอส” โดย ปองพล อดิเรกสาร นักเขียนนวนิยายเเนวท่องเที่ยว, คอลัมนิสต์, ผู้ผลิตและผู้ดำเนินรายการสารคดีโทรทัศน์ “สุดล่าฟ้าเขียว” เเละ “สูญพันธุ์?” ซึ่งรายการดังกล่าวได้เริ่มออกอากาศในปี พ.ศ. 2547 เเละ พ.ศ. 2560 ตามลำดับ โดยมากแล้วงานเขียนของ ปองพล อดิเรกสาร จะเป็นนวนิยายที่สอดแทรกความรู้เชิงนิเวศวิทยาเเละสังคม โดยมุ่งเน้นการให้ความรู้กับผู้อ่าน เช่นผลงานเรื่อง “โจรสลัดตะรุเตา” “แม่โขง” “คามีเลี่ยนแมน” และหนังสือเล่มนี้ก็เช่นเดียวกัน ในฐานะผู้เขียน ปองพล อดิเรกสาร นำเสนอความหลากหลายทางชีวภาพอันเป็นเอกลักษณ์ของหมู่เกาะกาลาปากอสออกมาในรูปเเบบของเรื่องสั้น “กาลครั้งหนึ่ง ณ กาลาปากอส” เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจระบบนิเวศวิทยาที่ซับซ้อนของหมู่เกาะได้ง่ายยิ่งขึ้น อีกทั้งยังรู้สึกสนุกไปกับเนื้อเรื่องและตระหนักถึงความสำคัญของระบบนิเวศตามธรรมชาติ อันจะนำมาซึ่งจิตสำนึกที่ดีในการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตรวมถึงระบบนิเวศในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป
ผลงานเรื่องดังกล่าวของ ปองพล อดิเรกสาร ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือนมีนาคม พ.ศ.2566 จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สานส์จำกัด จำนวน 112 หน้า ราคา 170 บาท เลขมาตรฐานประจำหนังสือ 978-616-510-967-3 โดยหนังสือเล่มนี้แบ่งข้อมูลสำคัญของหมู่เกาะกาลาปากอสออกเป็น 2 ประเด็นหลัก คือความหลากหลายทางชีวภาพบนเกาะ ในบทที่ 1 ถึงบทที่ 3 และสิ่งมีชีวิตบนเกาะที่ถูกคุกคามจากการมาเยือนของมนุษย์ ในบทที่ 4 ถึง 7
ก่อนจะนำผู้อ่านเข้าสู่บทแรก ผู้เขียนได้กล่าวถึงลักษณะทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ของหมู่เกาะกาลาปากอส ซึ่งได้เริ่มต้นขึ้นหลังจากการระเบิดของภูเขาไฟใต้ทะเลในมหาสมุทรเเปซิฟิกเมื่อ 3 ล้านปีก่อน ทำให้เกิดการยกตัวของแผ่นเปลือกโลกจนเกิด 18 เกาะหลัก 3 เกาะเล็ก และโขดหินในทะเลอีกกว่า 170 แห่ง ประกอบกันเป็นหมู่เกาะกาลาปากอส ซึ่งมีระบบนิเวศที่ซับซ้อนและเปราะบางโดยมีสาเหตุมาจากสภาพทางภูมิศาสตร์, สภาพเเวดล้อม เเละภัยพิบัติครั้งใหญ่อันเนื่องมาจากการกระทำของมนุษย์
ในบทเเรก ผู้เขียนบรรยายสภาพภูมิศาสตร์ในเกาะที่มีธารลาวาไหลรวมกันจนกลายเป็นทุ่งหินลาวาขนาดใหญ่ แม้พืชจะไม่สามารถเจริญเติบโตผ่านชั้นหินลาวาได้แต่พวกมันก็ยังคงเจริญเติบโตได้ในบริเวณที่ลาวาไม่ได้ไหลผ่าน ก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต สิ่งมีชีวิตชนิดแรกที่ผู้อ่านจะได้รู้จักคือเต่าบกยักษ์หลังโดมนามว่า “เชท” ซึ่งเป็นตัวละครที่ผู้เขียนใช้ในการดำเนินเรื่อง ในบทที่ 1 ถึง 3 นี้ผู้เขียนจะแนะนำสิ่งมีชีวิตบริเวณหมู่เกาะกาลาปากอสให้ผู้อ่านได้รู้จักไปทีละสายพันธุ์ในฐานะเพื่อนของเชท เริ่มจากกิ้งก่าบก ด้วยความที่ทั้งสองสายพันธุ์อาศัยอยู่บนพื้นดินทำให้ทั้งคู่มีความสนิทสนมกันมากเป็นพิเศษ ตามมาด้วยกิ้งก่าทะเล, สิงโตทะเล เเละเต่าตนุ ที่อาศัยอยู่ในแถบชายฝั่งเป็นส่วนใหญ่ จึงมีการพึ่งพาอาศัยกันท่ามกลางความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจากมีแหล่งอาหารรวมถึงแหล่งที่อยู่อาศัยที่ใกล้เคียงกัน มากไปกว่านั้นยังให้ความรู้เกี่ยวกับการหาคู่ของนกหลากหลายสายพันธุ์ในฤดูผสมพันธุ์ เช่น นกกาน้ำ, นกเพนกวิน, นกฟลามิงโก, นกโจรสลัด, นกบูบี้ตีนฟ้า, นกบูบี้อลาสก้า เเละนกกระทุง รวมไปถึงนกนักล่าที่อาศัยอยู่ในบริเวณชายฝั่ง ได้เเก่ นกเหยี่ยว, นกกระสา เเละนกเลียนเสียง โดยมีการกล่าวถึงพฤติกรรมการล่าเหยื่อของนกนักล่าเหล่านี้ไว้อย่างละเอียด
บทที่ 4 สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ที่มีชื่อว่า “มนุษย์” ได้เข้ามาเยือนเกาะแห่งนี้เป็นครั้งแรก พวกเขาเดินทางมากับเรือโจรสลัดลำใหญ่นามว่า “ทากัส” ซึ่งมี “อาดัม เฮล” โจรสลัดชาวอังกฤษเป็นกัปตัน หลังจากขึ้นเกาะได้สำเร็จเฮลก็สั่งในลูกเรือเร่งหาทรัพยากรน้ำและอาหาร ในบทที่ 4 เเละ 5 จึงเป็นการบรรยายถึงลักษณะและความอุดมสมบูรณ์ของเกาะผ่านการเดินทางของเหล่าโจรสลัด ผ่านป่าโกงกางเเดง ลัดเลาะมาตามลำธาร และเจอกับต้นแอปเปิลเกาะที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน ภายหลังเหล่าโจรสลัดได้รู้ว่าแอปเปิลเกาะนั้นมีพิษถึงตาย ลูกเรือจึงจำเป็นต้องหาแหล่งอาหารใหม่และทำให้สิ่งมีชีวิตบนเกาะตกอยู่ในอันตราย เนื่องจากเหล่าโจรสลัดเริ่มหันมาล่าเต่ายักษ์เพื่อนำไปเป็นอาหาร เชทจึงต้องอพยพประชากรเต่าบกไปอยู่ในถ้ำลาวาชั่วคราวเพื่อความปลอดภัย พร้อมทั้งหาวิธีทำให้มนุษย์ออกจากเกาะเเห่งนี้ไปโดยเร็ว ด้วยความช่วยเหลือจากผองเพื่อนหลากหลายสายพันธุ์ พวกเขาจึงสามารถดันเรือโจรสลัดออกจากปากอ่าวได้สำเร็จ ทำให้ชีวิตบนเกาะกาลาปากอสของเชทและผองเพื่อนกลับมาสงบสุขอีกครั้ง
บทส่งท้าย มีการกล่าวถึงจำนวนประชากรของเต่าบกยักษ์ในพื้นที่หมู่เกาะกาลาปากอสที่ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากถูกล่าอย่างหนักจากเรือโจรสลัดและเรือล่าวาฬ ทำให้ประชากรเต่าบกที่เคยมีมากกว่า 250,000 ตัว ลดจำนวนลงเหลือเพียง 3,000 ตัวเท่านั้น โชคยังดีที่ภายหลังประเทศเอลซัลวาดอร์ได้จัดตั้งอุทยานแห่งชาติกาลาปากอส และมีโครงการฟื้นฟูประชากรเต่าบกยักษ์อย่างจริงจัง ทำให้จำนวนประชากรของเต่าบกยักษ์มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แม้ประเด็นที่ผู้เขียนนำมานำเสนอนั้นจะดูไกลตัวไปสักหน่อย เนื่องจากเป็นการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับระบบนิเวศของหมู่เกาะกาลาปากอสซึ่งอยู่ไกลออกไปหลายพันไมล์ทะเล เเต่หากย้อนกลับมามองในประเด็นของการอนุรักษ์ก็จะพบว่าการกล่าวถึงหมู่เกาะกาลาปากอสเป็นเพียงการยกตัวอย่างระบบนิเวศที่สุดขั้ว เพื่อให้ผู้อ่านเห็นถึงภัยคุกคามของมนุษย์เเละการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตอย่างเป็นรูปธรรม เเท้จริงเเล้วจุดประสงค์ของผู้เขียนคือการให้มนุษย์หันมาสนใจสภาพเเวดล้อมเเละได้รู้ว่าระบบนิเวศถูกทำลายไปมากเพียงใด เพราะหากระบบนิเวศถูกทำลายจนสูญเสียความสมดุลถึงขั้นที่สิ่งมีชีวิตบางชนิดสูญพันธุ์ไป เเม้ภายหลังมนุษย์จะเห็นคุณค่าเเละกลับมารณรงค์ให้เกิดการอนุรักษ์มากเท่าไร ก็คงไม่สามารถทำให้ระบบนิเวศกลับมาสมบูรณ์ดังเดิมได้อีก เพราะการที่มีสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งสูญพันธุ์ไปนั่นเเปลว่าระบบนิเวศนั้นได้สูญเสียความสมดุลไปตลอดกาล
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่หนังสือเล่มนี้ต้องการนำเสนอคือการลดจำนวนลงของสิ่งมีชีวิตบนหมู่เกาะกาลาปากอส โดยเฉพาะประชากรเต่าบกยักษ์ที่ลดจำนวนลงจนถึงขั้นวิกฤต ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงใส่รายชื่อของสัตว์ป่าที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไว้ในบทส่งท้ายของหนังสือ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถนำไปศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมได้
สรุปโดยภาพรวมแล้วหนังสือเล่มนี้ครอบคลุมประเด็นในด้านระบบนิเวศบริเวณชายฝั่งของเกาะกาลาปากอสได้เกือบทั้งหมด โดยมีการยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงมาเรียบเรียงเป็นเรื่องราวได้อย่างน่าสนใจ อีกทั้งยังใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ทำให้ผู้อ่านทุกกลุ่มสามารถเข้าใจสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อและรู้สึกสนุกไปกับการอ่าน ในส่วนของการเรียบเรียงเนื้อหาภายในเล่มนั้นมีการจัดลำดับให้ง่ายต่อการเข้าใจ โดยเริ่มบรรยายภาพรวมเกี่ยวกับทัศนียภาพและสภาพเเวดล้อมของตัวเกาะก่อน แล้วจึงกล่าวถึงสิ่งมีชีวิตไปทีละสายพันธุ์ตามแหล่งที่อยู่อาศัย และกล่าวถึงภัยพิบัติอันสืบเนื่องมาจากการมาเยือนของมนุษย์เป็นเรื่องสุดท้าย เพื่อให้เห็นภาพของสภาพแวดล้อมก่อนและหลังจากที่มนุษย์เข้ามาทำลาย
การเขียนนวนิยายในเชิงสารคดีนั้นยากที่จะเขียนออกมาให้น่าสนใจ เเต่สำหรับผลงานเรื่องดังกล่าวของ ปองพล อดิเรกสาร สามารถทำออกมาได้ดีทีเดียว เนื่องจากมีการดำเนินเรื่องที่สนุกน่าติดตามทำให้สามารถสอดเเทรกข้อมูลเชิงนิเวศวิทยาเข้าไปได้โดยที่ผู้อ่านไม่รู้สึกเบื่อ อีกทั้งภาพประกอบยังช่วยให้หนังสือเล่มนี้ดูน่าสนใจ และทำให้ผู้อ่านจินตนาการภาพสิ่งมีชีวิตที่ผู้เขียนกล่าวถึงได้ดีขึ้นยิ่งขึ้น
ในแง่ของข้อมูลสนับสนุน ผู้เขียนมีมูลความรู้เพียงพอต่อการนำมาเขียนบรรยายเนื้อหาภายในหนังสือได้อย่างละเอียดครบถ้วน เนื่องจากเคยเดินทางไปศึกษาระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมของหมู่เกาะกาลาปากอสมาเเล้วถึงสามครั้ง อีกทั้งยังเป็นผู้ผลิตเเละดำเนินรายการสารคดีโทรทัศน์ถึงสองรายการ ทำให้ผู้อ่านมั่นใจได้ว่าข้อมูลที่ได้รับจากการอ่านหนังสือเล่มนี้จะมีความถูกต้อง, ครบถ้วนสมบูรณ์ และน่าเชื่อถือในระดับหนึ่ง
ในส่วนของการวิจารณ์นั้นเห็นว่าควรมีการทำสารบัญตัวละคร เนื่องจากมีจำนวนตัวละครในเรื่องค่อนข้างมาก ทำให้ผู้อ่านไม่สามารถเข้าใจและจดจำข้อมูลของทุกตัวละครได้ ทั้งนี้การทำสารบัญตัวละครเพื่อนำเสนอชื่อ สายพันธุ์ และรูปร่าง ของแต่ละตัวละครออกมาอย่างเป็นระบบ น่าจะสามารถดึงดูดความสนใจและทำให้ผู้อ่านสามารถจดจำตัวละครได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งในส่วนของการบรรยายเนื้อเรื่องมีการใช้คำซ้ำค่อนข้างบ่อย และคำที่ซ้ำกันมักจะอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้กันจึงอ่านได้ไม่ราบรื่นเท่าที่ควร ต่อมาในส่วนท้ายเรื่องซึ่งผู้เขียนได้แนบรายชื่อและลำดับความเสี่ยงในการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าบนเกาะเอาไว้ ทางผู้เขียนควรมีการแนะนำหนังสือหรือเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ รวมถึงใส่ชื่อทางวิทยาศาสตร์ของสิ่งมีชีวิตบนเกาะที่ต้องการนำเสนอ เพื่อให้การสืบค้นข้อมูลสามารถทำได้ง่ายยิ่งขึ้น
เอกสารอ้างอิง
ปองพล อดิเรกสาร. 2566. กาลครั้งหนึ่ง ณ กาลาปากอส. กรุงเทพฯ: ประพันธ์สาส์น.