LADYD by LADYS: เลื่อนลอย ลื่นไหล ไร้ตัวตน
นภัสกร เฉลิมวุฒิ
“นามธรรม....ทำให้ข้าพเจ้าต้องปั้นแต่งทุกสิ่งขึ้นมา” (LADYS, 2566, น.29)1,2
เราอาจเคยอยู่ในสภาวะเดียวกันกับ LADYD by LADYS. ลืมตาตื่นขึ้นมาตอนเช้า, มองตัวเองแล้วก็พบแต่ความโหวงเหวงและว่างเปล่าในกระจก. ไม่อยากจะลุกขึ้นเพื่อแบกภาระหนังอึ้งไว้บนหลัง. อยากจะคลาน. ใช้ชีวิตราวกับเป็นซากที่ยังเคลื่อนไหว. คล้องบัตรอันแสดงหน้าที่เหมือนลาดิด. ตั้งคำถามกับตัวเองเสมอว่่า: “เราใช้ชีวิตไปเพื่อสิ่งใดกัน”, และยากเหลือเกินที่จะไขว่คว้าตัวตนเพื่อตอบคำถามที่ว่า: “เราเกิดมาเพื่อทำอะไรกันแน่”. คำตอบอาจจะมีมากมายสำหรับแต่ละคน, แต่สำหรับตัวละครเอกอย่าง ”ข้าพเจ้า” อะไรกันทำให้ตั้งคำถามนั้นออกมา.
ชื่นมื่นอย่างซึมเซา
ตัวตน....ตัวตนของข้าพเจ้านั้นเป็นอย่างไร สมบูรณ์แบบอย่างหลังคาฝ้า หรืออิสระแสนโสภาอย่างผืนฟ้าซึ่งมองไม่เห็น มันวกวนเหลือเกิน คงเป็นการเคี่ยวกรำอันซ้ำซากของข้าพเจ้าเอง ข้อคำถาม เหล่านี้นั้นไร้คำตอบ เพราะหากมีคำตอบ ก็คงไม่อาจเรียกว่าเป็นตัวข้าพเจ้า ทุกข์ทนหรือ ไม่เลย ข้าพเจ้าไม่ทุกข์ทนกับการไร้คำตอบ ข้าพเจ้าชื่นมื่นอย่างซึมเซาเสียแล้ว (LADYS, 2566, น.5–6)
2–3 ปีก่อนหน้านี้, สื่อสังคมต่าง ๆ เชิดชูค่านิยมการค้นหาตัวเอง. ความฝันคือเป้าหมายอันสูงค่า, ซึ่งกำหนดโดยตัวตน. ใครก็ตาม, ที่กำหนดทิศทางชีวิตของตัวเองได้, จะได้รับคำชมสรรเสริญ. ได้รับคำชมสรรเสริญ เพราะการมีคุณค่่าสักอย่างนั้นสามารถตอบข้อคำถามที่ว่า: “เราเกิดมาเพื่ออะไร?”. แสดงว่า ประเด็นหลักร่วมกันของสังคมคือ แก่นสารของการมีชีวิตอยู่คืออะไร? และเพื่อทำอะไรให้สังคม? เรารู้ได้ว่าลักษณะความเชื่อเรื่องแก่นสารของชีวิตของตัวละครเอกมีลักษณะเป็นอัตถิภาวนิยม (existentialism) จากการกล่าวว่่า “ยิ่งครุ่นคิดถึงตัวตน ยิ่งทุ่มเทสร้างสิ่งนั้น” (LADYS, 2566, น.5) เพราะปรัชญาแบบอัตถิภาวนิยมเสนอว่า แก่นสารของการมีอยู่/การมีชีวิตนั้น, สร้างขึ้นมาด้วยมือเราและรับผิดชอบด้วยมือเรา (เทพพิทักษ์ คุ้มมณี, 2017). เราอาจคิดว่า “แต่ถ้าไม่สร้างความหมายขึ้นมา, เราก็ไม่ต้องรับผิดชอบสิ่งใด; เราก็ย่อมจะสบายสิ”.
ก็จริง. แต่ใครกันอยากถูกตราหน้าว่าไร้ประโยชน์แก่สังคม?
ความว่างเปล่าเหมือนภาระหนักอึ้ง, เกิดจากการต้องแบกความคาดหวังของสังคมว่า: “แกจะทำอะไร?”. สุญญากาศทางอัตถิภาวะ (existential vacuum) คือ ช่วงเวลาหนึ่งในชีวิตที่คนเราเกิดการตั้งคำถามว่าเราเป็นใคร แต่กลับพบว่ามันไม่มีอะไรเลย (เดชา ปิยะวัฒน์กูล, 2023). สภาวะที่เป็นเหมือนเครื่องดูดฝุ่น (vacuum cleaner) ดูดกลืนทุกความหวัง/เป้าหมาย. หลงเหลือไว้เพียงแต่ความว่างเปล่า, อ้าวว้าง, หรือเลื่อนลอย. ผู้คนล้วนมีเวลาหดหู่กับชีวิต, ท้อถอย, หรือสิ้นหวัง, แต่สื่อสังคมในช่วงเวลาดังกล่าวดูจะบังคับให้เราต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน (bold). ไม่มีพื้นที่ให้เราได้ว่างเปล่า; ห้ามว่างเปล่า. ถ้าคุณไม่มีที่เป้าหมายชัดเจน, คุณจะไม่ได้รับโอกาสที่ผู้คนจะมาสนับสนุน. ทั้ง ๆ ที่คนเราก็ไม่จำเป็นจะต้องตอบคำถามนั้น/ไม่จำเป็นต้องมีคำตอบ.
เพราะสังคมมองว่าการตอบคำถามเรื่อง “ตัวตน” ด้วยคำตอบที่แน่ชัดเป็นเรื่องปกติ, ผู้ที่มีปัญหากับการตอบเรื่องทำนองนี้ย่อมไร้สาระ. ความตระหนักว่าไร้สาระกดให้ความรู้สึกหดหู่ อ้างว้าง หรือสิ้นหวังไม่ได้รับการสำรวจ. ตัวละครเอกทำร้ายตัวเองด้วยความคิดที่อธิบายไม่ได้, อธิบายไม่ได้เพราะปฏิเสธการมีอยู่ของความทุกข์ทนจากความว่างเปล่า. ทำให้คิดไปว่าความทุกข์ทนนั้น “มันไม่อยู่จริง” หรือเป็นเรื่อง “คิดไปเอง”.
ถึงแม้ “ข้าพเจ้าไม่ทุกข์ทนกับการไร้คำตอบ” (Ladys, 2566, น.6) แต่ “ข้าพเจ้า” กลับ “เดินลากเท้าแต่คิดว่าเป็นเริงระบำเสียแล้ว” (Ladys, 2566, น.5) ตัวละครเอกยืนกรานว่าไม่ทุกข์ทนจากความว่างเปล่าก็จริง, แต่สิ่งที่หลงเหลืออยู่ไม่ใช่ความสุข, อันเป็นคู่ตรงข้ามของความไม่ทุกข์ทน; แต่เป็นความทุกข์ทนอีกรูปแบบหนึ่ง, ความเหนื่อยจนไม่มีแรงจะให้ทุกข์ทนแล้ว. เหนื่อยด้วยความวกวนซ้ำซากของคำถามที่ถูกบังคับให้ตอบ. เพราะคำว่าทุกข์ทนถูกตัดออกจากสารบบไป, ตัวละครจึงแปลความทุกข์ทนในร่างกายออกมาเป็นคำว่า “เหนื่อย”. ความทุกข์ทนรูปแบบใหม่มาในนามของ “ข้าพเจ้าชื่นมื่นอย่างซึมเซาเสียแล้ว” (LADYS, 2566, น.6)
อันที่จริง…เป็นขาของข้าพเจ้าเองที่ลงแรง
เราออกแรงวิ่งไปด้วยกัน อันที่จริง...เป็นขาของข้าพเจ้าที่ลงแรง ส่วนลาคิด เป็นคนขี่ม้า แต่เป็นคนขี่ม้าที่ใกล้ตาย คงโดนปืนยิงเข้า อาจเป็นธนูก็ได้ เป็นอะไรก็ตามที่ทำให้ร่างคนขี่ม้าห้อยต่องแต่งอยู่บนอานชุ่มเลือด ข้าพเจ้าวิ่ง เคลื่อนไหวไปข้างหน้าด้วยก้าวที่ไม่ลาก และหลังที่ไม่นาบพื้น หนัก มันหนักเสมอ ร่างกายของเราทั้งสองหนักเกินไปสำหรับเราทั้งคู่ สำหรับคนที่ใช้เนื้อหนังร่วมกัน ความคิดที่จะฉีกแยกออกย่อมต้องเคยเกิด และต้องเคยทำ (LADYS, 2566, น.41)
ถ้าเราเกิดมาแล้วใช้ภาษาไทยอย่างเดียว, ไม่เคยได้ยินหรือไม่เคยรู้จักภาษาอังกฤษเลย, เราไม่จะไม่มีทางรู้ว่าลักษณะเฉพาะตัวของภาษาไทยเป็นอย่างไร. เพราะในหัวของเราจะมีแต่ความคิดที่ว่าทุกภาษาก็เหมือน ๆ กัน. เมื่อเราไม่รู้จักภาษาอื่น, เราก็จะพลอยไม่รู้จักภาษาของตัวเองไปด้วย. แต่ถ้าเรารู้จักภาษาอื่น แล้วนำมาเปรียบเทียบกันกับภาษาไทย, เราจะสามารถบอกลักษณะของแต่ละภาษาได้จากจุดที่แตกต่างกัน. จุดประสงค์ของการเปรียบเทียบคือการบอกความแตกต่าง. แต่นอกจากนั้นแล้ว, ความแตกต่างจะเป็นตัวที่บอกเราได้ว่าสิ่งนี้เป็นอะไร/เป็นอย่างไร. เป็นคำนิยามของสิ่งสิ่งหนึ่งหรือแม้กระทั่งบอกว่าสิ่งนั้นมีอยู่. นัยยะหนึ่ง, การเปรียบเทียบ, ก็เป็นเครื่องยืนยันถึงการมีอยู่ของสิ่งสิ่งหนึ่ง.
เมื่อตัวตนไม่สามารถนิยามได้, “บางที” การใช้อะไรสักอย่างตั้งขึ้นมาเป็นหลักแล้วเปรียบเทียบเพื่อหาความเป็นอื่นก็สามารถทำให้ความเป็นอีกตัวตนมีอยู่. ลาดิดทำหน้าที่เช่นนั้น. ทำหน้าที่ยืนยันว่า “ข้าพเจ้า” ยังอยู่. การปรากฏของลาดิดมักมาในลักษณะเป็นคู่ตรงข้ามของตัวละครเอก, แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่คนละตัวละคร เพราะ “ใช้เนื้อหนังร่วมกัน”. อาจเรียกว่าเป็นอีกบุคลิก อีกมุมมอง หรืออีกตัวตนมากกว่า. เมื่อพิจารณาชื่อเรื่อง (LADYD) ซึ่งคล้ายคลึงกับชื่อของผู้เขียน (LADYS) และการบอกว่าเมื่อเขียนเรื่องนี้ จิตใจของผู้เขียนถูกนำพาให้ไปแตะส่วนที่ลึกที่สุด3. ตัวบทระหว่างลาดิดและตัวเอกที่เรียกตัวเองว่า “ข้าพเจ้า” กลั่นจากบทสนทนาคู่ (dialogue)ของตัว “ข้าพเจ้า” กับตัว “ข้าพเจ้า” เอง. การเล่าคือการสรุปผลจากการเปรียบเทียบหนึ่งบุคลิกของตัวเองและอีกบุคลิกที่ “ปั้นแต่ง” ขึ้นมา. เนื่องจากในเรืื่องใช้คำว่า “ความคุ้นเคยอันว่าใช้เนื้อหนังร่วมกัน” (LADYS, 2566, น.7). แสดงว่า ผู้เขียนสาปส่ง/ทำร้ายตัวเอง (self–mutilate) ด้วยความคิดของตัวเองตลอดเรื่อง. ทั้งสองตัวละครเป็นมานุษยรูป (anthromorphic) ของความคิดขัดแย้งภายในตัวของผู้เขียน. สรุปแล้ว, การปั้นแต่งลาดิด อาจเป็นวิธีการระบุตัวตนว่าเป็นใคร โดยการสร้างตัว “ลาดิด” นั้นขึ้นมาเปรียบเทียบ, หาความเป็นอื่นจากลาดิดเพื่อบอกว่าตัวเองเป็นใคร. ทำให้บางครั้งตัวตนของตัวละครเอกและ “ลาดิด” ทับซ้อนกัน เพราะการปั้นแต่ง “ลาดิด” ขึ้นมานั้นอาศัยการอ้างอิงจากตัวละครเอก, หรือพูดอีกอย่างคือ “อันที่จริง...เป็นขาของข้าพเจ้าที่ลงแรง” (LADYS, 2566, น.41)
บทส่งท้าย
ข้าพเจ้านึกคำนึงถึงอ้อมกอดเมื่อนานมาแล้ว หรือกระทั่งเพียงปลายนิ้วที่แตะลงบนหลังมือเมื่อไม่นานมากนัก หรือข้าพเจ้าจะโหยหาสิ่งเหล่านั้น จะใหญ่ล้นหรือจะเล็กน้อย หรือความว่างเปล่าที่ราวจะลึกลงไปถึงไขกระดูกสันหลังนี้จะเป็นเพียงความเสแสร้ง เพื่อปฏิเสธหรือ เพื่อสร้างรั้วสูงให้เหลือเพียงเราหรือ เพื่อข้าพเจ้าและลาดิดจะได้นอนก่ายความว่างเปล่าซึ่งเป็นระยะห่างซึ่งเกี่ยวรัดเราทั้งคู่ไว้ด้วยกันหรือ เราหวงความเป็นเรามากมายถึงเพียงนั้น ใช่แล้ว....เราหวงแหน อย่างสุนัขหิวโซคาบงับเนื้อชิ้นสุดท้าย (LADYS, 2566, น.15–น.16)
การตระหนักได้ว่าตัวตนของตนเองเป็น “ข้อคำถามที่ไร้คำตอบ” ทำให้ “ร่างกายของเราทั้งสองหนักเกินไปสำหรับเราทั้งคู่” (Ladys, 2566, น.41). อ่อนล้าเสียจนตัวละครเอกโหยหาอ้อมกอด. นอกจากตัวละครเอกแล้ว, ทุกคนก็เป็นเช่นนั้น. ทุกคนตั้งคำถามกับความเป็นตัวเอง, คุณค่าของตัวเอง, และความจำเป็นของตัวเอง. คนคนหนึ่งต้องต้านทานความเหนื่อยหน่ายกับคำถามเดิม ๆ และคำตอบเดิม ๆ ของชีวิต. ธรรมชาติของ “ตัวตน” ของคนคนหนึ่งนั้นลื่นไหลและไม่คงที่. การพยายามจะนิยามบางสิ่งที่มีสภาพเช่นนั้น จึงไม่ต่างอะไรกับการคว้าอากาศให้อยู่ในอุ้งมือ. เรารู้ว่าอากาศมีอยู่ และอากาศเป็นอากาศ. ต่อให้เราจะสามารถจับอากาศได้ ก็ไม่ได้ทำให้ระบบหายใจเราดีขึ้น, ระบบหายใจเราก็ยังทำงานเหมือนเดิม. และทุกสิ่งยังคงดำเนินในวิถีของมันดังเช่นก่อนหน้านั้น.
ถ้าการสร้างความหมายตลอดเวลามันเหนื่อย,
ลองโอบกอดความว่างเปล่าดูบ้างก็ได้.
LADYD by LADYS พาให้เราจมดิ่งสู่ความอึดอัดที่คุ้นเคยของโลกสมัยใหม่ ที่เกิดขึ้นจากสุญญากาศทางอัตถิภาวะ (existential vacuum) ดึงลงสู่กระแสของบรรยากาศของสองภาคตัวละครที่สะท้อนซัดใส่ไปมา การเล่าเรื่องราวกับกวีนิพนธ์ที่สามารถกลืนผู้อ่านลงไปโดยไม่จำเป็นต้องรู้ความหมายของทุกคำ “ความคุ้นเคยอันคล้ายว่าใช้เนื้อหนังร่วมกัน” จึงเป็นรอยเท้าของความรู้สึกที่อาจเคยเกิดขึ้นกับเราทุกคน.
--------------------------------
1 ผู้วิจารณ์อนุมานว่าการใช้ตัวพิมพ์ใหญ่สะกดชื่อตามที่ปรากฏในนวนิยายและบัญชีทวิตเตอร์ของผู้เขียนเป็นส่วนหนึ่งของนามปากกา
2 ข้าพเจ้า เป็นตัวละครเอก (protagonist) และ ลาดิด เป็นตัวตรงข้ามตัวละครเอก (antagonist) ใน LADYD by LADYS ซึ่งทับซ้อนกัน
3 “ภาวนาให้ชีวิตนี้ไม่ต้องแตะไปถึงจุดที่ลึกสุดใจแบบตอนเขียนลาดิดโดยลาดิด เรื่องสุดท้ายของชีวิตแม่งมีอยู่จริง ขอบคุณที่เล่มนั้นยังไม่ใช่...” (LADYS, 2566)
อ้างอิง
เทพพิทักษ์ มณีพงศ์. (6 มกราคม 2017). Existential Crisis : เมื่อความอ้างว้างนำไปสู่การตั้งคำถามถึงการมีอยู่
ของชีวิต. The 101 World. https://www.the101.world/existential-crisis/
Jomquan. (6 ตุลาคม 2566). นพ.เดชา ปิยะวัฒน์กูล: อาการหลักอันหนึ่งของผู้ป่วยทางจิต คือไม่ยอมรับความ
เจ็บป่วยของตัวเอง l พักการเมือง. https://youtu.be/q3iIUxPcjFw?si=U8ZD6g2YveU-zHVT
LADYS. (2566). LADYD by LADYS. สํานักพิมพ์ลาดิดและมูนสเคป.
LADYS. [@theoryofLady]. (15 กุมภาพันธ์ 2566). ภาวนาให้ชีวิตนี้ไม่ต้องแตะไปถึงจุดที่ลึกสุดใจแบบตอนเขียน
ลาดิดโดยลาดิด. Twitter. https://x.com/theoryofLady/status/1625894542674386944?
t=hqpPRl3B4chqnSw4NKrl3w&s=19