ลูกสาวจากดาววิปลาส: สุมไฟแห่งความโกรธแค้น
สู่การหยัดยืนต่อสู้บนดวงดาวแห่งความเป็นอื่น

อารีนุช อุดมผล

 

 

 

          “เมื่อครั้งยังเด็ก ฉันถูกเฆี่ยนตี ถูกกระทำชำเรา ถูกประณาม ถูกเหยียดหยาม จากคนที่อยู่รอบตัว” (น. 27)

          คือเสียงจากสมุดบันทึกของ ดุจดาว หญิงที่ใคร ๆ ต่างก็มองว่าบ้า เมื่อเสียงของเธอไม่อาจไปไกลมากกว่าหน้ากระดาษ บันทึกนับร้อยเล่มจึงถูกขีดเขียนวนซ้ำไม่รู้จบ ภายใต้ฉากหลังของรัฐอันศิวิไลซ์ที่ผู้คนส่วนหนึ่งกลับถูกกลืนกิน หลงลืม และทอดทิ้ง ราวกับแสงสว่างที่เลือกสาดส่องเพียงคนบางกลุ่มและทอดทิ้งคนอีกกลุ่มหนึ่ง หากไม่มี “คุณค่า” มากพอให้จดจำ หรือหากมี “มลทิน” มากพอให้ถูกลืม

          “แม่ตั้งชื่อฉันว่า ‘ดาดาว’ แม่หวังให้ฉันเป็นดั่งแสงสว่างนำทางให้แก่แม่…ฉันไม่แน่ใจว่าทางในคืนไร้หวังที่ฉันนำไปคือทางที่ถูกต้องหรือทางสู่นรกขุมใหม่กันแน่ เพราะดูเหมือนว่าชีวิตของเราสองคน ดาดาวและดุจดาว เริ่มสันดาป ลุกไหม้ และนับถอยหลังสู่ความพินาศตั้งแต่วินาทีที่ฉันปฏิสนธิขึ้น” (น. 61)

          จาก ดุจดาว สู่ ดาดาว เมื่อแสงสว่างไม่อาจส่องถึงสองแม่ลูก ชีวิตของ “ลูกสาวจากดาววิปลาส” จึงเริ่มต้นขึ้นผ่านวรรณกรรมไทยร่วมสมัยในชื่อเดียวกัน ผลงานของจอมเทียน จันสมรัก นักเขียนและนักกิจกรรมผู้ต่อสู้ในประเด็นความรุนแรงทางเพศ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2565 โดยสำนักพิมพ์ P.S. บอกเล่าเรื่องราวที่อ้างอิงจากชีวิตจริงผ่าน ดาดาว ลูกสาวของ ดุจดาว แม่ที่ใครต่อใครก็มองว่าไม่สมประกอบ ผู้พร่ำเขียนบันทึกเล่มแล้วเล่มเล่า เล่าเรื่องราวของงูร้ายที่เข้ามาเล้าโลมเรือนกาย เรื่องราวของพ่อที่ลูกไม่เคยพบหน้า และสารพัดภัยอันตรายที่เป็นเหตุให้เธอตัดสินใจขังลูกสาวไว้ในบ้านท้ายสวนกล้วยไม้ เมื่อกาลเวลาผันแปรเด็กหญิงเติบโตเป็นหญิงสาว ดำดิ่งสู่ห้วงแห่งชีวิตและบันทึกนับร้อยเล่มของแม่ เธอจึงรู้ได้ว่าตัวอักษรทุกย่อหน้ามีความหมายมากน้อยเพียงใด อัดแน่นไปด้วยความขมขื่นและโกรธแค้นมากน้อยเพียงใด เพราะความวิปลาสเหล่านี้ล้วนแต่มีที่มา

 

“ดุจดาว” สู่ “ดาดาว” วังวนของความรุนแรงทางเพศไม่รู้จบ

          “ ดุจดาว’ ช่างสวยงามหรูหรา แต่ไม่มีใครเรียกแม่ด้วยชื่อนั้นเลย” (น. 23)

          อีเล็กคือชื่อเรียกขานเมื่อเธอยังเยาว์วัย หญิงบ้าคือชื่อเรียกขานเมื่อเธอเป็นแม่ ดุจดาวเป็นลูกสาวคนที่สี่ของครอบครัว เคยเป็นเด็กหญิงเปี่ยมสุขที่เต็มไปด้วยความหวังของช่วงชีวิต แต่เมื่อนานวันเข้า ร่างกายและจิตใจเธอก็ถูกย่ำยีจากคนรอบตัว ความรักจากครอบครัวถูกแทรกด้วยความรุนแรงทางเพศจากที่เดียวกัน และดวงดาวแห่งนี้ก็ไม่เคยให้พื้นที่เธอตรึกตรองหรือบอกเล่าสิ่งอัปลักษณ์ดำมืดที่สร้าง “มิลทิน” ให้แก่เธอ คำบอกเล่าถึงเหตุการณ์จึงไม่เคยไปไกลกว่าหน้ากระดาษ

          “เรื่องเพศเป็นเรื่องลับ ความรุนแรงทางเพศในบ้านยิ่งถูกกดทับซับซ้อน แม่ไม่เคยได้รับโอกาสให้หวนคิดถึงเรื่องที่เกิดขึ้นมาก่อน” (น. 28)

          ความรุนแรงทางเพศในสังคมปัจจุบันยังคงเป็นปัญหาที่เกิดซ้ำอย่างต่อเนื่อง เมื่อรากเหง้าจากสังคมชายเป็นใหญ่สร้างบทบาทความเป็นชายและอำนาจเหนือให้กระทำต่อผู้หญิงอย่างไม่เท่าเทียม สถานการณ์ความรุนแรงทางเพศในหลายกรณี ผู้หญิงจึงมักไม่กล้าขัดขืน เพราะตกอยู่ในการควบคุมของอำนาจเหนือดังกล่าวอย่างไม่ทันรู้ตัว (ชัญญาพัชญ์ ตรังคิณีนาถนิธิมา และอาภาศิริ วุวรรณานนท์, 2561, อ้างถึงใน สุขุมา อรุณจิต, 2565)

          ทันทีที่กระบวนการขัดเกลาทางเพศในสังคมเกิดขึ้น ความคาดหวังต่อเพศนั้น ๆ จึงถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นเช่นกัน เด็กชายจะถูกขัดเกลาให้เข้มแข็งและแข็งแกร่ง ในขณะที่เด็กหญิงจะถูกขัดเกลาให้อ่อนหวานและบริสุทธิ์ ด้วยโครงสร้างอันบิดเบี้ยวของสังคมเช่นนี้จึงนำมาซึ่ง “อคติต่อเพศ” ที่จะทำหน้าที่พิจารณา “คุณค่า” ของแต่ละบุคคลว่าเป็นไปตามลักษณะ “ผู้หญิงที่ดี” หรือ “ผู้ชายที่ดี” หรือไม่ หากผู้ถูกกระทำมีคุณสมบัติไม่ตรงตามคตินิยมก็จำต้องถูกติเตือน  รังเกียจและตีตรา มากกว่าได้รับความเข้าอกเข้าใจและการปลอบประโลมอย่างที่ควรจะเป็น ผู้ถูกกระทำจำนวนมากจึงเลือกเก็บเรื่องราวอันเลวร้ายเหล่านี้ไว้กับตัว ปกปิดและฝังกลบไว้ราวกับไม่เคยเกิดขึ้นจริง แม้ว่าความปวดร้าวจากเหตุการณ์ดังกล่าวจะยังคงฝังรากลึกจนมิอาจลืมเลือนได้ก็ตาม

          “ดาว ดาวต้องรักษาเพศพรหมจรรย์ไปตลอดชีวิตนะลูก”

          “หนูถูกข่มขืน แม่ก็รู้ ยังจะมาพูดอะไรแบบนี้อีก” (น. 59)

          ความรุนแรงทางเพศไม่เคยจบสิ้น อีกทั้งยังเกิดซ้ำเป็นวัฏจักร จาก ดุจดาว สู่ ดาดาว จากแม่สู่ลูกสาว ดาดาวคือเด็กหญิงท้ายสวนกล้วยไม้ตั้งแต่จำความได้ โรงเรียนเคยเป็นสถานที่แสนโปรดปรานของเธอ จนกระทั่งแม่ตัดสินใจขังเธอไว้ท้ายสวนเพื่อป้องกันเธอจากอันตรายใด ๆ ทั้งปวง ทว่าก็ไม่สามารถป้องกัน “งูร้าย” ที่พลัดโฉบเข้ามาเล้าโลมโดยไม่ทันตั้งตัวได้ เมื่อความเป็นอื่นผลักไสเด็กหญิงออกห่างไปจากเพื่อนในวัยเดียวกัน ลูกพี่ลูกน้องทั้งสองอย่าง พี่พีท พี่นิวจึงเป็นเพื่อนเล่นเพียงไม่กี่คนของเธอ จากการละเล่นปกติก็เริ่มทวีความพิสดาร เกมตำรวจจับโจรถูกใช้เป็นเครื่องมือในการล่อลวงเด็กสาวให้ร่วมกิจกรรมทางเพศเพื่อจะได้รับการยอมรับและเป็นส่วนหนึ่งของวงสังคมที่เธอปรารถนา

          “บนเตียงฉันไม่สามารถขยับอย่างที่ใจอยากได้ แต่บนเตียงเดียวกันนั้น ฉันมีตัวตน ฉันถูกเรียกชื่อ เป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนาและเสียงหัวเราะที่เคยได้แต่แอบฟังอยู่ไกล ๆ “ (น.11)

          แม้ดาดาวจะเติบโตจนถึงวัยสิบเอ็ดหรือยี่สิบเอ็ดปี วัยที่เป็นอิสระและปราศจากพันธนาการแห่งมิตรภาพในอดีต เหตุการณ์อันดำมืดก็ยังคงตามราวีเธอไม่เลิกรา แต่ในครั้งนี้กลับต่างออกไป เมื่อความปวดร้าวและความกล้าหาญกลับเอาชนะความหวาดกลัวได้สำเร็จ เสียงบอกเล่าถึงเหตุการณ์ลึกลับตั้งแต่ท้ายสวนกล้วยไม้จนถึงปัจจุบันจึงดังขึ้นเป็นเท่าทวี เริ่มต้นจากญาติผู้ใหญ่ สู่ฝูงชนนับร้อยเบี้องหน้า

          “สำหรับฉัน การถูกข่มขืนไม่ได้ทำให้คุณค่าของฉันลดลง ไม่ได้ทำให้ฉันกลายเป็นคนที่ผิดปกติ ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องปกปิด…เพราะฉันก้าวข้ามผ่านความเจ็บปวด เป็นอิสระ รอยบาปหรือความผิดใดตกอยู่กับเขาเท่านั้น ตลอดไป” (น. 308-309)

          ท่ามกลางสังคมที่ยังคงโทษเหยื่อมากกว่าผู้กระทำ ความเจ็บปวดของเหยื่อไม่ได้เกิดเพียงครั้งเดียว แต่เกิดขึ้นอีกหลายต่อหลายครั้งจากสังคมเป็นผู้กระทำซ้ำ การยืนหยัดต่อสู้และโต้กลับวัฒนธรรมการโทษเหยื่อ (Victim Blaming) (สมชาย ปรีชาศิลปะกุล, 2565; อัคริมา สุขดี และธัญญลักษณ์ บังชะฎา, 2564) จึงถือเป็นก้าวสำคัญสู่การเปลี่ยนแปลง พร้อมทลายวาทกรรมที่ว่าเหยื่อคือต้นเหตุและประกอบสร้างคุณค่าให้กับพวกเขาขึ้นใหม่อีกครั้ง เช่นเดียวกับเสียงของดาดาวที่ไม่เพียงแต่เป็นการยืนหยัดเพื่อตนเอง แต่ยังคงปลอบประโลมผู้พบเจอเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันทั้งในเรื่องราวและหลังหน้ากระดาษ ด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยนแต่หนักแน่นว่าเราไม่ใช่คนผิดและเราไม่ได้เผชิญเรื่องนี้เพียงลำพัง

          ทว่าหากมองย้อนกลับมาถึงกระบวนการยุติธรรมในประเทศ การช่วยเหลือเหยื่อกลับตื้นเขิน เมื่อการตัดสินจำเป็นต้องอาศัยข้อพิสูจน์ที่ว่าการมีเพศสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นไปด้วยความสมัครใจหรือไม่ เหยื่อจึงกลับกลายมาเป็นวัตถุพิสูจน์ความจริง เพื่อเฟ้นหาร่องรอยการบาดเจ็บจากการถูกบังคับจิตใจให้ยอมกระทำตาม ในขณะที่ความเป็นจริงยังมีเรื่องของอำนาจที่ฝ่ายชายมีเหนือกว่าฝ่ายหญิงจนไม่อาจขัดขืนทางกายภาพได้ การข่มขืนที่ไร้บาดแผลหรือร่องรอยการต่อสู้จึงนำไปสู่การตัดสินให้ผู้กระทำสามารถหลุดพ้นจากความผิด ท้ายที่สุดแล้วความเจ็บปวดของเหยื่อจึงไม่ต่างอะไรกับการถูกข่มขืนซ้ำจากกระบวนการยุติธรรม

          “ผู้เสียหายอาจมีส่วนร่วมมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี พูดง่ายๆคือตำรวจสงสัยว่ากิ่งอาจยอมให้เกิดเหตุเอง”

          “มันทำอย่างนี้กับหนูได้ยังไง!”

          “มัน ที่หมายถึงตำรวจ ไม่ใช่คนที่ข่มขืนเธอ”

          “จะกี่เคสต่อกี่เคสที่ฉันดูแล…ทุกคนล้วนประสบความเจ็บปวดระหว่างสอบปากคำ…ทำให้ผู้เสียหายกรณีความรุนแรงทางเพศกลับมาทบทวนและโทษตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า“ (น. 337-338)

 

“ความยากจน” จากสังคมเหลื่อมล้ำ หรือ “เวรกรรม” จากภพชาติที่แล้ว

          ฉากชีวิตแรกของดาดาว คือบ้านไม้โครงลวก ๆ ที่เต็มไปด้วยเสี้ยน เมื่อเธอกับแม่ตัดขาดจากโลกภายนอกโดยสมบูรณ์ เงินเก็บก็ลดน้อยลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งอาหารดี ๆ สักมื้อเป็นสิ่งหายากที่ไม่อาจหาได้อีก การดิ้นรนเพื่อมีชีวิตรอดมื้อต่อมื้อ วันต่อวันจึงเริ่มขึ้นจากการขโมยอาหารจากบ้านญาติคนอื่น ๆ ตามมาด้วยการร่อนเร่ค้าขายเพื่อหาเงินกินพอประทังชีวิต แต่ชีวิตระหว่างความเป็นกับความตายกลับต้องการมากกว่าน้ำ อาหาร และที่อยู่อาศัย เมื่อความยากจนทำชีวิตคนหล่นหาย จึงค่อย ๆ กัดกร่อนชีวิตของเธอจนร่อยหรอเข้าไปทีละน้อย ๆ และสำแดงความโหดร้ายตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้

          “อีเล็กมันเกิดมามีกรรม ป้าว่าไว้” (น. 74)

          บุญบาปและเวรกรรมกลับกลายเป็นคำอธิบายเรื่องราวยากลำบากที่เกิดขึ้น เมื่อมนุษย์ไม่สามารถอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ศาสนาและความเชื่อจึงเป็นคำตอบพร้อมปลอบประโลมทางใจว่า หากหมั่นทำความดีในชาตินี้ ความสุขชั่วนิรันดร์ก็จะปรากฏในชาติหน้า แม้ภายใต้คำว่า “เวรกรรม” จะยังคงตอกย้ำและผลิตซ้ำมายาคติเกี่ยวกับความยากจน และยังคงมิได้ตอบคำถามว่าอะไรคือรากฐานของความคิดแบบ “ไม่มีอะไรจะเสีย” ของคนจนที่อยู่ท่ามกลางโครงสร้างทางสังคมอันบิดเบี้ยวที่สูงเยี่ยงตึกระฟ้า

          “ทั้งเธอและเขาหายไป ง่ายดาย ไม่มีใครถามถึง ตอนนั้นฉันคิดว่าพวกเขาทำบุญมาน้อยไม่พอยังทำตัวเอง ไม่มานะพยายาม จะถูกดีดออกจากโรงเรียนแล้วหายไปก็ไม่แปลก” (น. 167-168 )

          ท่ามกลางสังคมที่พลุกพล่าน ผู้คนบางส่วนกลับเลือนหายวับไปราวกับไม่เคยมีอยู่ เช่นเดียวกับเด็กหญิงและเด็กชายในห้องเรียนชั้นประถมที่ดาดาวพบว่าพวกเขาเองก็มาจาก “ชนชั้น” เดียวกับเธอ ความยากจนนับเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด “ความรู้สึกจน” ก็ยังคงถ่างกว้างเพิ่มขึ้นด้วย (อรวรรณ สุขโข, 2566) จากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ไม่เอื้อให้คนเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ได้อย่างเท่าเทียมสู่ความเหลี่อมล้ำที่ยากเกินแก้ ความจนจึงไม่ได้หมายถึงเพียงการขาดแคลนรายได้หรือขาดแคลนทรัพยากร แต่รวมไปถึงการขาดแคลนโอกาสด้านอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะโอกาสทางการศึกษาพร้อมจะดับสูญไปได้ทุกเมื่อ หากทรัพยากรต่าง ๆ ยังยากจะเข้าถึง เด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อยจึงร่วงหล่นหายไปจากระบบที่จะสานต่อลมหายใจในวันพรุ่งนี้ และแม้แต่ความรู้สึกว่าชีวิตที่ใฝ่ฝันนั้นไร้หนทางตะกายขึ้นไป

 

ลูกสาวผู้หยัดยืนบนดาววิปลาส

          บนดวงดาววิปลาสที่แสงสว่างไม่อาจส่องถึงคนนอกกรอบ เสียงของผู้คนตัวเล็กจ้อยใต้เงาล้วนยากที่จะส่งเสียงถึงใครต่อใคร แต่ลูกสาวจากดาววิปลาสคือเสียงใต้แสงริบหรี่ที่ดังก้องไปทั่วผืนดาว คือบันทึกแห่งเกียรติยศที่จะบอกเล่าไปถึงคนรุ่นหลังว่าความรุนแรงทางเพศไม่ใช่เรื่องที่ต้องปกปิด ผู้ถูกกระทำไม่ใช่ผู้กระทำผิด การรู้สึกผิดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงไม่จำเป็น ความวิปลาสจากสังคมผู้ประกอบสร้าง สุดท้ายแล้วก็จะค่อย ๆ ทลายลงนับตั้งแต่ชั่วขณะนี้ ขณะที่นวนิยายเล่มนี้แพร่สะพัด ส่งเสียงกู่ก้องต่อไป แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงอาจดำเนินการยาวนานมากกว่าหนึ่งชั่วชีวิตคน แต่เมื่อเสียงสุดแสนทรงพลังจากประชาชนลุกฮือขึ้นจากหนึ่งสู่สอง จากร้อยสู่พัน ศึกการเปลี่ยนแปลงของดาววิปลาสก็เริ่มต้นขึ้นแล้วเช่นเดียวกัน

 

อ้างอิง

จอมเทียน จันสมรัก. (2565). ลูกสาวจากดาววิปลาส (พิมพ์ครั้งที่1). สำนักพิมพ์ p.s.

สมชาย ปรีชาศิลปะกุล. (2565). เมื่อเธอเอาร่างกายเรียกร้องความเป็นธรรม. https://www.the101.world/justice-rape-case/

สุขุมา อรุณจิต. (2565). ความรุนแรงทางเพศ: บทสะท้อนความไม่เสมอภาคทางเพศ. รายงานสืบเนื่องการสัมนาวิชาการ
          เนื่องในโอกาสการสถาปนาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. ปีที่ 65. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

อรวรรณ สุขโข. (2566). ‘ความจนข้ามรุ่น’ ความท้าทายเชิงโครงสร้างในสังคมไทย. https://theactive.net/data/data-across-
          
generations-attacks/

อัคริมา สุขดี และธัญญลักษณ์ บังชะฎา. (2564). ปัจจัยทางสังคมกับการใช้ความรุนแรงทางเพศในประเทศไทย.
          วารสารธรรมศาสตร์, 14(1), 161-177.

Visitors: 81,121