เรื่องเล่าวิปลาส ใน วิหารความจริงวิปลาส
สบายใจ ศักดิ์สาลากุล
เรื่องเล่าเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษยชาติมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เมื่ออยู่ท่ามกลามวงสนทนา มนุษย์ก็มักจะแลกเปลี่ยนเรื่องราวซึ่งกันและกัน มนุษย์จึงมีบทบาทเป็นทั้งผู้เล่าเรื่องของตนเองหรือเป็นผู้รับฟังเรื่องเล่าของผู้อื่น เรื่องเล่านั้นสามารถถ่ายทอดความรู้สึก ประสบการณ์ และความคิดของผู้พูดได้ จุดประสงค์ของการเล่าอาจแตกต่างออกไปตามแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อระบายอารมณ์และความในใจ หรือเพื่อโน้มน้าวผู้ฟัง ดังนั้น เรื่องเล่าทุกเรื่องต่างมีต้นตอหรือสาเหตุที่ทำให้ผู้พูดต้องการสื่อสารออกไปสู่ผู้ฟัง เช่นเดียวกับเรื่องราวใน “วิหารความจริงวิปลาส” ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่าแต่ละเรื่องที่เล่าผ่านมุมมองของตัวละครนั้นล้วนมีจุดประสงค์เดียวกัน คือ การเล่าเรื่องในแบบที่ “ดี” ที่สุด แม้จะต้องบิดเบือนความเป็นจริงเพื่อให้เรื่องสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น
นวนิยายเรื่อง “วิหารความจริงวิปลาส” ของ นทธี ศศิวิมล เป็นนวนิยายแนวสยองขวัญที่ผู้เขียนใช้วิธีการดำเนินเรื่องผ่านการเล่นเกม “จริงหรือหลอก” ของเอม มาตา ปกป้อง พาย แก้ม รักษา โอบอ้อม หอม หลวงพ่อเอกภพ และภราดาทวี ซึ่งตัวละครทั้งแปดนี้ได้รับเชิญมาร่วมงานศพ แต่เนื่องจากเกิดพายุระหว่างเดินทาง จึงทำให้ทั้งแปดคนต้องมาหลบในวิหารศักดิ์สิทธิ์และได้มาพบหลวงพ่อกับภราดา และเพื่อเป็นการฆ่าเวลา หลวงพ่อเอกภพซึ่งเป็นบทหลวงจึงชวนผู้มาเยือนทุกคนทำความรู้จักกันผ่านการเล่นเกม โดยกติกาการเล่นเกมนี้คือต้องเล่าเรื่องหลอนที่อาจเป็นจริงหรือเท็จแข่งกัน แต่สุดท้ายแล้ว ทุกคนกลับเล่าความจริงที่ถูกดัดแปลงไปตามความทรงจำออกมาทั้งหมด ในตอนจบ บาทหลวงได้เฉลยว่าทุกคนในโบสถ์ รวมถึงตัวเองและภราดาเป็นเพียง “วิญญาณ” ของครอบครัวที่เสียชีวิตไปแล้ว โดยร่างต่าง ๆ ที่ปรากฎคือครั้งสุดท้ายที่เขาหรือเธอได้มี “ชีวิต” ที่แท้จริง
หลายคือหนึ่งเดียว: เมื่อเด็ก “เป็น” ผู้ใหญ่
ผู้แต่งนวนิยายเรื่องนี้ได้นำโรคความจริงวิปลาสและบุคลิกภาพแตกแยกมาเป็นประเด็นหลักเพื่อสื่อสารสำคัญของเรื่อง โดยนำเสนอผ่านการดำเนินเรื่องที่เป็นการเล่มเกม “จริงหรือหลอก” อย่างแยบคาย และนำมาใช้สร้างตัวละครได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะตัวละครแก้ม
โรคความจริงวิปลาสคือ
“อาการที่เรารู้สึกตัดขาดการเชื่อมต่อกับความเป็นจริงหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัว” ส่วนบุคลิกภาพแตกแยกคือ “ภาวะที่เรารู้สึกตัดขาดจากร่างกาย อารมณ์ และความคิดของตัวเอง” (Bao, 2564) โดยเด็กหญิงแก้มซึ่งถูก “คุณลุง[ใจดี]ลูกพี่ลูกน้องของแม่” ลักพาตัวไปขณะที่เธอกำลังป่วยหนัก เธอจึงสร้างร่างอวตารของตนเองขึ้นมาสี่ร่าง คือ มาตา รักษา โอบอ้อม และปกป้องซึ่งเป็นตัวละครที่เป็นแขกรับเชิญมาร่วมงานศพ โดยทั้งสี่ “ไม่เคยมีชีวิตบนโลกนี้จริง ๆ” (น.152) ตามที่หลวงพ่อเอกภพบอก
เด็กหญิงแก้มนั้นได้รับบาดแผลทางจิตใจเมื่ออายุยังน้อย ทำให้เธอสร้างบุคลิกภาพใหม่ขึ้นมา เพื่อเป็นเกราะกำบังปกป้องตัวตนของเธอที่แท้จริงจากโลกภายนอก เมื่อพิจารณาตัวละคร มาตา จะเห็นได้ว่า ตัวละครนี้สื่อถึงความเป็นแม่ที่เด็กหญิงแก้มไม่ได้สัมผัสเนื่องจากเธอถูกลักพาตัวไปตั้งแต่วัยเยาว์ ในเนื้อเรื่องมาตาเคยกล่าวว่า “ใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็กว่าอยากมีลูก” (น.38) ความคิดของมาตาดังกล่าวเกิดขึ้นมา ก็อาจเพราะเด็กหญิงแก้มมิได้มีแม่มาดูแลเธอในช่วงเวลาที่เธอถูกลักพาตัวไป เด็กหญิงแก้มจึงสร้างบุคลิกภาพ มาตา ขึ้นมา เพื่อให้มีหน้าที่ดูแลและเยียวยาเธอเฉกเช่นเป็นมารดาของเธอ หรือบทบาทของปกป้องในเรื่องซึ่ง “ดูแลน้องได้อย่างปลอดภัย” (น.49) ก็เป็นบุคลิกภาพที่เด็กหญิงแก้มสร้างขึ้นมาเพื่อให้เป็นพี่ชายสมมติที่จะมาปกป้องดูแลเธอ เช่นเดียวกันกับตัวละคร รักษา และ โอบอ้อม ที่ต่างก็มีชื่อเรียกซึ่งเกี่ยวข้องกับบทบาทของการเป็นแม่
นอกจากนี้จากการพิจารณาตัวละครตัวละครที่มีอาการความจริงวิปลาสและบุคลิกภาพแตกแยกอย่างแก้ม จะเห็นได้ว่า ตัวละครที่เป็นร่างสมมติของเธอทำให้ผู้อ่านรู้สึกเหมือนว่าเธอมีตัวตนจริง ๆและมีความคิดเป็นของตัวเอง การนำเสนอตัวละครร่างสมมติเช่นนี้จึงอาจเป็นการพยายามทำให้ผู้อ่านเข้าใจถึงความรู้สึกของผู้ป่วยทางจิตเวชมากขึ้น ดังคำบรรยายที่ว่า
“เป็นเสียงคล้ายเด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ กำลังร้องไห้สะอึกสะอื้นอยู่ในห้อง แวบนั้นผมคิดว่า อาจจะเป็นเธอก็ได้ ที่ซ่อนอยู่ในบ้านผม คอยจับโน่นย้ายนี่ เป็นคนที่มาปรับอุณหภูมิตู้เย็น และก่อกวนผมจนชีวิตรวนไปหมด” (น.102)
ข้อความดังกล่าวแสดงถึงตัวตนเด็กหญิงแก้มที่อาศัยอยู่ร่วมกับโอบอ้อมภายในร่างเดียวกันหรือบ้านที่โอบอ้อมกำลังพูดถึง แม้ว่าแก้มจะสามารถเปลี่ยนบุคลิกกลายเป็นอีกคนภายในช่วงวินาทีเดียว แต่วิญญาณและตัวตนของเด็กหญิงที่แท้จริงยังคงมีชีวิตอยู่ ทั้งนี้ ความจริงที่ตลกร้ายคือไม่มีร่างใดของแก้มเป็นความจริงในปัจจุบัน เพราะแม้แต่วิญญาณที่เป็นของเธอก็ยังคงอยู่ในร่างเด็กเล็กเสมือนครั้งที่เธอถูกลักพาตัว ส่วนอวตารร่างอื่น ๆ ไม่มีชีวิตอยู่ในโลกแห่งความจริง ขณะเดียวกัน รักษา ตัวละครที่ย้ำถึงบาดแผลในจิตใจที่อาจเป็นสาเหตุของอาการความจริงวิปลาสก็เป็นหนึ่งในตัวตนสมมติที่แก้มสร้างขึ้นมา โดยเป็นการบิดเบือนความจริงเพื่อปกป้องและเยียวยาตัวเอง โดยสร้างร่างอวตารของตนเองขึ้นมา แต่ในสุดท้ายแล้ว ทั้งหมดก็เป็นเพียงคนคนเดียว
“ฉันมาเจอกับสามีคนนี้ ตอนนั้นฉันเพิ่งเรียนอยู่ ม.3 อายุ 15 เท่านั้นแต่มีสามีเป็นเพื่อนพ่อ ที่มาติดต่อธุระช่วงนั้น เขาชอบฉันเอามาก ๆ ชอบน่าจะยังอธิบายไม่พอ ต้องเรียกว่าหลงเลยน่าจะดีกว่า” (น.89)
คำพูดของรักษาบ่งบอกถึงกลไกการรับมือทางจิตใจหลังจากที่แก้มถูกชายคนหนึ่งลักพาตัวไป เธอโน้มน้าวตนเองให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่ชอกช้ำจนสร้างตัวตนที่มีความเกี่ยวข้องกับคนรักหรือสามี และเด็กหญิงก็กลายเป็น “เหมือนตุ๊กตา” (น.17) ที่เป็นเพียงร่าง แต่ไม่มีวิญญาณของตนเองอยู่ในนั้น
เมื่อพิจารณาตัวละครเด็กหญิงแก้มและอวตารของเธอแล้ว จะสามารถเห็นได้ว่าผู้เขียนต้องการสื่อถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัวกับสภาพจิตใจของเด็กในการพัฒนาตนเองและเจริญเติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต หากขาดสิ่งเหล่านี้ไปอาจทำให้เด็กจำเป็นต้องสร้างวิธีการปรับตนเพื่อเผชิญปัญหาที่ไม่ถูกต้องอย่างที่ได้เห็นผ่านตัวละครของเด็กหญิง
เรื่องเล่าที่แฝงด้วยเรื่องที่ไม่อยากเล่า
การเล่นเกมจริงหรือหลอกจัดขึ้นในโบสถ์ ซึ่งมีบาทหลวงและภารดาเป็นผู้ช่วยดำเนินเรื่อง ศาสน-สถานแห่งนี้มีความสำคัญทางศาสนาคริสต์ เนื่องจากเป็นสถานที่ผู้นับถือศาสนาคริสต์สามารถไปนมัสการพระเจ้าและแสวงหาความสบายใจจากคำสอนของท่าน นอกจากนั้นยังได้รู้จักผู้ที่มีความเชื่อเดียวกันเพื่อจะได้ช่วยเหลือกันในยามทุกข์ สิ่งเหล่านี้สะท้อนอยู่ในเนื้อเรื่องของวิหารความจริงวิปลาส นั่นคือ การเล่นเกมจริงหรือหลอก ราวกับเป็นการสารภาพบาปต่อผู้เป็นเจ้าเพื่อเยียวยาจิตใจ ตามความเชื่อทางศาสนาแล้ว พระเจ้าทรงแบกรับเอาความผิดบาป จึงอาจเป็นไปได้ว่าการเล่าเรื่องของตัวละครในเรื่องวิหาร ความจริงวิปลาสก็อาจเป็นการสารภาพบาป โดยตัวละครเล่าเรื่องราวของตนก็เพื่อชำระล้างบาปในจิตใจ
“เป็นเหตุการณ์เล็ก ๆ แต่สำหรับพี่สาวผม เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องที่ติดค้างคาในใจของเธอจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่” (น.124)
ข้อความดังกล่าวเป็นความจริงที่หลวงพ่อเอกภพเล่าเกี่ยวกับพี่สาวของท่าน หรือ ‘หอม’ ที่ติดอยู่ในร่างเด็กผู้หญิงตัวเล็กหลังจากเสียชีวิตเนื่องจากเป็น “อายุขัย” ของชีวิตที่ไร้ความกังวลและความรับผิดชอบ แม้ในเรื่องวิญญาณของหอมจะเล่าความจริงในฉบับของเธอออกมา แต่สุดท้ายแล้วก็เป็นเพียงเรื่องโกหกที่ถูกปรุงแต่งจากความทรงจำ เพราะเธอในตอนนั้นเป็นเพียงตัวตนหลังความตายที่บิดเบือนสภาพจริงของตนเพื่อลืมภาระและความรู้สึกผิดที่มีต่อน้องชาย หรือหลวงพ่อเอกภพนั่นเอง เช่นเดียวกับพาย ที่ตอนหลังได้รู้ว่าเธอเป็นคนที่ “เล่นพนันบอลและเสพติดมันจนเข้ากระแสเลือด” (น.132) แต่กลับเล่าเรื่องศพของคนขับแท็กซี่ แม้อาจดูเป็นเรื่องที่เกินจริง แต่อาจเป็นการเล่าความจริงในฉบับของพายซึ่งเป็นนักเขียน
จะเห็นได้ว่า เรื่องเล่าของตัวละครไม่ได้เป็นเรื่องโกหกที่แต่งขึ้นใหม่เสียทีเดียว หากแต่เกิดจาก การบิดเบือนความจริงที่ตัวละครอยากจะหลีกหนีหรือกลับไปแก้ไข เรื่องเล่าเหล่านั้นจึงแฝงไว้ด้วยเรื่อง “ที่ไม่อยากเล่า” และการเล่มเกมจริงหรือหลอกในวิหารแห่งนี้ก็เป็นช่องทางที่ให้ตัวละครได้เล่าเรื่องหลอกปนเรื่องจริงออกมา เพื่อสารภาพบาปแก่พระผู้เป็นเจ้าและทำใจตนเองสบายใจขึ้น
เพราะเรื่องเล่า น่าพึงพอใจกว่าชีวิตจริง
อาการทางจิตเวชเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่สามารถมองข้ามได้ง่าย นวนิยายเรื่อง วิหารความจริงวิปลาส จึงนับว่าเป็นกระบอกเสียงสำคัญของวิญญาณในเรื่องเหล่านี้เพื่อสื่อถึงความรู้สึกของผู้ที่กำลังเผชิญกับโรคความจริงวิปลาสหรือบุคลิกภาพแตกแยก รวมถึงสะท้อนให้เห็นถึงกลไกของมนุษย์ที่บิดเบือนความเป็นจริงโดยไม่รู้ตัวเพื่อปกป้องตนเอง เพราะเรื่องราวในชีวิตจริงอาจหนักหนาสาหัส มนุษย์จึงยอมหลบหลีกความจริงและสร้างเรื่องราวฉบับใหม่ที่น่าพึงพอใจขึ้นมา ดังจะเห็นได้ในตอนจบหลวงพ่อเอกภพสามารถช่วยเอมและหอมออกมาจากโบสถ์ได้ หลังจากที่ตัวละครทั้งสองได้รู้ความจริงแล้ว แต่หอมก็เลือกที่จะกลับไปช่วยน้อง ๆ ที่กำลังติดอยู่ในโลกที่พึงพอใจของตัวเอง แม้ว่ามีโอกาสที่จะถูกดึงกลับไปในวงจรอันเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า อาจกล่าวได้ว่า เพราะเรื่องโกหกอันเกิดจากความทรงจำที่ถูกดัดแปลงนั้นสมจริงราวกับเป็นความจริง จนทำให้มนุษย์ต้องการอยู่ในภวังค์แห่งความจริงวิปลาสอันแสนหอมหวานนี้ตลอดไป
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ได้นำเสนอการหลุดพ้นจากอาการความจริงวิปลาสด้วยการยอมรับความจริง ที่อาจไม่ใช่เรื่องราวที่น่าฟังเสมอไป แต่การอยู่กับความจริงจะช่วยให้เกิดการยอมรับและปล่อยวาง ซึ่งจะทำให้หลุดพ้นจากวงจรความทุกข์ได้ เช่นเดียวกับการที่บาทหลวงเอกภพ “สร้างโบสถ์[หลังนี้]ขึ้นมาเพื่อเป็นที่พำนักชั่วคราวของจิตวิญญาณของพี่น้อง ไม่ให้ดวงวิญญาณหลงทางสูญเสียพลังงานไปจนหลงลืมทุกสิ่ง” (น.147) วิหารในเรื่องนี้จึงเปรียบเทียบได้กับสถานบำบัดเพื่อให้ผู้ที่มีบาดแผลทางจิตใจได้เยียวยาและหาทางออกของตนเอง โดยการตระหนักรู้ถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตและเรียนรู้ที่จะยอมรับมัน
แม้มนุษย์จะเล่าเรื่องเล่า เพื่อบำบัด เยียวยา หรือพาตนเองหลีกหนีจากโลกความเป็นจริงไปมากเพียงใดก็ตาม แต่หนทางนั้นอาจไม่ใช่หนทางที่ยั่งยืน การกลับมาอยู่กับตนเองและเรียนรู้ที่จะอยู่กับความจริงต่างหาก ที่จะนำไปเราไปสู่ทางออกทางชีวิตได้
รายการอ้างอิง
นทธี ศศิวิมล. (2565). วิหารความจริงวิปลาส. ประพันธสาสน์.
Bao. (2564). “เหมือนตื่นและฝันในเวลาเดียวกัน” รู้จักภาวะ Derealization สัญญาณอันตรายต่อสุขภาพของเรา.
https://www.unlockmen.com/man-up-grower-101
Marla Paul. (2012). Your Memory is like the Telephone Game. https://news.northwestern.edu/stories/2012/09/your-memory-is-like-the-telephone-game