“กาลครั้งหนึ่ง ในความฝัน”: สำรวจจิต-สะท้อนใจตั้งแต่ตื่นลืมตาจนถึงคราหลับใหล
ธนกฤต ขันธจิตต์
สัตว์ทุกตัวหมายรวมถึงมนุษย์นอนหลับเพื่อเป็นช่วงเวลาให้ร่างกายซ่อมแซมฟื้นฟูส่วนที่สึกหรอและเพื่อให้สมองได้พักผ่อนจากการทำงานมาตลอดทั้งวันในยามราตรี ความฝันก็เป็นเพียงผลพลอยได้หนึ่งที่มาจากกระบวนการเหล่านี้ที่สามารถอธิบายได้ด้วยความรู้ด้านประสาทวิทยาศาสตร์ จำแนกออกแบบขั้วตรงข้ามได้เป็นฝันดีและฝันร้าย ถ้าหากมีคนกล่าวว่า “คุณกำลังอยู่ในฝันร้ายของผม” เรายังสามารถฟันธงสรุปได้หรือไม่ว่า ฝันที่เขากำลังหมายถึง จะอยู่ในโลกแห่งความฝันหรือโลกแห่งความเป็นจริง ?
คำพูดคำกล่าว “To be, or not to be, that is the question” (น.266) หรือ “จักคงชีวิตหรือมรณา นั่นคือปุจฉา” เป็นวรรคทองจากวรรณคดีอังกฤษชื่อดังเรื่อง แฮมเล็ต (Hamlet) ของกวีเอกนาม วิลเลียม เชกสเปียร์ที่น่าจะทำให้เราพอเห็นภาพใหญ่ภาพกว้างของเรื่องราวที่เกิดขึ้นในนวนิยาย เรื่อง กาลครั้งหนึ่ง ในความฝัน ของ อัญชัน นักเขียนรางวัลซีไรต์เรืองนามได้เป็นอย่างดี เพราะถึงความเป็น ความตายจะเป็นเรื่องธรรมชาติและไม่จีรังยั่งยืนของสิ่งมีชีวิตดังปรากฏในวลีภาษาละตินว่าด้วย “มรณานุสติ” ที่ว่า “Memento Mori” (พึงระลึกไว้ว่าเราต้องตาย) แต่เรื่องราวที่ถ่ายทอดออกมานั้น ชวนให้ผู้อ่านตกตะกอนตั้งคำถามเกี่ยวกับสภาพจิตใจของมนุษย์ถึงในระดับปัจเจกว่า ในช่วงเวลาอันสั้นที่อาศัยอยู่บนโลก เรามีมุมมองเกี่ยวกับเรื่องการมีชีวิตอยู่และการตายของสรรพสิ่งอย่างไร หากเราลองถอยออกมาหนึ่งก้าว ก็จะพบปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้เกิดความเชื่อเกี่ยวกับแนวคิดนั้น ๆ นั่นคือประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ได้รับการขัดเกลาจากสังคม ทั้งในด้านบวกและลบ ดังนั้นการหยั่งรู้ถึงจิตใจมนุษย์อย่างถ่องแท้และการมองมนุษย์เป็น “คนดี” หรือ “คนเลว” อย่างสุดขั้วจึงเป็นเรื่องยาก เพราะแต่ละคนก็เคยพบเจอเหตุการณ์ในชีวิตต่างเรื่องราว ต่างวาระ และต่างปริบทกัน
ดร.รอน ซัททัน เอ็ม.ดี. เป็นจิตแพทย์ผู้รักษา เรน เพนเนอไร เด็กชายวัย 10 ขวบที่เคยประสบอุบัติเหตุจนสมองได้รับการกระทบกระเทือน พฤติกรรมของผู้ป่วยมีท่าทีปลีกวิเวกและมักจะนอนหลับแทบจะตลอดเวลาไม่เว้นแม้แต่ในคาบเรียน กระบวนการการรักษาก็เริ่มต้นขึ้นเมื่อ โรซาน่า แม่ของเด็กชายในภาวะถูกบีบบังคับต้องจำใจนำเรนไปหาจิตแพทย์ตามความเห็นของคณะครู หลังจากนายแพทย์ตะล่อมเรนให้เชื่อใจอยู่นาน เรนก็เริ่มกล่าวถึงมูลเหตุของพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นจากการถูกรังแกกลั่นแกล้งและถูกปล่อยปละละเลยจากสมาชิกในครอบครัว ส่งผลให้เด็กชายเชื่อว่า เมื่อเขากำลังตื่นเจอกับโลกแห่งความเป็นจริง จะกลับกลายเป็นว่าเขากำลังถูกจองจำใน “ฝันร้าย” ดังนั้นการที่เขาชอบนอนหลับและมักจะกินยานอนหลับเกินขนาดนั้นจะทำให้เขา “ตื่นขึ้น” มาพบกับ “โลกความจริง” ที่เขาสามารถจำแลงกายในร่างกายใดก็ได้และใช้ชีวิตอย่างไร้ขีดจำกัดตามที่ตนเฝ้าปรารถนาอย่างแท้จริง หลายครั้งระหว่างการบำบัดรักษาจากนายแพทย์นี้เอง ก็เกิดการขัดขืนและการไม่ให้ความร่วมมือจากทางครอบครัวอยู่บ่อยครั้ง จนนำไปสู่เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นกับเด็กวัยประถมปลายได้
เรื่องราวนี้ไม่เพียงฉายภาพให้เห็นเพียงพฤติกรรมและอาการป่วยทางจิตที่เป็นประจักษ์ชัดของเรน แต่ยังสะท้อนมุมมองจิตใจของตัวละครตัวอื่นที่รายล้อมเรนในครอบครัว ไม่เว้นแม้แต่ชีวิตของนายแพทย์ที่ดูน่าอภิรมย์และน่าสุขสบาย ซึ่งประสบกับความทุกข์ระทมที่ยากเกินกว่าจะลบเลือนนั่นคือ “บาดแผลทางใจ” (trauma) จากการสูญเสีย ลีโอ แก้วตาดวงใจของเขาจากโลกนี้ไปด้วยโรคมะเร็งและความสัมพันธ์กับภรรยาที่เขารักที่สุดลงแผลนี้ยังคงหวนย้อนกลับมาวนเวียนเมื่อเขาเห็นแววตาเรนที่สุกใสเช่นเดียวกับลีโอ แสดงให้เห็นว่า ไม่มีใครสุขภาพจิตที่สมบูรณ์แบบตามอุดมคติ เพราะทุกคนต่างก็มีบาดแผลต่างจุดกัน และในปัจจุบันไม่มีกระบวนการบำบัด หรือยารักษาใดจะมีฤทธิ์ลบเลือนให้ “แผลเป็น” ดังกล่าวหมดสิ้นไปได้ทั้งหมด หากแต่จะเป็นการบำบัดเพื่อทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคม โดยอาศัยความร่วมมือและความเข้าใจที่ดีจากครอบครัวและสังคมในหลากหลายแง่มุม
แตกต่าง(ไม่)เหมือนกัน: ไม่มีครอบครัวไหนสมบูรณ์แบบ แต่เศษเสี้ยวของเราจะจุนเจือกัน
ครอบครัวเป็นเหมือนเบ้าหลอมสำคัญด่านแรกของเด็กตั้งแต่วัยแรกเกิด มีบทบาทหล่อหลอมแนวคิดและพฤติกรรมของคนคนหนึ่งก่อนที่จะออกมาพบเจอกับสังคมแห่งความเป็นจริงภายนอก ผู้เป็นผู้ปกครองจึงต้องเลี้ยงดูเด็กดังที่สังคมคาดหวังตาม “บรรทัดฐาน” และ “ข้อกฎหมาย” อีกทั้ง ในความสัมพันธ์ที่มนุษย์เรียกกันว่าครอบครัวนั้น อาจมีคำนิยามแตกต่างกันไปตามตัวบุคคลและสังคม แต่ภารกิจหนึ่งที่ครอบครัวมีร่วมกันคือการเป็นหน่วยฟูมฟัก “เด็ก” ให้สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปลอดภัยและมีภูมิคุ้มกัน
เมื่อย้อนมามองที่ครอบครัวของเรน พบว่ามีหลายตัวแปรที่เป็นปัจจัยให้เด็กคนหนึ่งรู้สึก “เหินห่าง” และ “ไม่ไว้วางใจ” ในครอบครัวอย่างที่ควรจะเป็น ประเด็นหนึ่งที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของเด็กชายโดยตรง คงจะเป็นพฤติกรรมและความสัมพันธ์ระหว่างเขากับ ไซลาส พ่อเลี้ยงของเขา ผู้มักจะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมาหลากหลายรูปแบบให้เห็นทั้งจากทางวาจาและการใช้กำลัง ทั้งที่ลึก ๆ ไซลาสดูเหมือนจะหวังดี แต่ก็พยายามบงการควบคุมชีวิตของภรรยาและลูก ๆ ในครอบครัวที่เขาเห็นว่าวุ่นวายนี้ให้สงบลง อย่างไม่ประนีประนอม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการข่มขู่และห้ามปรามอย่างเด็ดขาดว่า ไม่ให้ใครเลี้ยงสัตว์ทุกชนิด เพราะตนแพ้ขนสัตว์ แม้จะเป็นเรื่องที่ดูสมเหตุสมผล ทว่าเขาเองก็ไม่เคยรับฟังเรนฉันพ่อลูก ได้แต่เพียงจัดการสัตว์เลี้ยงด้วยการลงไม้ลงมือถึงชีวิต จากนั้นมาเมื่อเรนเลี้ยงสัตว์ตัวใดและรู้อยู่แก่ใจว่าไม่ช้าก็เร็วที่จุดจบของพวกมันคือการถูกลุงไซลาสฆ่า เรนจึงทำให้สัตว์เลี้ยงของเขา “หลุดพ้น” จากฝันร้ายของเขาโดยพลันด้วยการลงมือฆ่ามันเสียเองแต่แรก
นอกจากนี้แล้ว การที่เรนไม่เคยรับรู้เกี่ยวกับพ่อแท้ ๆ ของเขา ก็เป็นปมที่ทำให้เขา “หวาดกลัว” ว่าจะมี “พ่อ” ที่แย่ไปกว่าพ่อเลี้ยงคนปัจจุบันของเขา เป็นสังเกตที่น่าสนใจว่า สถานะของ “พ่อ” ตามความคิดของเขากลายเป็นภาพจำของคนที่มีความก้าวร้าวรุนแรงและความน่ากลัวแอบแฝงที่เขาไม่ได้ปรารถนา
“ผมไม่เคยรู้อะไรเกี่ยวกับพ่อเลย ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า พ่อชื่ออะไรหรืออยู่ที่ไหน ผมไม่รู้แม้แต่ว่า หน้าตาของพ่อเป็นอย่างไร”
“ผมว่า แบบนี้มันก็ดีเหมือนกันครับ มันจะเกิดอะไรขึ้นล่ะครับคุณหมอ ถ้าเกิดผมกลับมาเจอว่า เขายิ่งแย่กว่าพ่อที่ผมมีอยู่ตอนนี้ ?” (น. 75)
ตัวแปรสุดท้ายคือปมปัญหาที่เรนมีกับโรซาน่าผู้เป็นแม่ที่อาจทำหน้าที่หลายบทบาทในครอบครัวนี้ ถึงเธอจะต้องทำงานอย่างหนักในที่ทำงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว แต่เมื่อกลับมาที่บ้าน เธอยังต้องสวมบทบาท “แม่ที่ดี” ดูแลเลี้ยงดูและรับเรื่องราวลูก ๆ ของเธออีกสามชีวิต รวมถึงบทบาท “เมียที่ภักดี” ของไซลาสสามีคนใหม่ที่เธอเคยจับได้ว่าเขาเคยมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับหญิงอื่น ความสนใจของแม่กลับตกไปอยู่แต่กับ คิท กับ เคย์ น้องชายแฝดของเรนผู้เป็นชนวนสำคัญที่กลั่นแกล้งเขาจนได้รับบาดเจ็บและกุเรื่องที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด แต่เธอก็ไม่สนใจใยดีที่จะอบรมสั่งสอนพวกเขาทั้งที่ตนเป็นแม่ของทั้งสามคน การที่ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับลูกชายเหินห่างเกินไปทำให้เรนไม่รับการดูแลเอาใจใส่มากนัก จนเรนได้กินยานอนหลับของเธอเกินขนาดที่สุด ภายหลังเหตุการณ์ที่เกือบทำให้เรนจากโลกนี้ไป เธอก็ฉุกคิดได้ว่าเธอควรตระหนักถึงการมีอยู่ของเด็กชายวัยสิบขวบและเป็นแม่ที่พร้อมเลี้ยงบ่มเพาะเลี้ยงดูเขาให้ดีกว่าเดิม
สันนิษฐานได้ว่า ความรุนแรงในครอบครัว (domestic violence) สภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างปิด และความสัมพันธ์ที่เป็นพิษส่งผลต่อการแสดงออกทั้งพฤติกรรมและจิตใจของเด็กชายเรนในช่วงชีวิตวัยเด็กแห่งการรับรู้โลกและเรียนรู้จากการอบรมสั่งสอนจากผู้ใหญ่ แม้เป็นเรื่องสัจธรรมที่คนเราจะไม่มีสิทธิ์เลือกเกิดและมีครอบครัวที่สมบูรณ์แบบได้ทั้งหมด แต่การเติบโตไปเป็นพลเมืองหนึ่งของสังคมก็เริ่มต้นจากขั้นบันไดขั้นนี้ การตระหนักรู้ถึงความรับผิดชอบต่อชีวิตหนึ่งที่เกิดมาจึงเป็นอีกบทบาทหน้าที่ของผู้ปกครองที่สมควรได้รับความสำคัญ ในที่นี้ ความเป็นพิษที่เด็กอีกหลายต่อหลายคนต้องพบเจอคล้าย ๆ กับเรนเปรียบได้เป็นดั่ง “มะเร็งร้าย” ที่ยังคงสร้างบาดแผลทางใจ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาวะทั้งกายและใจของคนคนหนึ่งในระยะยาวและอาจร้ายแรงจนถึงชีวิตได้
อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา: เส้นกั้นอันพร่าเลือนและไม่เที่ยงระหว่างความฝันกับความจริง
เรนอธิบายสิ่งที่เขารับรู้ในโลกแห่งความเป็นจริงให้นายแพทย์ฟังว่า “ตัวตนของผม ไม่มีรูป ไม่มีเพศ ไม่มีวัย ไม่มีกาลเวลา ตัวตนของผมคือพลังงาน แต่เป็นพลังงานที่รู้ ที่นึกคิด และจดจำได้ครับ” (น.164) ซึ่งเป็นโลกที่ตัวตนของแต่ละคนจะผลัดเปลี่ยน “ร่างกาย” อันเป็น “ของกลาง” ไปเรื่อย ๆ แบบที่ไม่สามารถกำหนดได้ มีแต่ผู้ที่ยังยึดติดกับร่างที่ตนหลงใหลเท่านั้นที่จะถูก “ผู้ทรงอำนาจเหนือโลกา” (น.165) พิพากษาโทษให้ต้องจองจำในสภาวะกลับไปกลับมาระหว่างความฝันกับความเป็นจริงดังที่เขาเผชิญอยู่ รอนเมื่อได้ยินเรื่องของเรนเข้าก็นึกประหลาดใจที่เด็กสิบขวบคนหนึ่งจะสำแดง “จินตนาการมหัศจรรย์” ต่างไปจากผู้ป่วยเด็กรายอื่น ๆ และ “คล้ายคลึงกับโลกสังคมอุดมคติในงานเขียน Utopia ของเซอร์ โทมัส มอร์” (น. 254) อีกเป้าหมายหนึ่งของจิตแพทย์ในเคสนี้คือ ข้อสรุปจากการวินิจฉัยว่า แท้จริงแล้วเรนมีอาการบกพร่องทางจิตตามที่คนรอบข้างและคนในสังคมสันนิษฐานหรือไม่ เพราะเรนเองก็มีแนวโน้มที่มีความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient: EQ) และการความยืดหยุ่นทางใจสูงกว่าเด็กคนอื่น ๆ ที่เคยประสบกับสภาพแวดล้อมแบบที่เรนได้พบเจอ หากเรนไม่ได้มีอาการป่วย แสดงว่า เรนกำลังพูดถึง “ความจริง” ที่สามารถนำไปหักล้างความเชื่อทางวิทยาศาสตร์ได้
จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า จิตแพทย์รอนเองก็ไม่ได้ตีตราผู้ป่วยว่ากำลังเพ้อฝันหรือปั้นน้ำเป็นตัวขึ้นมาตั้งแต่แรก หากแต่รับฟังเรนอย่างตั้งอกตั้งใจ ไม่ว่าจะแตกต่างจากชุดความจริงที่เขาเชื่ออยู่ หรือผิดไปจากคนในครอบครัวที่มักไม่รับฟัง เขาไม่แม้แต่ตีตราไปก่อนว่า เมื่อมีความเชื่อที่ผิดแผกออกไป จะมีอาการบกพร่องทางจิต เป็นเรื่องน่าสนใจอย่างที่นายแพทย์ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการสับเปลี่ยนร่างของเรนกับชีวิตมนุษย์ที่หวงแหนและยึดติดกับสรีระร่างกาย หรือ “อัตตา” (ตัวตน) ของตนว่า “เราคือพวกมนุษย์ที่ถูกสร้างขึ้นให้มีความชั่วร้าย เพื่อให้แกจะต้องทุกข์ทนจากความชั่วร้ายของพวกเรา . . . ร่างที่เรามีอยู่ เพาะบ่มให้เราเกิดความรู้สึกของความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของร่าง เราถึงเกิดความหวงแหนร่างกายยิ่งชีวิต” (น. 256)
หากพิจารณาเรื่องเล่าของเรนควบคู่กับช่วงวัยของเขา อาจมองได้ว่าเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่เขาสามารถเล่าออกมาตามจินตนาการได้สมกับความไร้เดียงสาตามประสาเด็กชายผู้ต้องการ “หลีกหนี” จากโลกความจริงอันโหดร้ายที่เขาเป็น “ผู้ถูกกระทำ” โดยการอุปโลกน์ “โลกมายา” ในจินตนาการของเขาขึ้นมาที่สามารถควบคุมให้ทุกอย่างเป็นไปดังที่ต้องการได้
คงเป็นเรื่องน่าตั้งคำถามต่อยอดว่า หากเรื่องราวข้างต้นมาจากปากของตัวละครวัยที่เป็นผู้ใหญ่ ผู้ที่มีประสบการณ์บนโลกใบนี้มานาน อาจถูกมองเป็นเรื่องที่ไร้แก่นสารคล้าย ๆ กันกับเรน แต่การบอกเล่าเรื่องราวที่เชื่อในวัยที่โตขึ้นนั้น คนในช่วงวัยนี้น่าจะเป็นเรื่องยากกว่าเด็กที่จะเล่าเรื่องทั้งหมด เพราะกลัวที่จะถูกตีตราจากผู้ฟังที่เห็นต่างว่า “สติวิปลาส” “เป็นอื่น” หรือ “เป็นบ้า”
กายใจอันเจ็บปวดจากโลกที่โหดร้าย: การวิเคราะห์จิตหาแนวคิดเบื้องหลังของพฤติกรรม
ซิกมันด์ ฟรอยด์ บิดาของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ เชื่อว่าทุกพฤติกรรมของมนุษย์มีต้นตอที่สามารถสืบหาเป็นมูลเหตุได้ เขาเสนอว่า การศึกษาจิตใจมนุษย์ด้วยศาสตร์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ยังมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถอธิบายการรับรู้ “ความจริง” ของมนุษย์ได้อย่างทะลุปรุโปร่งเฉกเช่นการศึกษาวัตถุ เพราะสภาพจิตใจของมนุษย์มีความลุ่มลึกและซับซ้อนมากกว่านั้น ทำให้ฟรอยด์ตระหนักว่า “เราควรเผชิญหน้ากับความจริงแบบต่าง ๆ อย่างใจกว้าง . . . การพิสูจน์ว่ามีก็อย่างหนึ่ง ส่วนการยอมรับว่ามีอยู่นั้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง” (เฉลิมเกียรติ ผิวนวล, 2560; น. 215) เมื่อมองเหตุการณ์ของเรน ตัวละครผู้พบเจอกับ “ความจริง” ที่ต่างจากความรับรู้โดยทั่วไป ก็ย่อมทำให้เกิดการปฏิเสธชุดความจริงดังกล่าวจากทฤษฎีวิทยาศาสตร์ดั้งเดิม โดยไม่ได้คำนึงถึงความจริงรูปแบบอื่น ๆ ที่อาจเป็นไปได้และยังยึดติดกับความคิดความเชื่อด้านเดิมอยู่
เมื่อพิจารณาระหว่างเรื่องราวของตัวละคร แฮมเล็ต (ตัวอย่างที่ฟรอยด์ยกเป็นตัวอย่าง) กับเรนแล้ว จะพบว่าคล้ายกันที่ทั้งสองตัวละครมีความลังเลใจที่จะกระทำการบางอย่างเพื่อตอบสนอง “ความต้องการ” ของตัวเอง โดย “ซุปเปอร์อีโก้” (Super Ego) จะเป็นเสมือนเสียงตำหนิที่ทำให้คิดลังเลใจ จนตัดสินใจเลิกทำลงทุกครั้ง โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เรนวางยาพิษในขวดไวน์ของนายแพทย์เพื่อให้เขาหลุดพ้นจากฝันร้ายของเรนด้วยวิธีการเช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงตัวอื่น ๆ ที่ผ่านมา แต่กลับเปลี่ยนใจกะทันหัน เมื่อได้จินตนาการว่าตนเป็นลีโอ และพบว่าความรักที่นายแพทย์ให้โดยไม่มีเงื่อนไข จนเผลอทิ้งขวดไวน์ที่บรรจุผงยาพิษไว้ด้วยความรีบร้อน หลังจากนั้นเรนก็เริ่มโทษตัวเองว่าเป็น “ปีศาจร้าย” (น. 294) เพราะได้วางแผนฆาตกรรมคุณหมอ นอกจากนี้ ยังสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมที่เรนมุ่งทำให้สิ่งที่เขารักและหวงแหนที่สุดในชีวิตแห่ง “ความฝัน” ของเขานั้นว่าเป็นสัญชาตญาณแห่งความตาย (death drive) คือ การวางแผนและลงมือเพื่อบรรเทาบาดแผลในใจของเขา เป็นน่าสนใจว่า ท้ายที่สุดเรนอาจจะรู้สึก “สำนึกผิด” แต่สังคมอาจ “ไม่ให้อภัย” ด้วยตรรกะทางจริยธรรมว่าการฆ่าคนเป็นเรื่องร้ายแรงระดับอาชญากรรมและเป็นเรื่องอาฆาตมาดร้าย ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้าการบำบัดก็ไม่เคยมีใครได้พูดคุยกับเรนเรื่องประเด็นเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมา อย่างไรก็ดี แม้การลงมือในครั้งนี้จะไม่สำเร็จ เรนในฐานะเยาวชนคนหนึ่งก็สมควรได้รับโอกาสในการเรียนรู้ในสิ่งที่ตนได้ทำผิดพลั้งไปด้วยความเข้าอกเข้าใจ (empathy) ตามกระบวนการบำบัดและทำความเข้าใจ
กล่าวได้ว่า ชุดความคิดที่ซับซ้อนและพฤติกรรมอันเกินวัยของเด็กชายสิบขวบ รวมถึงเหตุการณ์อันโหดร้ายที่เด็กชายต้องพบเจอในวัยที่ยังไม่เจนโลก ยังคงเป็นเรื่องน่ากระอักกระอ่วนใจและกลืนไม่เข้าคายไม่ออก (dilemma) อย่างไรก็ดี ก็ชวนสะท้อนกลับมายังผู้อ่านให้สังเกต “โลกภายใน” ที่อาจมีสภาวะแปรปรวนและยอมรับว่าไม่มีใครมีสุขภาพจิตดีพร้อมสมบูรณ์ที่สุด การกระทำของคนคนหนึ่งย่อมมีความต้องการแฝงอยู่ภายใต้ “ภูเขาน้ำแข็ง” แตกต่างกันไป ทุกคนมีสิทธิ์ผิดพลาดและมีสิทธิ์ได้รับโอกาสในการปรับปรุงแก้ไขสุดแล้วแต่การวิพากษ์ของสังคม ถึงแม้การรักษาด้วยวิทยาการทางการแพทย์ไม่อาจทำให้บาดแผลทางใจหมดให้ลืมสิ้นไป ท้ายที่สุดมันก็ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้มองเห็นข้อผิดพลาดเป็นข้อเรียนรู้เตือนใจและมุ่งก้าวต่อไปสู่อนาคตได้อย่างเข้มแข็ง รวมทั้งเข้าใจจิตใจตนเองมากขึ้นว่า กำลังยึดติดแนวคิดใด ๆ เพียงเชื่อว่าเป็นแนวคิดที่ “ปรกติ” จนปฏิเสธความเป็นไปได้ใหม่ที่ผู้อื่นเสนอมาหรือไม่
รายการอ้างอิง
เฉลิมเกียรติ ผิวนวล. (2560). จิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ (พิมพ์ครั้งที่ 7). สมิต.
อัญชัน. (2567). กาลครั้งหนึ่ง ในความฝัน. (บุญรัตน์, ผู้แปล) ประพันธ์สาส์น.