2024A007

PULSE FICTION: สัญญะที่สะท้อนวัฏจักรความต้องการของมนุษย์

ปิยาภรณ์ ตระกูลวงศ์งาม

 

            มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความต้องการซึ่งหมุนเวียนเป็นวัฏจักร วัฏจักรความต้องการนี้ถ่ายทอดผ่านหนังสือ PULSE FICTION วรรณกรรมรวมเรื่องสั้นที่ประกอบไปด้วยเรื่องสั้นสามเรื่อง ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2566    ตัวบทนำเสนอเรื่องเล่าเหนือความเป็นจริงที่ในทางกลับกันสะท้อนให้ผู้อ่านเห็นถึงความเป็นจริงในวัฏจักรแห่งความต้องการของมนุษย์ เนื้อหาของตัวบทเรื่องสั้นแต่ละเรื่องมีทั้งความลี้ลับชวนขนหัวลุกและซ่อนรหัสระหว่างบรรทัดชวนให้ค้นหาความหมายจากจิตใต้สำนึกของมนุษย์โดยเชื่อมโยงด้วย “สัญญะ” ที่ซ่อนไว้เพื่อให้เหล่านักอ่านทั้งหลายมาร่วมกันถอดรหัสผ่านตัวอักษรของยชญ์ บรรพพงศ์

            ผู้วิจารณ์ได้อ่านและพิจารณาตัวบทอย่างลึกซึ้งทำให้มองเห็นว่าเรื่องสั้นในตัวบทเชื่อมโยงกันด้วยชุดสัญญะเพื่อเล่าถึงการใช้ชีวิตของมนุษย์ที่ต้องแสวงหาความสำเร็จในชีวิต “โซฟาหนังมนุษย์นำเสนอเรื่องการผลิตโซฟาโดยใช้เนื้อหนังของมนุษย์เป็นส่วนประกอบหลัก “วัดสายตาประกอบแว่นเล่าเรื่องราวลี้ลับที่ต้องเผชิญหลังจากการตัดแว่น และ “ผ่าตัดใหญ่ปริศนาอันซับซ้อนที่เกิดขึ้นกับตัวละครหลังจากการผ่าตัดสมอง การผ่าตัดใหญ่ที่ทำให้ประสาทสัมผัสและความรู้สึกอ่อนไหวมากเกินจะต้านทาน โดยสัญญะต่างๆ ในเรื่องสั้นทั้งสามเรื่องคือสิ่งที่ตัวบทสร้างขึ้นเพื่อให้มีความหมายแทนวัฏจักรความต้องการตามที่ได้กล่าวมา สิ่งที่ตัวบทนำมาประกอบขึ้นเป็นชุดสัญญะนั้นอาจเป็นวัตถุสิ่งของ เสียง รูปภาพ ได้ทั้งสิ้น

การเกิดขึ้น -  ความต้องการไร้ขีดจำกัด

            โซฟาเป็นรูปธรรมของ “ความต้องการ (needs)” ความต้องการพื้นฐานของร่างกายที่มนุษย์ต่างต้องการความอบอุ่น ความนุ่มสบาย ทว่าความต้องการภายในของมนุษย์อาจไร้ขีดจำกัดจนใกล้เคียงคำว่าเหนือจริง สัญญะ “โซฟา” สะท้อนถึงความต้องการอันไร้ขีดจำกัดของมนุษย์แสดงความหมายผ่านการตัดสินใจของนายเอ็ดที่ต้องการจะใช้หนังมนุษย์มาทำโซฟาด้วยท่าทีจริงจังต่อแรงปรารถนาของตน สีหน้าของเขาชั่งดูเรียบเฉย ไม่มีวี่แววของการพูดเล่นอยู่เลย (ยชญ์ บรรพพงศ์, 2566, หน้า 9) อีกตัวอย่างหนึ่งที่ยืนยันว่าสัญญะ "โซฟา" สะท้อนความต้องการของมนุษย์คือ มานพ ครีเอทีฟฟรีแลนซ์มากความสามารถที่ตัดสินใจร่วมงานกับนายเอ็ดโดยไม่สนใจว่ากว่าจะได้โซฟานุ่มสบายต้องแลกมาด้วยเลือดเนื้อ จากตัวบทสร้างความเข้าใจเชิงสัญญะให้ผู้อ่านรับรู้ ถึงแม้ว่าตัวละครทั้งสองจะมีเป้าหมายที่ต่างกัน มีฐานะที่ต่างกัน มีประสบการณ์ที่ต่างกัน แต่สุดท้ายก็คือคนประเภทเดียวกันที่ดำรงอยู่ภายใต้วัฏจักรความต้องการอันไร้ขีดจำกัด นอกจากนี้ตัวบทยังเสนอให้เห็นถึงอิทธิพลของความต้องการภายในที่สามารถชักจูงมนุษย์ให้ก้าวขาเข้าไปสู่มายาคติโดยไม่ลังเลใจ มนุษย์เปลี่ยนความเชื่อให้กลายรูปเป็นความจริงเข้ามารับใช้ความต้องการอันไร้ขีดจำกัดของตนเองพวกเขาดูดีมากเลยใช่มั้ยล่ะ คุณมานพ(ยชญ์ บรรพพงศ์, 2566, หน้า 12) นายเอ็ดเรียกแทนโซฟาที่เดิมทีเป็นสิ่งของไม่มีชีวิตว่าพวกเขาเพราะโซฟาเหล่านั้นผลิตมาจากหนังของมนุษย์ ตัวบทพยายามสื่อว่าโซฟาหนังมนุษย์คือสิ่งมีชีวิตในโลกมายาคติที่สร้างขึ้นมาเพื่อสนองความต้องการของตนเอง ตัวละครรู้สึกถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างตนเองกับมายาคติที่สร้างขึ้น ทั้งนายเอ็ดและโซฟาหนังมนุษย์ลึกๆ แล้วต่างก็เป็นส่วนหนึ่งในวัฏจักรแห่งความต้องการของมนุษย์ทั้งสิ้น

            เมื่อได้เจาะลึกถึงรายละเอียดในตัวบท ผู้วิจารณ์เห็นว่ากลุ่มเป้าหมายทางการค้าของ “โซฟาหนังมนุษย์” คือกลุ่มชนชั้นสูงและอภิสิทธิ์ชน เห็นได้จากแขกที่ได้รับบัตรเชิญ“...ตั้งแต่นักการเมือง ดารา นักลงทุน ไปจนถึงพวกทหารชั้นนายพลและเหล่าผู้มีอิทธิพลทั้งหลาย (ยชญ์ บรรพพงศ์, 2566, หน้า 18) สะท้อนให้เห็นว่าในสังคมของเราที่มีคนรวยล้นฟ้าที่ต่างก็มีความต้องการที่สูงเสียดฟ้าเช่นกัน เมื่อจำนวนคนที่มีทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้น ความต้องการยิ่งจะสูงขึ้นเป็นทวีคูณ ความต้องการไม่มีจุดสิ้นสุด มนุษย์ชั้นสูงจะทำเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการมาครอบครองไม่ว่าด้วยหนทางใด ยิ่งเป็นของพิเศษหนึ่งเดียวยิ่งเติมเต็มคุณค่าทางจิตใจได้มากขึ้น ในตัวบทปรากฏชื่อสินค้าพิเศษใช้คำว่า “อ้อมกอด” เป็นส่วนประกอบของชื่อสินค้า “อ้อมกอดของรักแรก” - “อ้อมกอดสาวใช้” - “อ้อมกอดพ่อเลี้ยงเดี่ยว” - “อ้อมกอดสาวมัธยม” ชื่อเหล่านี้สื่อให้เห็นว่ากลุ่มเป้าหมายทางการค้าล้วนต้องการ “อ้อมกอด” ล้วนมีความใคร่ที่ไม่สามารถเติมเต็มได้ในโลกแห่งความเป็นจริง ความใคร่ที่สะท้อนปมในจิตใจ ยิ่งถูกกระตุ้นโดยหนังสั้นที่สร้างขึ้นเป็นเครื่องมือดึงดูดให้เข้าไปในโลกมายาเราจึงฉายภาพยนตร์สั้น…เป็นเรื่องราวความรักครั้งแรกของหนุ่มสาวที่ไม่สมหวัง (ยชญ์ บรรพพงศ์, 2566, หน้า 18) เพียงหนังสั้นกินใจก็สามารถทำให้มนุษย์หลงอยู่ในโลกมายาคติโดยไม่ตั้งคำถามใดๆ สุดท้าย พวกเขาทุกคน รวมถึงนายเอ็ดและมานพ ก็คือคนจำพวกเดียวกัน

การดำรงอยู่ – โลกทัศน์อันผุพัง

            สัญญะ “แว่นตา” คือโลกทัศน์ (world view) ที่มนุษย์มองโลก มนุษย์ดำรงอยู่ด้วยโลกทัศน์ชนิดใดชนิดหนึ่ง ในตัวบทแว่นตาคือโลกทัศน์ต่อการมองโลกของตัวละคร “การไปตัดแว่น” คือสัญญะที่แสดงความหมายว่าโลกทัศน์ของตัวละครนั้นผุพังและต้องการการซ่อมแซม เพราะเชื่อว่าแว่นตานั้นจะทำให้การมองเห็นกลับมาชัดเจนอีกครั้ง ก่อนที่ตัวละครจะไปตัดแว่น โลกทัศน์หรือมุมมองต่อโลกของตัวละครพร่ามัว จึงต้องการการซ่อมแซม  แต่ความพยายามแก้ไขโลกทัศน์อันผุพังนั้นเป็นเหตุผลที่ทำให้ตัวละครต้องเจอกับภาพลวงหลอน โลกที่ตัวละครจินตนาการขึ้นมาเองและไม่มีอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริง ในขณะที่ไม่มีแว่นตา ตัวละครไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่าสิ่งใดคือความจริงหรือความลวง จนนำไปสู่โลกมายาที่ร้านตัดแว่นแปลกประหลาดชื่อว่าติดตาชื่อร้านสะดุดหูสะดุดตานี้เป็นเหตุผลที่ตัวละครมีอาการเห็นภาพติดตา เป็นภาพที่ตัวละครเห็นขณะวัดสายตา หลังจากไปวัดสายตาประกอบแว่นตัวละครก็ฝันถึงภาพติดตาเหล่านั้นทุกคืน

            ในแต่ละคืน ภาพฝันชัดขึ้นเรื่อย ๆมันใหญ่ขึ้นเสียจนฉันเริ่มมองเห็นว่าใต้บอลลูนนั้นมีตะกร้า (ยชญ์ บรรพพงศ์, 2566,หน้า 37) หลังจากตัวละครไปวัดสายตา ตัวละครดำรงอยู่โดยไม่มี “แว่นตา” เผยให้เห็นว่า         ตัวละครกำลังมองสิ่งที่เห็นด้วยโลกทัศน์ที่บกพร่อง ทำให้สิ่งที่เห็นคือบอลลูนลูกนั้นติดตาจนกลายเป็นภาพหลอน เมื่อได้ใส่แว่นตา ตัวละครมีทัศนวิสัยดีขึ้นแต่นานไปความผุพังก็กลับมาอีกครั้งที่ฉันเห็นมาตลอดว่าเป็นเงามนุษย์กำลังเต้นระบำอย่างรื่นเริง แท้จริงแล้วคือมนุษย์ที่โดนไฟคลั่งนั้นคลอกจนไหม้เป็นตอตะโก (ยชญ์ บรรพพงศ์, 2566, หน้า 44) ความผุพังของการรับรู้ของตัวละครเกิดจากสองปัจจัยคือจากการที่ตัวละครไม่มีแว่นตาและจากการไปวัดสายตาประกอบแว่น ภาพติดตานั้นค่อย ๆ ทำลายประสิทธิภาพการรับรู้ของตัวละครไปเรื่อย ๆ ความผุพังนี้ทำให้ตัวละครเข้าไปสู่โลกมายาคติ โลกที่เต็มไปด้วยภาพลวงหลอน เต็มไปด้วยความคิดที่ตัวละครสร้างขึ้นมาเองเพื่อสมานร่องรอยชำรุดของประสบการณ์ สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อการดำรงอยู่หรือการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ โดย  “ความผุพัง” จะเร่งเร้าให้มนุษย์ยิ่งพยายามหาวิธีมาปกปิดมันเอาไว้โดยพึ่งพาจินตนาการในโลกมายา แทนที่จะซ่อมแซมมันเสียให้ดีขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง

            มนุษย์กับมายาคติอาจเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่คู่กัน คนเรามักติดบ่วงมายาคติจนไม่ระแวดระวังว่ากำลังหลอกตัวเองป้ายชื่อร้านที่เคยเป็นอักษรแสงไฟนีออนคำว่า ติดตา ตอนนี้กลายเป็นป้ายไม้โทรมๆ สลักชื่อไว้ว่า สมบูรณ์การแว่น (ยชญ์ บรรพพงศ์, 2566, หน้า 41) เมื่อตัวละครกลับไปที่ร้านตัดแว่นเจ้าปัญหา ทว่าพบเพียงร้านเก่าๆ ร้านติดตาที่ตัวละครมาตัดแว่นเป็นเพียงร้านในโลกมายาและไม่มีอยู่จริง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่างก็ถูกมายาคตินำทางทั้งสิ้น มนุษย์ติดอยู่ในโลกมายาคติเป็นเวลานานจนเข้าใจว่าสิ่งที่เห็นเป็นความจริง ใช้ “มายาคติ” ปกปิดรอยแผลแต่ไม่ซ่อมแซมรอยร้าว รอยร้าวนั้นยังคงซ่อนอยู่ เราไม่มีวันรู้ได้เลยว่ารอยร้าวนั้นจะร้าวลึกลงไปอีกเมื่อไหร่

การดับสูญ - ทางออกจากสภาวะเกินขีดจำกัด

            จากตัวบทปรากฏสัญญะ "สมอง" รหัสความหมายเฉพาะที่ตัวบทนำเสนอคือ "สมอง" คือพื้นที่กักเก็บข้อมูลที่ได้รับ สมองในตัวบทแสดงการรับรู้ (perception) เกินขีดจำกัดจนนำมาสู่การดับสูญในที่สุด ความหมายของสัญญะดังกล่าวถูกถ่ายทอดผ่านตัวบท “ผ่าตัดใหญ่” กล่าวถึงตัวละครที่เพิ่งผ่านการผ่าตัดสมองครั้งใหญ่ แต่เมื่อฟื้นจากการผ่าตัดกลับพบว่าตนมีความอ่อนไหวต่อสิ่งที่เกิดขึ้นรอบข้างมากขึ้น ตัวละครมีอาการไวต่อความรู้สึกมากเกินไปจนทำให้เกิดความทุกข์ทรมานเพราะสมองรับรู้ได้อย่างไร้ขีดจำกัด ตัวละครสามารถรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่นได้ ตัวอย่างเช่น เมื่อแม่ของตัวละครเจ็บปวด ตัวละครก็รับรู้ความเจ็บปวดนั้นได้ราวกับว่าเป็นคนคนเดียวกัน ดังปรากฏในตัวบทว่าสีหน้าของแม่เมื่อตอนวางสายดูเจ็บปวดตอนที่แม่มองมา ฉันก็ปวดตาม” (ยชญ์ บรรพพงศ์, 2566, หน้า 53)นอกจากนี้ตัวละครยังเองมีความรู้สึกราวกับว่าตัวเธอเองเชื่อมโยงการรับรู้ความรู้สึกเข้ากับวัตถุรอบตัว เช่นมีคนโทรเข้ามาที่มือถือ แรงสั่นของมันที่วางอยู่บนโต๊ะไม้ทำให้ตัวฉันสั่นงึกๆ และปวดร้าวไปจนถึงกระดูกดำ (ยชญ์ บรรพพงศ์, 2566, หน้า 53) และทุกครั้งที่รถบรรทุกเคลื่อนผ่านฉันก็แทบจะเป็นลมเพราะน้ำหนักมหาศาลของรถ(ยชญ์ บรรพพงศ์, 2566, หน้า 55) จากตัวบทแสดงให้เห็นว่าตัวละครต้องทนทรมานอยู่กับตนเองเมื่อสิ่งรอบตัวเคลื่อนไหว แสดงให้เห็นว่าสมองของตัวละครผิดปกติไปจากเดิม ต้นเหตุของการรับรู้ความรู้สึกเหล่านี้มาจากสมองที่กักเก็บสิ่งที่รับรู้เอาไว้ทั้งหมดโดยไม่ได้ผ่านคัดกรองและกำจัดทิ้ง จนวันหนึ่งสมองรับไม่ไหวจึงนำมาสู่สภาวะที่สมองทำงานหนักเกินขีดจำกัดทำให้ตัวละครต้องทนทรมาน การดับสูญจากการรับรู้ใดๆ คือทางออกของความทุกข์ทรมานนั้น เห็นได้จากตอนจบในตัวบท ตัวละครรับรู้ถึงสภาวะความตายจากคุณลุงท่านหนึ่ง ตัวละครเหมือนตายตามคุณลุงคนนั้นไปด้วยฉันไม่เจ็บ ฉันไม่เศร้า ฉันไม่โกรธ ฉันไม่ผิดหวัง ฉันไม่เบื่อหน่าย (ยชญ์ บรรพพงศ์, 2566, หน้า 58) สัญญะ“สมอง”ในตัวบทให้เราเห็นว่าเมื่อสมองอยู่ในสภาวะที่สิ่งเร้าภายนอกแล่นเข้าสมองจนท่วมท้นเกินกำลังอาจนำมาซึ่งการดับสูญ นอกจากนี้ตัวบทยังสื่อสารความหมายของการรับรู้ด้วยท่าทีวิพากษ์วิจารณ์ความต้องการที่ไร้ขีดจำกัดของมนุษย์ ตัวบทจึงนำเสนอภาพให้เห็นสภาวะที่รับรู้จนเกินกำลังของสมอง เมื่อความรู้สึกของคนทั้งโลกแล่นเข้า "สมอง" ได้อย่างไร้ขีดจำกัด สภาวะดับสูญคือสิ่งที่ธรรมชาติเสนอให้เป็นทางออก

            เรื่องสั้นทั้งสามเรื่องในตัวบท PULSE FICTION นำเสนอชุดสัญญะที่สะท้อนวัฏจักรความต้องการของมนุษย์ นั่นคือสัญญะ "โซฟา" ที่เป็นภาพแทนของ “ความต้องการ” ของมนุษย์ ตัวบทสื่อสารผ่านเรื่อง “โซฟาหนังมนุษย์” เป็นจุดเริ่มต้นของความอยาก ต่อมาคือสัญญะ "แว่นตา" ที่ซ่อนรหัสความหมายสื่อ “โลกทัศน์” มุมมองต่อโลกที่ผุพังอาจทำให้ความจริงของมนุษย์บิดเบี้ยวจนกลายเป็นภาพหลอนติดตา ตัวบทสื่อสารความหมายสัญญะดังกล่าวผ่านเรื่อง “วัดสายตาประกอบแว่น” และสุดท้ายคือสัญญะ "สมอง" ที่สื่อสารสภาวะ “การรับรู้ที่เกินขีดจำกัดนำไปสู่การดับสูญ” ตัวบทนำเสนอผ่านเรื่อง “ผ่าตัดใหญ่” แสดงสภาวะที่ความต้องการสูงมากขึ้น มนุษย์เดินทางออกตามหาที่สิ่งต้องการ เมื่อออกเดินทางไปเรื่อย ๆ ก็ได้รับข้อมูลมากขึ้นเรื่อย ๆ จนมากเกินไป เนื่องจากยังไม่สามารถตามหาสิ่งที่ถูกใจมาเติมเต็มความต้องการได้ เมื่อสิ่งที่ได้รับมากเกินขีดจำกัดทางกายภาพ จนกระทั่งการรับรู้ทุกผัสสะก็ดับสูญไป จากที่กล่าวมาชัดเจนว่าPULSE FICTION เป็นวรรณกรรมเรื่องสั้นที่นำพาผู้อ่านทบทวนวัฏจักรความต้องการของตนเองในฐานะมนุษย์คนหนึ่งตั้งแต่ความต้องการเกิดขึ้น ดำรงอยู่ จนกระทั่งดับสูญในที่สุด

 

เอกสารอ้างอิง 

ยชญ์ บรรพพงศ์. (2566). PULSE FICTION. กรุงเทพฯ: แซลมอน.

Visitors: 92,256