กะเทาะเปลือกอารมณ์ของเด็กชายในฟองอากาศ และตัวละครอื่น ๆ

ณัฐนรี กาญจนมุกดา

 

 

            เรื่องราวของเด็กหนุ่มเก็บตัวเงียบภายในสวนลับหลังโรงเรียน และถูกห่อหุ้มความปลอดภัยจากฟองอากาศอีกชั้นหนึ่งกับเก้าอี้ที่รองรับขาประจำอย่างเขาบ่อยครั้งในช่วงพักกลางวัน พร้อมด้วยกล่องข้าวที่คุณป้าแม่บ้านประณีตบรรจงทำให้เด็กชายอยู่เสมอ โทรศัพท์มือถือพร้อมด้วยหูฟัง เด็กชายตัดขาดจากโลกภายนอกที่แสนวุ่นวายและน่าอึดอัดใจชั่วคราว ทว่าแท้จริงแล้วกลับไม่มีเสียงเพลง เขาบรรจงทานข้าวและเยี่ยมชมธรรมชาติอย่างละเมียดและเป็นไปอย่างช้า ๆ แต่แล้วช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงก็มาถึง คู่รักคู่หนึ่งเดินมายังสวนลับแห่งนี้ และพยายามสะสางปัญหาความรักที่ก่อตัว แต่เมื่อความสัมพันธ์ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้จึงขาดสะบั้นลง เด็กหนุ่มนั่งลงข้างเด็กชายในฟองอากาศและเล่าความฝันที่เขาสร้างขึ้นมาและหมายมั่นว่าจะมีเธออยู่ในนั้นด้วย เด็กชายในฟองอากาศไม่ตอบโต้กลับ เพียงรับฟังเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านหูฟังที่ไร้เสียงเพลง เขาพยายามไม่พาตนเองก้าวออกมานอกฟองอากาศและพยายามปลีกตัวจากความสัมพันธ์ “ต้นทางรัก” นามของเด็กชายในฟองอากาศที่น้อยคนนักจะรู้จักชื่อของเขา ด้วยความนิ่งเงียบและไม่สัมพันธ์กับผู้คน เขาจึงเป็นที่น่าสงสารของเพื่อนหนึ่งเดียวอย่าง “สีรุ้ง” ผู้เป็นหัวหน้าห้องหญิงที่คอยปกป้องต้นทางรักจากการกลั่นแกล้งของเด็กคนอื่น ๆ อยู่เสมอ ในตัวเขามีสีสดใสอยู่หลากหลายเหมือนสีรุ้ง ส่วน “เติมใจ” ลูกบุญธรรมของนักการเมืองหญิง ผู้มากความสามารถและถูกผู้คนจับจ้อง มิตรภาพของทั้งสามคนเริ่มต้นขึ้น แม้ในตอนแรกเริ่มดูเหมือนจะเป็นการสร้างมิตรภาพฝ่ายเดียวที่เติมใจพยายามสร้างขึ้นมา ต้นทางรักเริ่มทำให้ฟองอากาศมีรูรั่วและพยายามโอบกอดความเจ็บปวดของเติมใจให้ได้มากที่สุด และเฝ้ามองให้เขาเติบโตขึ้นอย่างช้า ๆ ด้วยความหวังดี เพื่อนของต้นทางรักทั้งสองคนต่างไว้ใจและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทว่าปราการหัวใจและความรู้สึกของเขากลับมีอีกหนึ่งชั้นที่ไม่มีใครเข้าถึง “การสูญเสียคุณพ่อคุณแม่” จากการถูกลอบฆ่าในช่วงการแข่งขัน ลงเลือกตั้ง การกำจัดครอบครัวของนักการเมืองที่ชาวบ้านไว้ใจมานักต่อนักทำให้หญิงสาวนักการเมือง   ท่านหนึ่งไต่เต้าขึ้นไปอย่างลำบาก การกำจัดทิ้งคือทางเลือกสุดท้ายที่มีอยู่ และปิดท้ายด้วยการข่มขู่เด็กน้อยให้กลัวเสียจนเขาไม่กล้าให้ปากคำต่อตำรวจ วันเวลาผ่านไปแต่ปราการนี้ไม่เคยทลายลงเลยแม้แต่น้อย บ่อยครั้งพายุในห้วงสมุทรลึกก็พาต้นทางรักดำดิ่งลงไปในเหตุการณ์นั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ครั้งหนึ่งที่ลุงของต้นทางรักรู้สึกโกรธและแปลกใจที่หลานไปคบเพื่อนอย่างเติมใจ ลูกบุญธรรมของนักการเมืองหญิงและนายแพทย์สาเหตุเป็นเพราะคดีของคุณพ่อคุณแม่ของต้นทางรักยังไม่ปิดตัวลง และหาสาเหตุการตายไม่ได้ และครอบครัวนี้ดูเหมือนจะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่รอวันประกาศความจริง แต่แล้ววันนั้นก็มาถึง เมื่อเพื่อนที่รักอย่างสีรุ้งอาสาจะหาสาเหตุการตายของคุณพ่อคุณแม่ของต้นทางรัก โดยวางแผนที่จะไปบ้านของเติมใจ เขาทั้งสามคนเข้าไปห้องทำงานลับของคุณแม่เติมใจและเปิดกริชหลายขนาดให้เพื่อน ๆ ดู ทว่าคุณพ่อเดินทางกลับมาถึงบ้านและเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวก่อนจึงให้ลูกและเพื่อน ๆ กลับไป แต่คุณแม่นักการเมืองหญิงดันกลับมาก่อนจึงคว้าอาวุธขึ้นมาหมายจะแทงให้ต้นทางรักเสียชีวิต แต่กลับกลายเป็นว่าลูกบุญธรรมของตนกลับมารับความแหลมคมจากอาวุธของเธอเสียเอง ฝ่ายเติมใจต้องพักรักษาตัวอยู่นาน ตอนนี้หัวใจของต้นทางรักกลับกล้าที่จะปกป้องเพื่อนที่นอนซมอยู่บนเตียงโดยการให้ปากคำกับตำรวจ  และมิตรภาพที่แสนอบอุ่นของทั้งสามคนก็พยายามรักษาจิตใจให้ดีขึ้น วันหนึ่งต้นทางรักกลับไปที่สวนลับหลังโรงเรียนแห่งนั้นอีกครั้งเพื่อทบทวนทุกสิ่งที่ผ่านมาพร้อมกับเพื่อนของเขาทั้งสองคนในสถานที่แห่งนี้อีกครั้ง

            หนังสือเรื่อง ฟองกาศในสวนลับ ของ alwaysmoody หนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยซุ่มเสียงของตัวละครหลักที่พยายามเปล่งเสียงออกมาจากความร้าวรานทั้งหลาย บางครั้งเสียงและข้อความที่ดูเหมือนว่าตัวละครหลักจะพูดออกมาอย่างล้นหลามและมากมาย แต่นั่นกลับเป็นการเปล่งเสียงพูดอยู่ในใจ ผู้เขียนผจงเลือกสรรคำที่ทำให้ผู้อ่านรับรู้ถึงความอ่อนโยนของตัวละครอย่าง “รสชาติของบ้านต้องอร่อยมากแน่ ๆ เลย” (alwaysmoody, 2567:  26) ข้อความดังกล่าวทำให้เห็นถึงความอบอุ่นของผู้เขียนที่แผ่ซ่านออกมา ผ่านการใช้คำอย่างละมุนละม่อม ซึ่ง รสชาติของบ้าน ให้ความหมายที่คล้ายกับคำว่า รสมือในการทำอาหารจากคนที่รัก แต่การเลือกสรรคำรสชาติของบ้านทำให้ผู้อ่านรับรู้ได้ถึงความอบอุ่นจากบ้านและคนที่รัก และนอกจากการเลือกสรรคำมากมายของผู้เขียนแล้ว การสร้างตัวละครและฉากหลังของตัวละครแต่ละตัวต่างผูกเรื่องราวขึ้นมาอย่างน่าสนใจผ่านการใช้บรรยากาศความอบอุ่นจากความรักและมิตรภาพที่ก่อตัวขึ้น ความเศร้าหมองและอารมณ์ที่ดำดิ่งลึกลงไปของตัวละคร ความวุ่นวายที่ระอุขึ้นภายในจิตใจ หากเปรียบการใช้ภาษาในหนังสือฟองอากาศในสวนลับกับน้ำพริก นับว่าเป็นน้ำพริกที่มีครบทุกรสชาติให้ชวนลิ้มลอง และกลิ่นที่โชยขึ้นเตะจมูกคงเปรียบได้กับสีสันของหน้าปกที่เลือกใช้สีโทนอุ่นให้ความรู้สึกอบอุ่นใจอีกด้วย นับว่าเป็นความพยายามและตั้งใจของสำนักพิมพ์และนักเขียนอย่าง alwaysmoody ที่พยายามสื่อเรื่องราวออกมาได้อย่างน่าสนใจ

 

กะเทาะเปลือกแผ่นแรกของเด็กชายในฟองอากาศ:ความเป็นสีดำ

“ทะลวงลึกเพื่อพิเคราะห์ความเป็นสีดำ และการด่วนตัดสินดีร้ายอาจเป็นการกระทำที่อุกอาจจนเกินไป”

            ความเป็นสีขาวดำเริ่มเกาะกลุ่มแน่นหนาภายในจิตใจของต้นทางรัก ทั้งการด้อยค่า และจัดวางตัวเองให้อยู่ในจำพวกไม่มีสีสันในชีวิตของใครแม้กระทั่งตนเอง ผู้วิจารณ์จึงค้นหาข้อมูลเรื่องภาวะซึมเศร้าเพื่อประกอบการวิจารณ์ของ พลอย เชนศรี (2564) ได้แบ่งอาการของโรคซึมเศร้าไว้ 4 กลุ่ม ได้แก่ อาการทางอารมณ์ อาการทางความคิด อาการทางกาย และอาการทางสัมพันธภาพ เมื่อพิจารณาประกอบกับลักษณะนิสัยของตัวละครอย่างต้นทางรักแล้ว พบว่าตัวละครมักมีอาการทางความคิดเด่นชัดที่สุด คือมักจะมีความคิดที่เป็นไปในทิศทางลบ รู้สึกไร้ค่า โทษและตำหนิตัวเอง เช่น “โชคดีงั้นเหรอ ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเป็นความโชคดีให้ใครได้ ฟังดูยิ่งใหญ่จัง”(alwaysmoody, 2567: 43) คำพูดที่ว่า ตัวเองจะเป็นความโชคดีให้ใครได้ ช่างเป็นคำพูดที่ด้อยค่าตนเอง ซึ่งมาจากภูมิหลังอันแสนเลวร้ายของต้นทางรักที่ไม่สามารถคืนความยุติธรรมให้กับพ่อแม่ของเขาได้ ความเป็นสีดำจึงค่อย ๆ ทะมึนขึ้น หากพิเคราะห์ในแง่นี้แล้วคำพูดของต้นทางรักดังกล่าวจึงปะปนความน้อยเนื้อต่ำใจในความไม่กล้าหาญของตนเองที่จะเป็นความพิเศษหรือโชคดีให้กับใครได้เลย การพยายามไม่มีตัวตนของต้นทางรักจึงสะท้อนความคิดของเขาอย่างมากมาย เช่น“ถ้าเอาไปฉายบนหน้าจอสี่เหลี่ยมคงกินเวลากว่าหลายนาที ตัวละครเอกผู้หล่อเหลาและเธอคนนั้นที่แสนร่าเริง ฉากหนึ่งในภาพยนตร์วัยรุ่นคงจะน่าสนใจไม่น้อย แต่เรื่องเล่านั้นจะไม่มีผมเป็นตัวประกอบ ผมจะไม่มีตัวตนในนั้น”(alwaysmoody, 2567: 98) ผู้วิจารณ์มีความเห็นว่าคำพูดของตัวละครดังกล่าวเป็นกลไกการป้องกันตนเองของตัวละคร จากความสัมพันธ์ที่เข้ามากระทบและสร้างความรู้สึกให้กับเขาได้ ดังนั้นการไม่มีตัวตนจึงเป็นปราการป้องกันตนเองจากอันตรายทั้งปวง ทั้งความสัมพันธ์ ความรัก ความโศกเศร้า และการสูญเสีย หากไร้ตัวตนไปแล้ว มีหรือที่ใครจะมาสนใจการกีดกันตนเองจากสิ่งเหล่านั้นทั้งปวงแล้วจึงเป็นปราการชั้นเยี่ยมที่ป้องกันความรู้สึกของตัวละครนั่นเอง ฉะนั้นการตัดสินผลลัพธ์ทางคำพูด และความเป็นสีดำของตัวละครถ่ายเดียวคงเป็นการตัดสินใจที่อุกอาจจนเกินไป หากไม่เปิดใจให้กว้างเพื่อค้นหาเบื้องลึกเบื้องหลังของคำพูดอย่างแท้จริง

 

เปลือกแผ่นที่สอง :หรือสังคมมีพื้นที่ไว้สำหรับคนบางคนเท่านั้น และความเป็นอื่นของบุคคลชายขอบท่ามกลางแสงสว่าง

          “ฉันขาดตกบกพร่องอะไรไปหรือ ทำไมพื้นที่ตรงนั้นถึงไม่ต้อนรับการมีอยู่ของฉัน”

ช่างเป็นประเด็นที่ผู้วิจารณ์ต้องการนำเสนออีกหนึ่งมุมมองของตัวละคร ที่ต้องตะเกียกตะกาย หลีกหนีออกมาจากสังคม และให้สวนลับหลังโรงเรียนเป็นพื้นที่พำนักจิตใจชั่วคราว “ต้นทางรัก” เด็กชาย ในฟองอากาศผู้มองตัวเองเป็นมนุษย์ที่ไร้สีสัน แตกต่างและแปลกแยกจากเด็กธรรมดาทั่วไป อย่างที่อริสโตเติลได้กล่าวไว้ว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม แต่คำว่า สังคม กลับทำร้ายและทำลายจิตใจอันอ่อนโยนและบอบบาง ของตัวละครด้วยถ้อยคำล้อเลียน ไม่ชวนให้อภิรมย์ แต่ด้วยลักษณะนิสัยที่เงียบขรึม ไม่ชอบการสานสัมพันธ์กับผู้อื่นหากไม่จำเป็น ประหยัดในถ้อยคำ โลกส่วนตัวสูงเกินกว่าใครจะเอื้อมตัวเข้าไปถึง หากกล่าวอย่างจริงใจตามมุมของนักวิจารณ์แล้ว ท่านผู้อ่านคงเห็นว่าเป็นลักษณะนิสัยเฉพาะบุคคล และไม่แปลกที่เขาจะแปลกแยกจากเพื่อน ๆ และสังคมไปได้ และเรากลับทำความเข้าใจอย่างผิวเผินกับมนุษย์ในรูปแบบนี้ แล้วรีบแจ้นเดินหนีออกไป ทว่าเรากลับเปิดประตูต้อนรับบุคคลที่มีลักษณะนิสัยรูปแบบหนึ่ง โดยที่ไม่ถามเจ้าตัวถึงความพร้อมรักสมัครใจเลยแม้แต่น้อยอย่าง “เติมใจ” เด็กหนุ่มท่ามกลางแสงสว่างที่สาดส่องลงมาอาบผิวกายให้เรืองรองอย่างกับว่าเป็นสัญลักษณ์ของลูกรักพระเจ้า ไม่เพียงเท่านั้นผู้คนต่างมอบความรักสมัครใจ และใคร่จะฟังถ้อยคำที่พรั่งพรูออกมาจากริมฝีปากคู่นี้ อย่างที่ครั้งหนึ่ง ต้นทางรักได้กล่าวไว้ว่า “เติมใจคงจะเป็นพวกมีพรสวรรค์ด้านการเลือกใช้คำ อย่างน้อยคงเก่งเกินกว่าผมไปมาก ผมไม่แปลกใจเลยสักนิดถ้าคุณพ่อคุณแม่บุญธรรมของเขาจะปลาบปลื้มเสียเหลือเกิน รวมถึงคนรอบข้างที่กระโจนเข้าไปในรัศมีความใกล้ชิด ใคร ๆ ก็พากันตกหลุมรักสิ่งเล็กน้อยที่หาไม่ได้ในชีวิตประจำวัน”(alwaysmoody, 2567: 27) ดูเหมือนว่าความพิเศษด้านการใช้คำพูดของเติมใจจะเป็นพรสวรรค์ข้อหนึ่งที่ดึงดูดความรักคุณพ่อคุณแม่ เพื่อน ๆ และบุคคลรอบข้างได้อย่างล้นหลาม หรืออย่างความกล้าหาญของหัวหน้าห้องหญิงที่คอยปกป้องต้นทางรักมาโดยตลอด และมีน้ำใจเผื่อแผ่ไปถึงเพื่อนคนอื่น ๆ อย่าง “สีรุ้ง” โดยต้นทางรักกล่าวเมื่อมีเหตุการณ์ที่เพื่อนต่างห้องมากลั่นแกล้งเธอ และดูเหมือนครั้งนี้เติมใจจะไม่ยอมเสียด้วยที่จะให้ใครมารังแกต้นทางรักได้ว่า “สีรุ้งไม่เกรงกลัว ไม่ยอมจำนนต่ออิทธิพลของนามสกุลที่เด็กพวกนั้นได้มาตั้งแต่กำเนิด ผมรู้มาตลอดว่าครอบครัวของเธอเกี่ยวข้องกับสื่อท้องถิ่น แต่ไม่คิดมาเธอจะบ้าดีเดือดขนาดนี้”(alwaysmoody, 2567: 56) ความกล้าหาญของสตรีเพศเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้สังคมยอมรับ อย่างน้อย ๆ  ก็ตอนที่เธออยู่ในสังคมมัธยมปลายตอนนี้ ช่างเป็นประเด็นที่น่าสนใจและชวนให้ผู้อ่านทั้งหลายใคร่ครวญคิดตามว่า มนุษย์แสนธรรมดาอย่างต้นทางรักผิดอะไรหรือ ถึงผลักไสเขาโดยไร้คำพูดไร้คำว่า“ลองเปิดใจเรียนรู้” ก่อนตัดสิน ช่างยากดีแท้ จนกระทั่งพื้นที่ภายในสังคมที่แน่นขนัด จนดูเหมือนว่าไม่เพียงพอสำหรับคนอย่างเขา แต่กลับเพียงพอสำหรับคนอีกประเภทหนึ่งเสมอ ทำไมกันหนอ?

            นอกจากประเด็นของหรือสังคมมีพื้นที่ไว้สำหรับใครบางคนเท่านั้น ผู้วิจารณ์ยังต้องการเสนอมุมมองในทางกลับกัน เพื่อให้ตัวละครอย่าง “เติมใจ” ได้ตอบโต้กลับและมีโอกาสได้อธิบาย แม้เขาจะได้ชื่อว่าเป็นลูกรักของพระเจ้าไปแล้วก็ตาม แต่ถึงอย่างไรเสีย เหรียญไม่ได้มีด้านเดียว การพิจารณาหลาย ๆ ด้านจึงเป็นสิ่งที่มนุษย์ควรประพฤติ อย่างน้อย ๆ ก็พื้นที่ในกระดาษเอสี่ของผู้วิจารณ์ ก่อนอื่นผู้วิจารณ์จำเป็นต้องเล่าย่อถึงภูมิหลังที่ฉาบไปด้วยความหรูหราสวยงามของพ่อแม่บุญธรรมของเติมใจที่หวังรับบุตรบุญธรรมเข้ามา เพื่อเติมเต็มหัวใจที่ลูกชายแท้ ๆ ได้สูญสิ้นลมหายใจไป ดังที่เติมใจกล่าวว่า “คุณพ่อบอกว่าเติมใจเป็นการย่อขนาดของเติมเต็มหัวใจ เราช่วยเติมเต็มทั้งหัวใจและชีวิตที่มีรูโบ๋” (alwaysmoody, 2567: 62) อนิจจาชีวิตชื่อของเติมใจที่เข้าไปเติมความรักให้กับพ่อแม่บุญธรรมอย่างเต็มหัวใจ แต่สี่ห้องหัวใจและความฝันของตนเองกลับล่มสลายและสูญเสียตัวตนโดยที่ยังไม่ได้ทำความรู้จักมันเลยแม้แต่น้อย ชีวิตของนักการเมืองหญิงที่ทะเยอทะยานที่จะไต่ตำแหน่งและผูกใจชาวบ้านด้วยความยาวนานของการปกครองและด้วยสกุลที่ต่อท้ายมาจากชื่อ กลับกลายเป็นสิ่งการันตีความดีงาม มากกพร้อมด้วยผลงานประจักษ์สืบต่อกันมา และชีวิตของนักทันตแพทย์ชายผู้เป็นที่รักของชาวบ้าน ดูเหมือนว่า การมีเติมใจนอกจากจะเติมรักให้เต็มแล้ว ผลประโยชน์จากการรับเด็กสักคนหนึ่งเข้ามาเป็นลูกบุญธรรมช่างฉาบด้วยความเป็นคนดีเสียเหลือเกิน บัดนี้เติมใจจึงเปรียบเสมือนกับตุ๊กตากระเบื้องที่พร้อมแตกร้าวทุกเมื่อ เพราะเขาต้องแบกรับความหวัง เกียรติยศที่ผู้คนพร้อมจับจ้อง นั่นก็เป็นผลมาจากลูกเต้าเหล่ากอของหญิงชายสองคนนี้ที่รับเลี้ยงเขามา การประกอบสร้างส่วนผสมจึงเต็มไปด้วยสิ่งที่ผู้คนหวังดีทั้งหลายอย่างให้เป็น รวมถึงความอยากมีอยากเป็นที่รักของพ่อแม่บุญธรรมอย่างสุดหัวใจของเติมรักเองก็ผสมลงไปเล็กน้อยเหมือนกัน ดังข้อความที่ว่า“เติมใจไม่มีสิทธิ์คัดค้าน อันที่จริงเจ้าตัวแทบจะไม่มีปากเสียงในบ้านครอบครัวอยากให้ทำอะไรก็ยอมทำ ใช้ชีวิตไปตามเส้นทางที่มีคนลิขิตไว้ให้”(alwaysmoody, 2567: 43) การยอมสูญเสียตัวตนเพื่อเป็นที่รักของคนอื่น ๆ เป็นเครื่องมือที่ใช้แลกความรักทั้งสิ้น ทว่าพระเจ้ากลับทำส่วนผสมของคำว่า คำสาป ตกลงไป การเป็นที่รักและมีแสงสาดส่องอยู่ตลอดเวลา ทำให้เขาเป็นที่รู้จักของคนไปทั่ว แต่ความเป็นจริงแล้วนั้นท่ามกลางผู้คนมากมายกลับไม่มีใครรู้จักตัวตนของเขาเพียงคนเดียว และไม่มีใครอยากฟังสิ่งที่เขาพร่ำเพ้อพูดแม้จะมากด้วยพรสวรรค์ด้านการใช้คำมากเพียงใดก็ตาม อย่างที่เติมใจกล่าวว่า “ไม่มีใครรับฟังเราหรอกว่าจริง ๆ แล้วเราต้องการอะไร คนพวกนั้นแค่อยากได้ยินในสิ่งที่ตัวเองอยากจะได้ยิน”(alwaysmoody, 2567: 65) และสิ่งที่อนาถใจไม่แพ้ไปกว่าตัวละครอื่น ๆ ในเรื่องคือความพยายามสุดความสามารถที่จะเติมรักและเติมใจของพ่อแม่ให้เต็มลงไปในช่องว่าง ทว่าความเป็นจริงแล้วพ่อแม่บุญธรรมกลับไม่มีช่องใด ๆ ให้เขาได้เติมสิ่งดีงาม ความรัก ความอ่อนโยน ความตั้งใจ หรือเหนือสิ่งอื่นใดลงไปได้ อย่างที่ครั้งหนึ่งต้นทางรักและสีรุ้งเคยเข้าไปในบ้านของเติมใจและค้นพบว่า บ้านหลังนี้ช่างโดดเดี่ยวและปราศจากความรัก ความอบอุ่น และอย่างที่เติมใจได้กล่าวเองว่า “คำว่าครอบครัวแปะเต็มฝาบ้านและมุมชั้นวางของ ทว่าในหนึ่งคำนั้นไม่รวมเติมใจเข้าไปด้วย…เริ่มเข้าใจแล้วว่าทำไมเติมใจถึงปรารถนาจะแทนที่คนคนนั้น เพระมันไม่มีพื้นที่ว่างให้แทรกเข้าไปเลยแม้แต่น้อย เริ่มเข้าใจแล้วว่าทำไม    เติมใจถึงโดดเดี่ยว เพราะท่ามกลางผู้คนมากมาย มีแค่ไม่กี่คนเท่านั้นที่รู้จักเขา”(alwaysmoody, 2567: 184)  ผู้วิจารณ์เห็นถึง ความเป็นส่วนเกิน-ความเป็นอื่น-ความเป็นคนชายขอบที่ได้รับการสาดส่องของแสงลงมาแล้วแสงนั้นก็ดับลง เหมือนกับตุ๊กตากระเบื้องที่แตกสลายลงมา

            ดังนั้นในยุคที่สังคมโลกรีบจ้ำอ้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ได้โปรดสงบจิตใจในการกะเทาะเปลือกอารมณ์ของตัวละคร รวมถึงมนุษย์ทั้งหลายอย่างเบามือ และโปรดใช้วิจารณญาณของตนประกอบเหตุและผลด้วยเถิด

 

อ้างอิง

พลอย เชนศรี. (2564). ภาวะซึมเศร้า ความผูกพันต่อบทบาท และกลวิธีการเผชิญปัญหาของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพศหญิง
            ที่มารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกจิตเวชศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
 (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต).
            กรุงเทพฯ. จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย.
            สืบค้นจาก 
https://digital.car.chula.ac.th/cgi/viewcontent.cgi?article=6624&context=chulaetd

Alwaysmoody. (2567). ฟองอากาศในสวนลับ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ P.S. Publishing.

Visitors: 83,790