ล้านนาฮาเร็ม : ความบันเทิงที่ไม่สุดทาง

ล้านนาฮาเร็ม : ความบันเทิงที่ไม่สุดทาง

ไพลิน รุ้งรัตน์

 

 

            การเขียนนวนิยายประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องง่ายและยากไปพร้อมกัน  ที่ว่าง่ายเพราะนวนิยายประวัติศาสตร์มีโครงเรื่องสมบูรณ์อยู่แล้วตามโครงข้อเท็จจริงของประวัติศาสตร์  ยิ่งถ้าผู้เขียนเลือกเรื่องที่มีความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์มากเพียงไร   เรื่องนั้นก็จะถูกโครงสร้างของประวัติศาสตร์กำกับอย่างชัดเจน  กรณีนี้จึงง่ายเพราะนักเขียนไม่ต้องคิดโครงเรื่องเองเลย   แต่ที่ว่ายากก็คือ  การถูกบังคับด้วยโครงสร้างทางประวัติศาสตร์  จึงทำให้นักเขียนมีโอกาสสร้าง “สีสัน” ได้น้อย  โอกาสที่จะจินตนาการไปให้สุดทางอย่างนวนิยายที่สร้างโครงเรื่องเองจึงมีน้อย  ยิ่งใช้ประวัติศาสตร์มากเท่าไร  โอกาสก็จะยิ่งน้อยลงอย่างเป็นสัดส่วนกัน  ในขณะเดียวกันการเลือกเอาประวัติศาสตร์ตอนใดตอนหนึ่งมาเขียน  นักเขียนก็ต้องระมัดระวังในการจินตนาการให้จงหนัก  เพราะหากจินตนาการมากไป  หรือเอาตามที่คิดว่าควรจะเป็นไปก็อาจจะผิดจากข้อเท็จจริงที่ถูกบันทึกไว้ก็อาจจะเกิดปัญหาอีกมากมาย  รวมทั้งกรณีฟ้องร้องด้วย    ดังนั้น การเลือกสร้างนวนิยายจากประวัติศาสตร์  โอกาสที่จะทำให้ “สนุก” และมี “สีสัน” ให้ได้มาก ก็คือ การเลือกประวัติศาสตร์ช่วงที่จะเป็นนวนิยาย   โดยต้องเป็นตอนที่มี “ช่องว่าง”มากพอที่จะจินตนาการได้ด้วย

            ล้านนาฮาเร็ม ของ สาคร พูลสุข เป็นเรื่องของบุคคลในยุคนักล่าอาณานิคมที่มาในรูปแบบของการเผยแพร่ศาสนาและการค้า  ในสมัยรัชกาลที่ ๕  ผู้เขียนเลือกเรื่องราวของนายแพทย์มารีออน อัลฟองโซ ชีค  ซึ่งเข้ามาเมืองไทยตามเพื่อนที่เป็นมิชชันนารี แรก ๆ มาอยู่ในเมืองไทยในฐานะหมอรักษาคน (อุทิศตนตามหลักศาสนา)  แต่ต่อมาเกิดโลภ หันมาประกอบอาชีพค้าไม้สัก  เมียจึงพาลูกหนีไปอเมริกา  เมื่อร่ำรวยก็มักมากในกามและนำไปสู่การสร้างบ้านหลังเล็ก ๆ แบบฮาเร็มให้ผู้หญิงอยู่เพื่อบริการตัวเขาได้ถึง ๒๐ หลัง  วาระสุดท้าย  เขาป่วยหนักและตายบนเรือระหว่างเดินทางกลับบ้านเกิด

 

หมดโอกาสขยี้กิเลส

            มนุษย์ไม่ว่ายุคใดสมัยใดข้ามกิเลสตนเองไม่พ้น สาคร พูลสุข นำเสนอภาพของหมอชีคในฐานะคนหนุ่มที่พลัดบ้านพลัดเมืองได้อย่างงดงามพอสมควร ชีคคือภาพของคนหนุ่มที่ยอมร่วมคณะมิชชันนารี ตามหมอคือ แดเนียล แมคกิลวารี ผู้ศรัทธาในศาสนาอย่างแข็งขันมาสยาม  และได้มาพบกับซาราห์ น้องสาวของโซเฟีย ภรรยาของหมอแดเนียล (ทั้งสองสาวเป็นลูกสาวของหมอบรัดเลย์)   เขาชอบซาราห์และขอแต่งงานกับซาราห์  ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นว่าหมอชีคอยากเห็นสีสันโรแมนติกจากภรรยาแต่ไม่พบ  และค่อย ๆ ปูพื้นความชอบในเซ็กส์ของหมอชีคขึ้นเรื่อย ๆ น่าจะเป็นลำดับไปเพื่อจะนำไปสู่การมีฮาเร็มในท้ายสุด  แต่ด้วยความที่เป็นคนที่มีตัวตน มีเรื่องราวบังคับอยู่  จึงเห็นได้ว่าผู้เขียนขยักความอยากบรรยาย “กิเลส” ของหมอชีคไว้โดยตลอดเรื่อง  เรียกว่า สามารถบรรยายได้เฉพาะภาพแต่ไม่สามารถแสดงอารมณ์ภายในไม่ว่าโดยกลวิธีใดได้มากนัก  ข้อนี้ก็เพราะความเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์  และอาจเป็นเพราะนักเขียนและนักอ่านไทยยังไม่คุ้นชินกับการเขียนนวนิยายประวัติศาสตร์แบบเสรีด้วยนั่นเอง

            นอกจาก “กิเลส” ในเรื่องเพศแล้ว สาครยังเสนอ “กิเลส” อีกตัวหนึ่งของหมอชีค นั่นคือ ความอยากรวย หรือความโลภรวย  ด้วยเหตุที่เขาเป็นคนฉลาด ทำให้มองเห็นลู่ทางการค้าไม้สัก  และยังเป็นคนมองทะลุเรื่องการจัดการ  การมีเครือข่ายธุรกิจ  กล้าได้กล้าเสีย  ซ้ำยังสนิทกับเจ้าวรรณาซึ่งเป็นคนมีอิทธิพลและมีความเก่งไม่แพ้กัน  ทำให้ทำเงินได้ง่าย ได้เร็ว จนเปลี่ยนสถานะเป็นนักธุรกิจค้าไม้สักอย่างเต็มภาคภูมิ  ข้อนี้ ผู้เขียนก็สามารถแสดงศักยภาพของหมอชีคได้ในระดับหนึ่ง  โดยอาศัยข้อมูลที่บันทึกไว้ของบริษัทบริติช บอร์เนียวที่ว่า

            “มารีออน อัลฟองโซ ชีค เป็นชายหนุ่มแข็งแรง อดทน หน้าดำคร่ำเครียด แต่บางเวลากลับปล่อยตัวตามสบายราวกับไม่มีอะไรจะทำ  เขาสามารถรักษาคนไข้ได้นับหมื่นรายต่อปี บางครั้งคล้ายคนหน้าเลือด ไม่มีน้ำใจ  แต่บางคราก็ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือคนที่ไม่ควรช่วยเหลือ นอกจากนั้น ยังมีแนวโน้มจะเป็นคนสุรุ่ยสุร่าย ที่สำคัญ ไม่อาจทนต่อแรงเย้ายวนของกิเลสตัณหาตามธรรมชาติของปุถุชน

            ตัวละครอีกตัวหนึ่งคือ เจ้าวรรณา  ซึ่งเป็นตัวละครฝ่ายไทย  เป็นตัวละครสำคัญที่ทำให้การดำเนินชีวิตของหมอชีคประสบความสำเร็จ  และเรื่องที่เป็นนวนิยายก็มีสีสัน  ความโดดเด่นของเจ้าวรรณาปรากฏชัด ความเป็นเพื่อนกับหมอชีคก็ปรากฏชัดอย่างน่าสนใจ  ผู้ชายที่สนใจเรื่องเซ็กส์เป็นชีวิตจิตใจกับผู้หญิงที่สนใจเรื่องนี้เช่นกัน  เมื่อเจอกันกลับเป็นเพื่อนกันได้  แม้ไม่น่าเชื่อว่าจะไม่ข้ามเส้น  แต่สาครก็อธิบายไว้ชัดเจนดีแต่ลึกลงไป  ก็สามารถสัมผัสได้ว่าผู้เขียนถูกกำกับโดยหลักฐานข้อเท็จจริงเท่าที่ปรากฏ

            เรียกได้ว่า ทั้งสองตัวนักเขียนหมดโอกาสขยี้กิเลส

 

สำคัญที่การเลือกตัวละคร     

            ในกรณีที่นวนิยายประวัติศาสตร์มีสีสันหรือความแปลกใหม่เกิดขึ้น  จึงมักเกิดเพราะตัวละครที่อยู่ในประวัติศาสตร์ แต่นอกการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน  ซึ่งผู้เขียนจะจินตนาการเช่นใดก็ได้  เพื่อให้ข้อมูลทั้งหมดวนเข้ามาเป็นเส้นเดียวกับข้อเท็จจริงที่จารึกไว้ หรือหากไม่ได้จารึกไว้ก็เพราะเหตุใด  ซึ่งผู้อยู่นอกหลักฐานนี่จะเป็นตัวสร้างเสน่ห์  สร้างสรรค์สิ่งที่ไม่คาดฝัน และเป็นตัวชูรสแทนคนในประวัติศาสตร์ทั้งหมด  และคนในประวัติศาสตร์ก็ไม่ถูกเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงเลย  จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่เราจะตื่นเต้นกับงานแบบทวิภพ ของทมยันตี หรือบุพเพสันนิวาส ของรอมแพง  ที่มีตัวละครข้ามยุคไปพยายามช่วยคนในประวัติศาสตร์แต่ก็ไม่อาจแก้ประวัติศาสตร์ได้  ล้านนาฮาเร็ม ของสาคร พูลสุข ก็เช่นกัน  ถ้าหากมีตัวละครลับ ๆ เล็ก ๆ แต่สำคัญในเรื่องสักตัวที่วิ่งพล่านไปมาในเรื่องอาจช่วยผู้เขียนได้มากทีเดียว

                   

สำคัญที่การเลือกประเด็น

            สิ่งที่ผู้อ่านคาดหวังจากนวนิยายประวัติศาสตร์ในแต่ละยุคสมัย  คือเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอันส่งผลให้เป็นบ้านเมืองในปัจจุบัน  ดังนั้น  สิ่งสำคัญที่สุดของยุคสมัยนักล่าอาณานิคมของโลกตะวันตก  คือพฤติกรรมหรือสิ่งที่เกิดขึ้น  หรือในล้านนาฮาเร็มเล่มนี้ก็คือ “ความเป็นล้านนาในระยะเปลี่ยนผ่านทางประวัติศาสตร์ ท่ามกลางการก่อเกิดรัฐชาติสมัยใหม่ในห้วงเวลาของอาณานิคม ทั้งอาณานิคมภายนอกและอาณานิคมภายใน” บันทึกสำนักพิมพ์) ซึ่งผู้เขียนเลือกเอาชีวิตของนายแพทย์มารีออน อัลฟองโซ ชีค  เป็นตัวหลักในการเล่าเรื่อง  ซึ่งได้แต่บรรยากาศของบุคคล  แม้จะพยายามดึงเจ้าวรรณามาช่วย  แต่ก็กลายเป็นตัวบุคคลทำนองเดียวกัน  เส้นเรื่องสำคัญที่เป็นประเด็นของการพยายามต่อสู้กับรัฐส่วนกลาง และการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมที่ขยับขยายมาจากประเทศเพื่อนบ้านจึงจมไปในเส้นของบุคคลอย่างน่าเสียดาย 

            การเลือกตัวละครที่มิใช่ตัวที่มีอำนาจ ทำให้การให้รายละเอียดพร่าเลือน  การต่อสู้ก็ไม่ชัดเจน  ได้แต่ภาพและบรรยากาศ  และเรื่องราวส่วนตัวมากกว่า กระนั้น สิ่งที่ทำให้นวนิยายเรื่องนี้ยังงดงามอยู่ได้คือ ถ้อยภาษาและบรรยากาศที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของบ้านเมือง และภาษาเมือง เช่น ภาพการทำงานของช้างลากซุงในป่าเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้วในวันที่ป่าสักยังอุดมสมบูรณ์

            “แล้วเขาก็ได้เห็น ไม่ใช่เพียงแค่ท่อนซุง คนงาน ช้าง ควาย สายน้ำในลำห้วย แต่ได้เห็นภาพที่เคลื่อนไหวอย่างได้น้ำได้เนื้อของคำว่าชีวิต ในลำห้วยคนงานที่ถ่อแพท่อนซุงท่ามกลางสายน้ำเชี่ยว พลาดนิดเดียวหมายถึงความตาย บนฝั่ง ช้างทุ่มเทเรี่ยวแรงลากซุงท่อนโต มองไกล ๆ คล้ายก้อนเนื้อสีเทา ใบหูไหวพะเยิบพะยาบ ก้มหัวต่ำ ออกแรงเดิน ส่วนฝูงควายเทียมเกวียนดูเป็นจุดสีตะกั่ว รอลากเกวียน..”(หน้า ๑๙๔)

            หรือบรรยากาศที่คุ้มเจ้าวรรณา ยามหม่นหมอง

            “เจ้านางเดินไปทั่วคุ้ม แล้วสงสัยว่าตัวเองกำลังอยู่ที่ไหน โรงครัวส่งกลิ่นเหม็นเอียน โรงปั่นฝ้ายดูยุ่งเหยิง  โรงทอผ้ามีแต่ผ้าผืนเก่า หรือแม้แต่โรงต้มเหล้าก็เต็มไปด้วยกลิ่นส่าเหล้าเหม็นบูด หรือว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่อุตส่าห์ลงทุนสร้างมาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว  ความกลัวแล่นเข้าจู่โจมจนตกใจ...”(หน้า ๓๑๔)

            แม้ภาษาเมืองจะทำให้การอ่านสะดุดอยู่บ้างในตอนแรก ๆ แต่หลังจากทำความเข้าใจได้แล้ว  ก็ไม่มีปัญหาต่อการรับรู้อีก 

            งานของสาคร พูลสุขเล่มนี้ แสดงถึงความตั้งใจจริงของเขา การเป็นคนใต้ที่ต้องมาเขียนโดยใช้ภาษาเหนือไม่เป็นปัญหาสำหรับเขาเลย การประมวลเรื่องและการประกอบสร้างเป็นเรื่องเป็นไปตามลำดับ เพียงแต่ผลงานเล่มนี้ให้ความรู้สึกว่า เป็นสาระนิยาย หรือสารคดีมากกว่าที่จะเป็นนวนิยาย  อ่านแล้วได้ความรู้  เข้าใจอดีต เห็นบรรยากาศ เข้าใจคนและยุคสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี  แต่ไม่ทำให้รู้สึกหรือได้คิดหรือตระหนักในเรื่องชาติบ้านเมือง ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ  ทั้งนี้ เพราะผู้เขียนตั้งเรื่องไว้ที่ความเป็นบุคคลนั่นเอง  มิหนำซ้ำยังตั้งชื่อเหมือนเน้นไปที่ความเป็นฮาเร็มผู้หญิงของหมอชีค ทั้งที่ความจริง ล้านนาก็เป็นฮาเร็มของพวกล่าอาณานิคม แต่ผู้เขียนมิได้โยงไปถึง เท่านั้นเอง

            นี่ถ้าหากผู้เขียน ทำให้เห็นความบันเทิงของผู้ล่าอาณานิคม ที่บันเทิงทั้งในส่วนของการเผยแพร่ความศรัทธาในศาสนา การทำให้คนสยามเข้ารีตได้เป็นศรัทธาบันเทิง ในขณะเดียวกันพวกค้าไม้ก็เอาไม้สักของภูมิภาคนี้ไปบันเทิงชีวิตกันอย่างเมามัน ผสมผสานเข้ากับบันเทิงทางเพศของหมอชีค เชียงใหม่ที่เป็นศูนย์กลางล้านนาก็จะเป็นฮาเร็มของพวกนักล่าแน่นอน แล้ว “ล้านนาฮาเร็ม” ก็จะสร้างความเจ็บปวดแก่เราสาหัสนัก

--------------------

สาคร พูลสุข. 2567. ล้านนาฮาเร็ม. ผจญภัยสำนักพิมพ์

Visitors: 94,630