ชุติเดช ยารังษี
“จิตวิเคราะห์ อัตถิภาวนิยม สัจนิยม สัจนิยมมหัศจรรย์ และกระแสสำนึก
ในนิยายรักน้ำเน่าฉบับมาตรฐานเรื่องหนึ่ง”
บทวิจารณ์นิยาย : ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต โดย : ชุติเดช ยารังษี
กระแสสำนึกเหนือจริง จิตวิเคราะห์เหนือกาลเวลา ภาษาเหนือกรอบการพรรณนาของวรรณกรรมไทยยุค 90 ปรัมปราในเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า ทำให้นิยาย “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” โดย วีรพร นิติประภา ตรึงหัวใจของผู้อ่านไว้ตั้งแต่ครั้งแรกอ่าน และมิหนำซ้ำยังตอกห้วงทรงจำของพวกเราในครั้งต่อๆ มาเมื่อเปิดอ่านซ้ำ สัญลักษณ์มากมายในเรื่องเล่าเหมือนระเบิดเวลา (โดยไม่ลำดับ) อันมีกลไกซับซ้อน และที่สำคัญ ในทิวแถวตัวอักษรเหล่านั้นประดับประดาเรื่องเล่าได้อย่างงดงาม พลิ้วไหว มีช่วงทำนองลุ่มลึกราวกับบรรดาบทเพลงคลาสสิคของลุงธนิต พอรู้ตัวอีกที ผู้รับสารซึ่งผู้เขียน (ต้องการหรือไม่ก็ตามที่จะ) สื่อ ก็หล่อหลอมพลังงานบางอย่างไปกับเรื่องเล่า แล้วพร้อมแตกเป็นเสี่ยงๆ ดังเช่นโศกนาฏกรรมของตัวละครทั้งหลาย ซึ่งแล้วแต่บกพร่อง อ้างว้าง เดียวดาย กำพร้า ไม่สมประกอบจากข้างใน บ้างรอเติมเต็มจนเกินพอดี บ้างเหมือนน้ำที่ล้นแก้ว และบ้างโหวงว่างราวกับพาชนะที่มีรูรั่วขนาดใหญ่อยู่เสมอ
หากเราวิเคราะห์ตัวละครทั้งหมดทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ และชลิกา ครอบครัวของชารียา หรือแม้กระทั่งปราณ พ่อที่ “ตายจาก...ไม่กี่เดือนต่อมา ด้วยการกะระยะขณะกระโดดขึ้นรถไฟพลาดขาดไปเศษหนึ่งส่วนแปดวินาที” (หน้า 33, ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต. โดย วีระพร นิติประภา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556) ย่าที่ปรากฏเพียงถ้อยคำในทรงจำ น้าชิต และครอบครัวใหญ่กว่าสิบชีวิตของปราณที่เหมือนหายสาบสูญไปจากโลกของเขา รวมถึงลุงธนิตผู้นำบทเพลง ไวโอลิน หนังสือ ตำนานอื่นๆ ผืนผ้าอันน่าลุ่มหลง ภาษาประหลาด และเรื่องเล่าไม่รู้จบเข้ามาสู่บ้านริมแม่น้ำ ธนา แฟนหนุ่มผู้ทิ้งชารียาไปเพียงเพราะอุดมการณ์ นที แฟนหนุ่มอีกคนที่มีจริตอย่างนักแสดงภาพยนตร์รักโศก เหล่าแม่มดทั้งสามเพื่อนของเธอ รสริน ครูสอนรำซึ่งเป็นมากกว่าชู้รักของพ่อ พี่นวลผู้มีสามีสามคน หรือตัวละครที่ปรากฏเพียงนามและร่องรอยเพียงน้อยนิดอย่างป้าผ่อง คุณยายเจิดข้างบ้าน ผีตาโนงที่ว่ากันว่าหลงรักลูกสาวในไส้จนเป็นบ้าและมัดมือมัดเท้าฆ่าตัวตายเมื่อลูกสาวหนีตามชายอื่นไป ลุงพจน์ลูกยายเจิดที่พอแม่ตายก็ลุกขึ้นมาแต่งหญิงด้วยเสื้อผ้าของแม่ ลุงจางผู้อาศัยอยู่ในห้องมืดทึมไม่มีหน้าต่างและไม่เคยทำงานหาเลี้ยงตนเองเลยตลอดชีวิต-- เราจะพบสภาวะความเป็นมนุษย์โดยเนื้อหนังอย่างอัศจรรย์และมิติอันสัมผัสแตะต้องได้ของตัวละครเหล่านี้ แต่ทว่าเพียง “ชารียา” ก็อาจเพียงพอแล้วที่เราจะล่วงรู้ถึงเจตนาของผู้เขียน
“นี่คือนิยายรักน้ำเน่าฉบับมาตรฐานเรื่องหนึ่ง” บรรณธิการ สนพ. มติชน กล่าวไว้ในคำนำ ขณะวีรพร นิติประภา กลับเกริ่นไว้กว้างขวางในคำนำของตนว่า “ฉันเก็บประเทศของฉันในภาพของผืนแผ่นดินอันนุ่มนวล”
จากระยะเวลา 3 ปีที่เธอถ่ายทอดตัวอักษรซึ่งเมื่อตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2556 โดย สนพ. มติชน มีจำนวน 256 หน้า ถือว่านิยายเรื่องนี้ได้เดินทางสู่ความสำเร็จมาไกลสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในผืนแผ่นดินของเราแล้ว ไม่ใช่ครั้งแรกที่งานวรรณกรรมซึ่งคว้าอันดับรองจากเวทีอื่นจะคว้ารางวัลชนะเลิศซีไรต์ได้สำเร็จ “สะท้อนภาพความล้มเหลวของการบริหารจัดการชีวิตในสังคมเสพติดศิลป์ของคนหนุ่มสาวยุคใหม่ แสดงให้เห็นถึงผลกระทบของการเผชิญหน้าระหว่างมายาคติกับอุดมคติของสถาบันครอบครัวไทย ในขณะเดียวกันก็รุ่มรวยไปด้วยการหยั่งถึงความงามอันบรรเจิดของศิลปะหลากแขนง รวมทั้งความงดงามของธรรมชาติ” นี่เป็นส่วนหนึ่งจากคำประกาศของคณะกรรมการพิจารณารางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี พ.ศ. 2558 อันสามารถสรุปได้อีกว่า นิยาย “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” ตราตรึงใจ โดดเด่น ทำให้เกิดสุนทรียะทางภาษา เกิดคำและความอันเป็นอัตลักษณ์ “เป็นอุทาหรณ์ด้านกลับสำหรับคนรุ่นใหม่เพื่อการหลุดพ้นจากความบอดใบ้ทางปัญญาและการไร้ศรัทธายึดเหนี่ยวในวิถีชีวิต” ถือเป็นเหตุผลที่น่าจะเพียงพอกระทั่งส่งผลให้นิยายรักน้ำเน่าครองรางวัลอันทรงคุณค่า
แต่กระนั้นรูปแบบของการวิจารณ์แบบร่วมสมัยอย่างการเทียบเคียงงาน “รักน้ำเน่าฉบับมาตรฐานเรื่องหนึ่ง” กับงานวรรณกรรมขึ้นหิ้ง (Masterpiece) ของนักเขียนระดับโลกท่านอื่นๆ หรือการเจาะลงลึกลงไปในจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) ของตัวละคร จนนำไปสู่การตีความใหม่แบบอัตถิภาวนิยม (Existentialism) สัจนิยม (Realism) หรือไปไกลกว่านั้น คือสัจนิยมมหัศจรรย์ (Magical Realism) และกระแสสำนึก (Stream of Consciousness) เรียกได้ว่าเป็นภาระหน้าที่ของนัก (อยาก) วิจารณ์มือสมัครเล่นอย่างข้าพเจ้าต่อจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป...
1. อาจจะเป็น “ชารียาที่ถูกทอดทิ้ง” ซึ่งตรงเผงอย่างตลกร้ายตามลักษณะ “อุดมการณ์ที่ถูกทอดทิ้ง” ในภายหลัง เมื่อได้เจอรักอันเปี่ยมด้วยอุดมการณ์ของธนา ผู้ซึ่งมีบุคลิก “นัยน์ตาเหงา ผมยาวประบ่า หมวกบาเร่ต์แบบเช กูวาร่า กับความคิดเชิดชูความยุติธรรมของเขาก็ดึงดูดเธอ” (หน้า 76) รักระหว่างเธอกับเขาเต็มไปด้วยขุนเขาสูงเสียดฟ้า บทเพลงแสงดาวแห่งศรัทธาในคราแรก จนทำให้ชารียาถึงกับหนีไปอยู่กับเขาที่กรุงเทพฯ ทำงานที่ร้านขายซีดีแถวสีลมจนทำให้เธอเข้าใจเพลงคลาสสิคมากยิ่งขึ้น แม้ธนาจะไม่เห็นด้วยก็ตาม หรือแม้แต่ตอนชารียาไปเรียนภาษาฝรั่งเศส ธนาก็ไม่เห็นด้วยอีกเช่นกัน “ ‘สะเออะ ไปเรียนแม่งทำไมวะภาษาจักรวรรดินิยมนั่นน่ะ’ ” (หน้า 79) ธนาต่อว่าชารียาอย่างเจ็บแสบจนเกิดเป็นการโต้เถียงขึ้น แต่นี่ยังไม่ใช่จุดอิ่มตัวของความรักระหว่างคนทั้งสอง จนกระทั่งวันหนึ่ง “ธนาก็ทิ้งเธอไป เหลือเพียงจดหมายที่เขียนไว้แค่ไม่กี่คำข้างหลัง... ‘เธอขวางกั้นอุดมการณ์ฉันไว้จากมวลชน’ ” ความตลกร้ายที่ผู้เขียนทิ้งไว้ในตอน 8 คือชีวิตของธนาหลังจากนั้นที่ “มีมวลชนไพศาลเคียงข้าง วิ่งหลบกระสุนกับเขาไปตามถนนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ”, “ทำให้เขาโดนยิงเข้าที่ขาจนต้องเดินกะเผลกนับแต่นั้น” และ “กระทั่งถึงวันที่เขาละทิ้งมวลชนของเขาไปเป็นนักการเมืองฝั่งขวาจัดในอีกสิบปีให้หลัง และยังมีส่วนสนับสนุนการใช้กำลังเข้าปราบปรามมวลชนเสียเองในการเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งต่อมา” (หน้า 79-80) การที่ธนาไม่เคยพบรักบริสุทธิ์เหมือนที่ชารียามีให้เขาโดยปราศจากอุดมการณ์ เหมือนผู้เขียนจะบอกกับเราว่า อุดมการณ์อาจไม่มีอยู่จริง อุดมการณ์เกิดขึ้นอย่างรุ่งโรจน์ จนสามารถทำให้คนคนหนึ่งเลือกข้างมันและละทิ้งคนรักไป แต่ท้ายที่สุด อุดมการณ์ก็สามารถพลิกแพลงได้ด้วยเพราะผลประโยชน์ส่วนตน และแม้แต่คนที่เคยเชิดชูอุดมการณ์อย่างธนา ก็กลับหารักแท้อันปราศจากอุดมการณ์ไม่ได้อีกเลยตลอดชีวิต...เช่นที่ชารียาเคยมีให้เขา นี่เป็นส่วนหนึ่งของประเด็นทางการเมืองซึ่งผู้เขียนได้สอดแทรกเข้ามาราวกับซิมโฟนีอันเร่งรัดและถึงท่อนจบอย่างรวดเร็ว เพราะอาจเป็นไปได้ว่า เจตนาของผู้เขียนมิได้ต้องการเล่าประเด็นทางการเมืองอย่างโจ่งครึ่ม เพียงสอดแทรกลงไปในพื้นฐานของเรื่องรักน้ำเน่าเท่านั้น
หากต้องลำดับเวลาให้ถูกต้อง “ชานนท์ หนุ่มนักศึกษาที่ถูกสอนมาผิดๆ ว่าความรักและกามารมณ์เป็นคนละเรื่องกัน” (หน้า 108) คือรักครั้งต่อมาของชารียา เขาถือหนังสือภาษาฝรั่งเศสเข้ามาในร้านขายซีดีซึ่งชารียาทำงานอยู่ที่นั่นแล้วถามเกี่ยวกับบทเพลงของบราห์มส์ ลุ่มหลงในความรู้เรื่องดนตรีคลาสสิกของเธอและเพียงไม่นานก็พรากจากเธอไป “เมื่อต้องมาพ่ายแพ้แก่ความปรารถนาไม่เป็นท่าในคืนความเหงารุมเร้า”, “ความรู้สึกผิดลึกซึ้งทำให้เขาไม่กล้ากลับไปพบชารียาอีก” (หน้า 110) เขาได้ทุนไปเรียนต่ออเมริกาและไม่เคยได้เจอชารียา หรือเมื่อกลับมาประเทศไทยก็ไม่อาจค้นพบร้านขายซีดีแบบเก่าได้อีกเลย
ต่อจากชานนท์เป็น “อองเดร เซฟหนุ่มที่ทำขนมเค้กได้งดงามรามกับประติมากรรม” (หน้า 110) ซึ่งชารียาเกือบหลงรักเขา และถ้าเป็นไปตามนั้น เธอจะ “แต่งงาน เป็นแม่ของลูกสี่คนให้เขา”, เห็นได้ชัดว่า เหตุการณ์ที่ว่าชารียาจะ “มีบั้นปลายอบอุ่นท่ามกลางลูกหลานกับเหลนรายล้อมรวมยี่สิบสองคน และตายลงตอนอายุเจ็ดสิบแปด” (หน้า 111) เป็นวิธีทำนายอนาคตในอีก “ซับพล็อต” หนึ่งของตัวละครได้อย่างแม่นยำ และมีส่วนผสมของกลิ่นงานสัจนิยมมหัศจรรย์อยู่ไม่มากก็น้อย ราวกับผู้เขียนเป็นพระเจ้าซึ่งสามารถกำหนดชะตาชีวิตและชี้เป็นชี้ตายตัวละครของตนได้เพียงปลายนิ้ว
ความสัมพันธ์ของชารียากับปราณเคยเป็นดั่งพี่กับน้อง เช่นเดียวกับชลิกา ผู้เขียนเรียกรวมลุงธนิตด้วยว่า “เด็กกำพร้าสี่คน” (หน้า 71) ที่นั่งรถบุโรทั่งเข้ากรุงเทพฯ ชมคอนเสิร์ต บัลเล่ต์ หรือหอศิลป์ แต่ที่ชารียาชอบที่สุดเห็นจะเป็นวัดสุทัศน์ “ชารียาชอบภาพเขียนฝาผนังที่วิหารวัดสุทัศน์มากกว่าที่อื่นใด”, “ยามบ่ายถ้าไม่มีใครอยู่ในวิหาร เธอก็จะนอนลงกับพื้น”, “และในชั่วขณะเล็กๆ อันแสนแปลกประหลาด ปราณก็จะมานอนลงข้างๆ อย่างเงียบๆ คนทั้งสองก็จะออกท่องไปด้วยกันในจักรวาลอันน่าตื่นใจที่คนอื่นมองไม่เห็น ฟังไม่ได้ยิน จักรวาลซึ่งโลดแล่นเสมือนจริงอยู่บนกำแพงแห่งนั้นชั่วกาล” (หน้า 71-72) เมื่อผ่านวัยเยาว์จนไปเติบโตกันต่างที่ต่างถิ่นในช่วงชีวิตอันกระจัดพลัดพราย ชารียาได้มาเจอปราณอีกครั้งที่ “บริดดิ้งฮาร์ต” ซึ่งเป็นบาร์ที่ปราณแสดงดนตรีอยู่ประจำ ความสนิทสนมที่ปราณมีให้ชารียานับแต่นั้นดูออกเด่นชัดว่าไม่ใช่พี่กับน้องอีกต่อไป ในทุกๆ ค่ำคืนที่บาร์แห่งนั้น “สุดท้ายเพื่อนๆ ก็ทิ้งชารียาไว้ให้เขาเดินไปส่งบ้านทุกครั้ง” (หน้า 81) หลังจากเธอทำซังกรียารสระรื่นอย่างกับงานวัดให้เขากิน “เมามายได้ที่ก็พากันตะโกนแข่งเสียงฝนสรรเสริญชีวิตด้วยวลีสุดท้ายของฟรีด้าที่ติดผนังกำแพง ‘ชีวิตจงเจริญ ชีวิตจงเจริญ ชีวิตจงเจริญ’ ” (หน้า 82) หลังจากนั้นทั้งสองยังไปลอยกระทงด้วยกัน และยังไปดูท้องฟ้าจำลองด้วยกันอีกด้วย ความสนิทสนมจึงก่อตัวขึ้นมาในช่วงเวลาของความเหว่ว้าและพร้อมที่ใครคนใดคนหนึ่งจะเติมเต็มซึ่งอีกคน จนในที่สุด ปราณและชารียาก็ได้ “ไปวัดสุทัศน์ด้วยกันแทนสองวันถัดมา นอนลงเงียบๆ เคียงกันในโบสถ์สงบร้าง” (หน้า 86) จนถูกพระชราหน้าตาท่าทางละม้ายคล้ายอาจารย์โยดาไล่เพราะนึกว่าเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และหรือขณะที่ตอนลิปสติกสีลิ้นจี่ของชารียาติดขอบแก้ว ปราณจิบแล้วยังให้รู้สึก“โหยไห้ลึกซึ้งที่เขาไม่เคยรู้ว่ามีอยู่ประดังประเด” (หน้า 90) แล้วนทีก็เข้ามาในวันที่ชารียาหลับตาเดินผ่านเขาไป และเขาก็เดินตามเธอจนมาถึงที่ร้าน
ผู้เขียนจงใจเปิดตัวนทีขึ้นมาก่อนในบทที่ 10 แล้วให้เขา “ลื่นไหลไถลจากเก้าอี้ล้มคว่ำ” โดยก่อนตาย “อีกไม่เพียงแค่ครึ่งวินาทีต่อจากนั้นเขาก็จะคิดถึงชารียา...แต่ไม่ทัน” (หน้า 100) ความตายของนทีไม่ได้สูญเปล่า หรือเกิดขึ้นโดยไร้เหตุผล เพราะฉากหลังของการตายอันแสนธรรมดาของชายคนหนึ่งกลับเป็น “หนึ่งในปฐมบทของเหตุการณ์รุนแรงเดือนพฤษภาคมปีสองพันห้าร้อยห้าสิบสาม”, หากสิ่งที่วีรพร นิติประภา กล่าวไว้ในบรรทัดจบของคำนำผู้เขียนได้ถูกต้องก็เห็นจะเป็นวลีที่ว่า “ในเรื่องเล่าของผืนแผ่นดินที่ครั้งหนึ่ง เมื่อนานมาแล้ว...เคยนุ่มนวลอ่อนโยนจนยากจะหาแผ่นดินใดในโลกเสมือนเสมอ” การตายของนทีอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับปรัชญาแบบอัตถิภาวนิยม (Existentialism) แต่อย่างใด แต่ทว่าความเหนือชั้นของการตายแบบอัตถิภาวนิยมนั้นกลับเกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง “ซึ่งหลังจากกองไฟพวกนั้นถูกดับและเหตุการณ์เลวร้ายสงบลงไม่กี่วันต่อมา เมืองทั้งเมืองก็ยังคงตกอยู่กลางหมอกไหม้ดำอันคลุมเครือเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในเวลานั้นไปอีกนานหลายปี” (หน้า 101)
วกกลับมาเข้าเรื่องของนที ชายหนุ่มที่ทำให้ชารียาจะเป็นจะตายกับความรักของเขา ที่ราวกับหลุดมาจากภาพยนตร์ร้าวรานสักเรื่อง นทีเป็นชายหนุ่มประเภท “ถึงไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นคนหล่อเหลาหรือมีอะไรสะดุดตาเป็นพิเศษ แต่นทีก็มีมาดสุขุมแบบพระเอกหนังรุ่นเก่า”, นทีเป็นเจ้าของร้านวีดิโอให้เช่า สมัยยังเด็กพ่อของเขาพาไปฝากไว้กับคนฉายหนัง จึงชอบเล่นบทบู๊หน้ากระจก แต่พอโตมากลับหลงใหลในบทรักบทโศก “บทชายหนุ่มถูกกีดกันความรัก คร่ำครวญหวนไห้ แต่ยังไว้ท่าเย่อหยิ่งอยู่ในทียามต้องพรากจากหญิงสาว” (หน้า 96) หรือกระทั่งบทหญิงสาวที่กำลังจะตายเขาก็เล่นได้เช่นกัน “ครั้งหนึ่งเขาเคยบอกผู้หญิงซึ่งคบกันมาสักระยะว่าจะไปทำข่าวความขัดแย้งในแอฟริกาใต้”, “เธอก็นั่งก้มหน้านิ่งไปชั่วครู่ ก่อนจะบอกเขาอย่างนุ่มนวลว่าอย่าเป็นห่วงเธอเลย เธอดูแลตัวเองได้และยินดีที่เขาได้ทำงานที่ตัวเองรัก” ปรากฎว่านทีไปดักดูเธอหลังเลิกงาน ซึ่งเมื่อเห็นว่าเธอใช้ชีวิตปกติ เขาก็ไม่ได้ต้องการเธออีกต่อไป เพราะ “เขาต้องการผู้หญิงที่จะกินไม่ได้นอนไม่หลับเพราะเขา เขาต้องการผู้หญิงที่จะคลุ้มคลั่งหวาดไหวว่าเขาจะได้รับบาดเจ็บตาย เขาต้องการผู้หญิงที่จะร้องไห้เป็นวรรคเป็นเวรเพราะกลัวว่าจะเสียเขาไป” (หน้า 99) โชคไม่ดีที่ผู้หญิงอย่างชารียามารักคนอย่างเขา และเป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับปราณที่รักชารียาได้มากกว่านที อีกทั้งยังช่วยชีวิตเธอขึ้นมาจากความตายถึงสองครั้ง (หรืออาจจะเป็นสามหรือสี่ครั้งก็เป็นได้)
ครั้งแรกตอนเธอตามหาอาณาจักรที่สาบสูญลงไปในน้ำทะเลท่ามกลางเสียงกรีดร้องของชลิกา และครั้งต่อมาตอนเธอกินไม่ได้นอนไม่หลับจนต้องกินยานอนหลับของลุงธนิตไปสามเม็ด จะเป็นใครได้อีกถ้าไม่ใช่ปราณซึ่งเป็นคนแบกร่างเธอไปโรงพยาบาล “ปราณยังคงนั่งบื้อใบ้ สมองของเขาไม่มีที่เหลือให้กับอะไรนอกจากความโกรธแค้นที่แผดกร้าวจนเจ็บร้าวไปทั้งอก เอาแต่มองเห็นตัวเองกำลังชกหน้าธนา ตะโกนเร่าไปในหัว เค้าเป็นของกู สัตว์ กูเป็นคนเอาตัวเค้าขึ้นมาจากแม่น้ำนั่น กูเป็นคนยื้อเค้ามาจากความตาย ใช่จะมาให้คนระยำอย่างมึงเป็นของเล่น”, โทสะอันพลุ่งพล่านของปราณที่แสดงออกมาให้ลุงธนิตและชลิกาซึ่งเป็นผู้ “เหยียดกำมือแน่นของเขาออกกุมไว้” (หน้า 105-106) รับรู้และเห็นได้อย่างชัดเจน ทำให้แน่ใจได้ว่า เขาเฝ้ามอง ห่วงไย หวงแหน และรักเธอเต็มตื้นหัวใจแล้ว
ขณะที่น้ำตาของพ่อกับแม่เริ่มต้นเดินทางมาถึงจุดสิ้นสุดลงในช่วงเวลาหนึ่ง น้ำตาของปราณ ชลิกา และชารียาก็เพิ่งจะเริ่มเดินทางต่อซ้ำ...ตามรอยเดิมของรักสามเส้าระหว่างผู้ชายผมยาวโดดเดี่ยวอ้างว้าง พี่สาวที่อ่านนิยายรักและตกหลุมรักหนุ่มนักเรียนนายร้อยที่เธอไม่เคยพูดด้วยสักคำ และน้องสาวที่เชื่อมั่นว่า ชีวิตทรยศเธอ
2. โลกเหวี่ยงให้ปราณยามไม่มีชารียาได้รู้จักกับภราดร “ที่อยู่บ้านหลังนั้นตามลำพังคนเดียว ไม่ยอมไปโรงเรียน และเหมือนกับเขา...ไม่มีแม่ มีแต่พ่อซึ่งเป็นนักดนตรีในบาร์ร็อกใต้ดินที่เบอร์ลินคอยส่งเงินมาให้ใช้” (หน้า 125) ชีวิตของปราณในวันที่ทุกหนทุกแห่งที่มีความทรงจำของชารียาอยู่ใกล้ๆ เสมอ ถูกทดแทนด้วยเพื่อนที่ชื่อภราดร เขาเข้าออกบ้านที่มีข้าวของเครื่องใช้แปลกตาและสัตว์เลี้ยงประหลาดด้วยตัวหนึ่ง “แต่ที่ดึงดูดใจปราณมากกว่าอื่นใดทั้งหมดที่นั่นก็คือแผ่นเสียง หรือเรียกให้ถูก...คลังแสงแผ่นเสียง ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่มีเหมือนกันกับบ้านของชารียา”, “มีบางอย่างเพิ่มเข้ามาจากบทเพลงที่ชารียาทิ้งไว้ไม่ไยดีข้างหลัง เสียงกีตาร์หวีดลากโหยหวน กลองหวดกระทั้นดุดัน เบสทึบตื้อหนักแน่นแหบพร่า” โดยทั้งหมดที่เกิดเป็นความหลงใหลใหม่ของปราณมีแรงผลักดันมาจาก “สรรพสำเนียงที่ไม่เคยแผดตะเบ็งผ่านเพลงคลาสสิกของชารียา” (หน้า 126) อยู่ๆ โลกของปราณก็กลายเป็นโลกดนตรีร็อก เมื่ออาภัทรกลับมาจากเบอร์ลิน“อาภัทรค่อยๆ เข้ามาแทนที่ลุงธนิตอย่างช้าๆ” (หน้า 127) ผู้สอนให้ปราณรู้จักศักดิ์ศรีความเป็นคนไม่ยอมคน ภราดรยังให้ปราณยืมเสื้อผ้าใส่ขณะไปเดินที่ถนนข้าวสารและเขินอายกับสายตาของสาวๆ ที่มองมายังเขา “นอกจากหัดเล่นกีตาร์ยังหัดโดดเรียน พร้อมกับริสูบบุหรี่ กินเหล้า ดูดกัญชาบางครั้ง แต่ก็ยังกระปลกกระเปลี้ยจนจบ ม.ปลายมาจนได้” (หน้า 128)
ในบทที่ 14 : นางรำแห่งสายฝน ในอดีตที่ดินแห่งนั้นเคยมีคาเฟ่รสรินเปิดอยู่ ก่อนที่ร้านจะปิดตัวลงเพราะเจ้าของร้านเป็นบ้าพูดคนเดียว หากแต่ว่าคนที่เธอพูดด้วยนั้นกลับเป็นตัวละครสำคัญในนิยายเรื่องนี้ นั่นก็คือครูพจน์ พ่อของชารียาและชลิกานั่นเอง พ่อซึ่งรักกับนางรำ นอกใจแม่ และทำให้แม่จมปลักอยู่กับห้วงความทุกข์ความหวงแหนกระทั่งพ่อตายไปแล้ว...แม่ก็ยังไม่อาจผุดขึ้นมาจากการจองจำดังกล่าวได้ เรื่องราวมันเป็นอย่างนี้ “ตอนอายุสิบเก้า รสรินได้รับเลือกเป็นตัวแทนไปรำในงานเลี้ยงต้อนรับคณะครูคณิตศาสตร์ระดับชาติ และได้รู้จักกับครูทศพ่อของชารียา”, ต่อมาจึงกลายเป็นชู้รักกัน พ่อเขียนจดหมายถึงเธอเป็นปี แล้วเมื่อตำแหน่งครูสอนรำที่โรงเรียนว่างลง เขาจึงให้รสรินมาทำงานสอนที่นครชัยศรี “และสัญญาด้วยกุหลาบหนึ่งดอกทุกวันว่าจะหย่าเมียมาแต่งงานกับเธอ” (หน้า 139)
แม่ของรสรินถึงกับตัดแม่ตัดลูกทันทีเมื่อรู้ว่าเธอคบกับคนมีลูกมีเมียแล้ว จนเมียของครูพจน์จับได้และขู่จะฆ่าตัวตาย “ ‘...แล้วลูกสองคนก็ต้องไปอยู่กับฉันด้วย’ ” (หน้า 16) ทุกอย่างก็กลับมาตาลปัตรไปทั้งหมดทั้งสิ้น สามปีต่อมา เขาก็กลับมาขอให้เธอรอ รสรินรอเขาอยู่นานหกปี ทุกสองสามวันจะมีจดหมายจากเขาส่งมาให้อ่านเป็นเครื่องปลอบใจ แล้วครูพจน์ก็ห่างหาย ก่อนจะกลับมาอีกครั้งในสภาพของคนป่วย ร่วมรักกับเธอทั้งที่มีกลิ่นคละคลุ้งของยาและความอาลัยอาวรณ์ จนเธอต้องลุกหนีและกล่าวคำรำพัน “หันกลับไปอีกทีก็พบว่าเขาตายแล้ว...เปลือยเปล่า”, ที่น่าเศร้ากว่านั้น “หากไม่ลุกขึ้นมา ปล่อยทุกอย่างดำเนินไป เขาก็คงสิ้นใจขณะกำลังร่วมรักกับเธอนั่นเอง” (หน้า 140) “รสรินอยู่ต่อมาลำพังนับแต่นั้น”, เพราะแม่ที่ตัดขาดกับเธอได้จากไปแล้ว “แม้จะเป็นคนเก็บตัวไม่ค่อยสุงสิงหรือค่อยพูดจาอะไรกับใครเท่าไหร่ แต่ครั้นพออายุได้สามสิบแปดรสรินก็เริ่มพูดตลอดเวลา...กับตัวเอง”, ที่ซ้ำร้ายกว่านั้น สำหรับชะตาชีวิตของรสรินเมื่ออายุสี่สิบก็กลายเป็นคนวิกลจริตโดยแท้จริง เพราะเธอเริ่มพูดกับพ่อของชารียาที่ตายไปแล้ว ทั้งก่นด่า โอดครวญ ร่ำไห้ร่ำหา “ ‘ไหน...ไหนบอกว่าจะกลับมาอยู่กับฉันไง มึงตายห่าทำไม ฮ้า’ ” (หน้า 141)
แท้จริงแล้วรสรินคือ “ตัวแปรหลัก” ในเรื่องเล่าของนิยายเรื่องนี้เลยก็ว่าได้ เพราะเธอคือปัจจัยที่ทำให้ชารียาและชลิกาต้องกลายเป็นเด็กกำพร้าทั้งพ่อและแม่ หากเธอกลับถูกสร้างขึ้นอย่างคลุมเครือ...แตกต่างจากตัวร้ายหรือตัวอิจฉาในนิยายรักน้ำเน่าเรื่องอื่นๆ ชารียาบังเอิญพบรสรินเพียงครั้งเดียว “บนรถประจำทาง...นานหลังจากนั้น”, บังเอิญเจอและไม่รู้ว่าเธอคืออดีตชู้รักของพ่อ ผู้ที่ทำให้ทั้งพ่อและแม่ต้องตรอมใจตายทั้งคู่ในเวลาถัดกันเมื่อน้ำตาเริ่มต้นเดินทางนั่นแหละ
ชารียาเจอเธอขณะ “กำลังรำฟ้อนอ่อนวาดในพราวระยิบของสายฝนบนเกาะกลางถนนและยังตะโกนพูดกับคนตายแล้วไปตามทาง” และ “เธอก็ยังได้แค่มองรสรินอย่างชื่นชมกับส่งยิ้มให้ในเสี้ยววินาทีที่สบตา” อีกด้วย ทว่าเรื่องราวของรสรินไม่ได้จบลงเพียงเท่านี้-- ยังถูกต่อเติมอย่างมีสีสันจัดจ้านแบบสัจนิยมมหัศจรรย์ในโลกตะวันออกต่อจากนี้โดยผู้อื่น...ผู้คนในผืนแผ่นดินที่มีความเชื่อและศรัทธาอันฟุ้งเพ้อ
เราต้องย้อนกลับมาเล่าถึงนทีอีกครั้ง “หลังคบหากันได้เพียงเดือนเดียว นทีก็บอกชารียาว่าเขาต้องไปทำข่าวที่ซาราเจโว แค่ไม่กี่วันหลังเกิดการสังหารหมู่อย่างโหดเหี้ยมในกลางเมือง” (หน้า 152) เป็นไปตามสูตรที่ชารียาจะห้ามไม่ให้เขาไป แต่ในที่สุดแล้วเขาก็ยืนยันจะไป เธอปล่อยโฮ เอาแต่ร้องไห้ นทีสัญญาจะโทร.หาเธอทุกวัน ทั้งๆ ที่ไม่ได้ไปไหนทั้งนั้น แม้จะเป็นทุกข์ที่ไม่ได้พบเธอ แต่ก็แอบมองดูเธอเศร้าระหว่างทำงาน กินก๋วยเตี๋ยวหลังเลิกงาน ข้าพเจ้าตั้งคำถามอยู่หลายครั้งว่า ในโลกนี้มีคนอย่างเช่นนทีจริงๆ หรือ? และพบคำตอบว่า มี มันมีคนซึ่งมีลักษณะ “บรรเจิดเพริศแพร้วเช่นนั้น”, “คลั่งไคล้ไหลหลงในแบบฉบับโรมิโอกับจูเลียต มีบทสนทนาประจำวันละเลียดหวานเหมือนบทหนังฮอลลีวูด มีคลาสสิกยุคโรแมนติกดังในหัวเป็นเพลงประกอบ”, แต่เราก็ต้องมาตั้งคำถามซ้อนคำถามเดิม โลกนี้มีคนอย่างชารียาจริงหรือ? “ลูกสาวที่แม้แต่แม่แท้ๆ ยังไม่รัก เฝ้านับญาติเอากับฝูงสัตว์กับต้นไม้ ป่วยไข้เรื้อรังด้วยเดียวดาย มิหนำซ้ำยังมีชีวิตอยู่มาแต่ในตู้ปลา” (หน้า 154) ผู้หญิงอย่างชารียาจึงรักผู้ชายอย่างนทีเต็มดวงใจ ขณะนทีก็เล่นหลอกเอากับความรักอันบริสุทธิ์ของเธอเหมือนเป็นของเล่นอันน่าพิศวง ยามไปเที่ยวภูเขานทีมักหลบออกจากเต๊นท์ ปล่อยให้ชารียากระวนกระวายตามหา แล้วโผล่ออกมาว่าเขายังอยู่ เขาไม่เป็นอะไร
กระทั่งนทีสารภาพกับชารียาว่าเขามีพิมผกาอยู่ก่อนแล้ว “ความอ่อนหวานของชั่วขณะระเบิดเป็นผุยผงไปในทันที”, เธอกลายเป็นคน “คลุ้มคลั่ง อาละวาด ซึมเซา ไม่กินข้าวกินปลา ขว้างปาข้าวของ” และ “ยังคิดวิธีฆ่าตัวตายเอาไว้ในหัวได้ถึงหกสิบสองวิธีในเวลาไม่กี่ชั่วโมง” (หน้า 158) ไม่น่าแปลกที่ในบทที่ 18 ปราณจะสอยนทีเข้าที่หน้าจนร่วง ขณะชารียาโถมตัวเข้าปกป้องด้วยการชกปราณเข้าที่ปากและกดอกเขาไว้ไม่ให้ทำร้ายนทีซ้ำ
ความรู้สึกของปราณนั้น “เจ็บปวดระคนงงงัน...บางอย่างอ่อนแอลงข้างในเขา เขาเคยเผชิญโลกมาด้วยตัวเองเพียงลำพัง เดียวดาย กระพร่องกระแพร่ง ร้างแล้งแค่ไหนเขาก็อยู่ของเขามาได้ มาบัดนี้เขาไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเขาหวัง หรือกระทั่งหวังว่าอะไร ถึงต้องมาหมดหวังลงอย่างนี้ แล้วยังความรู้สึกโกรธ รู้สึกเหมือนถูกทรยศ รู้สึกเหมือนไม่มีที่ไป” (หน้า 174-175) แต่กลับเป็นชลิกาที่เดินมานั่งลงข้างๆ เขา เอาผ้าชุบน้ำอุ่นประคบให้ โอบไหล่เขา แผ่วเบา ราวกระซิบ จนกาลเวลาหยุดนิ่งลง ซึ่งเป็นสองถึงสามครั้งแล้วที่เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ “กาลเวลาหยุดนิ่งลง”
และแล้ววันนั้นก็เดินทางมาถึง การเดินทางของน้ำตาอีกคำรบ เมื่อปราณล่วงล้ำเข้าไปในเลือดเนื้อเดียวกันกับชารียา...แต่เป็นชลิกา ความสัมพันธ์ที่ดำเนินต่อเนื่อง ด้วยรสขนมหวานฝีมือชลิกานั้น มาถึงจุดอิ่มตัวเมื่อเธอบอกความปรารถนากับปราณว่า อยากมีลูกกับเขา รักสามเส้าเริ่มเดินทางเมื่อวันหนึ่งขณะชารียาพ่ายแพ้ให้กับความรักทั้งมวลบนโลกใบนี้และพูดซ้ำๆ ว่า “ชีวิตทรยศฉัน” ทั้งเธอและเขาได้ร่วมรักกันโดยไม่ชารียาไม่ยอมให้พี่สาวรู้ จนกระทั่งปารณกลับตระหนักได้ว่าทำไมเขาไม่เคยรักผู้หญิงคนอื่นได้เลย... นี่มันเกินนิยายรักน้ำเน่าฉบับมาตรฐานเรื่องหนึ่งแล้ว
3. สัจนิยม (Realism) อันเป็นสัจธรรมของลุงธนิตและอาภัทร - “แหละในวันที่เดินผ่านร้านขายของเก่าซอมซ่อร้านนั้น ลุงธนิตก็ไม่ได้รู้เลยว่าชะตากรรมได้ถูกกำหนดไว้หมดแล้ว ให้เขาต้องหันไปในวินาทีที่เจ้าของร้านคลี่ผ้าไหมโบราณผืนนั้นลงบนโต๊ะ” และ “ลุงธนิตก็ติดกับเสน่ห์อันยากจะถ่ายถอนของผ้าโบราณไปในทันที และความหลงใหลอันยากจะเข้าได้นั่นก็ยังนำเขาไปสู่การเดินทางไกลอีกนับครั้งไม่ถ้วนในเวลาต่อมา แต่นั่นยังอีกนาน” (หน้า 75) คำว่า “อีกนาน” ของผู้เขียนนั้นหมายความว่าเนิ่นนานเพียงใด เราจะได้ล่วงรู้ความสมบูรณ์ของเรื่องเล่าไปพร้อมกันในบทต่อไป หรือบทต่อๆ ไปอีก หรืออาจจะเป็นบทจบเลยก็เป็นได้ ไม่อาจหยั่งรู้ ความสามารถในการเล่าเรื่องราวอันปะติดปะต่อภาพสถานการณ์ (Situation) อันกระจัดกระจายราวกับลมหายใจห้วงเดียวเช่นนี้ ทำให้บางวรรคตอนในนิยายของวีรพร นิติประภา สามารถลื่นไหลได้เทียบเท่าบางเรื่องสั้นของอลิซ มุนโร (Alice Munro) ผู้เขียนได้บรรยายการเดินทางของลุงธนิตข้ามน้ำข้ามทะเลไปหลากหลายดินแดนเพื่อค้นหาผืนผ้าที่ดีที่สุด จนไปประจวบเหมาะในบทที่ 19 “ขณะกำลังเดินอยู่บนถนนคดเคี้ยวเส้นเล็กๆ กลางหมู่บ้านเงียบสงบแห่งหนึ่งในชิงไห่บ่ายวันนั้น ลุงธนิตไม่ได้รู้เลยว่าผ้าผืนต่อไปที่เขาจะได้ครอบครองจะเป็นผ้าผืนสุดท้าย” (หน้า 176) วิธีเล่าของวีรพร นิติประภา เต็มไปด้วยกลเกมซึ่งชวนผู้อ่านคาดเดาและวิ่งไล่ตามจับ จนกว่าจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายที่สมบูรณ์แบบที่สุดจะถูกค้นพบและประกอบเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับภาพเนรมิต “หลังจากผ่านสองวันเดินเท้า ลุงธนิตก็มองเห็นวัดเก่าแก่แห่งนั้นชะโงกยื่นออกมาจากซอกผาสูงที่ปกคลุมด้วยหมอก”, ผืนผ้าผืนสุดท้ายที่ลุงธนิตได้ครอบครอง “ไม่ใช่ผ้าขตะทำนายวันสิ้นโลกที่พาเขาดั้นด้นมาสู่ดินแดนแห่งทะเลสาบทั้งสิบสามนี้ตั้งแต่ต้น หากแต่เป็นผ้ากาสาวพัสตร์สีแดงเลือดนก ซึ่งเขาครองห่มทับบนลายแทงแห่งสุญญตาที่คงคล้องแนบหัวใจเขาไม่เคยถอดตลอดชีวิต” (หน้า 184)
เราจะย้อนกลับไปยังอีกห้วงลมหายในหนึ่งซึ่งผู้เขียนได้รวยรดเอาไว้ตามรายทางก่อนจะเดินมาถึงจุดนี้ นั่นคือชะตากรรมของอาภัทร และภราดร ผู้ซึ่งปราณนับถือไว้ให้เป็นพี่ชาย “ตีสี่สี่สิบแปด คนทั้งละแวกถูกปลุกตื่นด้วยเสียงร้อง ก้องดังโหยหวนเหมือนเสียงของสัตว์อะไรสักอย่างกำลังโกรธ ไม่ก็เจ็บปวดหนัก แผดดังเป็นพักๆ ท่ามกลางสายฝน”, “ ‘ฮือฮือ ปราณ กู ฮือฮือ กูผิดเองปราณ กู กูเป็นคนทำ’ ” (หน้า 143) “ ‘ปราณ กูฆ่าลูกกู’ ”, “ดวงตาของภราดรยังคงลืม เศร้าสร้อย ลอยคว้าง เจิ่งนอง กลางฝนกระหน่ำ” (หน้า 144) และหลังจากนั้นก็ยิ่งตอกย้ำความโดดเดี่ยวของปราณ การเป็นเด็กกำพร้าซ้ำๆ ซากๆ ที่เมื่อรักใครอย่างพี่ชายอย่างอาหรืออย่างเครือญาติทางความรู้สึก ก็จำต้องพลัดพรากจากลากันทุกครั้งซ้ำไป “อาภัทรไม่ได้กลับไปเบอร์ลิน ไม่ได้อยู่มีส่วนร่วมในวันที่กำแพงยักษ์ถูกทุบทำลายลงไปปีถัดมาอย่างที่เคยหมายหมั่น เขาบอกคืนบ้าน ยกข้าวของทั้งหมดให้ปราณ หั่นผมที่เคยยาวสยายยามโบกบินในแสงไฟนั่นทิ้ง และออกเดินทางครั้งสุดท้ายเพื่อไปบวชในวัดป่าเล็กๆ ที่บ้านเกิดของเขาในจังหวัดแพร่”
สัจนิยมมหัศจรรย์ (Magical Realism) ในแบบตะวันออกของรสริน หลังจากเป็นบ้าเป็นป่วงไปแล้ว รสรินก็คงเหลืออยู่แค่ชื่อที่ติดป้าย “เขียนเอาไว้ว่าคาเฟ่รสริน” (หน้า 134) ป้ายนั้นถูกพายุพัดแล้วถูกรื้อทิ้งถังขยะ ก่อนพวกหนุ่มๆมอเตอร์ไซค์รับจ้างจะลากมันมาทำเป็นม้านั่งและพนักพิง ตัดคำว่าคาเฟ่ทิ้ง จนถูกเรียกว่า “วินรสริน” ทว่าวินที่ว่าก็ย้ายออกไปอยู่ปากซอยใหม่ ประวัติของเธอเหมือนจะถูกลืมเลือนไปแล้ว แต่ทางเขตกลับเอาป้ายชื่อซอยเป็นแผ่นเล็กมาติดว่า “ซอยรสริน” เสียอย่างนั้น จนหญิงท้องแปดเดือนในซอยเกิดพลัดตกกระไดตาย พร้อมกับในหน้าหนังสือพิมพ์มีข่าวหญิงท้องแก่อีกคนผูกคอตายประชดสามีที่ทอดทิ้งตนไปที่ต้นอะไรสักต้น กลางซอยอะไรสักซอย รสรินจึงถูกเชื่อมโยงไปในข่าวทั้งสองข่าวนี้อย่างกลมกลืน “ทางการจึงเอาชื่อเธอมาตั้งเพื่อเป็นอนุสรณ์ของความยึดมั่นในรัก”, ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าไม่นานจากนั้นก็มีคนมากราบไหว้ ตั้งศาล บูชาเจ้าแม่รสรินกันเต็มไปหมด “เมื่อหญิงสาวเผอิญสมหวังในความรักอีกคนมาแก้บนด้วยการเอาศาลเพียงตามาปักไว้โดยพลการ” (หน้า 136) จากนั้นจึงมีตู้บริจาคตามมา เปิดศาลได้ไม่กี่วัน ก็มีรายการโทรทัศน์มาถ่ายทำตำนานรักร้าวเจ้าแม่รสรินไปออกอากาศจนโด่งดังไปทั่ว ด้วยเพราะจริงๆ จะทำรายการเปิดใจนักร้องที่นัดไว้แต่ดันมายางแตกปากซอยเสียก่อน
สภาวะล่องลอยอันเป็นกระแสสำนึก (Stream of Consciousness) ของชลิกา นับตั้งแต่ปราณหนีไปจากชีวิตของเธอ ชลิกาจมดิ่งอยู่ใต้ต้นพิกุลไม่ต่างจากแม่ของเธอครั้งเมื่อสูญเสียพ่อไปในคราวอดีตที่ดูเสมือนเนิ่นนาน “ชลิกาปิดร้าน ไม่ทำขนม ไม่อ่านนิยาย ไม่ออกจากบ้านไปไหน ไม่พูดกับใคร ไม่เอ่ยถึงปราณหรือชารียา ไม่ทำอะไรเลยนอกจากนอนหลับทั้งวันในตอนกลางวัน ตื่นเดินทั้งคืนในความมืด มีมือยื่นออกไปข้างหน้าเหมือนไขว่คว้าเพรียกหา มะงุมมะงาหรากลับไปกลับมาในท่ามกลางฝูงเงาที่ยืนเงียบงันอยู่ตามซอกหลืบต่างๆ ของบ้าน และอยู่มาวันหนึ่งเธอก็เที่ยวบอกใครต่อใครว่าเธอมีลูก...เด็กชายน่ารักน่าเอ็นดูอายุเจ็ดขวบซึ่งจะมาหาและเล่นกับเธอในตอนกลางคืน” กระทั่งเนื้อหาดำเนินมาถึงบท 27 ซึ่งเป็นบทจบ สภาวะกึ่งจริงกึ่งนิมิตที่เกิดขึ้นกับชลิกาก็ยังคงทำงานต่อเนื่อง “ชารียาลุกเดินไปที่หน้าต่าง เบื้องล่าง อรุณจะรุ่งเห็นเป็นสีน้ำเงินฟุ้งๆ และในขมุกขมัวสลัวรางนั่นเธอเห็นชลิกานั่งอยู่ ใต้ต้นพิกุลเก่าแก่ของแม่...มีเด็กคนหนึ่งขดคู้บนตัก” (หน้า 247) อาจตีความได้ว่า นอกจากสติของชลิกาจะวิปลาสไปแล้ว ดวงตาของชารียาก็ยังพร่าเลือนและเห็นพร้องต้องกันไปกับความวิปลาสของพี่สาว ซึ่งบางครั้งบางทีก็แยกไม่ออกว่าใครบ้าใครไม่บ้า หรืออาจจะเป็นสภาวะการเกิดและมองเห็นที่ผลึกอยู่ข้างในก็เป็นได้
อัตถิภาวนิยม (Existentialism) ว่าด้วยความตายของปราณและการหายสาบสูญของชารียา เมื่อชารียาบอกให้ปราณไป ปราณก็จากไป “เธอกระซิบขึ้น แผ่วเบา... ‘ลืมฉันเสียเถอะ’ ” (หน้า 214) แล้วเธอจึงฟื้นขึ้นมาจากความตายที่ห่างออกไปจากตัวไม่ถึงคืบ เมื่อคายเม็ดยาเหล่านั้นออกมาจนหมดแล้วพบกับการหายสาบสูญชั่วนิรันดร์จากห้วงชีวิตตนของนที ไม่มีอะไรหลงเหลืออีก หลงเหลือเพียงแค่ปราณ เธอจึงออกตามหาปราณ และนี่น่าจะเป็นฉาก/เหตุการณ์อันน่าจะตรงกับคำว่า “นิยายน้ำเน่า” มากที่สุด “จนค่ำชารียาจึงเข้าไปตามหาปราณที่บรีดดิ้งฮาร์ต เพื่อนในวงบอกว่าเขาแวะมาเมื่อหลายวันก่อน เขียนข้อความสั้นๆ บอกว่า จะไม่กลับมาอีก” (หน้า 224) เธอใช้ความลุ่มหลงแบบเดียวกับแม่ เก็บของออกเดินทางตามหาปราณ โดยไม่ล่ำลาชลิกา แม่มดทั้งสาม และใครทั้งสิ้น “ซึ่งเป็นดังนั้น... หลายครั้งทั้งคู่จะนั่งอยู่บนรถไฟที่วิ่งสวนทาง”, “หลายครั้งเธอจะเข้าไปถามหาเขาตามบาร์หรือร้านอาหารบางแห่งแล้วได้คำตอบว่านักดนตรีที่ไม่พูดไม่จาไม่มีที่มาที่ไปคนนั้นเพิ่งลาออกตอนเช้าไม่ก็ในวันก่อนหน้า” (หน้า 229) “ในวันที่โลกกำลังเฉลิมฉลองการมาถึงของสหัสวรรษใหม่ในปีสองพัน ชารียาก็เข้าพักในเกสต์เฮาส์เล็กๆ แห่งหนึ่งซึ่งปราณกำลังนอนหลับฝันถึงหญิงสาวที่มีรอยร้าวในดวงตาอยู่ในห้องข้างๆ” (หน้า 230)
ในที่สุดโชคชะตาก็ไม่นำพาให้คนทั้งสองมาเป็นคู่ ชารียากลับบ้านและพบกับสภาวะเพ้อพกของพี่สาว เธอเริ่มต้นปลูกต้นไม้ ทำสวน แล้วหายไปในสวนชั่วนิรันดร์ ขณะปราณสามารถลืมเธอได้สำเร็จ “ในวันที่หนึ่งเก้าร้อยหกสิบสามหลังออกเดินทาง” (หน้า 238) และก็เช่นเคย เสมือนการเกริ่นเล่าเช่นนี้เป็นเรื่องคุ้ยเคยสำหรับข้าพเจ้าไปแล้ว-- เมื่อลางร้ายจะมาเยือนพร้อมกับโศกนาฏกรรมอุบัติซ้ำ “ขณะเดินอยู่กลางหุบเขาอันเงียบสงบของเชียงรายเช้าวันนั้น ปราณไม่ได้รู้เลยว่าการเดินทางที่เพิ่งเริ่มต้นอีกครั้งนี้จะเป็นการเดินทางครั้งสุดท้าย” เช่นเดียวกับการ “เลือกที่จะหายไป” ของชารียา เมื่อพี่นวลซึ่งเป็นตัวละครสุดท้ายที่ได้ปรากฏตัวในนิยายเรื่องนี้ “เรียกลูกชายสามคนมาช่วยกันโค่นประดู่แดงต้นใหญ่ลง” (หน้า 241) เพื่อเปิดช่องเข้าไปค้นหาชารียาข้างในสวนแห่งชีวิต กลับไม่พบอะไรเลย “นอกจากไส้เดือนตาบอด ตัวแล้วตัวเล่า...ที่หลงทางอยู่กลางเขาวงกตที่มันขุดเอาไว้เอง” (หน้า 252)
สัจนิยมอันแสนมหัศจรรย์กับการทวนกระแสสำนึกพื้นถิ่นไม่รู้จบของภู กระดาษ
โดย ชุติเดช ยารังษี
1. “การยืนยันอีกครั้งหนึ่งของสาวแม่ฮ้างแห่งหมู่บ้านตาเอกทะไม” เป็นหนึ่งในรวมเรื่องสั้น “ดั่งเรือนร่างไร้องคาพยพ” ของภู กระดาษ ซึ่งประกอบไปด้วยเรื่องสั้นทั้งหมดจำนวน 11 เรื่อง ตีพิมพ์ครั้งแรกธันวาคม ปี 2558 และเข้ารอบ 8 เล่มสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2560 ก่อนการเดินทางอันยาวไกล “การยืนยันอีกครั้งหนึ่งฯ” ยังเคยได้รับรางวัลชนะเลิศพานแว่นฟ้า ครั้งที่ 12 ประจำปี 2556 “เรื่องสั้นเรื่องนี้ใช้ฉากเหตุการณ์และสถานการณ์เชิงอลหม่านในหมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่ง เพื่อจำลองภาพให้ผู้อ่านมองเห็นและเกิดจินตนาการเทียบเคียงไปกับสิ่งที่กำลังอุบัติขึ้นในระดับประเทศ” (ถ้อยความหนึ่งของ– ถ้อยแถลงจากประธานอนุกรรมการคัดเลือกเรื่องสั้นรางวัลพานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภา ปีที่ 12 โดย นายวชิระ บัวสนธ์) ผู้เขียนได้ออกแบบตัวละครที่หลากหลาย มีชีวิต มีหัวใจ มีความเชื่อ มีอุดมการณ์-อุดมคติ อันแตกต่างกันสองขั้วอำนาจ คืออำนาจเก่าและอำนาจใหม่ ตัวแทนของกลุ่มอำนาจเก่าคือตัวละครอย่างพ่อใหญ่เฮือง บักเสริม บักนาด บักต้อม และเจ้าคุณลิดผีบรรพบุรุษประจำหมู่บ้าน ส่วนตัวแทนของกลุ่มอำนาจใหม่นั้น คือตัวละครอย่างเอื้อยสี และบักป๋อง โดยทั้งสองขั้วอำนาจได้ขับสู้กันอย่างเข้มข้น และทั้งหมดถูกเชื่อมโยงโดยตัวละครหลักคือ “อีน้อย” ซึ่งเป็นสาวแม่ฮ้างในเรื่องสั้นเรื่องนี้นั่นเอง
เรื่องสั้นชื่อยาวชิ้นนี้ของภู กระดาษ เสมือนลมหายใจห้วงเดียวที่ปะติดปะต่อเหตุการณ์ต่างๆ โดยไม่ลำดับเวลา ไม่มีการตัดบทแล้วสลับเหตุการณ์กลับไปยังอดีต หรือขึ้นฉาก/เหตุการณ์ใหม่อันต่อเนื่อง หากแต่เป็นกระแสสำนึกของผู้เล่าซึ่งไม่ต่างจากพ่อมดผู้ร่ายมนตร์ ข้าพเจ้าอ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้ซ้ำกว่า 10 รอบ แล้วนึกเทียบเคียงไปถึงวิธีการจับวางเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผู้เขียนเล่าราวม้วนอดีต ปัจจุบัน และอนาคตไว้ฟิล์มเดียวกันระดับนวนิยาย “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” (One Hundred Years of Solitude by Gabriel García Márquez) และความประณีตทางจินตภาษาและลักษณะการเล่าเรื่องจากภายใน ทำให้กระแสสำนึก (Stream of consciousness) ของภู กระดาษ อาจลื่นไหลได้ใกล้เคียงงานของเวอร์จิเนีย วูล์ฟ (Virginia Woolf) เพราะเหตุนี้ นักเขียนรุ่นใหม่ที่อ่านงานของนักเขียนรุ่นเก่ามามาก และรู้จักลักจดลักจำ นำมาปรับใช้ นำมาขยี้ ขยาย และเขย่า ย่อมได้เปรียบในข้อนี้
แม้ว่าจะเป็นเพียงเรื่องสั้น ทว่าการโหมโรงของตัวละครและเหตุการณ์อันอลหม่านนั้นสามารถขยายขอบเขตให้ไปไกลเทียบเท่านวนิยายได้ไม่ยาก อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้ายังยืนยันว่าขอให้งานชิ้นนี้เป็นเรื่องสั้นแบบนี้ตลอดไป เพราะด้วย “สาร” ที่ผู้เขียนต้องการ “สื่อ” (หรือไม่ต้องการสื่ออะไรเลยก็ตาม) เหมาะยิ่งต่อการตีความที่หลากหลาย เรื่องราวในเรื่องสั้นเริ่มมาจาก “อีน้อย” ซึ่งเป็นสาวแม่ฮ้างผู้มีลูกติด เคยมีสามีชื่อ “บักนาด” และสามีของเธอได้กลายเป็นบ้าไปแล้ว เธอจึงตัดสินใจย้ายไปอยู่บ้านแม่ ก่อนจะย้ายไปใช้ชีวิตวาระสุดท้ายยังบริเวณเนินดินนอกหมู่บ้าน คือบ้านบักต้อม ซึ่งเป็นสามีใหม่ที่อายุห่างกันกว่าสิบห้าปี ขณะเดียวกันเธอก็คบซ้อน คือคบซ้อนมาก่อนแล้วกับบักธงตั้งแต่บักนาดสามีเธอยังไม่เป็นบ้า
ที่น่าจะเป็นสถานการณ์หลัก ก็คือการถกเถียงกันระหว่าง “บักต้อม” และ “บักป๋อง” ณ งานศพของหลวงพ่อเจ้าอาวาสในวัดประจำชุมชน ฝ่ายบักต้อม ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ใหญ่เฮือง บักเสริม บักนาด ได้ปะทะกับบักป๋อง อย่างดุเดือด ว่าด้วยเรื่องที่พวกบักต้อมจะจัดการกับ “เอื้อยสี” ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจจัดงานศพแบบครบวงจร หลังจากมีคนตายถึงห้าศพติดต่อกัน ว่ากันว่าศพตายที่ตายนั้น ล้วนตายหลังจากคนในหมู่บ้านได้เห็นสุนัขดำดวงตาขนาดกระสุนส่องแสง ซึ่งเชื่อกันว่ามันคือปอบ และปอบตนนั้นคือพ่อของเอื้อยสีซึ่งตายไปหลายปีแล้ว นอกจากเอื้อยสีจะประกอบอาชีพจัดการงานศพ หล่อนยังเป็นผู้ใหญ่บ้านคนใหม่ มีนาเช่า สวนยางพารา และขับรถจักรยานยนต์รับจ้างอีกด้วย ก่อนถกเถียงกันว่าจะ “จัดการ” กับเอื้อยสีอย่างไร บักต้อมยังได้ไปกราบไหว้เจ้าคุณลิดเพื่อขอคำ “ยืนยัน” และการปรากฏตัวของเจ้าคุณลิดที่ศาลปู่ตาก็ “ยืนยัน” กับบักต้อมเช่นนั้น
“จะจัดการเด็ดขาดอย่างไรหรือพ่อใหญ่ ไล่ออกจากหมู่บ้านหรือฆ่าทิ้ง หรืออะไร?” คนหนุ่มอีกคนถาม
“อะไรก็ได้ทั้งนั้น หมู่เฮาต้องจัดการ” บักต้อมสวนขึ้นมา
“มันบ่ง่ายขนาดนั้นน่ะสิ มันยุคสมัยไหนแล้ว” คนหนุ่มคนหนึ่งว่าออกมาบ้าง (หน้า 111, ภาคสอง : ใน-ระหว่าง, เรื่องสั้น “การยืนอีกครั้งหนึ่งฯ”, หนังสือ “ดั่งเรือนร่างไร้องคาพยพ.)
ในที่สุดบทสนทนาเหล่านี้ก็นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่าง “บักต้อม” และ “บักป๋อง” ทันทีที่บักป๋อง กล่าวว่า อาจจะเป็นเรื่องบังเอิญที่มีคนตายติดๆ กัน อีกอย่างหมอก็วินิจฉัยมาแล้วว่าหลวงพ่อเจ้าอาวาสมรณภาพเพราะเส้นเลือดในสมองแตก บักต้อมก็สวนขึ้นมาว่า
“มึงเชื่อหมอมากกว่าเจ้าคุณลิดงั้นหรือ?” บักต้อมถาม
“เปล่าๆ กูแค่พูดตามความเป็นจริงเท่านั้น” บักป๋องปฏิเสธ (หน้า 112)
และพอพ่อใหญ่คนหนึ่งโต้เถียงขึ้นมาว่า “บ่ใช่เจ้าคุณลิดนี่น่ะหรือที่ให้ท้ายจนทำให้บักเสริมหมดเนื้อหมดตัวจนต้องตาย? บ่ใช่เจ้าคุณลิดนี่หรือที่ทำให้บักนาดต้องเป็นป่วงเป็นบ้า หืม?” บักป๋องก็เสริมขึ้นว่า “นั่นสิ หมู่เฮาก็รู้ๆ กันอยู่แล้ว” จากนั้นคนหนุ่มคนหนึ่งก็พูดขึ้นมา “มึงบ่ต้องเลยบักป๋อง หยุดพูดเลย ถ้ามึงพูดอีกได้เจอกูแน่” (หน้า 112) – ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว เห็นได้ชัดว่า “บักป๋อง” ตกเป็นรอง และกลายเป็น “เสียงข้างน้อย” ที่อยู่ข้างเอื้อยสี ท่ามกลาง “เสียงข้างมาก” ที่อยู่ข้างบักต้อม แต่กระนั้น เสียงข้างน้อยของบักป๋องก็ยืนยันที่จะอยู่ข้างความยุติธรรมอันอยู่เหนืออำนาจของศาลเตี้ย
แรงกดและตกกระทบนี้ ส่งผลให้บักป๋องระเบิด “ความยุติธรรมอันอยู่เหนืออำนาจของศาลเตี้ย” ออกมาอย่างแรงกล้า “พวกมึงหรือพ่อใหญ่เฮืองพวกหมู่เจ้าคิดหรือว่าจะไล่ใครออกจากหมู่บ้านได้ง่ายๆ หรือฆ่าแกงหรืออะไรก็แล้วแต่ได้ง่ายๆ มันเป็นไปบ่ได้แล้ว นี่บ่ใช่บ้านป่าเมืองเถื่อนเหมือนแก่ก่อนแล้ว ลองตรองดูเถอะว่า ถ้าหมู่เจ้าถูกกล่าวหาและพิสูจน์ทราบแต่เพียงเท่านี้และถูกจัดการแบบนี้ พวกหมู่เจ้าจะรู้สึกอย่างไร”, “จำกันได้ไหมที่มีคนว่าพวกหมู่เจ้าเป็นคนบ่ดี แล้วก็สนับสนุนพวกทหารออกมาไล่ยิงพวกหมู่เจ้าน่ะ หมู่เจ้าจำกันได้ไหม ไล่ยิงทิ้งคือหมูคือหมาน่ะ พวกหมู่เจ้าลืม...” – ทว่าบักป๋องพูดไม่ทันจบ บักต้อมก็ทะลึ่งพรวดลุกขึ้น และพูดตัดบทออกมาว่า “ใครจะอย่างไรก็ช่าง เรื่องนี้ต้องมีการจัดการให้เรียบร้อย” (หน้า 113) หากตีความตามนัยยะทางการเมือง การ “สนับสนุนพวกทหารออกมาไล่ยิงพวกหมู่เจ้า” อาจหมายถึงเหตุการณ์ในอดีตช่วงระยะเวลากว่า 30 ปีก่อน ซึ่งเคยมีการปราบปรามคอมมิวนิสต์พื้นที่ภาคอีสานโดยเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ ดังนั้นในบทวิจารณ์นี้ของข้าพเจ้า – การจะละเว้นประเด็นทางการเมืองซึ่งเป็น “สาร” ซึ่งเรื่องสั้นต้องการ “สื่อ” ย่อมเป็นไปไม่ได้
ภู กระดาษ ได้พาผู้อ่านย้อนไปยังเหตุการณ์ในอดีตหลังการถกเถียงอันคุกรุ่นผ่านตัวละคร “อีน้อย” ซึ่งถูก “บักนาด” สามีในขณะนั้นที่ยังไม่ได้เป็นป่วงเป็นบ้า เตะก้านคอจนสลบไป เพียงเพราะอีน้อยไม่ลงคะแนนเลือก “บักเสริม” พี่ชายบักนาดเป็นผู้ใหญ่บ้าน แต่กลับเลือก “เอื้อยสี” ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามจนชนะการเลือกตั้งไปกว่าร้อยคะแนน ในสถานการณ์นี้ บักนาดได้บังคับให้อีน้อยยอมรับออกมาว่าอีกฝ่ายได้ให้เงิน “ซื้อเสียง” เท่าไหร่ จนอีน้อยยอมรับว่าได้สองร้อย บักนาดจึงแสดงโทสะและต่อว่าอีน้อย ความตลกร้ายมันอยู่ที่คำสบถของบักนาดต่ออีน้อย “มันน้อยกว่าอ้ายกูให้มึงเป็นครึ่งต่อครึ่งเลยนะนั่น มึงนี่มันเลวชาติเลยนะนี่ อ้ายกูลุงมึงแท้ๆ แถมยังจ่ายให้มากกว่าอีก...”, อีน้อยเพียงตอบว่า “รักชอบของใครของมัน” (หน้า 115) แล้วก็สลบไป หากสิ่งที่ประธานอนุกรรมการคัดเลือกเรื่องสั้นพานแว่นฟ้าประจำปี 2556 กล่าวถูกต้อง ดังว่า “เพื่อจำลองภาพให้ผู้อ่านมองเห็นและเกิดจินตนาการเทียบเคียงไปกับสิ่งที่กำลังอุบัติขึ้นในระดับประเทศ” ก็อาจตรงเผงตามสถานการณ์นี้ไม่มีผิดเพี้ยน— ที่การซื้อสิทธิ์ขายเสียงด้วยอำนาจของเงินถือเป็นเรื่องปกติสามัญ ไม่ว่าจะเป็นการเมืองระดับภูมิภาคหรือระดับประเทศของเรา
ภู กระดาษ ยังได้ยกระดับเรื่องสั้นของตนขึ้นไปสู่ “โศกนาฏกรรม” เมื่อบักนาดถูกปลุกตื่นพร้อมข่าวที่ว่า บักเสริมพี่ชายของตนซึ่งแพ้การเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านได้กรอกยาฆ่าหญ้ากรัมม็อกโซนฆ่าตัวตาย ก่อนที่เอื้อยสีซึ่งผละมาจากงานฉลองตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านคนใหม่เข้ามาปลอบใจผู้ใหญ่เฮือง พ่อของบักเสริมและบักนาดด้วยสายตา สติของบักนาดก็ได้หลุดไปแล้ว จนนำไปสู่ความวิปลาสและทำให้อีน้อยกลายเป็นแม่ฮ้างในท้ายที่สุด การกระทำของบักเสริมซึ่งนำไปสู่จุดจบคือความตาย สะท้อนโศกนาฏกรรมแบบอัตถิภาวนิยม (Existentialism) ซึ่งข้าพเจ้า- ในฐานะผู้อ่าน ได้เคยพบเห็นปรัชญาในรูปแบบเดียวกันในนวนิยาย “คำพิพากษา” ของ ชาติ กอบจิตติ ขณะที่การกระทำของบักนาด ต่อความพ่ายแพ้ย่อยยับอันสืบเนื่องมาจากความเชื่อ-ความศรัทราในศูนย์รวมอำนาจแบบเก่า ได้สะท้อนโศกนาฏกรรมรูปแบบเดียวกันหากแต่ลุ่มลึกกว่าอย่างเช่นที่เรื่องสั้น “อสรพิษ” ของแดนอรัญ แสงทองเคยทำมาแล้ว
2. “สาร” ที่ผู้เขียนต้องการ “สื่อ” (หรือไม่ต้องการสื่ออะไรเลยก็ตาม) ยังรวมถึงเทคนิคการเล่าเรื่องผ่านวัจนภาษาอันแพรวพราว มีการใช้คำพื้นถิ่นปะปนอยู่กับภาษาวรรณกรรมไทย จนแตกแขนงเป็นเอกลักษณ์ในถ้อยคำอันก่อร่างสร้างเป็นรูปประโยคให้ลื่นไหลอย่างผู้ช่ำชอง หากจะเรียกว่า “ปะปน” ก็ไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะภู กระดาษ ได้ผสมคำผสานความจนเกิดเป็นภาษาที่สมบูรณ์ และเกิด “อัตลักษณ์” อันหาตัวจับได้ยาก ซึ่งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นักเขียนไทบ้านผู้เนรมิตเรื่องเล่าและถ้อยคำได้กลมกล่อมจนประสบความสำเร็จระดับชาติ เห็นจะยกตัวอย่างได้อยู่สองท่าน คือคำพูน บุญทวี และลาว คำหอม ทว่าเสน่ห์ของภู กระดาษนั้นไปไกลกว่าคำว่า “กลมกล่อม” เล็กน้อยสำหรับข้าพเจ้า- เพราะเมื่อนำเอาคำพื้นถิ่นอย่าง “มิดสิ่ม”, “อีเกิ้ง”, “แตะแมะ” และหรือ “ก่องก้อย” เป็นต้น หรือยกเอาการเปรียบเปรยต่างๆ เช่นเปรียบสายลมที่พัดโชยเบาๆ เป็น “สายลมไหวเหวี่ยวอนวอย” ให้เกิดจินตนาการเป็นภาพและเสียงแก่โสตภายในของผู้อ่านได้— ข้าพเจ้าขอยืนยันตามภาษาร่วมสมัยว่า สิ่งนี้เรียกว่า “ความแซ่บนัว!”
การทับศัพท์ซึ่งไม่นิยมใช้กันนักในหมวดหมู่ผู้เขียนงานวรรณกรรมสายประกวดประขัน อย่าง “ผลของการซาวเช็ก” (หน้า116), “เกทับบลั๊ฟฟ์แหลก” (หน้า117) บรรดาถ้อยคำแสลงที่คล้ายภาษาพูด การเล่นคำ และการอุปมาอุปมัยอันชวนหัว ก็ยืนยันความกล้าหาญในการใช้ลูกเล่น (Gimmick) เหล่านี้ของตัวผู้เขียนได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น “ลมไกวไหวเหวี่ยตลอดเวลา แต่ก็มิสามารถถมีเอกเฟ็กต์ใดๆ ส่งมาถึงภายในห้องหับได้” (หน้า 104), “สายลมเหมือนจังหวะสาวขมิบรูทวารผายลมออกมาระหว่างนั่งอยู่ต่อหน้าหนุ่มคนรัก” (หน้า 109), “พระปานทานองค์ใหญ่สีหน้าเย็นชาราวกับเป็นอีกร่างของจ่าเฉย” (หน้า 110) และหรือ “อีน้อยสลบ แต่บักนาดยังตะคอกว่า ‘อีสันดานหมา’ อยู่ต่อไป และเดินวนไปวนมาในห้องโถงของบ้านปูนชั้นเดียวราวกับกำลังเข้าร่วมกีฬาโอลิมปิกประเภทเดินทนก็มิปาน”
ตัวอย่าง ความเป็นสัจนิยมมหัศจรรย์ (Magical realism) อันชัดเจนในเรื่องสั้นเรื่องนี้ ปรากฏอยู่หลายฉาก-หลายเหตุการณ์ แต่ที่เห็นชัดที่สุด และเล่าได้แซ่บนัวที่สุด ก็คือค่ำคืนที่ “บักต้อม” นำเอาขันธ์ห้าขันธ์แปดไปกราบไหว้ “เจ้าคุณลิด” ที่ศาลปู่ตา ซึ่งเคย “ถูกเผาทำลายไป คนเผาทำลายกลายเป็นบ้าไปแล้ว”, แล้วจึง “โบกอิฐถือปูนอย่างดีถูกสร้างขึ้นใหม่” (หน้า 106) เจ้าคุณลิดซึ่งได้ปรากฏกาย “ยืนเรืองแสงจ้องมองเขาอยู่ในศาล” , “และพ้นชายคาศาลออกมา เจ้าคุณลิดก็ยืดร่างขึ้นไปอีกราวสามศอกซึ่งไม่ได้สูงใหญ่กว่าบักต้อม” (หน้า 110) ในสภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่นของบักต้อมในค่ำคืนนั้น ทำให้ผู้อ่านตีความไปได้สองแง่ เพราะตอนแรกขณะ “จุดธูปจุดเทียน ก้มลงกราบ และกล่าวออกไป” , เจ้าคุณลิดยังไม่ปรากฏกาย จนบักต้อม “ตัดสินใจก่องก้อยล้มตัวลงนอน และไม่รู้ว่าหลับไปนานเพียงใด” (หน้า 109) ก่อนตื่นขึ้นมาอีกครั้ง เจ้าคุณลิดจึงปรากฏกายขึ้น ทว่าก็เพียงลูบศีรษะเขาเท่านั้น ไม่ได้เอ่ยการ “ยืนยัน” ใดๆ หากแล้วการปรากฏตัวของเจ้าคุณลิดก็ทำให้ “กระจ่างชัดแล้วว่าอะไรเป็นอะไรสำหรับบักต้อม” (หน้า 110)
อย่างตอนเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านครั้งล่าสุด ที่ “บักเสริม” แพ้ไปกว่าร้อยคะแนนนั้น เจ้าคุณลิดก็ได้ปรากฏตัวให้บักเสริมเห็นด้วยเช่นกัน แล้วเจ้าคุณลิดยังเดินตามทีมงานหาเสียงของบักเสริมอีกด้วย “ใครต่อใครในหมู่บ้านก็พบเห็นเจ้าคุณลิดเดินจากศาลปู่ตาทางทิศใต้ของหมู่บ้านตัดเข้ามาในหมู่บ้านและมุดหายเข้าไปภายในบ้านของบักเสริม” (หน้า 116) และอย่างตอนที่บักเสริมกรอกยาฆ่ายาหญ้าฆ่าตัวตายนั้น เจ้าคุณลิดก็ยังอยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย “เจ้าคุณลิดเดินวนเวียนไปมา” (หน้า 119) และเมื่อเอื้อยสีที่ผละจากงานฉลองผู้ใหญ่บ้านคนใหม่มาสมทบก็ยังเห็นเจ้าคุณลิดด้วยอีกคนเหมือนกัน “หล่อนหันไปมองเจ้าคุณลิด ไม่มีรอยยิ้ม ไม่มีคำทักทาย” (หน้า 120) และหลังจากนั้น ก็สามารถยืนยันได้ว่า ใครๆ ก็ต่างเห็นเจ้าคุณลิดกันหมด เมื่อบักนาดเกิดสติหลุด “ชกออกไปเต็มแรง ทำลายได้แต่เพียงม่านอากาศ เขาสาวหมัดใส่ เจ้าคุณลิดไม่หลบหลีก ยังยืนให้บักนาดสาวหมัดใส่อยู่เช่นนั้น” ก่อนที่บักนาดจะวิ่งออกไปรื้อและเผาศาลปู่ตาของเจ้าคุณลิด และกลายเป็นบ้าไปในที่สุด การปรากฏตัวของเจ้าคุณลิดในหลายๆ ฉาก-หลายๆ ตอนนี่เอง ถือเป็นการยืนยันความเป็นสัจนิยมมหัศจรรย์อันกล่อมกลืนอย่างลงตัวเข้าไปในรากเรื่องสั้นของภู กระดาษอย่างปฏิเสธไม่ได้ (ไม่ว่าผู้เขียนจะจงใจหรือไม่ก็ตาม)
3. เรื่องสั้น “การยืนยันอีกครั้งหนึ่ง” ของภู กระดาษ เป็นกระแสสำนึกหรือไม่? “อูดอ้าวผสมความชื้นสัมพัทธ์นั้นทำให้จูมูกตีนตันลง ปอดบีบรัดจนร้อนผ่าวออกมาถึงหน้าอก เผลอบางครั้งเธอและเขาต้องหายใจทางปาก” วิธีการเล่าจากภายในความรู้สึกนึกคิดชั่วขณะของตัวละครซึ่งส่งผลต่อมวลบรรยากาศและเหตุการณ์ต่างๆ จากภายนอก ถือเป็นการเขียนแบบกระแสสำนึกทั้งสิ้น“เฮาบ่ดีตรงไหน?”, “เปล่าหรอก” เธอว่า และ“แล้วทำไม?” (หน้า 104) บทสนทนาเหล่านี้ล่องลอยมาทันทีหลังจากเปิดเรื่องเล่าได้ไม่นาน ก่อนจะนำไปสู่เรื่องเล่าคู่ขนานอื่นๆ ซึ่งซ้อนเหตุการณ์ในอดีตกับปัจจุบันเข้าไว้ด้วยกันหลายทบ หลายๆ ฉาก-บทสนทนาระหว่าง “อีน้อย” กับ “บักต้อม” และ “อีน้อย” กับ “บักธง” ถูกแทรกเข้ามาในระหว่างฉาก-เหตุการณ์เหล่านั้นอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย เช่นฉาก-เหตุการณ์ที่บักนาดทราบข่าวการฆ่าตัวตายของบักเสริม “บักนาดงุนงงเพียงชั่วอึดใจก่อนจะถลาออกจากบ้าน” (หน้า 118) บทสนทนาระหว่างอีน้อยกับบักธงก็ล่องลอยเข้ามาจากที่ไหนสักแห่ง (อาจจะมาจากภวังค์ของอีน้อยเองก็เป็นได้) “เฮาเลือกแล้ว ตัดสินใจแล้ว”, “เฮายังฮักเหมือนเดิม แต่เฮาเลือกแล้ว คืนนี้คงเป็นคืนสุดท้ายแล้วที่จะได้อยู่ด้วยกัน คืนพรุ่งนี้เฮาจะเดินทางไปพัทยา แล้วธงจะกลับค่ายวันไหนล่ะ?” จากนั้นบักธงจึงพูดว่า “อีกบ่กี่วันนี่แหละ น้อยบอกเฮาหน่อยสิว่า ทำไมต้องไปด้วย เฮาพร้อมที่จะดูแลอยู่นะ รอเฮาปลดประจำการก่อน แล้วเฮาจะให้แม่มาสู่ขอ” ซึ่งคำร้องขอของบักธงไม่เป็นผลสำหรับอีน้อย เพราะเธอยังยืนยันที่จะเดินทางไปพัทยาอยู่ดี อีกทั้งยังย้ำอีกว่า “และเฮาก็พอแล้วกับใครๆ ในหมู่บ้านนี้ หรือหมู่บ้านอื่นในขงเขตนี้ เฮาขอไปตายเอาดาบหน้าดีกว่า” (หน้า 119)
ในฉากเปิดเรื่องของนวนิยาย “คุณนายดัลโลเวย์” (Mrs. Dalloway by Virginia Woolf) “คุณนายดัลโลเวย์บอกว่าเธอจะซื้อดอกไม้เอง” (หน้า 13, หนังสือ “คุณนายดัลโลเวย์”, ดลสิทธิ์ บางคมบาง แปล.) เปิดตัวด้วยตัวละครหลัก คือ “คุณนายดัลโลเวย์” และฉากจบของนิยายเรื่องนี้ “เพราะ นั่นไง- เธอ” (หน้า 229) จึงได้ปิดตัวลงด้วยคุณนายดัลโลเวย์ ภู กระดาษ จะใช้วิธีเปิดตัวด้วย “อีน้อย” และปิดตัวลงเรื่องสั้นลงด้วย “อีน้อย” อย่างบังเอิญหรือจงใจก็ตาม หากแต่วิธีนี้ได้เพิ่มมนตร์ขลังให้กับเรื่องสั้นเรื่องนี้เป็นอย่างมาก
และแล้วเรื่องเล่าก็ได้นำพาเรามาถึงจุดสุดยอด (Climax) ของบทสรุปอันชวนให้สะท้านสะเทือนอารมณ์ “จวบจนรุ่งเช้า และจวบจนสายที่อีน้อยนึ่งข้าวเสร็จสรรพแล้ว แต่บักต้อมและลูกๆ ยังไม่ตื่นนอน ตำรวจก็กรูกันมาล้อมบ้านบนเนินดินไว้” และบรรทัดสุดท้ายอัน “ยืนยัน” ได้ว่าการ “ยืนยัน” ของอีน้อยไม่เป็นผลอีกต่อไป เหมือนการยืนยันของคนตัวเล็กตัวน้อยไม่มีปากมีเสียงใดๆ ในสังคมของเรา—“เขาไม่ได้ประทับริมฝีปากลงบนริมฝีปากของเธอ เมื่อขึ้นกล่อมร่างของเธอแล้ว แต่บักธงยื่นมือออกไปกำรอบคออีน้อยแทน เธอตาลีตาเหลือกด้วยความตกใจ และเริ่มต้นดิ้นพร้อมกับแรงมือของเขาทวีความหนักหน่วงขึ้น” กระทั่งตายไปแล้ว ดวงวิญญาณของอีน้อยก็ยังลุกตื่นขึ้นมา “นึ่งข้าวเสร็จสรรพ” ตราบแม้กระทั่งตายไปแล้วด้วยน้ำมือของบักธง บักต้อมก็ยังสามารถเอา “มือปะป่ายลูบคลำและประทับริมฝีปากลงบนริมฝีปากของอีน้อย ปลดผ้าถุงและกางเกงขาสั้น” ของอีน้อยได้ ดังนั้น “ดวงวิญญาณ” ของอีน้อยจึงเปรียบเสมือนดัง “กระแสสำนึก” ที่ทำงานอย่างลื่นไหลแม้กระทั่งตัวละครไม่มีชีวิตอยู่อีกต่อไปแล้ว ซึ่งสถานะนี้ของ “อีน้อย” ไม่ได้ต่างจาก “เจ้าคุณลิด” ผู้เป็นผีบรรพบุรุษที่คอยปรากฏตัวให้ผู้คนเห็นจนเป็นที่เคารพและศรัทราของชาวชุมชนตาเอกทะไมมาอย่างเนิ่นนาน
4. การ “ยืนยัน” เสมือนชื่อเรื่องถือเป็นลูกเล่น (Gimmick) อย่างหนึ่งของเรื่องสั้นเรื่องนี้ ตั้งแต่ประโยคแรกที่เปิดเรื่อง “สิ้นเสียงยินยันอย่างหนักแน่นของเธอ” (หน้า 103) “ยังไม่มีคำตอบจากเธอ แต่การยืนยันของเธอก่อนหน้ายังปกคลุมและสถิตเถียรอยู่ทั่วทั้งห้องเช่นเดิม” (หน้า 104) “เธอยังยืนยัน”, แม้กระทั่งในบทสนทนาก็ยังมีการ “ยืนยัน” – “ ‘บ่ผิดแน่นอน อย่างที่เคยคุยกัน เจ้าคุณลิดก็ยืนยันมาแล้ว’ ” (หน้า 105) และเช่น “เมื่อมีใครคนหนึ่ง มีใครสองคน ได้พบเห็นกับตาตัวเองและยืนยันอย่างหนักแน่นว่า สุนัขตัวนั้นลับหายเข้าไปในบ้านของเอื้อยสี” (หน้า 108) “ ‘เจ้าคุณลิดยืนยันมาแล้วลุง’ ” (หน้า 110) “ ‘และหลวงพ่อใหญ่ท่านก็มรณภาพด้วยเส้นเลือดในสมองแตก หมอก็ยืนยันมาแล้ว’ ”, “อย่างไร สำหรับกูแล้วก็เชื่อว่ามันต้องเกี่ยวข้องกัน และต้องจัดการให้เด็ดขาด เจ้าคุณลิดก็ยินยันมาแล้ว จริงไหมบักต้อม” (หน้า 112) และเจ้าคุณลิดยังได้ยืนยันอีกครั้ง “มิต้องพึ่งพาปากคำของใครๆ คุณครูที่โรงเรียนต่างก็เคยพบเห็นเจ้าคุณลิด ได้เห็นสิ่งที่เจ้าคุณลิดยินยันต่อพวกเขาในการสนับสนุนพี่ชายของเขา” (หน้า 116)
การ “ยืนยัน” ในต่างบริบทของตัวละครทำให้ข้าพเจ้านึกไปถึงวิธีการเล่าที่ซับซ้อนกว่าอย่างเรื่องสั้น “ราโชมอน” (Rashomon and Other Stories by Ryunosuke Akutagawa) อันเป็นการโหมโรงให้ตัวละครหลายตัวเล่าและ “ยืนยัน” เหตุการณ์ที่ได้พบเห็น หรือ “ยืนยัน” ความรู้สึกนึกคิดของตัวเองแก่ผู้อ่าน ทีนี้ก็ใครจะเป็น “ผู้พิพากษา” การ “ยืนยัน” ของตัวละครทั้งหมดนอกจากเรา- ในฐานะผู้อ่าน ในขณะเดียวกันการ “ยืนยัน” ในเรื่องสั้นเรื่องนี้ ทำให้เกิดสถานการณ์ (Situation) ภายใต้ความขัดแย้ง (Conflict) ของตัวละครขึ้นมา ซึ่งถือว่าเป็นการเขียนเรื่องแต่ง (Fiction) ที่ดีในระดับสากล เพราะถ้าขาดสิ่งนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับส้มตำปูปลาร้าที่ขาดปูปลาร้า คงไม่ให้รสชาติอันแซ่บนัวแก่ข้าพเจ้าขนาดนี้ .