ต่อพงศ์ ดำรงศิลป์
ต่อพงศ์ ดำรงศิลป์
เต้นรำไปบนท่อนแขน “อันเป็นที่รัก” ในโลกกลมแกนเอียง
ท่ามกลางนาฏกรรมอันอ่อนงาม พลิ้วไหวของนักเต้นมืออาชีพชายหญิงทั่วโลก ยังมีท่วงทำนองหนึ่งซึ่งอ่อนโยนอบอุ่น ทว่าเด็ดเดี่ยว และทรงพลังอยู่...นั่นคือ การ“เต้นรำไปบนท่อนแขนอ่อนนุ่ม”
ของผู้โอบอุ้มภาระหนักอึ้งไว้ด้วยความรักและความหวังแรงกล้า“ที่มีเพียงเธอและเขาเข้าใจจนเขาค่อย ๆ เคลิ้มหลับไป ถึงมีใครบอกเธอตอนนั้นเธอคงไม่เชื่อว่าสัมผัสและบทเพลงเหล่านั้นจะซึมซับอยู่ในทุกอณูร่างกายและวิญญาณของเขาไปจนวันที่เขาเองได้เป็นพ่อ”(หน้า 160)
“นทธี ศศิวิมล” หรือศศิวิมล นทธี สุระเดชชะมงคล ได้ตบแต่งกระบวนท่าวรรณศิลป์ถ่ายทอดผ่าน
รวมเรื่องสั้น15 เรื่อง ชุด “อันเป็นที่รัก” ไว้อย่างงดงาม ทำให้ผลงานผ่านเข้ารอบลองลิสต์ซีไรต์ ปี 2560
จากการนำเสนอภาพความเป็น “หญิง” ในหลากหลายมุมมองที่เป็นยิ่งกว่าคำว่า “เพศ”(sex) อันเป็นคุณลักษณะทางชีวภาพที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด และ“เพศสภาวะ”(gender) อันเป็นการประกอบสร้างทางสังคมที่อธิบายความเป็นหญิงว่าควรจะต้องเป็นอย่างไร พร้อมกับการสะท้อนภาพความเป็นไปในสังคมไทยในมิติต่าง ๆ อย่างลุ่มลึก
“หุ่นยนต์” และ“ดวงดาว”:จาก “ความแตกต่าง” สู่ “ความแปลกแยก” ในสายตาวิปริต
วิทยาการและเทคโนโลยีในโลกยุคโลกาภิวัตน์ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ความเจริญทางวัตถุก้าวหน้าแต่จิตใจมนุษย์กลับถอยหลังลงคลองโสมมแห่งความเกลียดชังและโฉดเฉา จนอาจจะกลายเป็น “ความผิดพลาดที่ไม่อาจซ่อมได้” นทธีได้สร้างตัวละคร “หุ่นยนต์เสมือนมนุษย์” ที่มี
ความผิดแผกไปจากตัวอื่น ๆเริ่มต้น และเดินเรื่องด้วยคำให้การของหุ่นยนต์มอร์แกนในนามผู้ต้องหาของสังคมหลังจากหลบหนีการซ่อมแซมเมื่อถูกวินิจฉัยว่า “มีความสับสนทางเพศ”แล้วไปพบรักกับอเลกซ์
ชายผู้ปฏิบัติต่อเขาไม่ “แตกต่างไปจากที่ปฏิบัติต่อมนุษย์มีเลือดเนื้อและจิตใจคนอื่น”(หน้า 70)เพราะ
อเลกซ์เป็นกลุ่มผู้เรียกร้องความเสมอภาคทางเพศก่อนที่จะมีกฎหมายรับรองเสียอีก เขาทั้งคู่จึงเข้าใจซึ่งกันและกันเป็นอย่างดีกระทั่งเดวิดบุกเข้าบ้านหมายจะจับมอร์แกนส่งเจ้าหน้าที่ด้วยการเปิดเผยความลับน่าพรั่นพรึงว่า
“มันเป็นเพศหญิง กำเนิดมากับเครื่องเพศหญิง แต่กระบวนการผลิตบกพร่อง ทำให้มันมีจิตใจเป็นผู้ชาย ก่อนที่มันจะหนีมานี่มันฆ่าคนไปคนหนึ่งระหว่างทาง เท่านั้นยังไม่พอ มันยังเปลี่ยนเพศตัวเองเพื่อหลอกลวงนายอีกอเลกซ์”(หน้า 75)
ดังนั้น หุ่นยนต์มอร์แกน หรือชื่อเดิม มิเกลล่าจึงหาใช่เพียงตัวละครอันเกิดจากจินตนาการ เขาคือสัญลักษณ์แทนกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ที่ยังไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมกระบวนการผลิตบกพร่อง เปรียบได้กับเพศสภาวะคือ มโนทัศน์ทางวัฒนธรรม นั่นไม่ใช่ความผิดของเขาแต่อย่างใด หากแต่เป็นมโนทัศน์อันบกพร่องคับแคบของคนบางกลุ่มที่ปฏิบัติต่อเขาโดยไม่เคารพหลัก
สิทธิมนุษยชนเช่นเหตุการณ์หุ่นยนต์พลั้งมือฆ่าคนตายเพราะป้องกันตัวจากผู้ชายที่จะข่มขืนตนเอง
ซึ่งแสดงถึงการกดขี่ทางเพศอย่างรุนแรง หรือการเก็บหุ่นยนต์ตัวนี้ไว้เพื่อศึกษาวิจัยเกี่ยวกับข้อบกพร่องดังกล่าว ยิ่งเป็นการเน้นย้ำให้เห็นว่าเขาถูกจัดอยู่ในตำแหน่งของบุคคล “ชายขอบ” ในสังคม เพียงเพราะมีอัตลักษณ์ทางเพศแตกต่างออกไป
นอกจากนั้น นทธีได้สะท้อนประเด็นการค้ามนุษย์กับปัญหาการค้าประเวณีผ่านโสเภณีหุ่นยนต์จากเรื่อง “Heal” ซึ่งทำหน้าที่สนองความใคร่ของลูกค้า ผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจ และอำนาจกดขี่
ผู้ให้บริหารได้โดยชอบธรรม แอล จีที 547 หุ่นยนต์หญิงสาวโสเภณี รู้จักมักจี่กับเซ็ท โอคิว 893 หุ่นยนต์ชายหนุ่มขายบริการทางเพศ เขาจึงเป็นผู้เดียวที่รู้ว่า แอล จีที547 คือ มนุษย์กลายพันธุ์ (Heal) ที่ทางการต้องการตัวเพื่อกำจัดทิ้ง ปลอมตัวมาเป็นโสเภณีหุ่นยนต์เพื่อความอยู่รอด และคลายความหิวโหยของตนเองหุ่นยนต์ขายบริการทางเพศจึงเป็นสัญญะแทนผู้ค้าประเวณีที่ถูกปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม
ในสายตาวิปริตมองเห็นเขาเป็นแค่สิ่งของระบายความใคร่ในอีกนัยหนึ่ง อาจตีความได้ว่า มนุษย์
กลายพันธุ์เป็นบุคคลที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากกลุ่มผู้มีอำนาจในสังคม จนเกิดการกีดกันทาง
การแสดงออกทางความคิดก็เป็นได้
จากการตีความมนุษย์กลายพันธุ์ข้างต้นเกี่ยวกับประเด็นความแตกต่างนำไปสู่ความแปลกแยกในสังคม สอดคล้องกับเรื่อง”ความรักของชารอน” ดาวเคราะห์ผู้ชายชื่อ พลูโต และดาวผู้หญิงชื่อชารอน
“พลูโตเล่าให้เธอฟังว่า เขาเพิ่งค้นพบวิธีค้นพบตัวเองและรู้สึกตระหนักถึงคุณค่าของการมีตัวตน ด้วยการเข้าร่วมกลุ่มกับผู้ที่ดูคล้าย ๆ กัน คิดและชอบทำอะไรหลาย ๆ อย่างคล้ายกัน”…“เช้าวันหนึ่ง
หลังรัฐประหารครั้งที่ 13 ของประเทศไทยผ่านไปได้ 8 เดือน...เขาจะไปงานสตรีทอาร์ตแถวท่าพระอาทิตย์ หลังจากนั้น พลูโตก็ไม่ได้กลับมาอีกเลย” (หน้า 100)
เมื่อชารอนออกตามหาพลูโตกลับได้ยินเด็กคนหนึ่งพูดกับแม่ว่า “พลูโตตายแล้วนะแม่ พลูโตที่เป็นเพื่อนของดาวอังคารน่ะ ตายแล้ว ถูกท.ทหารยิงตาย”(หน้า 102)
อาจกล่าวได้ว่า พลูโต เป็นสัญญะแทนบุคคลที่มีมุมมองทางการเมืองที่แตกต่างออกไปจากกลุ่ม
ผู้มีอำนาจทางการปกครอง ทำให้ไม่มีสิทธิ์ในการแสดงออกทางความคิด คล้ายกับว่า เขาเป็นบุคคลที่ไร้ตัวตนในสังคมไม่ต่างไปจากดาวพลูโตที่ถูกปลดออกจากการเป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะจักรวาล
โดยสิ้นเชิง
ไม่ว่าจะเป็น“หุ่นยนต์ผิดแผก” “ดวงดาวชายขอบ” หรือแม้กระทั่ง “มนุษย์กลายพันธุ์” ต่างสามารถเสียดสี (satire) ความเป็นจริงในสังคมได้อย่างแสบร้อนไม่เบาด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องที่มักจะ “หักมุม” อย่างไม่คาดคิดทำให้ผู้อ่านต้องขบคิด และสามารถตีความได้ในหลายระดับ
แหละนี่คือความเป็น “หญิง”ในโลกกลมแกนเอียง
การนำเสนอความเป็น “หญิง” ถือเป็นจุดร่วมสำคัญของรวมเรื่องสั้นชุด อันเป็นที่รัก ตัวละครหญิงเหล่านี้ต่างทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงในการสื่อสารปัญหาความรุนแรงที่เกิดกับผู้หญิงจากแนวคิด
ชายเป็นใหญ่ ทั้งในมุมมองของภรรยา แม่ น้องและหญิงสาว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวในระดับความสัมพันธ์ของปัจเจกบุคคล หรือระดับครอบครัว แต่กลับสามารถมองเห็นภาพใหญ่ในสังคมได้
อย่างน่าสนใจ
จากเรื่อง “มักกะลีผล” นารีถูกมาณพสามีผู้เมามายจากการเที่ยวกลางคืนและทำร้ายร่างกาย
ครั้งแล้วครั้งเล่า สลับกับเอ่ยคำขอโทษเป็นนิจศีลในที่สุด เธอพ้นพันธนาการอันเหี้ยมโหดด้วยการถูกเชือดคออย่างทารุณ กลายเป็น ”มักกะลีผล” ผู้มีอิสรภาพ “ตามหามาณพคนใหม่ ๆ ที่พร้อมจะให้เธอได้ฝังเมล็ดแพร่พันธุ์”(หน้า 68) ไม่ต่างจากเรื่อง“หญิงสาวกับกุหลาบขาว” ที่สามีของเธอนอกใจ ทำร้ายร่างกายเสมอมา มีเพียงชายหนุ่มข้างบ้านที่แอบสงสาร ถามไถ่ความเป็นอยู่อย่างห่วงใยและเฝ้ามองเธอดูแลแปลงกุหลาบขาวเรื่อยมาท้ายที่สุด เธอต้องจบชีวิตจากการฆ่าด้วยน้ำมือของสามี และฝังเธอไว้ที่แปลง
กุหลาบขาว หากมองสองเรื่องนี้ด้วยทฤษฎีสตรีนิยมเชิงนิเวศ (Ecofeminism) จะพบว่า มีการเชื่อมโยงผู้หญิงกับธรรมชาติ (women and nature connection) โดยชี้ให้เห็นว่า ผู้ชายถือว่าตนมีอำนาจเหนือกว่าผู้หญิง ทั้งในด้านร่างกาย และสถานภาพ จึงข่มเหงผู้หญิงได้อย่างไร้สำนึก ความอ่อนโยน แบบบาง สวยงามของ “มักกะลีผล” กับ“กุหลาบขาว” กลับกลายเป็นเพียงสุสานแห่งความขมขื่น ทว่าอิสระด้วย
การคืนสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติของผู้หญิงอย่างน่าเวทนา
นอกจากนั้น ประเด็นการกดขี่ทางเพศยังถูกสะท้อนผ่านเรื่อง “หาย” เล่าถึงการหายไปของอวัยวะในร่างกายสามี ตั้งแต่อวัยวะเพศ กระทั่งอันตรธานหายสิ้น เหลือแค่เส้นผมพอให้เธอได้เก็บไว้ในล็อกเก็ตรูปหัวใจนำมาห้อยคอไว้เท่านั้น การหายไปของอวัยวะจึงเปรียบเหมือนการนอกใจของสามีที่ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างเลือดเย็น จนเหลือเพียงซากแห่งความทรงจำ แต่ผู้หญิงเองก็มีสิทธิ์ในการตามหาอวัยวะที่สมบูรณ์พร้อมคนใหม่ในเรื่อง “น้อง”เล่าผ่านมุมมองของพี่ชาย ผู้เฝ้าคิดถึงความทรงจำที่มีต่อน้องสาวที่หายตัวไป ซึ่งเธออาจจะตกเป็นเหยื่อของเดนมนุษย์ ในเรื่อง “ลูกของลูกสาว” หัวอกของ
ผู้เป็นแม่เมื่อรู้ว่าลูกสาวตั้งท้องในวัยเรียนเธอพยายามจะอธิบายให้สามีเข้าใจ แต่ได้ถูกสามีหว่านล้อมให้กินยารักษาโรคของเธอเสียก่อนท้ายสุด ผู้เขียนกลับหักมุมด้วยการเฉลยว่า แท้จริง นั่นเป็นเพียงภาพที่เธอสร้างขึ้นมาเองจากความผิดพลาดร้ายแรงในอดีตในเรื่อง “สุนิสา”พยาบาลสาวที่ถูกผู้ป่วยในการดูแล
มองว่าเป็นเพียงลูกจ้างคนหนึ่ง แม้จะเคยมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งก็ตาม
เมื่อผ่านเรื่องราวอันแสนขมขื่นของ “หญิง” มามากพอสมควรแล้ว นทธีได้นำเสนอภาพแห่ง
ความงดงาม น่าสรรเสริญของความเป็นแม่ตามแบบขนบในเรื่อง “เต้นรำไปบนท่อนแขนอ่อนนุ่ม”
แม่ผู้ค้นพบว่า การอุ้มลูกไว้ในอ้อมแขน คือวิธีที่ดีที่สุดในการปลอบประโลม อ้อมแขนนี้จึงถือเป็นอ้อมแขนของผู้สร้าง ก่อกำเนิดชีวิตและเอื้ออารีให้ความรัก ความอบอุ่น และความหวังดีที่ซึมซ่านถึงลูกด้วยสายใยผูกพันเรื่องราวดำเนินไปอย่างเข้มข้น และยาวนาน กระทั่งลูกของเธอมีครอบครัวเป็นของตนเอง
“จนในที่สุด เธอก็เลือกที่จะหลับและตื่นขึ้นในความฝันงดงามชัดเจนที่มีเขาร้องงอแงในอ้อมแขนให้เธอเต้นรำและร้องเพลงลึกลับที่มีท่วงทำนองอ่อนหวานวกวนปราศจากเนื้อขับกล่อม บางคราวเธอจะมองเห็นลายดอกไม้สีส้มของกระโปรงโบกสะบัด และเขายืนอยู่หน้าร้านขนมระหว่างทางไปโรงเรียนอนุบาลเกาะขาเธอแน่น กำชายกระโปรงและดอกไม้สีส้มของเธอไว้เหมือนจะไม่มีวันยอมให้เธอหายไปไหนอีก...”(หน้า 175)
จะเห็นได้ว่า นทธีสามารถเค้นเอาความรู้สึกของตัวละคร “แม่” ถ่ายทอดความรักของแม่ที่มีต่อลูก
ผ่านถ้อยคำได้อย่างกินใจซึ่งผู้อ่านอาจจะเสียน้ำตาเอาง่าย ๆ หากค่อย ๆ ละเลียดอ่านอย่างพิจารณา
และดำดิ่งในห้วงอารมณ์
แม้แต่เหรียญยังมีสองด้าน ความเป็นแม่ก็มีหลายลักษณะเช่นกัน ในเรื่อง “ฟองสบู่แม่”
เธอทิ้งครอบครัวไปมีคนใหม่รวมถึงเรื่องราวความทรงจำอันร้าวรานที่ยากจะทำให้ลบเลือนหายไปได้
ในเรื่อง “ยาวิเศษ” เล่าผ่านมุมมองของลูกสาวสองคนที่ต้องดูแลแม่หลังจากพ่อเสียชีวิตไป และอีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจคือ “ฉันแค่กลับมาเอาของ” ความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ของคู่หนุ่มสาวที่ตกลงจะห่างกันสักพักเพื่อเลือกใช้ชีวิตได้อย่างเสรี นอกจากเรื่องสั้นที่กล่าวมาแล้ว ยังมีเรื่องสั้นแนวหลอน ลึกลับ ชวนขนลุกอย่างหญิงสาวในเรื่อง “มือสีขาวใต้ผิวน้ำ” และในเรื่องสั้นเรื่องสุดท้าย “สัญญาปาหี่” มาปิดท้ายเล่มได้
อย่างน่าประทับใจเลยทีเดียว
ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าในโลกกลมแกนเอียง หรือโลกอันยากที่จะมองหาความเท่าเทียม
และเที่ยงธรรมได้นี้ความเป็น “หญิง” ยังคงเป็นสิ่งที่มีผู้ให้นิยามความหมายมาอย่างต่อเนื่อง
ไม่ว่าความคาดหวังในความเป็น “เพศสภาวะ” ของสังคมจะเป็นเช่นไร แต่ “หญิง” ในนาม “มนุษย์” ผู้หนึ่งย่อมสามารถตัดสินใจเลือกแนวทางความเป็นตนเองภายใต้หลักสิทธิมนุษยชนได้เช่นกัน
ขอให้อ้อมแขน“อันเป็นที่รัก” ได้โอบอุ้มโลกกลมแกนเอียงเอาไว้
เมื่อผมได้ร่วมชื่นชมกระบวนท่าเต้นรำบนท่อนแขน “อันเป็นที่รัก”ด้วยลีลาภาษา และกลวิธี
การนำเสนอของ “นทธี ศศิวิมล” ในรวมเรื่องสั้นทั้ง 15 เรื่องแล้วจึงพบว่า จุดร่วมสำคัญอันเป็นจุดเด่นของงานเขียน คือการนำเสนอภาพความเป็น “หญิง” ทั้งที่เป็นผู้ถูกกระทำ และผู้กระทำในหลากหลายมุมมอง ประกอบกับการสะท้อนภาพความเป็นจริงในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสังคมบางประการที่มีทั้งเป็นบาดแผลเรื้อรังยาวนานและบาดแผลสดใหม่ สำหรับเสน่ห์ของรวมเรื่องสั้นอีกประการหนึ่งนั้นคือ
การดำเนินเรื่องอย่างเรียบรื่นแต่ส่วนใหญ่กลับมีการ“หักมุม” เกิดขึ้นที่แทบจะหักหลบไม่ทัน
ซึ่งสร้างความสะเทือนอารมณ์ได้ไม่น้อย เพราะนทธีสามารถบีบเค้นเอาความรู้สึกของตัวละครมาถ่ายทอดผ่านถ้อยคำได้อย่างเข้มข้นและด้วยความหลากหลายของแนวเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นแนวอ่อนหวาน
แนวเพื่อชีวิต แนววิทยาศาสตร์ หรือแนวหลอน ล้วนทำให้รวมเรื่องสั้นชุดนี้มีสีสันน่าติดตามไม่ต่างไปจากสีสันของหน้าปกหนังสือที่แม้จะเป็นภาพหญิงสาวในสวนสนุก หรืองานรื่นเริงอันอ่อนหวาน สดใส แต่กลับซ่อนนัยให้ผู้อ่านได้ค้นหาอีกมากมาย
โลกกลมแกนเอียงที่พวกเราอาศัยอยู่ อาจไม่สมบูรณ์แบบ ดังปรารถนาอย่างโลก“ยูโทเปีย”
แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นเลวร้ายที่สุดอย่างโลก“ดิสโทเปีย”จึงขอให้เชื่อมั่นเถิดว่า แม้ในยามที่ทั่วโลกกำลังระส่ำระสายด้วยภัยร้ายโรคโควิด-19 หากเราสามารถแบ่งปันความหวังดีจากอ้อมแขน“อันเป็นที่รัก”ของเราทุกคนผ่านทางโลกออนไลน์ได้ โดยไม่ต้องมาพบปะกัน ผมเชื่อมั่นเหลือเกินว่า “พวกเราจะผ่านมันไปได้ด้วยกันอย่างแน่นอน”...
เอกสารอ้างอิง
ธัญญาสังขพันธานนท์. (2556). ผู้หญิงยิงเรือ: ผู้หญิง ธรรมชาติ อำนาจ และวัฒนธรรมกำหนด
สตรีนิยมเชิงนิเวศในวรรณคดีไทย (ECOFEMINISM IN THAI LITERATURE).
(พิมพ์ครั้งแรก). ปทุมธานี:สำนักพิมพ์นาคร.
__________________. (2560). Contemporary Literary Theory แว่นวรรณคดี ทฤษฎีร่วมสมัย.
(พิมพ์ครั้งที่ 2). ปทุมธานี: สำนักพิมพ์นาคร.
นทธี ศศิวิมล. (2560). รวมเรื่องสั้นชุด อันเป็นที่รัก. (พิมพ์ครั้งแรก). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เทียน.