ชัยมงคล โฮฮิน

 

ชัยมงคล  โฮฮิน

 

นครคนนอก : ที่เธอเห็น (ไม่ใช่) แค่ฝุ่นมันเข้าตา

 

            “นครคนนอก” หนังสือรวมกวีนิพนธ์รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ปีล่าสุด แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะได้รับรางวัลไปตั้งแต่ปี 2559 และในปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่ถึงรอบของการประกวดรางวัลซีไรต์ประเภทกวีนิพนธ์อีกครั้ง แต่ทว่าล่วงเข้าปี 2563 มาเกือบครึ่งปีจนรับสมัครผลงานประเภทเรื่องสั้นสำหรับประกวดรางวัลซีไรต์ปี 2563 เสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รางวัลซีไรต์ประเภทกวีนิพนธ์ของปี 2562 ก็ยังคัดเลือกกันไม่แล้วเสร็จ  “นครคนนอก” จึงได้ชื่อว่าเป็นหนังสือรวมกวีนิพนธ์รางวัลซีไรต์เล่มล่าสุดอยู่ในขณะที่เขียนบทวิจารณ์ชิ้นนี้

            ด้านเนื้อหาเรื่องนครคนนอกได้ “ให้ภาพของผู้คนที่สังคมมองข้าม”[1] อย่างป้าประนอมผู้เป็นกระเป๋ารถเมล์ชั่วชีวิต ยายแตแม่ค้าขายไข่ปิ้งแก่หงำเหงือก เฒ่าแถมกรรมกรก่อสร้างที่ตกนั่งร้านตาบอดจนต้องเปลี่ยนอาชีพ ดาวไสวแม่ค้าขายข้าวแกงริมถนนเพื่อเลี้ยงสามีที่ชอบทุบตีร่างกาย เฒ่าวาดชายชราชาวมอแกลนที่เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวขณะออกเรือหาปลา นี่คือภาพของผู้คนบางส่วนที่ผู้แต่งนำเสนอไว้ในหนังสือเล่มนี้  

            พิเชฐ แสงทอง ได้ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ว่า มีการเลือกใช้ฉาก และภาพบางอย่างซ้ำกันหลายบท คือ ถนน ยานพาหนะ และความรวดเร็ว ซึ่ง 3 อย่างนี้ล้วนแล้วแต่เป็นหัวใจของการเป็นสังคมสมัยใหม่ การดำเนินชีวิตของผู้คนปัจจุบันมีความสะดวกสบายและรวดเร็วจนอาจหลงลืมบางอย่างไป “นครคนนอก จึงราวกับเป็นการยื่นข้อเสนอให้สังคมสมัยใหม่ย้อนทวนประสบการณ์ตัวเองเพื่อจะได้พบว่าอะไรและใครบ้างที่ความเป็นสมัยใหม่ได้ทำหล่นหายไประหว่างกระบวนการกลายเป็นสังคมสมัยใหม่ของมัน” [2]

            ข้าพเจ้าพบว่ามีอีกสิ่งหนึ่งที่ปรากฏซ้ำหลายครั้งอย่างมีนัยในหนังสือเล่มนี้ คือ “ฝุ่น” ซึ่งผู้แต่งนำมาใช้ในบทกวีหลายบทด้วยกัน เช่น ฝุ่นของฟันเฟือง ด็อกออนเดอะโรด นักหาบแดด จอมขมังเวทย์ ความฝันพุ่งหลาวเข้าไปในเมือง เป็นต้น การนำฝุ่นมาใช้ซ้ำในหนังสือเล่มนี้ข้าพเจ้าเห็นว่ามีประเด็นที่น่าสนใจจึงลองหยิบมาศึกษาและเขียนเป็นบทวิจารณ์

            พลัง เพียงพิรุฬห์ ได้กล่าวถึง “ฝุ่น” ไว้หลายบทซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ฝุ่นเป็นดัชนีชี้วัดความเป็นเมืองกับชนบท และ/หรือความเป็นคนเมืองกับคนชายขอบ บทกวีบางบทใช้ “ฝุ่น” เพื่อแสดงการเป็นคนชายขอบในชนบท เช่น บท “จอมขมังเวทย์” ที่เปรียบเทียบการตายของเฒ่าวาดชายชราชาวมอแกลนวัย 93 ปีว่าเรื่องราวการตายครั้งนี้จะเป็นเพียง “ฝุ่นซึ่งเป็นตำนานแห่งผงฝุ่น  จากรุ่นสู่รุ่นการฟันฝ่า” จะเห็นว่ากวีได้ลดสถานะการตายของเฒ่าวาดซึ่งก็คือตัวแทนของคนชายขอบในชนบทให้มีค่าเท่ากับ “ฝุ่น” ที่แม้จะเป็นตำนานแต่ก็เป็นเพียง “ตำนานแห่งผงฝุ่น” ที่จะอันตรธานหายไปกับมวลอากาศอย่างรวดเร็ว ไม่อยู่ในความทรงจำของผู้คนในสังคมได้นาน และไม่ว่าจะกี่รุ่นต่อกี่รุ่น เรื่องราวของคนชายขอบก็จะเป็นเพียงเรื่องของฝุ่นที่ไม่ควรค่าแก่การจดจำอยู่ดี

            บทกวีบางบทใช้ “ฝุ่น” เพื่อแทนการเป็นคนชายขอบในเมืองหลวง อย่างคนขายไข่ปิ้งในบท “นักหาบแดด” ดังบทกวีที่ว่า “ยายแตแก่หงำมือค้ำหลัง  ดุจผงฝุ่นจากฝั่งวาสนา” ถ้าเปรียบคนที่อาศัยอยู่บนตึกสูงเป็นผู้มีวาสนาหรือเป็นคนเมืองที่อาศัยอยู่ในเมือง คนขายไข่ปิ้งเช่นยายแตก็เป็นได้เพียงผงฝุ่นที่ “ปลิวเลาะเลียบหมู่ตึกแห่งชะตา” ไม่มีวาสนาจะได้จับจองพื้นที่บนตึกสูงเหล่านั้น เป็นได้แค่คนชายขอบที่อาศัยอยู่ใต้ร่มเงาของเมือง

            อีกบทที่มีการใช้ “ฝุ่น” ในลักษณะเดียวกันกับบทข้างต้น ก็คือบท “ฝุ่นของฟันเฟือง” ซึ่งกล่าวไว้ในกลอนบทสุดท้ายว่า

                                    “เขาคือเรื่องราวสักห้วงหนึ่ง                     จดจำได้ไม่ลึกซึ้งไม่ถึงแก่น

                        มักออกไปทำงานอย่างแกนแกน                           คือฝุ่นฟันเฟืองแผนพัฒนา

            เนื้อหาวรรคสุดท้ายในกลอนบทข้างต้น ผู้แต่งได้กล่าวถึง “เขา” คนหนึ่งว่าเป็น “ฝุ่น” ของเครื่องจักรกลที่ต้องทำงานสนองแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 

            จะเห็นว่า ทั้งบท “นักหาบแดด” และ “ฝุ่นของฟันเฟือง” กวีใช้คำว่า “ฝุ่น” เป็นตัวแทนของคนที่ถูกความเป็นเมืองกดทับชะตากรรมเอาไว้ไม่ให้ลืมตาอ้าปาก แม้ว่าตัวละคร “ยายแต” จะเป็นคนชายขอบในสังคมเมือง ส่วน “เขา” จะเป็นชนชั้นกลางก็ตาม แต่ทั้ง 2 คนต่างก็ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาสู่ความเป็นเมืองทั้งสิ้น

            ทั้งนี้  หากพิจารณาความหมายของคำว่า “ฝุ่น” จากบทกวีที่ยกมาทั้ง 3 บทจะเห็นว่ามีทั้งความเหมือน และแตกต่างกัน กล่าวคือ บท “จอมขมังเวทย์” กวีใช้คำว่า “ฝุ่น” ประกอบกับการระบุชาติพันธุ์ (มอแกลน) และการแสดงวิถีชีวิต “การออกเรือหาปลา” ของเฒ่าวาด เพื่อให้ความหมายว่า “ฝุ่น” คือคนชายขอบในชนบท ในขณะที่บท “นักหาบแดด” กวีใช้คำว่า “ฝุ่น” ประกอบกับอาชีพคนขายไข่ปิ้งของ “ยายแต” และสถานที่คือ “ตึกสูง” เพื่อให้ความหมายว่า “ฝุ่น” คือคนชายขอบในเมืองหลวง ส่วนบท “ฝุ่นของฟันเฟือง” กวีใช้คำว่า “ฝุ่น” ประกอบกับวิถีชีวิตการทำงานแบบ “วันศุกร์หาได้คลายตารางนัด  เสาร์ถัดไม่ถอยคอยประชุม  อาทิตย์แสนเพลียเคลียร์เอกสาร” ของตัวละครและใช้ประกอบกับคำว่า “ฟันเฟือง” ซึ่งเป็นชิ้นส่วนของเครื่องจักร เพื่อให้ความหมายว่า “ฝุ่น” คือชนชั้นกลางระดับล่างในเมืองหลวง

แม้จะมีความแตกต่างทางความหมายแต่บทกวีทั้ง 3 บทต่างก็ใช้คำว่า “ฝุ่น” ในลักษณะเดียวกันคือหมายถึง “คน”

            ความน่าสนใจของคำว่า “ฝุ่น” ในหนังสือกวีนิพนธ์เล่มนี้อยู่ที่ผู้แต่งไม่ได้ใช้คำว่า “ฝุ่น” เพื่อจำแนกความเป็นคนในสถานภาพต่าง ๆ เท่านั้น แต่ยังใช้เป็นดัชนีชี้วัดความเป็นเมืองกับชนบทอีกด้วย

            บทกวี 2 บทที่ พลัง  เพียงพิรุฬห์ ใช้ “ฝุ่น” เพื่อจำแนกความเป็นเมืองและชนบทเอาไว้อย่างชัดเจน คือบท “ความฝันพุ่งหลาวเข้าไปในเมือง” ซึ่งแต่งเป็นกลอนเปล่าเปิดด้วยวลีที่ว่า “ฝุ่นบนทางลูกรัง  ปลิวคลุ้งมาไม่ถึงเมือง” เป็นเรื่องราวของคนชนบทคนหนึ่งที่เข้าไปหางานทำในเมืองหลวงด้วยความฝันเต็มเปี่ยม กับอีกบทคือ “ด็อกออนเดอะโรด” ในกลอนบาทหนึ่งว่า “คงเป็นหมาหายไปในผงฝุ่น  ในฝ้าขุ่นคลุ้งควันฝันเมืองหลวง”

            เมื่อพิจารณาความหมายของคำว่า “ฝุ่น” ในกลอนข้างต้นทั้ง 2 บทพบว่าไม่ได้หมายถึงคนเพียงอย่างเดียวเหมือนกับบทกวี “จอมขมังเวทย์” “นักหาบแดด” และ “ฝุ่นของฟันเฟือง” แต่ได้แสดงภาพความเป็นชนบทและเมืองเอาไว้ด้วย ซึ่งในภาพนั้นอาจมีผู้คน สภาพแวดล้อม หรือวิถีชีวิตปรากฏอยู่ก็ได้ ทั้งนี้ “ฝุ่น” ในบทใดจะหมายถึงชนบทหรือเมืองก็ให้สังเกตบริบทของคำ กล่าวคือ “ฝุ่น” ใน “ความฝันพุ่งหลาวเข้าไปในเมือง” ปรากฏร่วมกับคำว่า “บนทางลูกรัง” ซึ่งเป็นตำแหน่งแห่งที่ที่ฝุ่นดำรงอยู่ “ฝุ่นบนทางลูกรัง” จึงแสดงภาพความเป็นชนบทที่ถนนหนทางยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างทั่วถึง

            ในขณะที่ “ฝุ่น” ใน “ด็อกออนเดอะโรด” ปรากฏร่วมกับคำว่า “ฝ้า, ควัน และเมืองหลวง” ทำให้ “ฝุ่น” ในที่นี้จึงแสดงภาพความเป็นเมืองที่ยวดยานพาหนะต่างพ่นควันขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศจนเป็นฝ้าพร่ามัว หากจะว่าไปแล้ว “ฝุ่น” ใน “ด็อกออนเดอะโรด” ก็คือฝุ่น pm 2.5 ที่สังคมเมืองกำลังประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้นั่นเอง

            หากนำคำว่า “ฝุ่น” มาแสดงในตารางเพื่อให้เห็นความหมายที่เข้าใจง่ายขึ้นจะได้ตาราง ดังนี้ 

บท

การปรากฏของคำว่า “ฝุ่น”

ความหมายในบทกวี

จอมขมังเวทย์

ฝุ่น + ชาติพันธุ์ + วิถีชีวิต (ออกเรือหาปลา)

คนชายขอบในชนบท

นักหาบแดด

ฝุ่น + อาชีพ (ขายไข่ปิ้ง) + สถานที่ (ตึกสูง)

คนชายขอบในเมืองหลวง

ฝุ่นของฟันเฟือง

ฝุ่น + วิถีชีวิตการทำงาน + คำว่า “ฟันเฟือง”

ชนชั้นกลางระดับล่างในเมืองหลวง

ความฝันพุ่งหลาวเข้าไปในเมือง

ฝุ่น + สถานที่ (ถนนลูกรัง)

สภาพความเป็นชนบท

ด็อกออนเดอะโรด

ฝุ่น + คำว่า “ฝ้า, ควัน และเมืองหลวง”

สภาพความเป็นเมือง

            หากฝุ่นคืออนุภาคหนึ่งที่ล่องลอยอย่างไม่หยุดนิ่งในมวลอากาศซึ่งบางครั้งอาจแทรกตัวระหว่างตึกสูงในเมืองหลวง หรือบางคราวก็ฟุ้งกระจายอยู่เหนือท้องถนนในชนบท ไม่สามารถกำหนดขอบเขตหรือจัดแจงที่อยู่ให้แก่อนุภาคชนิดนี้ได้  “ฝุ่น” ที่ปลิวละล่องอยู่ในบทกวีบทต่าง ๆ ของ “นครคนนอก” ก็คงอยู่ในสถานะเดียวกัน คือบางบทก็หมายถึงเมือง บางบทก็หมายถึงชนบท  พลัง  เพียงพิรุฬห์  เลือกใช้คำว่า “ฝุ่น” ในความหมายที่หลากหลาย เลื่อนไหล ไม่หยุดนิ่งซึ่งนี่อาจเป็นความสอดคล้องโดยบังเอิญกับสถานะของสิ่งที่เรียกว่า “ฝุ่น” จริง ๆ ก็ได้

            การใช้คำว่าฝุ่นในความหมายที่หลากหลายนอกจากจะเป็นการ “เล่นคำ” ซึ่งเป็นกลวิธีทางวรรณศิลป์อย่างหนึ่งแล้ว ข้าพเจ้าคิดว่า นี่คือการพยายามตอบโต้นิยามความเป็นเมืองกับชนบทที่คนเมืองสร้างนิยามขึ้นมาเพื่อแบ่งแยกระหว่างเมืองกับชนบทให้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง “คนเมืองผู้ถือว่าตัวเองเป็นผู้เจริญกว่ามักจะมองว่าชนบทคือดินแดนแห่งความยากจน อดอยาก ล้าหลัง อ่อนแอ” [3] และมักผลักชนบทให้ “เป็นอื่น” เสมอ ทั้งที่จริง ๆ แล้ว “เมืองก็ย่อมจะเคยเป็นชนบทมาก่อน” [4] และคนชนบทหรือคนชายขอบเองล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่ “ตื่นแต่รุ่งสางไปสร้างเมือง” ทั้งสิ้น การสร้างเมืองในที่นี้มีทั้งการสร้างเมืองในทางกายภาพ เช่น กรรมกรก่อสร้างจากบท “คนอยู่บ่ได้สร้างสักเสา คนสร้างบ่ได้เนาแนบสนิท” และ “นักนั่งร้าน” และการสร้างเมืองเชิงโครงสร้างสังคมโดยเฉพาะที่สะท้อนผ่านการประกอบอาชีพต่าง ๆ เพื่อสนองความเป็นเมือง เช่น อาชีพกระเป๋ารถเมล์จากบท “หน้าเหลืองทางคดรถเมล์”  พนักงานบริษัทประกันภัยรถยนต์จากบท “เคลม” คนงานในโรงงานอุตสาหกรรมจากบท “เนื้อปลาฝนมีด” แม่ค้าขายข้าวแกงริมถนนจากบท “ผัดเผ็ดปลาดุกคลุกเครื่องข่า” เป็นต้น 

            ดังนั้น “นครคนนอก” จึงเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่กระตุ้นเตือนให้คนเมืองหันกลับไปมองประวัติศาสตร์การก่อร่างสร้างเมืองว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เพราะใครบ้าง ในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นคุณค่าของคนชนบทหรือคนชายขอบที่มีบทบาทในการสร้างเมือง

            ฝุ่นเป็นสิ่งที่คนเมืองเห็นว่าไร้ค่า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า นอกจากตึกสูง ถนน ทางด่วน และรถติดแล้ว ฝุ่นถือเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่ประกอบสร้างความเป็นเมืองขึ้นมาโดยที่เราไม่รู้ตัว กล่าวคือ เมื่อพูดถึงเมืองหลวงคงจะมีภาพหนึ่งที่ปรากฏเด่นอยู่ในหัวคือฝุ่น คนชนบทหรือคนชายขอบ เช่นเดียวกันที่คนเมืองมักรังเกียจเดียดฉันท์และมองว่า “เป็นอื่น” ทั้งในความจริงแล้ว ต่างเป็นผู้มีคุณูปการในการสร้างเมืองให้คนเมืองได้อาศัยอยู่จนทุกวันนี้

            เมื่อฝุ่นสามารถปลิวจากเมืองสู่ชนบท และจากชนบทสู่เมืองได้โดยที่เราไม่ได้มาแบ่งแยกว่าฝุ่นละอองไหนมาจากที่ใด คนเราก็สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่จำเป็นต้องสร้างนิยามเพื่อแบ่งแยกว่าใครเป็นคนเมือง คนชนบทหรือคนชายขอบ 

            อนึ่ง ที่ข้าพเจ้าตั้งชื่อบทวิจารณ์ว่า “นครคนนอก : ที่เธอเห็น (ไม่ใช่) แค่ฝุ่นมันเข้าตา” ซึ่งดัดแปลงมาจากเนื้อร้องท่อนหนึ่งในเพลง “ทางของฝุ่น” ของศิลปิน “อะตอม  ชนกันต์” นั้น เพื่อจะแสดงให้เห็นว่า “ฝุ่น” ในหนังสือนครคนนอก ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งแปลกปลอมที่ผ่านเข้ามาในดวงตาแล้วเราจะใช้น้ำล้างออกไปอย่างง่ายดาย แต่ “ฝุ่น” ในหนังสือเล่มนี้เมื่อเข้ามาในดวงตาของนักอ่านแล้วมันมีคุณค่ามากพอที่จะนำมาพิจารณาในแง่มุมต่าง ๆ ได้

 

เอกสารอ้างอิง

[1]พลัง  เพียงพิรุฬห์.  (2560).  นครคนนอก (พิมพ์ครั้งที่ 2).  สกลนคร : นิดจะศิลป์.

[2],[4]พิเชฐ  แสงทอง.  (ม.ป.ป.).  “นครคนนอก” ถนน สังคมสมัยใหม่ และการ (ไม่) ลืม.  สืบค้นเมื่อ   10 เมษายน 2563,จาก http://www.duangjaivijarn.com/16861851/พิเชฐ-แสงทอง.

[3]  ชูศักดิ์  ภัทรกุลวณิชย์.  (2558).  “เหมือนอย่างไม่เคย...มีแต่พวกมัน จากวิทยากร  เชียงกูล ถึง 

            วัน ณ จันทร์ธาร,” ใน ชูศักดิ์  ภัทรกุลวณิชย์, อ่าน (ไม่) เอาเรื่อง.  หน้า 209 – 219.  

            กรุงเทพฯ : อ่าน.

 


 

Visitors: 81,120