Orn the way: บันทึกเยี่ยมแดนอิตาลี
พิชชาภา ลักษณ์เลิศกุล
โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์
การเดินทางเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ในหลาย ๆ แง่มุม ทั้งการได้พบเจอสถานที่แห่งใหม่ เห็นวิธีชีวิตของผู้คนต่างถิ่น วัฒนธรรมที่ต่างหรือคล้ายคลึงกัน และที่สำคัญคือได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้กับชีวิตของตน บันทึกการเดินทาง จึงเป็นหนังสือรูปแบบหนึ่งที่มีคุณค่ายิ่ง เพราะได้ให้ผู้อ่านประสบการณ์จริงของของคนอีกคนหนึ่ง และมาในรูปแบบที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าการออกเดินทางด้วยตนเอง หนังสือเรื่อง Orn the way โดย พัศชนันท์ เจียจิรโชติ เป็นบันทึกการเดินทาง 7 วันไปยังสี่เมืองดังของประเทศอิตาลีกับมิตรสหายคนสนิท ผู้เขียนได้ทำการบันทึกเรื่องราวตั้งแต่ก่อนเริ่มเดินทางจนจบ เป็นการเดินทางที่ไม่ได้ราบเรียบ เต็มไปด้วยอุปสรรค มีเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ได้สร้างประสบการณ์มากมายให้แก่ผู้เขียน รวมทั้งความสนุกสนานให้ผู้อ่านไปด้วยกัน
หนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนได้แบ่งออกเป็นห้าส่วนคร่าว ๆ ด้วยกัน ก่อนการเดินทาง ซึ่งเป็นส่วนที่ตัวผู้เขียนอยู่ในกรุงเทพมหานคร เป็นเรื่องราวที่มาของหนังสือเล่มนี้โดยสังเขป เหตุใดผู้เขียนถึงได้ลางานและออกเดินทางไปต่างประเทศ สี่เมืองอิตาลีที่ผู้เขียนได้เดินทางไปนั้นคือ เมืองมิลาน เมืองเวโรนา เมืองฟลอเรนซ์ และกรุงโรม สำหรับหนังสือเล่มนี้จะเป็นบันทึกที่ไม่ได้ยาวจนเกินไป สามารถอ่านจบได้ในระยะเวลาไม่นาน รวมทั้งมีภาพประกอบเสริมมาอีกด้วย เป็นหนังสือที่เข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัย และอาจเหมาะกับผู้เริ่มต้นอ่านหนังสือประเภทนี้ เพราะเนื้อหาไม่ได้มีความซับซ้อนเกินไปนัก
รูปแบบการใช้ภาษาในหนังสือเล่มนี้ จะออกไปในเชิงไม่เป็นทางการสักเท่าไร อาจจะไม่ได้มีการบรรยายที่สวยงามหรือลึกซึ้งมาก ผู้อ่านจะได้ความรู้สึกราวกับกำลังฟังเพื่อนคนหนึ่งเล่าเรื่องให้ฟัง มีการใช้คำแสลงร่วมสมัยค่อนข้างบ่อย แต่ละย่อหน้าจะค่อนข้างรวบรัดและสั้น มีการลากตัวอักษรตัวสุดท้ายที่อาจจะใช้พื้นที่มากเกินในบางตำแหน่ง ส่งผลให้รู้สึกเว่นเว้อบ้าง แต่โดยภาพรวมมิได้สร้างปัญหากวนใจแต่อย่างใด
ในขณะที่อ่านหนังสือเล่มนี้ รูปแบบการเขียนจะชวนให้นึกถึงการเขียนสเตตัสโซเชียลมีเดียหรือเขียนบล็อกตามอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นการเขียนที่พบเจอได้บ่อยที่สุดในยุคปัจจุบัน แค่เพียงแต่ประโยคในหนังสือนี้จะยาวกว่า ซึ่งทำให้ค่อนข้างแตกต่างจากการเขียนอย่างดั้งเดิม เพราะการเขียนในรูปแแบบนี้ถึงแม้อาจจะไม่สละสลวยเท่ากับงานแบบดั้งเดิม แต่สามารถสะท้อนช่วงเวลาที่หนังสือเล่มนี้ถูกเขียนขึ้นมาได้ค่อนข้างดี เป็นการผสมผสานระหว่างการเขียนตามแบบดั้งเดิม และการใช้ภาษาของคนรุ่นใหม่ เนื่องด้วยภาษาไม่ใช่สิ่งที่หยุดอยู่นิ่ง แต่มีการวิวัฒน์และเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ และยังมีการใช้สัญลักษณ์ผสมเข้าไปในงานเขียน อย่างเครื่องหมาย # หรือรูปหน้ายิ้ม :) ยิ่งเป็นเอกลักษณ์ของการใช้ภาษาในยุคนี้ไปอีก
การอ้างอิงผลงานต่าง ๆ และผสมผสาน pop culture หรือวัฒนธรรมประชานิยม เข้าไปในตัวหนังสือนี้ สามารถเห็นได้อย่างเจนชัดตลอดทั้งเล่ม ผู้เขียนได้อ้างอิงไปถึงสื่อต่าง ๆ ที่มาจากยุคหลังนี้ ทั้ง ภาพยนต์เพลง ศิลปิน และหนังสือ การอ้างอิงนี้ ในบางจุดเพื่อเป็นการเปรียบเทียบให้ผู้อ่านได้เห็นภาพบ้าง หรือในบางโอกาสเพื่อเป็นมุกตลกให้ผู้อ่านรู้สึกบันเทิงไป หรือในบางครั้งก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนการท่องเที่ยวด้วย ยกตัวอย่างเช่น ผู้เขียนได้เลือกที่จะเดินทางไปยังเมืองเวโรนา ส่วนหนึ่งเพื่อตามรอยภาพยนต์ Letters to Juliet (ค.ศ. 2010) ที่ผู้เขียนชื่นชอบ เป็นต้น วัฒนธรรมเหล่านี้ เป็นอะไรที่ผสานเข้าไปในชีวิตของคนหมู่มาก ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าสิ่งเหล่านี้ได้เข้ามามีผลต่อมุมมองของสังคม หรือวิธีการคิดของคนที่โตมา หรืออาศัยอยู่ในช่วงเวลานั้น ๆ สิ่งเหล่าเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนต่างรุ่นอาจจะไม่สามารถพูดคุยแล้วเข้าใจกันได้เหมือนคนที่อายุใกล้เคียงกัน
ถึงแม้หนังสือเล่มนี้อาจจะมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้อ่านที่อยู่ในรุ่นอายุไม่ต่างจากผู้เขียนมาก แต่สำนวนในหนังสือเล่มนี้ก็ยังสามารถเข้าถึงได้ด้วยคนส่วนใหญ่ ถึงจะมีอายุที่ต่างกันก็ตาม ตัวเนื้อเรื่องค่อนข้างเข้าถึงได้ง่ายไม่ซับซ้อน ให้แง่คิดแก่ผู้อ่านตรง ๆ กว่าหนังสือจำพวกนวนิยาย เพราะเหตุนี้เอง ถึงแม้จะมีการอ้างอิงไปถึงสิ่งต่าง ๆ ในยุคของคนรุ่นใหม่มากมายหลายครั้งแต่แก่นหลักของหนังสือก็เป็นส่วนที่เข้าถึงได้สำหรับผู้อ่านส่วนใหญ่
นอกจากนั้นแล้ว หนังสือเล่มนี้ได้เปิดมุมมองและตัวตนของผู้เขียนในแบบที่ต่างออกไป คนส่วนใหญ่ที่รู้จักผู้เขียนตามสื่อ จะรู้จักพัศชนันท์ เจียจิรโชติ ในฐสนะ อร BNK48 ศิลปินวงไอดอล หนังสือเล่มนี้ทำให้ผู้อ่านได้เห็นสิ่งที่ต่างออกไปในตัวผู้เขียน เพราะในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนได้โอกาศที่จะเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ที่ไม่ได้มีใครรู้จักหน้าแค่ เดินทางไปต่างประเทศเพื่อหาแรงบรรดาลใจในการเขียนหนังสือ ผู้เขียนได้รับอิสระมากกว่าในการที่จะเป็นตัวของตนเอง หรือเสนอแนวความคิดที่อาจจะไม่เหมาะกับโลกออนไลน์เท่า หนึ่งในเรื่องน่าเศร้าเกี่ยวกับการตีพิมพ์หนังสือทุกวันนี้คือ มีผู้อ่านน้อยลงมาก เนื่องด้วยมีสื่ออื่น ๆ ที่เป็นทางเลือกให้กับคนหมู่มาก อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้เขียนกลับเป็นโอกาศดีเพราะได้ให้เสรีภาพในการเป็นตัวเองมากกว่า เพราะผู้คนไม่จับจ้องหาข้อผิดพลาดของตัวผู้เขียนอย่างบนโลกออนไลน์
ตัวอย่างของอีกมุมหนึ่งที่ได้เห็นผู้เขียนกล่าวถึง คือความรู้สึกของผู้เขียนที่ได้พักจริง ๆ ครั้งแรก สำหรับคนธรรมดาอย่างเรา การหยุดไปท่องเที่ยว 7 วันอาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรแต่สำหรับตัวผู้เขียน เธอไม่ได้มีโอกาศคล้ายอย่างนี้มากพักหนึ่งแล้ว ตั้งแต่เริ่มได้ทำงานในวงการบันเทิงชื่อเสียงของเธอเป็นราวกับดาบสองคม ที่ถึงเธอจะชอบอย่างไร ก็มีชีวิตส่วนตัวที่ต้องสละไปให้งานอาชีพนี้ผู้เขียนได้กล่าวไว้ "ถ้าไม่พร้อม คณุ ก็ถูกแซง หลายครั้งเวลาเหนื่อยๆ ก็แอบคิดเหมือนกันว่าถ้าได้หยุดพักมากกว่าหนึ่งวันบ้างก็ดี" น.14
ในการเดินทางครั้งนี้ผู้เขียนได้ไปกับมิตรสหายอีกหนึ่งคน เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุขไปในเหตุการณ์ต่าง ๆ ตั้งแต่ตอนที่เริ่มทำวีซ่าจนถึงวันเดินทางกลับ มิตรสหายคอยให้ความคิดเห็นหรือช่วยเหลือระวังหลังกันและกันในประเทศอิตาลีที่มีชื่อเสียในด้านอาชญากรรมด้วย ตัวตนของมิตรสหายนั้น ไม่ได้ถูกปิดเป็นความลับแต่อย่างใด มีรูปถ่ายของทั้งสองอยู่ในหนังสือหน้าต่าง ๆ รวมทั้ง "มิตรสหาย" ก็ได้เขียนบทส่งท้ายให้กับหนังสือเล่มนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนกล่าวถึงบุคคลคนนี้ด้วยคำว่า มิตรสหาย แทนการใช้ชื่อตลอดทั้งเรื่องซึ่งสันนิฐานว่าอาจจะมาจากเหตุที่ผู้เขียนอยากให้ใช้เป็นชื่อเดียวไปเลยทั้งเล่ม เพื่อลดความสับสน หรืออาจจะเป็นเพราะผู้เขียนต้องการให้คนอ่านจำมิตรสหายในฐานะคนธรรมดาอีกหนึ่งคนหนึ่ง เหมือนกันกับที่มองผู้เขียนในหนังสือเล่มนี้ก็เป็นได้แทนการมองทั้งสองเป็นคนมีชื่อเสียงที่ต้องจับตา
จากการที่ทั้งผู้เขียนและมิตรสหายได้เดินทางไปต่างประเทศด้วยกันสองคน จึงได้ใช้เวลาด้วยกันมากกว่าที่เคยมาก่อน ก็เป็นเรื่องไม่น่าประหลาดใจนักที่อาจจะมีผิดใจกันบ้าง บางครั้งอารมณ์ของมนุษย์เราก็พาไปเสียเกินเหตุเรื่องเล็กจนกลายเป็นเรื่องใหญ่อย่างในการเดินทางครั้งนี้ผู้เขียนและมิตรสหายแทบไม่มีปัญหาเรื่องการทะเละกันเลย จะมีก็เสียครั้งเดียว ทั้งสองผิดใจกันจากเรื่องเล็กน้อยอย่างการเลือกร้านอาหารแต่ก็รับรู้ข้อผิดพลาดของฝ่ายตนและตกลงกันได้ไม่หยิ่งทะนงตน ยอมเอ่ยปากขอโทษอีกฝ่ายในเรื่องที่ทำผิดไป ทำให้ปัญหาไม่เลยเถิดและผู้เขียนได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า "สําหรับบทนี้ อรก็ได้บทเรียนที่ว่า มิตรภาพสําคัญกว่าการโมโหหิว" ถือเป็นบทเรียนเล็ก ๆ ในมิตรภาพให้กับทั้งตัวผู้เขียนและผู้อ่าน
จากการเดินทางครั้งนี้ ผู้เขียนได้พบหลาย ๆ อย่างที่ได้ให้ประสบการณ์ข้อคิดกับผู้เขียน ได้เรียนรู้ว่าอย่างไหนที่ไม่ควรทำ หรือแม้แต่ความรอบคอบในเรื่องยิบย่อย ได้พบเจอวัฒนธรรมในประเทศอิตาลีที่ต่างออกไป และได้เห็นถึงน้ำใจและความเป็นมิตรของคนต่างถิ่น อย่างการถามทางแล้วได้รับความช่วยเหลือ หรือการยิ้มขอบคุณให้กับพนักงานในร้านอาหารที่ดูเผิน ๆ ตอนแรก ผู้เขียนคาดว่าจะไม่เป็นมิตรกับตนและมิตรสหายเพราะไม่ใช่คนท้องถิ่น แต่เขากลับส่งยิ้มให้เหมือนกัน
เพิ่มเติมจากนั้น เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดการเดินทางนี้ทำให้ผู้เขียนได้นึกถึงชีวิตของตนในมากกว่าที่เคย ตอนที่กำลังเดินทางไปเมืองฟลอเรนซ์ ผู้เขียนได้พบคนไทยที่อาศัยอยู่ที่อิตาลีคนหนึ่ง และได้สนทนาด้วยกัน ผู้เขียนสอบถามว่าทำไมเขาถึงเลือกอยู่ที่ประเทศนั้น เมื่อคุยกัน จึงได้มีบ้างส่วนที่ชายไทย ซึ่งทำอาชีพเป็นนักเพาะกายบอกเล่าให้ฟัง เมื่อผู้เขียนได้ฟังแล้วรู้สึกว่ามีบางส่วนที่คล้ายกับแนวอาชีพของตน ที่ต้องอยู่กลางแสงไฟ การตัดสินโดยคนมากมายที่ไม่รู้จักเป็นส่วนหนึ่งอาชีพของผู้เขียน แต่ก็เป็นอะไรที่ต้องทำใจและเดินหน้าต่อไป "มีบางครั้งที่เรารู้สึกว่าเจอกบทางที่ยากลำบาก มีบางครั้งที่เราพ่ายแพ้ มีบางครั้งที่เราต้องรับกับคำตัดสินที่เจ็บเหมือนเอามีดมากรีดหัวใจ และมีบางครั้งที่ต่อให้ใจแตกสลาย เราก็ต้องเก็บเศษพวกใจนั้นมาประกอบขึ้นใหม่เอง" น.143
ชื่อหนังสือ Orn the way นั้นมาจากชื่อเล่นของผู้เขียน คืออร (Orn) รวมกับการเล่นคำของวลี on the way ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยได้สองความหมาย หนึ่งคือ กำลังเดินทางไปหรือกำลังจะเกิดขึ้น และอีกความหมายหนึ่งสื่อได้ถึงอะไรที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง สำหรับชื่อของหนังสือเล่มนี้อาจหมายถึงความหมายที่สอง เพราะเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวและประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้เขียนในระหว่างการเดินทางหนึ่งสัปดาห์ไปยังประเทศอิตาลี
***************************************************
ซื้อหนังสือ ได้ที่