2025A03

          แม้จะได้ชื่อว่า “สเปโร โซนาตา ท่วงทำนองแห่งความหวัง” แต่วรรณกรรมรวมเรื่องสั้นของรมณ กมลนาวิน เล่มนี้ กลับไม่ได้มอบความหวังให้กับผู้อ่านเท่าไรนัก ด้วยจุดมุ่งหมายของเรื่องราวทั้ง 12 เรื่องที่ผู้เขียนต้องการสื่อจะล้วนแตกต่างกัน ถึงกระนั้น ตัวละครทุกตัวล้วนมีจุดเชื่อมพื้นฐานที่ยึดโยงกับการดิ้นรนภายใต้องค์ประกอบของสังคมที่ไม่ค่อยจะเอื้ออำนวย 

          “Wemustacceptfinitedisappointment, butneverloseinfinitehope.” – “เราต้องยอมรับความผิดหวังที่เกิดขึ้นได้ แต่จงอย่าสูญเสียความหวังที่ไม่สิ้นสุด” มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ นักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองคนสำคัญคนหนึ่งของสหรัฐอเมริกา เคยกล่าวไว้ในช่วงเวลาแห่งการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิพลเมืองของ

          ชาวอเมริกันผิวดำ เพราะภายในทั้ง 12 เรื่องสั้นที่กำลังจะกล่าวถึง ตัวละครจะต้องต่อสู้ไม่เพียงแค่กับโลกภายนอกที่โหดร้าย แต่ยังต้องต่อสู้กับความรู้สึกภายในที่เต็มไปด้วยความสิ้นหวัง และการสูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเอง ต้องอยู่ในสภาวะที่เหมือนจะไม่มีทางออก ขณะที่โลกภายนอกกลับไร้การสนใจ และไม่เต็มใจที่จะให้โอกาสในการเปลี่ยนแปลง แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ทำให้การต่อสู้ของพวกเขายังมีความหมาย คือการที่ผู้อ่านยังคงรักษาความหวังไว้ในใจ ความหวังซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนที่ทำให้ผู้อ่านสามารถมองเห็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลง แม้ในยามที่รู้สึกเหมือนว่าทุกสิ่งจะพังทลายลง ความหวังคือสิ่งที่ทำให้การดิ้นรนของตัวละครไม่สูญเปล่า แม้ว่าตัวละครในเรื่องจะไม่ได้รับโอกาส ณ ตอนนั้นก็ตามที เพราะในที่สุดแล้ว หากผู้อ่านยังคงเชื่อในโอกาสที่ดีขึ้น ความหวังนั้นจะเป็นแรงกระเพื่อมสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่สังคมวงกว้างได้ในที่สุด 

  

ท่วงทำนองแห่งความแตกร้าวในครอบครัว 

          สถาบันครอบครัวเป็นหน่วยเริ่มต้นพื้นฐานที่มีบทบาทสำคัญในการหล่อหลอมเด็กคนหนึ่งให้เป็นไปตามบรรทัดฐานความดีงามของสังคม ความสัมพันธ์ของคนกลุ่มนี้มีอิทธิพลลึกซึ้งต่อชีวิตของบุคคลบุคคลหนึ่งได้มากมายอย่างน่าเหลือเชื่อ เพราะเมื่อใดที่ครอบครัวมีความรัก ความเข้าใจ และการสนับสนุนอย่างมั่นคง มันจะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญในการช่วยให้สมาชิกทุกคนเติบโตไปในทิศทางที่ถูกต้อง สามารถเผชิญหน้ากับความท้าทายต่าง ๆ ของชีวิต แต่ในขณะเดียวกัน หากความสัมพันธ์ในครอบครัวเต็มไปด้วยความขัดแย้ง หรือการขาดการสนับสนุน มันก็สามารถแปรเปลี่ยนเป็นแรงกดดันที่ย้อนกลับมาทำร้ายเรา จนกลายเป็นบาดแผลทางจิตใจที่ยากจะฟื้นฟู  

          ใน “หญิงสาวกับชายชราผู้อ่านปรัชญาชีวิตของยิบราน” สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียม (Power Dynamic) ระหว่างเด็กสาววัยย่างเข้ามหาวิทยาลัย และชายสูงอายุที่เธอนิยามว่า “เขาเป็นชายอายุหกสิบที่ต่างจากพ่อของเธอที่เอาแต่ดุด่า ไปถึงขั้นไม่ยอมฟังเหตุผลของลูก” (น.43) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการใช้ความรุนแรงทางอำนาจในครอบครัว โดยชายสูงวัยเลือกเข้าหาหญิงสาวที่ยังขาดประสบการณ์ชีวิต และอยู่ในสภาวะไร้ที่พึ่ง เพื่อใช้ความสัมพันธ์นี้ควบคุมเธอในช่วงที่เธออ่อนแอ ในท้ายที่สุด เธอก็เติบโตมาด้วยการถูกครอบงำให้คิดว่ามีเพียงสามีเป็นโลกทั้งใบ ไม่สามารถยืนหยัดด้วยตัวเองได้อีก อีกทั้งยังต้องเติบโตในสังคมชายเป็นใหญ่ กลายเป็นผู้หญิงที่ต้องรับบทบาททั้งแม่ เมีย และคนรับใช้ ไร้ร่องรอยของความรักที่เคยมีให้กันในวันเก่า 

          ในเรื่องสั้น “คืนสังหาร” มีการสะท้อนความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างสามีภรรยา จนนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ (ToxicRelationship) ที่ยากจะฟื้นฟูให้กลับมาเป็นดังเดิม ฝ่ายชายต้องทนรับการข่มเหง และความกดดันจากฝ่ายหญิง ที่คาดหวังให้เขาทำงานในบ้านในขณะที่เธอออกไปทำงานนอกบ้าน แต่เมื่อทุกสิ่งไม่เป็นไปตามที่ผู้เป็นภรรยาหวัง เธอก็แสดงอารมณ์โมโหและตำหนิเขาอย่างรุนแรงผ่านคำพูด สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งจนทำให้ฝ่ายชายรู้สึกว่าตนไร้ค่า ไม่กล้ามีปากมีเสียงออกมา ความไม่สมดุลในความสัมพันธ์ทำให้ทั้งคู่ไม่มีพื้นที่ในการเติบโตไปข้างหน้า ฝ่ายชายต้องเผชิญกับความรู้สึกสมเพชตนเอง ขณะที่ฝ่ายหญิงก็ไม่สามารถปล่อยวางความคาดหวังที่สูงเกินไปได้ สุดท้ายความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยการข่มเหง และการกดดัน ก็ไม่มีทางที่จะสามารถนำไปสู่การเติบโตหรือความสุขที่ยั่งยืนได้ทั้งสองฝ่าย 

          เพราะบางครั้ง ความผิดหวังที่เกิดขึ้นจากการล้มเหลวในชีวิต หรือการสูญเสียสิ่งสำคัญ สามารถส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว และในบางครั้ง ความผิดหวังนั้นอาจกลายเป็นภาระที่คนในครอบครัวต้องแบกรับร่วมกัน ปัญหาของความสัมพันธ์อันเป็นพิษที่กล่าวถึงข้างต้น ก็พบอยู่ในเรื่องสั้นตอน “SadMovie” เช่นเดียวกัน โดยตัวของภรรยาในเรื่องต้องเผชิญกับการแบกรับภาระทางอารมณ์จากผู้เป็นสามีที่มีความคิดในการฆ่าตัวตายอยู่ตลอดเวลาหลังจากการสูญเสียเงินก้อนสุดท้าย ความรู้สึกผิดหวังจากการสูญเสียทำให้เขาจมปลักกับความคิดลบจนมองไม่เห็นหนทางข้างหน้า การจำเป็นที่จะต้องอาศัยอยู่ร่วมกับอารมณ์ที่เต็มไปด้วยความเศร้าและความสิ้นหวังของคนรัก ทำให้หญิงสาวรู้สึกเหมือนกับว่าชีวิตของเธอเองกำลังจะถูกห่อหุ้มด้วยความทุกข์ของคนอื่น จนแทบไม่เหลือพื้นที่สำหรับความสุขส่วนตัว “การสูญเสียเงินก้อนสุดท้ายในชีวิตมันยากที่จะรับได้ก็จริง แต่เขาควรมองฉันบ้าง ควรรู้ว่าฉันเองก็ทุกข์ทรมานจากความหวังแค่ไหน” (น.103) 

          การยอมรับและเข้าใจซึ่งกันและกันเองก็เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการเป็นครอบครัว ดังในเรื่อง “เรื่องที่เริ่มจาก หญิงสาวผู้ก่อกำเนิดจากสายลม” ได้ตอกย้ำประเด็นนี้ไว้อย่างชัดเจนว่าแม้จะเป็นการตัดสินใจของบุคคลหนึ่งในครอบครัวเพื่อความสงบสุขของตนเอง ก็อาจทำให้เกิดความเจ็บปวดจากการไม่สามารถยอมรับและเข้าใจกันได้ เช่นในกรณีของผู้เป็นพ่อในครอบครัวพุทธศาสนิกชนที่เลือกไปเข้าร่วมการชำระบาปกับพระเจ้า แม้ลูกชายจะเข้าใจ และเห็นใจพ่อที่อยากหลุดพ้นจากความทุกข์ของตัวเอง “ผมนึกสงสัยว่า เหตุใดการเปลี่ยนศาสนาจึงกลายเป็นคนไม่ดี ในเมื่อพุทธให้อิสระในการเลือกที่จะเชื่อ … แล้วทำไมพ่อจะเลือกวิถีที่ตนต้องการไม่ได้” (น.151) แต่กลับได้รับการต่อต้านจากภรรยาและญาติ ๆ ที่มีมุมมองว่าการหันไปหาศาสนาอื่นเป็นการละทิ้งความเชื่อของครอบครัวและวัฒนธรรมที่พวกเขายึดมั่นมาอย่างยาวนาน และเป็นสัญญะของการหนีความรับผิดชอบที่พ่อมีแก่ครอบครัว 

          สุดท้าย ผลลัพธ์ของการใช้ความรุนแรงในครอบครัวนั้นอาจส่งต่อได้ผ่านการเลี้ยงดูจนเกิดเป็นวัฏจักร ดังเรื่องสั้น “ผู้ถูกทำลาย” ที่แม่มักจะลงอารมณ์โกรธแค้นสามีผู้ซึ่งหนีหายไปจากชีวิตในคราบของความรุนแรงกับลูกชายของเธออยู่บ่อยครั้ง จนในภายหลัง ผู้เป็นแม่ได้สำนึกถึงผลกระทบจากการกระทำของเธอ แต่เมล็ดพันธุ์ของความรุนแรงที่เติบโตอยู่ในตัวลูกชายนั้น กลับได้หยั่งรากลึกลงไปในจิตใจของเขาจนยากที่จะถอนรากถอนโคน และในที่สุด เขาก็ทำร้ายลูกชายของตัวเอง หรือหลานชายของเธอด้วยวิธีแบบเดียวกัน แม้เธออยากชดใช้ในสิ่งที่เคยกระทำลงไปด้วยการเลี้ยงดูหลานเป็นอย่างดี แต่ในตอนท้ายเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า หลานน้อยของเธอกลับกำลัง “กดบีบท้องจิ้งจก” (น.124) นั้น ก็ถือเป็นสัญญะว่าวงจรการส่งต่อความรุนแรงภายในครอบครัวนี้ ครั้นจะไม่สามารถยุติลงได้ง่าย ๆ 

ท่วงทำนองแห่งคนชายขอบ 

           ‘ประเทศไทยขาดแรงงานข้ามชาติไม่ได้’ เป็นวลีที่ไม่ได้กล่าวเกินจริงไปนัก ทั้ง “คืนที่อาลีถูกล่า” และ “หนทางรอด” ล้วนมีส่วนที่สะท้อนวิถีชีวิตของพวกเขา และชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข หากมองจากตั้งแต่จุดเริ่มต้น การใช้แรงงานจากต่างชาติ โดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาร์ กัมพูชา และลาว เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลายาวนานตั้งแต่อดีต นับตั้งแต่ยังไม่มีการควบคุมอย่างเป็นกิจจะลักษณะจากรัฐ คล้ายกับแรงงานไทยบางส่วนที่พอจะมีทุนทรัพย์ก็พยายามดิ้นรนไปทำงานในชาติตะวันตกเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า และค่าแรงที่มากกว่าหลายเท่าตัว แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือการหาความหวังใหม่ในชีวิตจากค่าแรงขั้นต่ำที่สูงกว่า และนโยบายภาครัฐฯบางอย่างที่เอื้อประโยชน์ให้พวกเขา ประจวบกับปัญหาการขาดแคลนกำลังแรงงานภายในประเทศ จากการที่ไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก็ดี หรือทัศนคติการเลือกงานของคนในชาติก็ดี โดยเฉพาะงานที่แรงงานไทยเองก็มักจะไม่เต็มใจทำ เช่น งานก่อสร้าง งานเก็บเกี่ยวผลผลิต พวกเขาจึงเข้ามาเพื่ออุดช่องว่างในสายงานอุตสาหกรรมระดับล่างเหล่านี้ แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือปัญหาด้านการควบคุม และการคุ้มครองสิทธิของแรงงาน ที่มักไม่ได้รับการดูแลอย่างเพียงพอจากภาครัฐและนายจ้าง “ฉันดีกว่ามะขิ่งตรงที่เปลี่ยนนายจ้างแค่ครั้งเดียว … ส่วนมะขิ่ง เธอถูกตำรวจจับส่งตัวกลับหลายครั้ง ไม่มีใครให้หลักประกันเลยว่าจะทำงานได้อย่างปลอดภัย” (น.130) ‘มะขิ่ง’ จาก “หนทางรอด” จำเป็นต้องเข้ามาทำงานในประเทศไทยเพื่อช่วยส่งเสียเลี้ยงดูปู่กับน้องเล็ก ๆ อีกสองคน เธอกล่าวว่าการได้ขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานถูกกฎหมายก็ไม่ต่างจากเรื่องของโชคชะตาเสียเท่าไร นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการค้ามนุษย์ที่แฝงอยู่ในกระบวนการรับแรงงานข้ามชาติ  โดยเฉพาะการถูกหลอกลวงหรือบังคับให้ทำงานในสภาพที่ย่ำแย่ ซึ่งทำให้หลายคนต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก และไม่สามารถหนีออกมาได้ เช่นเดียวกับในกรณีของ ‘อาลี’ จาก “คืนที่อาลีถูกล่า” เขาเป็นเพียงเด็กชายอายุสิบสี่ ลูกครึ่งไทย-ปากีสถาน ผู้ซึ่งเป็น “ลูกจ้างตอนกลางวัน และผัวตอนกลางคืน” (น.24) ของสาวใหญ่วัยสี่สิบเจ้าของแผงผลไม้ เนื่องด้วยเขาต้องส่งเงินค่าจ้างที่ได้เกือบทั้งหมดให้ที่บ้าน อาลีจึงจำเป็นต้องตกอยู่ในสถานะจำยอมแม้จะถูกกระทำอย่างรุนแรงเพียงใด  

          ปัญหากลุ่มคนชายขอบ และชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์แรงงานข้ามชาติ เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้มักจะถูกทิ้งให้ตกอยู่ในสภาพที่ไม่เท่าเทียม ทั้งในด้านการเข้าถึงสิทธิ และการใช้ชีวิตในสังคม โดยกลุ่มชนกลุ่มน้อยบางกลุ่ม เช่น ชนชาติพันธุ์ในพื้นที่ห่างไกล ผู้ที่ไร้สัญชาติ หรือผู้ลี้ภัยจากสงคราม มักต้องเผชิญกับอุปสรรคหลายประการ เช่น การขาดแคลนโอกาสทางการศึกษาและการทำงาน หรือการไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย โดยเรื่องสั้น “ศพในแม่น้ำ”, “ดาวส่องเมือง”, “เช้าวันอาทิตย์ที่แสนเศร้า”, “เรือบางลำยังไม่กลับจากทะเล” และ “สเปโร โซนาตา บทเพลงของคนจร” ได้บรรยายถึงความลำบากของการที่คนเหล่านี้ถูกทิ้งให้ไร้การคุ้มครองทางกฎหมาย ทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างไม่มีทางออกได้ไว้อย่างแยบยล และช่วยตอกย้ำผู้อ่านว่าปัญหาเหล่านี้ยังไม่เคยหายไปจากสังคมไทย โดยในกรณีนี้ ผู้วิจารณ์จะขอยกตัวอย่างจากในเรื่อง "ดาวส่องเมือง" ซึ่งได้พูดถึงปัญหาของชาวเขาชนกลุ่มน้อยที่ถูกผลัดดัน และถูกขับไล่ลงจากพื้นที่อยู่อาศัย “ด้วยเหตุผลว่า ป้องกันการบุกรุกแผ้วถาง ตัดไม้ทำลายป่า และล่าสัตว์ ซึ่งมันไม่เป็นความจริง พวกแกรักและดูแลป่า เพราะป่าดูแลชีวิตพวกแกมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษที่เกิดและตายที่นี่” (น.159) แม้กลุ่มเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจะรับปากคำขอร้องจากชาวเขาที่ไม่ให้รื้อถอนเหย้าเรือนเพื่อเก็บไว้เป็นอนุสรณ์ของความทรงจำ สุดท้ายแล้ว ในช่วงท้ายบทก็ได้แสดงให้เห็นถึงบริเวณพื้นที่ที่เคยเป็นหมู่บ้านของพวกเขา กลับถูกแผ้วถางเพื่อไว้ใช้สำหรับสร้างบ้านพักรับรองข้าราชการตำแหน่งสำคัญของจังหวัด การกระทำของเหล่าผู้ที่ถือว่าตนมีอำนาจมากกว่าเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงการไม่ให้ความเป็นธรรมต่อสิทธิพื้นฐานของคนในกลุ่มชนชาติพันธุ์ และการไร้สัจจะในคำมั่นสัญญาของเจ้าหน้าที่อย่างชัดเจน น่าเศร้าที่เรื่องเหล่านี้เอง ก็มักเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งบนหน้าข่าวของสังคมไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเช่นกัน แม้จะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหามากมาย แต่สภาพการณ์ของบุคคลเหล่านี้ ก็ยังคงสะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม การดิ้นรนของพวกเขาจึงกลายเป็นเครื่องสะท้อนถึงความเป็นจริงที่เจ็บปวดของชีวิตมนุษย์ในสังคมที่ไร้ซึ่งความยุติธรรม แต่ถึงกระนั้น ก็ยังคงทิ้งความหวังไว้ในตัวเอง ว่าท้ายที่สุดแล้ว สักวันหนึ่ง สังคมจะได้ตระหนักถึงความไม่เท่าเทียม และให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสให้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนที่อยู่ในสถานะทางสังคมที่ด้อยกว่า หรือกลุ่มคนที่ถูกละเลยในกระบวนการพัฒนา ความพยายามนั้นจะแปรเปลี่ยนเป็นแรงผลักดันอันนำพาไปสู่การเปลี่ยนแปลง โดยที่ความหวัง และการต่อสู้ของพวกเขาจะไม่สูญเปล่า แม้จะต้องเสียเลือดเนื้อ หยาดเหงื่อ และหยดน้ำตาไปมากเท่าไรก็ตาม 

 

เอกสารอ้างอิง 

รมณ กมลนาวิน. (2564). สเปโร โซนาตา ท่วงทำนองแห่งความหวัง. กรุงเทพฯ: สำเภา. 

 

 

 

 

 

  

 

 

 

 

 

เป็นเนื้อหาของบทความหรือสินค้าโดยละเอียด

กรุณาใส่ข้อความ …

Visitors: 97,885