เดฟั่น : นวนิยายเฆี่ยนอคติทางการเมืองร่วมสมัย

ชูเกียรติ  ชาวสวน
มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

           “แกพูดมากไป ระวังประวัติศาสตร์จะเข้าใจอะไรผิด ๆ ประวัติศาสตร์ไม่เคยบอกเล่าความจริง โดยเฉพาะความจริงของคนตัวเล็ก ๆ แบบเรา” (น.84)

           “เดฟั่น เรื่องเล่าของตระกูลคนเฆี่ยนเสือจากไทรบุรี” นวนิยายรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซี่ยน (ซีไรต์) ประจำปี 2564 ปีล่าสุด ของศิริวร แก้วกาญจน์ ผลงานนวนิยายที่โดนเด่นด้วยกลวิธีการนำเสนอเรื่องราวตามแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ เล่าเรื่องผ่านบทสั้น ๆ จำนวน 67 บท (รวมบทนำและบทตาม) เล่าตัดฉากจบแบบฉับไว เว้นว่างเนื้อที่ให้แก่ผู้อ่านได้เสริมเติมแต่งจินตนาการเรื่องเล่า ทุก ๆ บทแทรก(ซ้ำ)วลี “เดฟั่นจำไม่ได้” สร้างความรู้สึกฉงนฉงายตลอดทั้งเรื่องเป็นศิลปะที่เคี่ยวเข็ญให้ผู้อ่านออกเดินทางค้นหาตัวตนที่แท้จริงของ ‘เดฟั่น’  

           นวนิยายเรื่องนี้เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์การตั้งชุมชนในอดีตของตระกูลคนเฆี่ยนเสือในแถบเทือกเขาบรรทัดและลุ่มทะเลสาบ เรื่องเล่าพร่าเลือนจากความทรงจำ...ผมพยายามประติดประต่อชิ้นส่วนของเรื่องเล่าบางเรื่อง ตามหาชิ้นส่วนประวัติศาสตร์บางหน้าที่ถูกขโมยไปจากหนังสือประวัติศาสตร์บางเล่ม...( บทตาม, น.275) นวนิยายเรื่องเดฟั่นจึงทำให้ประวัติศาสตร์ถูกรื้อค้น ชักนำให้ผู้อ่านพยายามปะติดปะต่อส่วนที่ขาดหาย เรียงร้อยเรื่องราวเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของเรื่องเล่าในอดีตที่แตกหักและอาศัยประวัติศาสตร์ในทรงจำของมนุษย์โลกยุคปัจจุบันที่หลงลืมเพื่อปะติดปะต่อสายธารกาลเวลาแห่งประวัติศาสตร์ทรงจำ

           “เดฟั่น เรื่องเล่าของตระกูลคนเฆี่ยนเสือจากไทรบุรี” สะท้อนภาพการใช้อำนาจ โดยผู้เขียนจัดฉากวิถีชีวิตของชุมชนที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่อย่างสงบสุขและสันติ การเปลี่ยนแปลงของสังคมทางการเมืองทำให้ชุมชนต้องเผชิญหน้ากับความโหดร้ายและล่มสลาย...กระทั่งสูญเสียชีวิต การเข้ามาของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและต้องเผชิญหน้ากับอำนาจรัฐทำให้ชุมชนต้องล่มสลายเพราะรัฐบาลลักลอบฆ่าชีวิตของผู้นำและชาวบ้าน ประวัติศาสตร์อันโหดร้ายจึงลบเลือนความทรงจำ มิใช่เพราะ “กาลเวลา” แต่เป็นเพราะโครงสร้างอำนาจทางการเมืองกำหนดให้เป็นเช่นนั้น

           การเปิดเรื่องและปิดเรื่องด้วยฉากเดียวกัน คือ “เดฟั่น” ตกอยู่ในห้วงความทรงจำแหว่งวิ่น สติฟั่นเฟื่อน จำอะไรไม่ได้ เคว้งคว้างอยู่ท่ามกลางเมือง ล่องลอยอยู่ในม่านหมอก “ไม่พูดจากับใครเหม่อมองไปในอากาศ เหมือนโลกทั้งใบโปร่งแสง ล่องลอยไปตามแต่กระแสชีวิตจะพาไป” (น.275)   การเปิดปิดเรื่องด้วยฉากและการกระทำของตัวละครดังกล่าว ให้ความรู้สึกโศกสลดหดหู่ของความเป็นมนุษย์ที่ถูกกระทำจากอำนาจรัฐ สร้างอารมณ์สะเทือนใจและกระตุ้นให้ตระหนักถึงความโหดร้ายของการใช้อำนาจทางการเมืองที่ทะลายความเจริญรุ่งเรืองทำให้ชุมชนสูญสลาย ข่มขู่วีรบุรุษสู่ความพ่ายแพ้ สะท้อนการกระทำของรัฐบาลอย่างโหดเหี้ยมและไม่เป็นธรรม

           การดึงความสนใจผู้อ่านให้รู้จักกับตัวละครอย่างลึกซึ้งโดยผู้เขียนดำเนินเรื่องโดยผู้เขียนสร้างตัวละคร ‘เดฟั่น’ หลงอยู่ในมิติความทรงจำอันแหว่งวิ่น ผู้เขียนแทรกวลี “เดฟั่นจำไม่ได้” ไว้ในทุก ๆ บท แต่ ‘เดฟั่น’ กลับเป็นตัวละครผู้ถ่ายทอดเรื่องราวทั้งหมด ด้วยเหตุนี้เองขณะที่ข้าพเจ้าอ่านนวนิยายเรื่องนี้ จึงตั้งคำถามอยู่ตลอดทั้งเรื่องเวลาว่าทำไม ? ทำไมเดฟั่นถึงจำไม่ได้ จนกระทั่งค้นพบคำตอบในตอนท้ายว่า อาจเป็นเพราะต้องการตอกย้ำความโหดร้ายที่เกิดขึ้นกับตัวละคร เดฟั่นได้สูญเสียความทรงจำและสลายตัวตนไปพร้อมกับกาลเวลาเพราะตัวละครนั้นถูกกระทำอย่างโหดเหี้ยมทรมานทั้งร่างกายและจิตใจตั้งแต่วัยเด็กจนกระทั่งเวลาล่วงเลยไปอีกยี่สิบปีในวันที่ “เดฟั่นกลายเป็นคนที่จำอะไรไม่ได้”

           “วัตถุหนัก ๆ บางอย่างฟาดลงตรงท้ายทอย เขาล้มลงอีกครั้ง พยายามพยุงร่างขึ้นจากพื้น วัตถุนั้นฟาดลงซ้ำตรงตำแหน่งเดิม ภาพสุดท้ายเดฟั่นเห็นดวงจันทร์แตกกระจายพรายพร่าอยู่ในหัวเศษเสี้ยวดวงจันทร์ปลิวหายไปในหลุมโพรงมืดดำไร้ก้น” (น.263)

           เดฟั่นเสมือนความทรงจำประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้มีสติฟั่นเฟือนหลงลืมเพราะกาลเวลา แต่บิดเบือนความทรงจำเพราะความโหดร้ายที่สังคมการเมืองกำหนดและกระทำต่อตัวละครตัวนี้ ดังนั้นจะเห็นว่าการย้ำวลี “เดฟั่นจำไม่ได้” ซ้ำ ๆ ผู้เขียนอาจจงใจตอกย้ำให้ผู้อ่านเห็นถึงประวัติศาสตร์ที่ชำรุดและบิดเบี้ยวอย่างไม่มีที่สิ้นสุดทั้งนี้เกิดขึ้นจากความโหดเหี้ยมของผู้กุมอำนาจและใช้มันอย่างไม่เป็นธรรม  เดฟั่นอาจภาพแทนของความทรงจำที่บางครั้งเราไม่อยากจำ” นั่นอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมทุกครั้ง ในยามที่เราถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับ เรื่องราวประวัติศาสตร์การเมืองหรือเหตุการณ์ที่โหดเหี้ยมที่สุดในชีวิต ก็มักจะตอบกลับไปว่า “ไม่รู้ ไม่เคยได้ยิน หรือจำไม่ได้” คำเหล่านี้ถูกวนเวียนเพื่อใช้ตอบคำถามนั้นเสมอ ด้วยระบบอำนาจทางการเมืองที่คอยปิดหู ปิดตา ปิดปากผู้คน การเล่าเรื่องด้วยกลวิธีนี้ก็เป็นอีกนัยที่ผู้เขียนอาจพยายามส่งสารสำคัญเป็นให้เห็นโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรมในสังคม ดังนั้นผู้อ่านทุกท่านจะเห็นว่า เดฟั่น เป็นตัวละครที่ตอกย้ำความเป็นความเป็นมนุษย์ในสังคมที่ไม่อาจส่งเสียงดังได้ ประวัติศาสตร์การเมืองอันเลวร้ายที่กระทบกระทำต่อชีวิตไม่เคยได้รับอนุญาต “ให้เล่า”  เช่นเดียวกับเรื่องราวของตระกูลคนเฆี่ยนเสือในหมู่บ้านฝนแสนห่า

           “แกพูดมากไประวังประวัติศาสตร์จะเข้าใจอะไรผิด ๆ ประวัติศาสตร์ไม่เคยบอกเล่าความจริง โดยเฉพาะความจริงของตัวเล็กๆแบบเรา (น.48) 

            เดฟั่นได้ส่งผ่านสัญญะเรื่องราวต่าง ๆจากอดีตจนถึงปัจจุบันอันเป็นบทเรียนที่ทรงคุณค่าสำคัญแก่ชีวิตได้เป็นอย่างดี คือการบอกเป็นนัยแก่ผู้อ่านว่าแม้เราจะพยายามลบเลือนเรื่องราวในความทรงจำแค่ไหน ก็ไม่อาจลบเลือนความจริงที่เกิดขึ้นได้

            นวนิยายเรื่องนี้ผู้เขียนใช้ฉากและบริบทของชุมชนเล็ก ๆ ในหุบเขาแต่ได้สะท้อนปัญหาสังคมในระดับประเทศทั้งในระดับสังคมโลก กล่าวคือ ประชาชนในสังคมเมืองใหญ่ล้วนมีพื้นที่ให้โอ้อวดตัวตนอย่างเต็มที่ ได้รับสวัสดิการเพียงพอและที่สำคัญคือการมีสิทธิเรียกร้องความยุติธรรม ขณะเดียวกันมีชนกลุ่มหนึ่งที่ถูกมองข้ามและถูกกีดกั้นสิทธิการเรียกร้องซึ่งความยุติธรรม เราเรียกเขาเหล่านั้นว่า “คนชายขอบ”

           บ่อยครั้งเราเห็นการเล่าเรื่องของความขัดแย้งทางการเมืองสะท้อนผ่านมุมมองของความเมืองใหญ่ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า สังคมเมืองคือภาพแทนของศูนย์กลางของความขัดแย้งได้เป็นอย่างดี แต่นวนิยายเรื่องนี้ได้สะท้อนภาพมุมกลับความขัดแย้งจากส่วนกลางการปกครองของประเทศมาไว้ที่พรมแดนซึ่งเป็นดินแดนห่างไกลในคาบสมุทรบนหุบเขา ชุมชนที่อยู่ติดพรมแดนถูกยัดเยียดความเป็นชายขอบและถูกนิยามว่าเป็นพื้นที่ของความขัดแย้งด้วยโครงสร้างสังคมการเมือง นวนิยายเรื่องนึ้จึงตอกย้ำถึงความเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้ง ความไม่เป็น “รัฐชาติ” ได้กีดกันมนุษย์ให้ออกจากกรอบการปกครอง จากเหตุการณ์ที่นำไปสู่การสิ้นชีวิต ทั้งฉากความตายและฉากการต่อสู้ ได้สร้างอารมณ์ความรู้สึกให้เห็นถึงความไม่สิ้นหวัง  นวนิยายเรื่องนี้จึงชวนให้มองว่าไม่ควรนิยามชายขอบว่าเป็นศูนย์กลางความขัดแย้งแต่ควรถูกนิยามว่าเป็นศูนย์กลางความเป็นมนุษย์บนพื้นฐานความหลากหลายทางวัฒนธรรม

           ประโยคที่ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกถึงการรับรู้และเข้าใจมนุษย์มากที่สุดจากประโยคที่ว่า “หัดให้มันพูดภาษาเราน่าจะง่ายกว่าไหม” “แบบนั้นนกพวกนี้จะเข้าใจเราอยู่ฝ่ายเดียว” เดฟั่นบอก “แต่เราจะไม่มีวันเข้าใจพวกมัน”(น.81) ประโยคดังกล่าวแสดงให้เห็นเรียนรู้มนุษย์เรียนรู้สังคมจากมุมมองหนึ่งสะท้อนไปยังอีกมุมหนึ่งได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับการที่ผู้เขียนพยายามสะท้อนสังคมปัญหาความขัดแย้งและการใช้อำนาจ หรือประเด็นย่อยอื่น ๆ เช่น ความสำคัญของการศึกษาคนชายขอบ “หากลูกไม่ไปโรงเรียน ลูกต้องหัดกินหญ้าแทนข้าว (น.74)  ผู้เขียนใช้ความเป็นสังคมชายขอบเล่าเรื่องจริงและผสานมายารูปแบบต่าง ๆ  เป็นภาพแทนสังคมตั้งแต่สังคมเล็ก ๆ ที่สะท้อนสังคมเมืองใหญ่และสังคมโลก

           นอกจากนี้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ผู้เขียงแฝงนัยไว้ในสัญญะแห่ง ‘โพรง’  “คนเราเหมือนใช้ชีวิตอยู่ในคำสาป พเนจรร่อนเร่เพื่อไถ่บาป แต่จะไถ่บาปให้ใครชายชาวชวาก็ตอบไม่ได้  เราขุดตัวในโพรงมดลูก ต่อมาก็ออกเดินทางค้นหาโพรงในความฝัน บางก็ใช้ชีวิตอยู่ในหลุมโพรงความเชื่อของตัวเอง บ้างก็ใช้ชีวิตอยู่ในหลุมโพงของคนอื่น ถึงที่สุดก็ถูกฟังใน โพรงหิน โพรงดิน โพรงไม้ ที่โน่น ที่นี่” (น.92-93)สัญญะแห่งโพรงให้ความหมายแทนการรู้จักตัวเอง หรือรู้เป้าหมายในชีวิต รู้จักการหาวิธีเอาตัวรอด หลีบหลีก หลบซ่อนสิ่งเลวร้ายหรืออำนาจที่กำหนดบทบาท ด้วยเป้าหมายเดียวคือการเอาชีวิตรอด ดังในข้อความที่ว่า “ข้างล่างโน้นเพื่อนมากมายหลายคนหนีพวกญี่ปุ่นไปซ่อนตัวอยู่ตามป่า ตามชุมชนสองข้างทางถนนเอเชีย แต่ทุกคนต้องอำพรางตัวเอง หลายคนต้องทำตัวให้กลมกลืนไปกับชุมชนบางคนเปลี่ยนศาสนา ซ่อนตัวอยู่ในสภาพนักบวชของศาสนาพุทธ บางคนก็จงใจหลีกเลี่ยงไม่อยากสุงสิงกับชาวชวาด้วยกัน ลุงชวาเข้าใจพวกเขาเหล่านั้นดี...หลายครั้งการทักทายพูดคุยกับนกเขาชวาในกรงด้วยภาษาชวาก็ช่วยแบ่งเบาความรู้สึกโหยหาบางอย่างให้ทุเลาลง ในที่สุดเขาบอกตัวเองว่าฝนแสนห่าคือบ้านของเขา” (น.93)

           ความเด่นชัดของประเด็นในเรื่องคือ “การจัดฉากฆาตกรรม” ผู้เขียนได้ฉายภาพนาฏกรรมการเข่นฆ่ามนุษย์ นับว่าเป็นจุดสุดยอด (Climax)ของเรื่อง เป็นความเข้มข้นที่ผู้เขียนได้ฉีกกระฉากหัวใจของผู้อ่านออกเป็นชิ้น ๆ   การกระทำของตัวละครอย่าง ‘สมิงตาเดียว’ คือภาพแทนของบุคคลผู้มีอำนาจที่จะกระทำการใดก็ได้ในสังคม “อยากได้สิ่งใดก็ชี้ปากกระบอกปืน อยากได้ชีวิตใครก็แค่กดไกปืน” (น.181) การช่วงชิงพื้นที่ การช่วงชิงอำนาจของ ‘สมิงตาเดียว’ แสดงให้เห็นภาพของผู้มีอำนาจกำหนดทุกอย่าง จากเรื่องเล่า...สังคมชนเผ่าที่ไม่มีกฎหมายคุ้มครอง ไม่มีสิทธิเรียกร้องสิทธิต่างๆ ถูกเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ข่มเหงได้ง่าย ผู้มีอำนาจไม่เคยปราณีสถานะบุคคลเหล่านี้

           “พวกมันเลี้ยงหมอผีชาวชวาไว้ในหมู่บ้าน” กำนันสมิงรายงานต่อผู้ว่า ฯ ผู้ว่ารายงานต่อไปยังรัฐบาล รัฐบาลตีคำสั่งลงมายังผู้ว่าฯ ผู้ว่าฯ ส่งคำสั่งไปยังกำนันสมิง “พวกมันเลี้ยงหมอผีชาวชวาไว้ในหมู่บ้าน” “มันท่องมนตร์ภาษาชวาโบราณ เรียกเสือลงมาจากภูเขา มันเสกเสือให้กลายเป็นคน และเป่ามนตร์ให้คนกลายเป็นเสือ” (น.175)

            ‘สมิงตาเดียว’ได้สร้างวาทกรรมอำนาจปั่นป่วนให้ชาวบ้านแตกแยก ไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน  โจมตีพวกคอมมิวนิสต์อย่างโหดเหี้ยมการต่อสู้ขัดขืนจะต้องสังเวยชีวิต  ชุมชนที่เคยสงบสันติอุ่นหนาฝาคั่งกลับแตกกระจายสูญสลายทุกสิ่งทุกอย่าง...กระทั่งชีวิต  

           แต่ถึงอย่างนั้น ผู้เขียนก็ไม่ละทิ้งภาพของความผู้ใช้อำนาจอย่างเป็นธรรมในสังคม ‘อันดา’ ภาพแทนของตัวละครอันเป็นผู้นำที่ยึดมั่นตั้งอยู่บทหลักแห่งความดีและความถูกต้อง ผู้มีจิตวิญญาณแห่งการเป็นนักปกครอง อันหมายถึงใช้อำนาจเป็นธรรมในการปกป้องประชาชนบ้านเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุข “ไม่ต้องห่วงฉัน—เนื้อดินในหุบเขาให้ชีวิตเรามาวันใดวันหนึ่งเราก็ต้องกลายเป็นเนื้อดินนั้นเพื่อส่งต่ออนาคตที่ดีกว่าให้หุบเขาฝนแสนห่าของเรา”(น.169) ข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ตัวละครได้ต่อสู้ชีวิตจากการถูกข่มเหงจากผู้มีอำนาจเพื่อปกป้องบ้านเมืองจากเหตุการณ์ดังที่ยกตัวอย่าง นวนิยายเรื่องนี้ได้ให้คำตอบว่าสังคมสร้างคนเพื่อผลิตซ้ำอำนาจ ประวัติศาสตร์จึงชำรุดและบิดเบี้ยวอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เดฟั่นได้เปิดโปงให้เห็นว่า อำนาจที่รัฐใช้กดขี่ข่มเหงประชาชนส่งผลทำให้เกิดการต่อต้าน ตอบโต้และท้าทาย สุดท้ายแม้ว่าการต่อสู้จะทำให้สังคมได้รับการแก้ไขก็ตาม แต่กว่าจะได้รับการแก้ไขต้องแลกกับการสูญเสียมากมายนับไม่ถ้วน

          เดฟั่นได้ตอบโต้ประวัติศาสตร์การเมืองยุคปัจจุบันและย้ำเตือนเราว่า เราทุกคนมีเรื่องเล่าและต่างอยู่ในประวัติศาสตร์นั้นร่วมกัน ซึ่งจะเห็นได้จากผู้เขียนได้พยายามปะติดปะต่อชิ้นส่วนประวัติศาสตร์ในอดีตซึ่งเป็นเรื่องเล่า แต่ผู้เขียนได้สอดร้อยประวัติศาสตร์ชาติและประวัติศาสตร์โลกนำมากระหวัดรัดร้อยให้สอดคล้องสัมพันธ์กัน และทุกเรื่องที่สอดร้อยกันนั้นเป็นเรื่องราวทางสังคมการเมืองทั้งในระดับประเทศและระดับโลก เช่น เหตุการณ์ญี่ปุ่นคืนสี่รัฐมาลัยคืนให้ไทย “ลูกพี่ลูกน้องบางคนจากหมู่บ้านฝนแสนหาได้อพยพข้ามแดนกลับเข้าไปอยู่ไทรบุรี หลังญี่ปุ่นคืนดินแดน 4 รัฐตอนเหนือของมลายูกลับมาอยู่ใต้อำนาจของรัฐบาลไทยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2” (น.55)  เหตุการณ์พรรคคอมมิวนิสต์เริ่มประกาศสงครามประชาชนกับรัฐบาล “ปีนั้นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เริ่มต้นประกาศสงครามประชาชนกับรัฐบาล เกาะสิงคโปร์เพิ่งแยกตัวออกจากมาเลเซีย ลีกวนยูประกาศเอกราชทั้งน้ำตา อาภัสรา หงสกุลได้เป็นนางงามจักรวาล จิตรภูมิศักดิ์เพิ่งออกจากคุกเมื่อปลายปีก่อน และกำลังวางแผนเข้าร่วมการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ก่อนเขาจะถูกฆ่าในปีถัดมา (น.57) จากเหตุการณ์ 2 เหตุการณ์ดังกล่าว สอดคล้องกับเรื่องเล่าของเดฟั่น ขณะอพยพย้ายถิ่นฐาน คล้ายว่าชีวิตกำลังมุ่งหน้าสู่ดินแดนแห่งการมีชีวิตเป็นอิสระ หลีกพ้นการไล่ล่าและหลีกหนีความขัดแย้ง

เหตุการณ์อเมริกาส่งนักบินอวกาศไปดวงจันทร์ “ปีนั้นข่าวนักบินอวกาศขึ้นไปบนดวงจันทร์กลายเป็นเรื่องเล่ามหัศจรรย์—ครั้นข่าวอเมริกาขึ้นไปเหยียบย่ำสิ่งกราบไหว้บูชาของบรรพบุรุษ จีนซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งหลักกับอเมริกาก็ยิ่งเดือดดาล ท่านประธานเหมาจึงประกาศกร้าวว่า การปฏิวัติวัฒนธรรมจะต้องเข้มข้นรุนแรงยิ่งกว่าเดิม เพราะการทำลายโค่นล้มลัทธิทุนนิยมก็คือการโค่นล้มทำลายหัวใจของพวกอเมริกา” (น.96)

            จากเหตุการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ความสำเร็จของการส่งนักบินอวกาศไปเหยียบดวงจันทร์แม้จะเป็นเรื่องเล่าและเป็นประวัติศาสตร์อันน่าจดจำยินดี แต่ก็ยังมีนัยทางการเมืองและแฝงนัยของความขัดแย้งระหว่างประเทศ เหตุการณ์สอดคล้องต่อเรื่องเล่าของเดฟั่นขณะช่วงเวลานั้น เดฟั่นและน้ายักษ์คิดค้นผสมไก่สายพันธุ์ใหม่ ๆ สำเร็จ ความสำเร็จทำให้ทั้งสองผูกพันเป็นส่วนหนึ่งซึ่งกันและกัน แต่เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ผู้เขียนหยิบมาประกอบเรื่องเล่าแสดงลักษณะตรงข้าม แม้การส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์จะเป็นความสำเร็จน่ายินดี แต่ก็ทำให้สองประเทศเกิดความแคลงใจต่อกัน

 เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย 2475 “ตอนนั้นคือปี 2475 ในกรุงเทพ เกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่”(น.133) สอดคล้องกับเหตุการณ์เรื่องเล่าของเดฟั่น เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของหมู่บ้าน ชาวบ้านสูญเสียย่าของเดฟั่น แต่กลับเป็นช่วงเวลาที่ ‘อันดา’ พ่อของเดฟั่นกำเนิดลืมตามาดูโลก ซึ่งภายหลังต่อมา ‘อันดา’  คือผู้นำคนใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณของนักปกครอง ยืนหยัดและต่อสู้เพื่อความถูกต้อง  

เหตุการณ์การทำรัฐประหารของจอมพลถนอม กิตติขจร

          “ครั้นถึงเดือนพฤศจิกายนปีนั้น จอมพลถนอม กิตติขจรทำรัฐประหาร ยึดครองตนเอง ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2511 ยกเลิกรัฐสภา ยกเลิกพรรคการเมือง และประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ”(น.147)

            เหตุการณ์ดังกล่าวถูกนำมาสอดร้อยกับเรื่องเล่าของเดฟั่น เวลาขณะนั้น คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงของหมู่บ้านฝนแสนห่าไปตลอดกาล หมู่บ้านฝนแสนห่าครุกรุ่นด้วยไฟอันร้อนร้าย พวกคอมมิวนิสต์กลายเป็นปีศาจร้ายกระหายเลือด โปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองถูกแจกจ่ายจนปลิวว่อน คือจุดเริ่มต้นของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กระกูลคนเฆี่ยนเสือในฝนแสนห่า

           จากการยกตัวอย่างข้างต้นพอจะทำให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์การเมืองถูกนำมาสอดร้อยกับเรื่องราวประวัติศาสตร์เรื่องเล่าได้อย่างผสมกลมกลืนและยังคงมีอีกหลายเหตุการณ์ที่ผู้เขียนสอดร้อยไว้ในนวนิยายขนาดความยาว 279 หน้านี้ การที่ผู้เขียนพยายามยัดเยียดเกร็ดประวัติศาสตร์น้อยใหญ่ทั้งที่ผู้อ่านจำได้และจำไม่ได้ ผู้เขียนอาจพยายามตอบโต้กับประวัติศาสตร์ ปลุกเร้าให้เรารื้อฟื้นความทรงจำบาดแผลกลับมาทบทวนและเพื่อมอบคืนประวัติศาสตร์อันเจ็บปวดคืนสู่นักอ่าน กระทั่งทำให้ผู้อ่านทุกคนเห็นว่า ความเจ็บปวดจากอำนาจอันไม่เป็นธรรมแท้ที่จริงแล้วแผ่นซ่านไปทุกพื้นที่บนโลก ทุกพื้นที่ต่างมีเรื่องเล่าอันเจ็บปวดแต่ถูกกลบฝังลบเลือน...

                        “บางสิ่งบางอย่างบอกผมว่าที่นั่นมีแต่ความขัดแย้ง”

                    “ที่ไหน ๆ ในโลกก็เต็มไปด้วยความขัดแย้ง”(น.58)

           เมื่อพิจารณานวนิยายเรื่อง “เดฟั่น เรื่องเล่าของตระกูลคนเฆี่ยนเสือจากไทรบุรี”แล้วจะเห็นว่า “เดฟั่น” ได้ตอกย้ำวิถีความเป็นมนุษย์หลายด้าน นวนิยายเรื่องนี้เฆี่ยนอคติทางการเมืองร่วมสมัยได้เป็นอย่างดี ตัวละคร ‘เดฟั่น’ เป็นเสมือนภาพแทนของการต่อสู้กับอำนาจที่ไม่ใช่การต่อสู้ด้วยกำลัง แต่เป็นการต่อสู้ด้วยเรื่องเล่า นวนิยายเรื่องนี้ถ่ายทอดพลังของวรรณกรรมและพลังของเรื่องเล่าพาคุณออกเดินทางไปค้นหาตัวตน ขณะค้นพบตัวตน ณ จุดหมายปลายทางของเรื่องเล่า‘เดฟั่น’ได้บอกกับคุณว่า...ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร เกิดที่ไหน มีเชื้อชาติ ภาษา ฐานะ ความเชื่อ วัฒนธรรม หรือมีรสนิยมการใช้ชีวิตเป็นอย่างไร เราทุกคนล้วนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ เท่าเทียมกัน….

 

อ้างอิง

ศิริวร แก้วกาญจน์. (2564). เดฟั่น เรื่องเล่าของตระกูลคนเฆี่ยนเสือจากไทรบุรี. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ผจญภัย.

 

%MCEPASTEBIN%

Visitors: 82,077