ร่วงหล่นในอนธการ : เหลี่ยมมุมจากความสัมพันธ์ที่ร่วงหล่น

จอมห่วย

 

 

            เป็นธรรมดาเมื่อนักเขียนได้รับรางวัลจากงานใดงานหนึ่ง งานชิ้นนั้นจะกลายเป็นภาพจำของนักเขียนคนนั้น เช่นเดียวกับ นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์ ผู้ได้รับรางวัลซีไรต์ในปี 2566 หมวดเรื่องสั้นจากด้วยรักและผุพังรวมเรื่องสั้นว่าด้วยปัญหาภายในครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวไทยเชื้อสายจีนที่มีทรรศนะชูความเป็นครอบครัวเป็นใหญ่เหลือความต้องการของปัจเจก ความต่างระหว่างวัยและความคิด รวมถึงความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ

            เช่นเดียวกับรวมเรื่องสั้นร่วงหล่นในอนธการที่จะกล่าวถึงในบทวิจารณ์นี้ ภาพรวมและแก่นร่วมของคุณนริศพงศ์ยังคงเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ และซ่อนปัญหาครอบครัวเอาไว้บ้างเป็นระยะ ๆ หากแต่กลิ่นอายและวิธีการเล่านั้นแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด งานชิ้นนี้มีความเป็นงานทดลองและเน้นในบรรยากาศที่มีความหม่นหมองหนักหน่วงขึ้น กลายเป็นรสชาติหลักของรวมเรื่องสั้นขนาดเล็กนี้

 

ร่องรอยของการจากลา

            เรื่องราวเล่าถึงมุมมองของลูกชายคนเดียวภายในบ้านภายหลังการฆ่าตัวตายของพ่อผ่านพ้น ตัวละครเอกบรรยายว่ามันเป็นเรื่องที่เเหนือความคาดคิดขนาดที่ “...ตอนรู้ข่าว ผมจึงรู้สึกเหมือนกำลังฟังเรื่องแปลกแปร่งของคนแปลกหน้าที่อยู่ไกลแสนไกลจากชีวิตตัวเอง”

            ก่อนตัวเอกจะเกิดขึ้นนั้น พ่อและแม่ของเขามีพี่สาวมาก่อนหลายคน และไม่หยุดจนกว่าจะมีลูกชาย เพื่อความสบายใจของคุณปู่และคุณย่า ตลอดเรื่องยังคงมีประเด็นเกี่ยวกับความไม่เท่ากันระหว่างลูกชายและลูกสาวแทรกอยู่บ้าง กระนั้นก็ดี การแอบแฝงอคติที่สืบทอดรุ่นต่อรุ่นนั้นเป็นประเด็นรอง เรื่องที่ฉุดความสนใจของผู้อ่านกลับเป็นพฤติกรรมก่อนการฆ่าตัวตายของคุณพ่อ หลังจากที่ลูก ๆ เริ่มออกไปใช้ชีวิตของตัวเอง คุณปู่คุณย่าเสียชีวิตไปก่อนแล้ว คุณพ่อกลายเป็นชายวัยกลางที่สูญเสียเป้าหมายในการดำรงอยู่ เริ่มซื้อของจากโฆษณาโทรทัศน์เข้ามาเก็บไว้มากขึ้นเรื่อย ๆ จนวางเรียงรอบโซฟาเต็มไปหมด ความน่าสะเทือนใจคือบทสนทนาภายหลังที่ตัวเอกพบว่าการซื้อข่าวของมากมายของพ่อนั้น “พ่อซื้อของมา เราจะได้มีอะไรทำด้วยกัน” ทั้งเครื่องครัวไว้ทำอาหารด้วยกัน ถังน้ำแข็งไว้ไปเที่ยวด้วยกัน กล่องสแตนเลสไว้ใส่ข้าวเผื่อทำให้ลูกกินตอนไปทำงาน

            ทว่าโชคร้าย ไม่มีสิ่งใดเกิดจริงเลย ความฝันทั้งหมดของพ่อนั้นถูกกล่าวอย่างเลื่อนลอย ตัวเอกถึงกับกล่าวว่า “พ่อมองมาที่ผม แต่พ่อไม่ได้พูดกับผม พ่อพูดกับผมที่พ่อรู้จัก” ในที่สุดคุณพ่อก็ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองด้วยมีดปอกผลไม้ที่ซื้อมา ทิ้งไว้แต่ข้าวของรอบโซฟา คำถามถึงเหตุผลที่จากไป และความรู้สึกผิดของลูกชายที่นึกเสียใจที่ไม่ได้อยู่เคียงข้างพ่อมากกว่านี้ เป็นเพียงร่องรอยของการเคยมีอยู่

            ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคืออาการของคุณพ่ออาจจะมีอาการอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder) สังเกตจากการมีส่วนที่กลับไปกลับมาระหว่างอาการซึมเศร้า (Depression) ที่ปลีกตัวเองออกมาจากคนอื่นในบ้าน จมจ่อมอยู่กับตัวเองและโฆษณาหน้าโทรทัศน์ และกลับตาลปัตรเป็นอาการคลั่ง/ดีใจสุดขั้ว (Mania) เมื่อได้ซื้อข้าวของและพูดคุยกับลูกชาย เป็นภาพที่สะท้อนว่าในสังคมผู้สูงอายุที่ไทยกำลังเผชิญอยู่นั้นส่งผลกระทบต่อผู้สูงวัยที่โดดเดี่ยวได้เพียงไหน และความห่างเหินระหว่างกันทำให้สุดท้ายแล้ว เราเหลือทิ้งไว้เพียงแค่ร่องรอยของการจากลาได้อย่างไร

 

คำสัญญาเงียบงันจากทรงจำจางราง

            คุณไม่สูบบุหรี่ แล้วทำไมถึงพกไฟแช็ค” เรื่องราวเปิดด้วยคำถามถึงความย้อนแย้งจากเนตร ตัวละครปริศนาที่มาขอไฟแช็คจุดบุหรี่จากตัวเอกเรื่องสั้นเรื่องนี้ บรรยากาศเปิดมาด้วยความลึกลับ ทั้งตัวละครเอกที่มีจุดประสงค์บางอย่างจะขึ้นไปบนน้ำตกที่ไร้ผู้คน และตัวละครเนตรที่ปรากฏตัวขึ้นมาอย่างไม่มีเบาะแสอื่นใด ทั้งที่น้ำตกที่ว่าแทบไม่มีใครรู้จักและย่างกรายเข้าไป

            เรื่องเปิดเผยต่อไปอย่างรวดเร็วว่าตัวละครเอกมีอาการความจำเสื่อม เขาบอกกับเนตรว่าสิ่งที่แย่ที่สุดคือ เมื่อความทรงจำเกี่ยวกับคนสำคัญกลับมา ไม่ช้าเขาก็จะลืมอีกครั้ง และไม่รู้เลยว่ามันคือเมื่อไหร่ ตรงกันข้าม เนตรเล่าว่าเขาไม่มีใครเหลืออยู่อีกต่อไปแล้วกระทั่งพูดได้ว่า “มีเวลาเหลือเฟือ” ที่จะอยู่พูดคุยและนั่งพักกับตัวเอกก่อนจะไปถึงน้ำตก

            สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือ คุณไม่เหมือนผม มีคนรอคุณกลับไป ถึงสักวันคุณจะลืมพวกเขา แต่วินาทีนี้คุณยังจำเขาได้ ได้โปรดจดจำเขาไว้…” นี่เป็นคำขอและบทพูดสุดท้ายของเนตรในเรื่อง เมื่อพวกเขาขึ้นไปถึงน้ำตกก่อนจะกลับลงมาและแยกย้ายกัน

            เรื่องเฉลยว่าตัวเอกตั้งใจจะขึ้นไปเพื่อจบชีวิตตัวเอง และระลึกได้ว่าเนตรคือคนที่เข้ามาพูดคุย ทำให้เขาไม่ได้ลงมือสักที ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แม้ว่าสุดท้ายเขาจะลืมและพยายามกลับไปยังน้ำตกอีกครั้ง

            เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สั้นที่สุด และเป็นเรื่องที่ข้าพเจ้าชอบที่สุดด้วย เพราะความเรียบง่าย การดำเนินเรื่องผ่านบรรยากาศที่ฟุ้งกับฉากการเดินทางขึ้นน้ำตกปริศนา เป็นฉากที่เงียบเหงาและคลุมเครือ ก่อนที่จะจบด้วยประกายความหวังอันเลือนราง ไม่ต้องมีพล็อตที่ซับซ้อนหรือฉากเรื่องหลายฉาก เพียงการดำเนินเรื่องผ่านบรรยากาศ บทสนทนาและความลึกลับของตัวละครทั้งสองตัวก็สามารถสะกิดใจผู้อ่านด้วยความรู้สึกที่หลากหลาย นับเป็นเรื่องสั้นที่สร้างแรงกระเพื่อมต่อผู้อ่านด้วยจำนวนหน้าที่น้อยนิดได้อย่างดีเยี่ยม

            และอีกประเด็นที่ข้าพเจ้าสนใจคือวิธีการนำเสนออาการความจำเสื่อม (Dementia) ของตัวเอก โดยทั่วไปสังคมจะคุ้นชินภาพของผู้ป่วยความจำเสื่อมเพียงแค่คนที่ทำความทรงจำหายไป แต่เรื่องนี้ตั้งใจจะชี้ให้เห็นว่าความทรงจำนั้นกำลัง “หล่น” หาย และส่งผลต่อจิตใจของผู้ป่วยที่ไม่สามารถเก็บมันเอาไว้ได้ ที่แท้แล้วอาการความจำเสื่อมมาพร้อมกับปัญหาสุขภาพอย่างเงาตามตัวกันไม่มีผิด

 

ผมตามหาศพในทุ่งหญ้า

            เรื่องนี้มีความกล้าหาญในการทดลองกับเรื่องราวที่น่าสนใจ เล่าถึงความโดดเดี่ยวของตัวละครหลักที่เป็นเด็กหนุ่มอายุไม่มาก เขาเห็นข่าวที่มีเด็กชายรุ่นราวคราวเดียวกันพบศพของหญิงสาวคนหนึ่งในทุ่งหญ้า และก็กลายเป็นเป้าสนใจของนักข่าวในทันใด นั่นจึงกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กชายออกตามหาศพของตัวเองบ้าง

            เรื่องมันออกจะชวนให้นึกถึงภาพยนต์เรื่อง Stand by me (1986) ที่มีกลุ่มเด็กชายตามหาศพเพื่อจะล่ารางวัลและเอาชื่อเสียงอยู่บ้าง ถ้าจะต่างกันอย่างเห็นได้ชัดคือภาพของเรื่องสั้นเรื่องที่ทำออกมามีบรรยากาศของความเหนือจริงและน่าสยดสยองกว่า เพราะเมื่อเด็กชายได้บังเอิญไปพบศพจริง ๆ เข้า เขากลับโทรศัพท์แจ้งตำรวจ แต่กลับตัดสินใจจะเก็บเป็นความลับ และพูดคุยกับศพราวกับเพื่อนคนเดียวที่ตนมี

            ภาพการสนทนากับศพตัดสลับขนานไปกับสภาพบ้านของเด็กชายที่เต็มไปด้วยความรุนแรง หมางเมิน และเย็นชาต่อกัน กลายเป็นเหตุที่เด็กชายตัวเล็ก ๆ ต้องแสวงหาความสบายใจที่หาไม่ได้จากบ้าน ความสบายใจจากบางสิ่งที่ไม่มีทางปฏิเสธหรือหนีไปจากเขาได้ เด็กชายพบว่าคำตอบคือ “ศพ”

            แม้จะยังไม่มีความใคร่หรือรักเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เหตุผลเหล่านี้ก็เป็นเหตุผลหลักที่นำไปสู่อาการทางจิตอย่างอาการใคร่ศพ (Necrophilia) ได้จริง ๆ ความไม่มั่นคง และความไม่ปลอดภัยในความสัมพันธ์นั้นส่งผลกระทบต่อจิตใจได้เกินกว่าที่ใครจะคาดหมาย เรื่องปิดที่การตามหาศพใหม่ของเด็กชายเมื่อศพเก่าหายไป ทิ้งความสะพรึงแก่จินตนาการของผู้อ่านว่าจิตใจของเด็กชายจะเปลี่ยนแปลงไปได้อีกแค่ไหนหลังเรื่องราวจบลง ความไม่มั่นคงทางจิตใจจากความสัมพันธ์ในวันหนึ่ง อาจกลายสภาพเป็นความบิดเบี้ยวในสักวัน

 

โมงยามเมื่อวัยเยาว์สิ้นสลาย

            ธีร์ เหนือ และเนตรเป็นเพื่อนวัยมัธยมด้วยกัน โดยมีเหนือเป็นหนุ่มนักกีฬา หน้าตาดี มั่นใจในตัวเองตามประสาตัวละครที่คงจะเป็นดาวเด่นของโรงเรียน ตรงข้ามกับเนตรที่เย็นชาและสงบเงียบ ตามมาด้วยธีร์ที่ไม่ได้มีอะไรโดดเด่น แต่เมื่อทั้งหมดอยู่ด้วยกันก็กลายเป็นกลุ่มเพื่อนที่สนิทและเข้ากันได้ดีมาก

            จนกระทั่งวันหนึ่งเหนือหายไปจากโรงเรียน ธีร์พยายามทุกอย่างเพื่อจะตามหาเพื่อน แต่เนตรที่เหมือนจะล่วงรู้ความลับอะไรบางอย่างกลับนิ่งเฉย ๆ เพียงแค่สูบบุหรี่อย่างเย็นชาเมื่อธีร์พยายามถามหาเบาะแส เรื่องราวเปิดเผยปมของเหนือที่ไม่มีพ่อ ต้องแยกกันอยู่กับแม่ที่ป่วย และแม้จะได้รับความสนใจ ความเคารพ ความชื่นชม ทั้งหมดก็ไม่สามารถที่จะเติบเต็มความรู้สึกว่างเปล่าที่ไม่มี “เพื่อน” ที่แท้จริงได้ เว้นแต่เพียงธีร์และเหนือ และเฉลยในภายหลังว่าเรื่องราวนี้เลวร้ายลงเพราะเนตรมีปัญหากับเหนือ ความขัดแย้งระหว่างการพยายามฝังปมด้อยในจิตใจของเหนือกับความไม่พอใจของเนตรจึงนำไปสู่การทะเลาะของทั้งคู่ และการหายตัวไปอย่างลึกลับของเหนือในที่สุด

            ธีร์ยังคงออกตามหาเหนือต่อไป ทั้งที่บ้าน จนถึงอุโมงค์ที่เป็นจุดลับของทั้งสาม และที่อุโมงค์นั้นก็เป็นที่ที่ธีร์พบกับเหนือในสภาพที่คาดไม่ถึง เหนือนอนแผ่ร่างอยู่ในอุโมงค์เหมือนกับว่ามันเป็นเรื่องปกติ เรื่องราวจากนั้นไม่ได้เปิดเผยอะไรมากเป็นพิเศษนอกจากความเสียใจของเหนือ ที่ให้ความสำคัญกับเพื่อนทั้งสองคนมาก เหนือขอให้ธีร์กลับออกไปจากอุโมงค์และทิ้งเขาไว้ลำพัง ซึ่งธีร์ยอมแต่โดยดี ในความคิดเห็นส่วนตัวของผมอาการของเหนือเป็นอาการของบุคคลที่ขาดความมั่นใจของตัวเองลึก ๆ ดังที่เขารู้ตัวดีว่านอกจากเพื่อนสองคน เขารู้สึกโดดเดี่ยวแค่ไหน ยิ่งเมื่อมีปัญหาทะเลาะกัน เหนือยิ่งตกอยู่ในสภาวะจิตใจที่แย่ลงกว่าเก่า

            เรื่องนี้จบด้วยฉากที่เนตรเดินทางเข้าอุโมงค์เพียงลำพัง ก่อนจะนั่งลงและได้ยินเสียงของเหนือจากข้างหลัง ทิ้งไว้เป็นปริศนาว่าเกิดอะไรขึ้นกับเหนือ ฉากสุดท้ายเป็นเพียงความฝันหรือภาพหลอนของเนตรหรือเปล่า และหากจะเชื่อมโยงกันกับเรื่องสั้นก่อนหน้านี้ คำสัญญาเงียบงันจากทรงจำจางราง ตัวละครเนตรที่สูบบุหรี่เหมือนกัน มีบุคลิกที่ดูเยือกเย็นคล้ายกันเป็นตัวละครเดียวกันหรือไม่ หากใช่ แล้วใครคือตัวละครความจำเสื่อมที่พยายามจะฆ่าตัวตาย เป็นเหนือ, ธีร์หรือใครอื่น? ทั้งหมดนี้ไม่มีคำตอบ

           

            กระนั้นคำตอบหนึ่งที่ได้มาอย่างชัดเจนจากรวมเรื่องสั้นร่วงหล่นในอนธการ คือ ทั้งจิตใจและความสัมพันธ์ของมนุษย์นั้นเปราะบางและยึดโยงกันอย่างยากจะแยกออก คุณพ่อในร่องรอยของการจากลาถูกความโดดเดี่ยวทำร้ายและกัดกินจิตใจจนเกินเยียวยาสู่อาการอารมณ์สองขั้ว เด็กชายในผมตามหาศพในทุ่งหญ้าโหยหาความมั่นคงที่หาไม่ได้จากความสัมพันธ์ในบ้านตนเองและลงเอยที่วิธีที่อาจเข้าข่ายโรคใคร่ศพ ในทางกลับกัน ตัวละครจากเรื่องคำสัญญาเงียบงันจากทรงจำจางรางถูกอาการความจำเสื่อมสั่นคลอนความมั่นคงต่อความรู้สึกตัวเอง ความเสียใจที่หลงลืมคนสำคัญซ้ำแล้วซ้ำเล่าจึงหนักอึ้งพอจะผลักให้เขาอยากพ้นจากขอบผาแห่งชีวิต และแม้จะเป็นการทะเลาะกันที่ดูไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไร โมงยามเมื่อวัยเยาว์สิ้นสลายก็แสดงให้เห็นว่าบางครั้งคุณค่าที่เรามอบแก่ความสัมพันธ์ ทำให้บาดแผลที่เราได้จากมันนั้นรุนแรงยิ่งขึ้น

            ท้ายที่สุดแล้วร่วงหล่นในอนธการ ของคุณนริศพงศ์ รักวัฒนานนท์ ได้วาดภาพของตัวละครที่ต่างร่วงหล่นในความรู้สึกเศร้าหมองและเจ็บปวดจากความสัมพันธ์ไว้อย่างประณีต ข้าพเจ้าเชื่อว่าผลงานของเขาจะเป็นคำถามที่ทำให้เรากลับมาฉุกคิดว่าเราได้ใส่ใจและดูแลใครบางคนมากพอหรือยัง?

 

อ้างอิง

นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์ (2567). ร่วงหล่นในอนธการ. สำนักพิมพ์แซลมอน

เป็นเนื้อหาของบทความหรือสินค้าโดยละเอียด

กรุณาใส่ข้อความ …

Visitors: 97,593