ประดุจวานรได้แก้ว: สหบทและการเย้ยหยันแบบประนีประนอม

ใน “ลิงหินและเรื่องสั้นอื่นๆ”

 รุจีลักษณ์ สีลาเขต

         “ลิงหินและเรื่องสั้นอื่นๆ” เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น ประพันธ์โดย ภาณุ ตรัยเวช  ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน พ.ศ. 2563 ภาณุ ตรัยเวช เป็นชื่อที่นักอ่านหลายคนอาจคุ้นเคยดี เพราะเขาเคยได้รับรางวัลด้านการเขียนมาหลายรางวัล เช่น งานสดใสอวอร์ด, ประกวดเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์จัดโดยสำนักพิมพ์เนชั่น ด้วยประสบการณ์การเขียนของเขา ทำให้ผลงานเรื่องล่าสุดของเขา “ลิงหิน” เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่น่าสนใจและมีประเด็นที่น่าขบคิด ใคร่ครวญ อย่างที่ไม่ได้เห็นมานานในวงการวรรณกรรมไทยและสากล 

 

โครงสร้างและแรงบันดาลใจใน “ลิงหินฯ” 

         ในเรื่อง “ลิงหินฯ” ประกอบไปด้วย 15 บท คือ ลิงหิน(เสมือนคำนำ), บูเครแองเกลส, ภาคหนึ่ง, ภาคสอง, บทส่งท้าย, คาลวิโนในรัตติกาล, เรื่องที่ ๑๑, ฝันกลางวันกลางฤดูร้อน, คำสาปอันหอมหวานของแม่ทองอิ่ม, เกมกลคนอัจฉริยะ, ตั้งแต่คอลงมา, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, อย่ามองนะ, น้ำพุแห่งวัยเยาว์ และ “คำตาม” เนื้อเรื่องส่วนใหญ่เป็นเรื่องเหลือเชื่อหรือเหนือธรรมชาติที่ตัวละครแต่ละเรื่องได้ประสบ (ส่วนใหญ่เป็นตัวละครเอกที่เป็นผู้เล่าเรื่องด้วย) เช่น เรื่อง “บูเครแองเกลส” คือเรื่องสืบสวนย้อนยุคแบบไทยที่ผู้ร้ายใช้เพลงดังกล่าวของบาคมาเป็นกลลวงในการก่อคดี, เรื่อง “คาลวิโนในรัตติกาล” เป็นเรื่องของอ.ชายคนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ชู้สาวกับนักศึกษาสาวผู้เป็นสื่อร่างทรงให้กับวิญญาณนักเขียนคาลวิโน, เรื่อง “ฝันกลางวันกลางฤดูร้อน” ตัวละครที่มองเห็นวิญญานได้ย้อนเวลาไปร่วมซ้อมละครเวทีที่ดัดแปลงมาจาก “มัทนะพาธา” อีกทอดหนึ่ง, เรื่อง “คำสาปอันหอมหวานของแม่ทองอิ่ม” เป็นเรื่องของตัวละครต่างๆที่คดโกงหรือต่อสู้กับการคดโกงและได้ขนมไทยวิเศษรสเลิศทำโดยยักษิณีมาช่วยคลี่คลายสถานการณ์, เรื่อง “เกมกลคนอัจฉริยะ” เล่าเรื่องผู้ชายคนหนึ่งที่หมกมุ่นและเสียเวลาในชีวิตไปกับการแก้เกมปริศนาและได้พบกับผู้คิดค้นเกมในที่สุด, เรื่อง “เนาวรัตน์ พงศ์ไพบูลย์” ตัวละครผู้เล่าเรื่องสวมรอยเป็นกวีชื่อดังและได้ออกสื่อมากมาย, เรื่อง “ตั้งแต่คอลงมา” เป็นเรื่องของทีมงานกองถ่ายเรื่องลึกลับที่ “ลองของ” นึกลบหลู่พิธีกรรมเข้าทรงแบบจีนและประสบโชคร้ายในชีวิต, “อย่ามองนะ” เป็นเรื่องแนวอีโรติคปนเสียดสีที่กลุ่มนักแสดงได้ฉวยโอกาสปลดปล่อยความใคร่ออกมาบนเวทีโดยแสร้งทำเป็นถูกสะกดจิตหลอกผู้ชม

         ใน “ลิงหิน(เสมือนคำนำ)” ผู้เขียนได้กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ “เป็นเรื่องสั้นสำหรับคนอ่านหนังสือ เขียนขึ้นมาโดยคนอ่านหนังสือ” และในบท“คำตาม” ผู้เขียนอธิบายที่มาและแรงบันดาลใจจากวรรณกรรมเรื่องต่างๆโดยเฉพาะวรรณกรรมตะวันตกที่มีชื่อเสียงที่ถูกหยิบยืมมาต่อยอดและดัดแปลงในการประพันธ์เรื่องสั้น “ลิงหินฯ” รวมถึงเกร็ดประวัติศาสตร์บางประการ อาทิ เรื่องสั้น "นาวาคนเขลา" (ภาคหนึ่ง ภาคสอง และบทส่งท้าย) มีตัวละครชื่อ เฟอดินานด์ และมิรันด้า[1] ที่นำมาจากบทละคร “The Tempest” ของ วิลเลียม เชคสเปียร์, ในเรื่องสั้น “ฝันกลางวันกลางฤดูร้อน” อ้างอิงไปถึงบทละครชื่อเดียวกันนี้ที่ประพันธ์โดยเชคสเปียร์ และภาณุกล่าวว่า “บัตตัม ช่างหล่อ นายฟัก ช่างกลึง นายขวิดและเพื่อนพ้อง (...) มาจากเหล่านักแสดงสมัครเล่น” (ที่มีตัวตนจริง), นายอุทิศ เป็นตัวละครประจำเรื่องผีของ เหม เวชกร และในเรื่องสั้น "เรื่องที่ 11" ภาณุจินตนาการตอนต่อของ “นิทานเวตาล” ที่กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.) มีพระราชนิพนธ์แปลไว้ 10 เรื่อง (ตอน) รวมไปถึงคำนำที่ภาณุชี้แจงว่าการอ้างอิงวรรณกรรมเรื่องอื่นในงานวรรณกรรมเป็นเรื่องจำเป็น แม้อาจเสี่ยงที่จะทำลายความเสมือนจริงในการเล่าเรื่องในบันเทิงคดีก็ตาม

 

เสน่ห์แห่งสหบทใน “ลิงหินฯ” และการก้าวข้ามพรมแดน

         ความโดดเด่นของหนังสือ “ลิงหินฯ” ย่อมไม่พ้นศิลปะในการใช้สหบท (“สหบท” หรือ “สัมพันธบท” เป็นคำนิยามในภาษาไทยของคำว่า “intertextuality” ซึ่งนักวิชาการไทยแปลจากแนวคิดที่เสนอโดย จูเลีย คริสเตวา ต่อยอดมาจาก มิคาอิล บัคตินและสานต่อโดยโรลอง บาร์ธ) โดยทั่วไป “สหบท” แสดงถึงความสัมพันธ์ที่ตัวบทต่างๆมีต่อกันและเกิดกระบวนการสร้างความหมายใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเติมหรือขัดแย้งกัน ในเรื่อง “ลิงหินฯ” เห็นประเด็นสหบทที่น่าสนใจดังนี้

  • การก้าวข้ามเส้นแบ่งวรรณกรรมไทยและตะวันตก ภาณุ ตรัยเวช ใช้สหบทนำวรรณกรรมและบุคคลที่มีตัวตนจริงทั้งของไทยและตะวันตกมาเล่า แต่งเติมและตีความใหม่ (rewriting & reinterpretation) สร้างความแปลกใหม่และท้าทายการคาดเดาของผู้อ่านที่อาจคุ้นเคยวรรณกรรมต้นแบบมาก่อน
  • ก้าวข้ามเส้นบันเทิงคดีและสารคดีด้วยการใช้มุมมองบุคคลที่ 1 บ่อยครั้ง ให้ตัวละครเล่าเรื่องอย่างจริงจัง ยืนยันซ้ำๆว่าคำพูดของตนเป็นเรื่องจริง ก่อนที่จะนำเสนอองค์ประกอบที่เหนือจริง ให้ผู้อ่านเข้าใจในท้ายสุดว่าตัวละครเป็นผู้เล่าเรื่องที่ไม่น่าเชื่อถือ (unreliable narrator)
  • การก้าวข้ามประเภทเรื่องและปะปนน้ำเสียงในการเล่าเรื่อง มีทั้งองค์ประกอบความลึกลับแฟนตาซี นวนิยายสืบสวน อีโรติค ความรุนแรงแบบทริลเลอร์ งานสัจนิยมเสียดสีสังคม นิทานสอนใจมุขปาฐะ โดยรวมแล้วเรื่องสั้นต่างๆมีความคล้ายวรรณกรรมประเภทสัจนิยมมหัศจรรย์ (magical realism) ที่ตัวละครอยู่ร่วมกับองค์ประกอบเหนือธรรมชาติโดยปกติ 
  • ก้าวข้ามเส้นเวลา-ยุคสมัยของตัวบทต้นฉบับมาสู่ผู้อ่านยุคปัจจุบันด้วยภาษาปัจจุบันและเพิ่มการตีความ เพิ่มอารมณ์ขันผ่านตัวละคร 

 

 “สังคมกระแสหลัก” ที่ยากจะเข้าถึงใน “ลิงหินฯ”

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการ คือ ความย้อนแย้งในความตั้งใจที่จะเย้ยหยันสังคมกระแสหลักของ “ลิงหินฯ” เช่น 

  • คำโปรยบนหน้าปกของเรื่อง “ลิงหินฯ” ดูจะขัดแย้งกับตัวบทเสียเองในหลายประการ “รวมเรื่องสั้นว่าด้วยจิตสำนึกมนุษย์ที่เก็บซ่อนความย้อนแย้งไว้ภายใน เสียดเย้ยความเปล่ากลวงของสังคมกระแสหลักได้อย่างอัศจรรย์พันลึก” — การจงใจใช้สหบทเลือกวรรณคดีทั้งของไทยและต่างประเทศโดยเฉพาะยุโรปเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะวรรณคดีต่างประเทศที่มิได้เป็นที่รู้จักในหมู่นักอ่านคนไทยโดยทั่วไปเป็นส่วนใหญ่, การใช้ชื่อเฉพาะในภาษาต่างประเทศแบบผิวเผินที่ไม่จำเป็นต่อเนื้อเรื่องเยอะจนเกินไป อาจกีดกัน (exclude) ให้ผู้อ่านที่สามารถเข้าใจเรื่องราวใน “ลิงหินฯ”ได้ มิใช่เพียงแค่ “คนอ่านหนังสือ”อย่างที่ภาณุกล่าวอ้าง แต่จะต้องเป็นคนที่มีฐานะพอที่จะอ่านวรรณคดีเหล่านี้ได้ จะต้องมีพื้นฐานการศึกษา ภาษา วัฒนธรรมและฐานะทางสังคมที่มากเพียงพอ ซึ่งน่าเศร้าใจว่าเป็นเพียงกลุ่มน้อยในสังคมเท่านั้น ไม่ใช่สังคมกระแสหลัก
  • ตัวละครโดยส่วนใหญ่ใน “ลิงหินฯ” ดูจะมิใช่ภาพแทนของประชาชนในสังคมกระแสหลัก ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นสูงหรือมีอำนาจทางสังคมพิเศษบางประการ ทั้ง คุณหลวงสรรพสิทธิใน “บูเครแองเกลส”, อาจารย์มหาวิทยาลัยที่สอนวิชาวรรณกรรมอิตาเลียนและมี “เพื่อนร่วมรุ่นทุกคนเป็นผู้ใหญ่กันหมดไม่ว่าจะในบริษัท กระทรวง ทบวง กรม”, ดยุคและกษัตริย์ใน “นาวาคนเขลา”, นายถนอมนวล ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศที่ได้ไปศึกษาและประจำการในยุโรป ใน “น้ำพุแห่งความเยาว์วัย”, นายอุทิศ ผู้ที่สามารถเข้าไปทำพิธีบวงสรวงในพระราชฐาน, ยักษิณี ใน “คำสาปอันหอมหวานฯ” มีเพียงไม่กี่เรื่องที่มีตัวละครที่ไม่ใช่ชนชั้นสูง เช่น นักแสดงเปลือยในคาบาเรต์ ใน “อย่ามองนะ”, พนักงานบริษัทใน “คำสาปอันหอมหวานฯ”, ทีมงานกองถ่ายทำใน “ตั้งแต่คอลงมา”

 

“เกร็ดความรู้” ใน“ลิงหินฯ”

         ภาณุ แสดงให้เห็นถึงการพยายามค้นคว้าในเชิงประวัติศาสตร์ ปรัชญา วรรณคดีและวัฒนธรรมโดยละเอียด กระนั้นก็ยังมีการอ้างอิงที่น่ากังขาบางประการ แน่นอนว่าแม้บันเทิงคดีจะไม่มีพันธกิจต่อผู้อ่านในเชิงการเสนอข้อเท็จจริง แต่การอ้างอิงที่ผิดไปจากความจริงหลายประการ จึงเป็นการทำลายความสมจริงของตัวละครอยู่บ่อยครั้ง เช่น

  • ในเรื่อง “คาลวิโนในรัตติกาล” บทสนทนาในการสอบวิทยานิพนธ์วรรณกรรมอิตาลีดูแปลกประหลาดที่ตัวละครอาจารย์และลูกศิษย์สนใจจะโต้แย้งในเชิงประวัติคัลวิโน มากกว่าที่จะมีข้อโต้แย้งในเรื่องตัวบทวรรณกรรมอันเป็นสิ่งที่ควรใส่ใจ การโต้แย้งประวัตินักเขียนและนำประวัตินักเขียนมาใช้อธิบายวรรณกรรมเป็นวิธีวิจัยที่ล้าสมัยและวงวิชาการด้านอักษรศาสตร์มนุษย์ศาสตร์ในปัจจุบันเลือกใช้เพียงบางกรณีเท่านั้น
  • การอ้างอิงวัฒนธรรมยุโรปที่มีรายละเอียดเยอะจนเกินไปและรบกวนการเล่าเรื่อง อาจสร้างน้ำเสียงที่ดูแสดงภูมิของตัวละครผู้เล่าเรื่องมากกว่าจะทำให้เห็นสาระของบทสนทนา และการอ้างอิงวัฒนธรรมยุโรปของผู้เขียนในหลายกรณีมีความเข้าใจผิด (หรืออาจเป็นการล้อเล่นกับความจริง?) เช่น ใน“น้ำพุแห่งความเยาว์วัย” ฉากที่ถนอมนวล ตัวละครเอกเป็นข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศผู้เชี่ยวชาญภาษาและวัฒนธรรมทัดเทียมชาวยุโรป แต่ออกเสียงภาษาฝรั่งเศสคำว่า “Excusez-moi” (เอ็กซ์กูเซ-มัว/ขอโทษนะครับ) เป็น “เอกคูสิมอย” และยังมีการให้ถนอมนวลโต้เถียงเรื่อง “นรกคือคนอื่น” กับชายชาวฝรั่งเศสในร้านคาเฟ่ (ซึ่งคือ ฌ็อง-ปอล ซาทร์) แต่กลับให้ซาทร์อธิบายปรัชญาอัตถิภาวะนิยมของตนผิดในสารัตถะ  สรุปได้ว่าการใช้สหบทที่มากจนเกินไปอาจทำให้ผู้อ่านจำนวนหนึ่งไม่เข้าใจในสาระทั้งหมดของ “ลิงหินฯ” ส่วนผู้ที่เคยอ่านวรรณกรรมต้นฉบับก็อาจไม่เห็นด้วยกับการอ้างอิงชื่อเฉพาะอย่างผิวเผินหรือผิดประเด็น และการเลือกหยิบยกวรรณกรรมแบบวรรณคดีมาใช้ในการสร้างความหมายใหม่ วิจารณ์ “สังคมกระแสหลัก” อาจทำได้แค่บางกรณี
  • การเสียดสีหรือเย้ยหยัน (sarcastic tone & irony) มีเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยในเรื่องใดเรื่องหนึ่งและแสดงให้เห็นความน่าหัวเราะของประเด็นนั้น ผู้ประพันธ์จะต้องแสดงออกในเชิงค่านิยมผ่านมุมมองตัวละครชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้ผู้อ่านรับสารได้สำเร็จ แต่ในกรณีของ “ลิงหินฯ” การเสียดสีที่นำไปสู่บทวิพากษ์วิจารณ์ของตัวละครไม่ค่อยประสบความสำเร็จในเชิงความคิด เนื่องจาก 1)การวิจารณ์มีผิวเผินจนเกินไปในบางเรื่อง อาจเพราะเป็นเรื่องสั้น 2)ตัวละครหลายตัวมีค่านิยมแบบอนุรักษ์นิยมและชาตินิยมสูง หรือพยายามจะวิพากษ์แต่จบลงด้วยการเป็นอนุรักษ์นิยมและประนีประนอม หรือแสดงความเฉยเมยและไม่รับรู้ทางการเมือง(ignorance) เช่น ตัวละครถนอมนวลใน “น้ำพุแห่งความเยาว์วัย” ที่เป็นข้าราชการวางตัวว่ามีความรู้แต่ไม่พยายามคิดหาคำตอบด้วยตนเองในเรื่องที่จำเป็น, ผู้เล่าเรื่อง “เนาวรัตน์ พงศ์ไพบูลย์” ที่แต่งกลอนพาดพิงการเมืองแต่อ้างว่าสนใจแต่ทางโลกุตระไม่สนใจทางโลก ซึ่งเป็นการผลิตซ้ำวาทกรรมเดิมและหักล้างสารความเป็นสากลในสหบท รวมถึงแย้งกับแนวคิดเสรีนิยมที่ตัวบทสากลนำมา และตัวละครมิได้ตระหนักถึงความย้อนแย้งของตนเองและผู้เขียนก็มิได้เน้นความย้อนแย้งดังกล่าวเพียงพอ (แต่อาจมองได้ว่าผู้เขียนต้องการให้ผู้อ่านใช้วิจารณญาณตัดสิน) เช่น น้ำเสียงตัวละครไทยที่ค่อนข้างเหยียดชาติพันธุ์อื่นใน “อย่ามองนะ” และใน “ตั้งแต่คอลงมา” ตัวละครเรียกคนไทยเชื้อสายจีนหรือคนจีนในไทยด้วยคำว่า “จีน” โดยมองข้ามความพหุวัฒนธรรม และยังเชื่อมโยงความเป็นจีนไปกับเรื่องไสยศาสตร์และการเป็นอาชญากรนอกกฎหมาย, การมีปิตาธิปไตยสูงจนเป็นพิษ (toxic masculinity) ที่กดทับเพศสภาวะอื่นๆ มีการประณามผู้หญิง (slut shaming) ใน  “ตั้งแต่คอลงมา” และใน “อย่ามองนะ” นำเสนอตัวละครผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ (female objectification & male gaze)  ในขณะที่ตัวละครชายในฉากทางเพศเดียวกันไม่ถูกบรรยายในลักษณะยั่วยวนแบบเดียวกัน 3)ตัวละครในเรื่องแสดงความประนีประนอม มิได้ยอมรับผิดอย่างเต็มใจ ไม่ได้มีฉากที่ต้องรับผิดชอบในการกระทำของตน (มีaccountability) ได้แต่พึ่งพาอำนาจเหนือให้มาคลี่คลายและโอนอ่อนผ่อนตามอำนาจนั้น ตัวละครรอดพ้นจากสถานการณ์ที่ลำบากและไม่ได้รับผลกระทบในเชิงลบแต่อย่างใด ทำให้ไม่เห็นนัยของการประณามหรือการเสียดสีตามที่ผู้เขียนตั้งใจ เช่น “คำสาปฯ” ที่เรื่องสั้นถูกเขียนในวาระการต่อต้านการคอรัปชัน แต่ตัวละครที่ยืนหยัดเพื่อความถูกต้อง/อยากลบล้างความผิด ถูกบรรยายว่าเป็นผู้หญิงเจ้าอารมณ์และตัวละครชายในเรื่องเอาแต่พึ่งพาไสยศาสตร์จากขนมและช่วยกันปกปิดความผิด และเรื่อง “คาลวิโนฯ” ตัวละครอ.ชายยอมช่วยเหลือนักศึกษาให้ไม่ต้องแก้ไขวิทยานิพนธ์ หลังจากได้สัมผัสร่างกายนักศึกษาสาวแล้ว

 

“ลิงหินฯ” : จากสหบทสู่การใฝ่กลับเป็นหินอนุรักษ์นิยม

         เป็นเรื่องน่าเสียดายที่แม้เรื่อง “ลิงหินฯ” นำเสนอเรื่องสั้นหลากหลายได้อย่างมีมิติด้วยลักษณะสหบทในการประพันธ์ แต่ตัวละครในเรื่องหลายตัวละครยังคงโหยหาแนวคิดอนุรักษ์นิยม, เชื่อในอำนาจเก่าแก่ไสยศาสตร์โดยไม่ยอมไตร่ตรองตามตรรกะของตนเอง, ยังคงมีวาทกรรมชายเป็นใหญ่ และยังไม่มีทีท่าว่าจะสำนึกหรือตระหนักในข้อบกพร่องหรือความย้อนแย้งของตน และผู้เขียนเองก็มิได้เขียนให้เห็นการเสียดสี ประณาม หรือตำหนิตัวละครอย่างเพียงพอ ดังนั้น “การเสียดสีความกลวงเปล่าของสังคมกระแสหลัก” ดังที่อยู่บนหน้าปกหนังสือ จึงเป็นเสมือนดาบที่ย้อนมาทิ่มแทงและเน้นความกลวงเปล่าในเชิงความคิดในเรื่องสั้นบางเรื่องของหนังสือ “ลิงหินฯ” เสียเอง

         ทั้งชื่อหนังสือและคำนำกล่าวถึง “ลิงหิน” และกลายเป็นสัญลักษณ์สรุปท่าทีของตัวละครโดยส่วนใหญ่ในหนังสือได้ดี ที่ชัดเจนที่สุดคือตัวละครถนอมนวล ใน “น้ำพุฯ” ที่ได้เดินทางไปยังต่างเมือง ต่างประเทศ พยายามที่จะรักษาผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืองในฐานะข้าราชการผู้รับเงินเดือนจากภาษี พยายามจะคิดโต้แย้งในเชิงปรัชญาใช้ตรรกะอยู่บ้างในต่างประเทศ แต่ทุกครั้งที่เจอพรายน้ำในบ้านเกิดของตนและมีภัยอันตรายถึงชีวิต กลับเลือกทำตนมิต่างจากลิงหิน เสมือนสาปตนเองให้กลับเป็นเด็กที่ไม่รู้เรื่องราว มิให้พูด วิจารณ์หรือใช้สมองเยี่ยงมนุษย์ที่โตแล้ว เป็นลิงที่เป็นหินมากกว่าจะเป็นมนุษย์ จนสุดท้ายสร้างความฉงนให้กับผู้อ่านว่า สหบททั้งหมดนำไปสู่การวิจารณ์ที่ตัวละครมองตนเองแล้วหรือยัง หรือบทประพันธ์มีการวิจารณ์สังคมผ่านน้ำเสียงตัวละครเพียงพอแล้วหรือยัง ตัวละครออกไปใช้ชีวิตเพื่อจะกลับมาอยู่จุดเดิมหรือสภาวะที่ถดถอยลงเช่นนั้นหรือ แปลว่าสหบทและหนังสือที่ตัวละครอ้างอิงถึงอย่างมากมายนั้นเป็นการอ้างอิงอย่างฉาบฉวย เสมือนวานรได้แก้ว  เสมือนคนที่ได้อ่านหนังสือแต่มีปัญหาด้านการอ่านให้แตกฉานเช่นนั้นหรือ เห็นทีว่าผู้อ่านทั้งหลายควรจะต้องอ่าน“ลิงหินฯ”และคิดใคร่ครวญกันต่อไป เพื่อเป็นอุทาหรณ์ เลี่ยงระวังตนมิให้เป็นลิงหิน

 ------------------------------------------------------ 

[1]สะกดตามต้นฉบับ “ลิงหินฯ”

Visitors: 72,346