บทวิจารณ์คัดสรร (รอบแรก) ระดับมัธยมศึกษา

 Teen Labyrinth: ครั้งหนึ่งของผู้ใหญ่ในวงกตแห่งความเยาว์

ธนกฤต ขันธจิตต์
โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

            ณ ขณะหนึ่งของชีวิต มนุษย์ทุกคนสามารถก้าวเข้าสู่แดนภวังค์แห่งรัก โดยจะกระทำบางสิ่งโดยไม่ได้นึกคิดจากจิตสำนึก ความรักเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถควบคุมหรือสั่งการได้และเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องการไขคำตอบของกลไกนี้มาเป็นเวลานานนับตั้งแต่ได้ก่อกำเนิดอารยธรรมเรื่อยมาถึงทุกวันนี้

            ในโลกแห่งวรรณกรรม ยังมีวรรณกรรมจำนวนนับไม่ถ้วนที่กล่าวถึงและตีความแง่มุมอันซับซ้อน “ความรัก” แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของมนุษย์ด้วยกันเอง วรรณกรรมรวมเรื่องสั้น 6 เรื่องใน Teen Labyrinth: ในวงกตแห่งความเยาว์” เป็นวรรณกรรมเรื่องหนึ่งที่เล่าถึงความรักในปริบทของความแฟนตาซี (fantasy) และความเหนือจริง (surrealism) ของนิชตุล จากระดับของการหลงใหลจนมาถึงการเข้าสู่ภวังค์จิตแห่งความรัก ซึ่งลึกซึ้งเกินกว่าที่ผู้วิจารณ์จะสามารถวิเคราะห์และเชื่อมโยงการตีความกับตนเองทั้งหมด ความลุ่มลึกของตัวบทที่ถ่ายทอดออกมาผ่านจินตนาการที่ไร้เขตสิ้นสุดที่พรรณนาออกมาในแต่ละเรื่องทำให้ผู้อ่านสามารถสัมผัส “หัวใจวัยรุ่น” ว่ามีความซับซ้อนดังวงกต แม้วัยเยาว์ที่เราเคยเผชิญหรือกำลังเผชิญอยู่นั้นจะแตกต่างกัน  

วัยแรกรุ่นแห่งการค้นหาและเติบโต

            หลากพฤติกรรมและหลายปรากฏการณ์ที่เด็กคนหนึ่งพบเจอในวัยแห่งความฉงนสงสัย คงจะชวนให้ตั้งคำถามในทำนองเดียวกันว่า “ความรักคืออะไร” แต่ยากที่จะจบลงด้วยเพียงคำตอบสำเร็จรูปคำตอบเดียว และมักจะต่อยอดไปสู่การค้นหาคำตอบในชีวิต รักในวัยเยาว์ช่างสวยงามและเปี่ยมไปด้วยความหวัง ทว่าเมื่อโตขึ้นกลับซับซ้อนกว่าที่ได้คาดหวังไว้ นิยามความรักในแต่ละช่วงวัยอาจจะแปรเปลี่ยนไปตามโอกาสและจังหวะของชีวิต อย่างที่ “ตุล” ตัวละครในตอน “Teen Labyrinth” ต้องเผชิญ

            ตุล นักเขียนคนหนึ่งมีแฟนเป็นหมอ ซึ่งพวกเขามีจังหวะชีวิตที่จะได้เจอหน้ากันเพียงวันเสาร์อาทิตย์เท่านั้น เมื่อตุลมีเวลาอยู่คนเดียวนานวันเข้า จึงรู้สึกเหงาและนึกจินตานาการถึง “ความรักในวัยเยาว์” ของเขา นั่นคือ “พี่เต้” พี่ผู้ชายตรงข้ามบ้าน ผู้ที่ตุลไม่เคยลืมและต้องการให้ความผูกพันอันอบอุ่นนั้นกลับมา แต่เต้ก็จากเขาไปด้วยอาการหัวใจวายก่อนที่พวกเขาจะกล่าวร่ำลากัน ในขณะที่กำลังระลึกถึงความรักในวัยเยาว์อยู่นั้น ตุลก็ได้รับสายหนึ่งจากเด็กหนุ่มปริศนาที่ชื่อว่า “เต้” ว่าจะขอมาสัมภาษณ์เกี่ยวกับหนังสือที่ตุลเขียน ทั้งคู่พูดคุยกันอย่างถูกคอกันและได้สนิทสนมกันมากขึ้นผ่านบทสนทนา ในที่สุด “พี่เต้” ในร่าง “เต้” ก็เผยความจริงว่ากว่าสามสิบปี เขาเฝ้ารอที่จะกลับมาเกิดอีกครั้งเพื่อมาหาตุล แต่ตุลกลับปฏิเสธการกลับมาในร่างคนอื่นของพี่เต้ ปรากฏเป็นบทสนทนาว่า

            “วงกตแห่งความเยาว์ ตุลออกมาได้แล้วนะพี่เต้ ตุลไม่ต้องการกลับไปอีกแล้ว ไม่อยากให้ใครก็ตามต้องมาคอยลำบากดูแล เป็นผู้รับอยู่ฝ่ายเดียว หรืออะไรอีกแล้ว” (นิชตุล, 2565:94)

            “กับดักอดีตที่งดงาม” มักเป็นสิ่งที่เมื่อพ้นวัยรุ่นไป ก็ยังสามารถหวนคิดถึง (nostalgia) มันได้ ซึ่งมันกำลังอาจชี้ให้เห็นว่าหากเรากำลังพบเจอกับความไม่พึงพอใจในชีวิต จินตนาการส่วนนี้จึงทำหน้าที่เติมเต็มในส่วนที่ขาดหายของผู้ใหญ่ ผ่านการปรากฏตัวออกมาเป็นพี่ตุล แต่การที่ตุลหลุดพ้นจากอดีตที่เปรียบไว้ว่าเป็น “วงกต” มาสู่ความจริงในขณะปัจจุบันที่ตุลมีแฟนแล้ว คือการตระหนักรู้ว่าเรากำลังจมปลักอยู่กับอดีตหรือไม่ ซึ่งต้องเข้าใจว่าตุลเองก็คงทำใจเรื่องการสูญเสียของพี่เต้มานานและถึงจุดที่เขามีแฟนอย่างไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิดได้

            จินตนาการที่ตุลกำลังปีนไต่ตึกที่สูงแปดสิบแปดชั้นทำให้เราเห็นมิติของความพยายามไขว่คว้าที่จะนำมาซึ่งความรักที่ปรารถนาอย่างลำบากยากเข็ญ หลายครั้งที่ร่วงหล่นลงมา บ้างมาจากการอ่อนเรี่ยวแรง แต่บางครั้งก็เกิดขึ้นด้วยความจงใจ ความเจ็บปวดจากการแหลกสลายของกระดูกจากการตกลงมาจากตึกสูงสามารถเทียบไปกับเหตุการณ์และความรู้สึกที่ตุลพบเจอได้เป็นอย่างดี ในบางช่วง เราสามารถสันนิษฐานว่าตัวเลขชั้นความสูงของตึกว่าสื่อถึงอายุที่เพิ่มมากขึ้น แม้คน ๆ หนึ่งก็จะมีประสบการณ์มากขึ้นและใกล้เส้นชัยเพียงใด แต่การไขว่คว้าอะไรสักอย่างมานั้น ย่อมอาศัยพละกำลังและพลังใจพอสมควร จึงทำให้ตอนแรกที่ตุลปีนขึ้นจากชั้นล่าง ตุลยังฮึกเหิมและไม่ย่อท้อต่อการไต่ปีนตึกสูง และการปีนไต่และหล่นลงมาจากตึกก็อาจจะหมายถึงความล้มเหลวหรือการหมดใจจากการไล่ตามความฝันของตัวเอง โดยทุกครั้งที่ร่วงหล่นลงมา มักจะมีรอบถัดไปเสมอ เรื่อยไปจนสามารถปีนไต่ถึงยอดตึกได้

            วัยรุ่นคือสะพานเชื่อมระหว่างวัยเด็กกับวัยผู้ใหญ่ ตัวเราในวัยเด็กที่มักเปรียบเป็นดั่ง “ผ้าข้าว” บางครั้งหมายถึงอบรมบ่มเพาะจากสีที่ถูกแต่งแต้มโดยผู้ใหญ่และสังคมรอบข้าง ทั้งในแง่ที่ดีกับในแง่ที่ทำให้คน ๆ หนึ่งแปดเปื้อน การถูกจำกัดสิทธิ์บางประการในชีวิตอาจก่อให้เกิดปมฝังใจไปตลอดชีวิต ดังตอน “The Tears of Butterfly” ซึ่งฉายภาพการค้นหาตัวเองและโลกกว้างผ่านตัวละครเด็กชายวัยสิบสี่นิรนามผู้ถูกเลี้ยงดูโดยศาสตราจารย์ผู้สนใจด้านผีเสื้อให้อยู่ในปราสาทตั้งแต่จำความได้ และถูกห้ามปรามไม่ให้ออกจากปราสาท เขาจึงไม่เคยเห็นแม้แต่ท้องฟ้า หรือโลกภายนอกเลยสักครั้ง วันหนึ่งเมื่อศาสตราจารย์ไม่อยู่ เขาตามกลิ่นหอมออกไปนอกปราสาทและพบกับหญิงผู้หนึ่งที่เขาเคยฝันเห็น หญิงผู้นั้นคือเทพธิดาผีเสื้อในร่างตัวอ่อนที่กำลังรอคอยวันที่ดอกไม้แบ่งบาน จนถึงวันที่ตัวเองจะกลายเป็นผีเสื้อ แต่กระนั้น เมื่อถึงวันนั้น เทพธิดาก็กลายเป็นผีเสื้อ ทว่าเธอกลับเศร้าสร้อยเพราะเธอยังต้องการอีกหนึ่งสิ่ง ซึ่งคือการมีเพศสัมพันธ์ ท้ายที่สุดหญิงผู้นี้ก็ได้กลายเป็นคน และเด็กชายก็กลายเป็นเทพบุตรผีเสื้อ โดยเป็นที่น่าสนใจว่าทั้งสองคนนี้เป็นแม่ลูกกันตั้งแต่แรก เทพบุตรผีเสื้อก็ต้องถูกพันธนาการและดูแลจนกว่าจะเกิดกรณีเช่นเดียวกันนี้อีก

            หากพิจารณาตามมุมมองของซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) จะเห็นได้ว่าการมีเพศสัมพันธ์ในปริบทนี้จะเข้าข่ายระบบศีลธรรมที่มีเสรีภาพทางเซ็กซ์ได้อย่างเต็มที่และอิสระ โดยไม่ต้องคำนึงถึงอายุอย่างไร้กังวลเรื่องการตั้งครรภ์ แสดงออกผ่านท่าทีของเด็กชายผู้ยังไม่เคยได้รับการอบรมสั่งสอนเรื่องเพศจากใครที่จำมีเพศสัมพันธ์กับเทพธิดาไป อย่างไรก็ตาม การที่ลูกต้องมาเป็น “เทพบุตร” แทนแม่ทำให้เห็นว่าอาจมีมายาคติเกี่ยวกับ “การทดแทนบุญคุณ” ของบุพการี และการถูกสังคมหรือครอบครัวบีบบังคับให้เป็นไปตามครรลองที่เห็นว่าสมควร แต่อาจจะไม่ได้เกิดประสิทธิผลแล้วในปัจจุบัน

            “ตลอดช่วงห้าปีที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ได้แต่คร่ำเคร่งอยู่กับทฤษฎีการลอกเลียนลายของปีกผีเสื้อ […] ผีเสื้อนั้นมีการลอกเลียนลายของกันและกัน โดยลายที่ผีเสื้อจะลอกเลียนจะเป็นลายของผีเสื้อที่มีพิษ พวกมันลอกเลียนลายเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดบนห่วงโซ่อาหาร ซึ่งพวกมันทำได้อย่างแนบเนียนตนน่าเหลือเชื่อ” (นิชตุล, 2565: 123)

            เป็นที่น่าสนใจว่าการลอกลายผีเสื้อตัวอื่นเพื่อการอยู่รอดของตนเองสามารถแสดงภาพของวัยรุ่นผู้กำลัง “ลอกเลียน” พฤติกรรมหรือแนวคิดบางอย่างจากผู้อื่นในทำนองเดียวกันเพื่อได้รับการยอมรับ หรือการอยู่รอดในสังคมนั้นต่อไปได้ ซึ่งเป็นสัญชาตญาณจากจิตไร้สำนึกของมนุษย์

วัยรุ่นเข้าใจยาก ไม่ต่างจากวัยอื่น

            หลายครั้งวัยรุ่นอาจดูเป็นวัยที่เร่งร้อนและอารมณ์เสียอยู่ตลอดเวลา ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการที่ช่องว่างระหว่างวัย (generation gap) เข้ามาสร้างความเหินห่างจากความคิดคนละมุมมอง หรือการไม่สามารถทำความเข้าใจผู้คนในวัยที่ต่างกันได้จากประสบการณ์และแนวคิดที่แตกต่างกัน เป็นเรื่องที่คนในสังคมใด ๆ ควรให้ความสำคัญกับการเข้าใจ เพราะพฤติกรรมของคน ๆ หนึ่งอาจได้รับการปลูกฝังมามากกว่าการเลือกประพฤติในระดับปัจเจกบุคคล

            เรื่อง “V” สามารถสะท้อน “ชีวิตวัยรุ่น” ในแง่มุมของการต้องการส่วนเติมเต็มในชีวิต เล่าถึงเรื่องราวของหญิงผู้หนึ่งที่เป็นเจ้าของโรงละครอันเป็นมรดกของน้าชาย ญาติคนเดียวของเธอ เธอเป็นทั้งผู้เขียน ผู้กำกับและนักแสดง เธอพบว่าเธอสามารถพูดคุยและตอบโต้กับร่างที่คล้ายกับตัวเองอีกคนหนึ่งได้ ทั้งการสนทนาระดับปรกติ ไปจนถึงการมีเซ็กซ์ และการมี “เธอ” อีกคนหนึ่งจะทำให้ชีวิตของเธอ ณ โรงละครแห่งนี้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น แม้ว่าภาพของเธออีกกี่คนหายไป แต่อย่างไรเธอก็ยังปักใจเชื่อว่ายังมีเธออีกคนอยู่

            “ตัวฉัน มีตัวฉันมากมายอยู่เบื้องล่าง พวกเธอนอนเกลือกลิ้งบ้าง เดินบ้าง นั่งบ้าง และพวกเธอล้วนใส่ชุดที่ฉันเคยสวมใส่ในการแสดงละครเวที” (นิชตุล, 2565: 111)

            ผู้วิจารณ์สันนิษฐานว่าอาการข้างต้นเป็นอาการป่วยทางจิต (neurosis) ตามที่ฟรอยด์ได้นิยามไว้ว่าสามารถเกิดขึ้นจากการ “เก็บกด” จากการถูกสังคม “กดทับ” (ยศ สันตสมบัติ, 2559: 46) โดยสามารถสังเกตได้ว่าตลอดทั้งเรื่อง “V” จะไม่ปรากฏน้ำเสียงใครอื่นนอกจากหญิงผู้นี้ และตลอดทั้งเรื่อง เธอเป็นผู้ถูกกระทำ ทั้งในบทบาทนักแสดงและในชีวิตจริงที่เป็นหญิง ในขณะเดียวกัน ก็สามารถถ่ายทอดเส้นพร่าเลือนระหว่างละครเวทีกับชีวิตจริง ตามวิถีเซอร์เรียลลิสม์ได้อย่างน่าสนใจ

            เรามักลุ่มหลงไปในภวังค์ของวัตถุหรือบุคคลที่ถูกตาต้องใจจากการดึงดูดของสิ่งรอบตัวอยู่เสมอ อย่างยิ่งในโลกที่ทุกคนเชื่อมต่อซึ่งกันและกันอย่างง่ายดาย เรื่องสั้น “P” เป็นเรื่องสั้นแนวดิสโทเปีย เกี่ยวกับผู้ชายคนหนึ่งที่ฟื้นจากการเข้ารับการรักษาโรคในแคปซูล มาสู่ยุคที่ทุกคนสวมใส่และสูดดม “หน้ากากเอ็นดอร์ฟิน” เพื่อสร้างความสุขและความบันเทิงสู่ร่างกายโดยตรง แทนที่หนังสือและสื่อบันเทิงต่าง ๆ อย่างสมบูรณ์ จนชายผู้นี้ค้นพบความสุขจากบทเพลงของศิลปินที่มีนามว่า AVA โดยบทเพลงของเธอนั้น ได้เข้ามามีบทบาทกับชีวิตของเขาเป็นอย่างมาก ทำให้เขาตัดสินใจไปรับชมคอนเสิร์ตของเธอ ซึ่ง AVA เป็นศิลปินในดวงใจของผู้ต่อต้านการใช้หน้ากากเอ็นดอร์ฟิน อันที่จริง AVA ที่เขาหลงรักนั้นเป็นเพียงปัญญาประดิษฐ์เท่านั้น ในที่สุด เขาก็ถูกกลืนกินด้วยบทเพลงของ AVA และเข้าสู่แดนภวังค์จิตโดยสมบูรณ์ จนเขาเชื่อว่าตัวเองได้ลงมือฆ่าเธอโดยไม่รู้ตัว ปรากฏเป็นบทสนทนาต่อตำรวจว่า

            “คุณตำรวจ ผมเป็นฆาตกรเพิ่งผ่านการสังหารมา ผมมามอบตัวและยินดีรับโทษ”

            “กี่รายกันแล้วนะ ที่เข้ามา แล้วสารภาพแบบนี้” ตำรวจพึมพำ หน้าตาบอกไม่รับ” (นิชตุล, 2565: 30)

            จากเรื่องสั้นเรื่องนี้ เราสามารถเห็นตัวละครที่ต่อต้านกระแสหลักในการใช้งาน “หน้ากากเอ็นดอร์ฟิน” แทนที่กับสื่อบันเทิงที่เคยเสพมาก่อนที่โลกจะเปลี่ยนไป ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อเราชื่นชอบหรือสนใจสิ่งไหนมากจนเกินไป อาจทำให้เรา “หมกมุ่น” จนมีอาการไร้การรับรู้เกี่ยวกับการกระทำของตนเอง ไม่สามารถจำกัดว่าเป็นจริงหรือลวงเช่นนี้ก็เป็นได้ในลักษณะคล้ายกันไม่ต่างอะไรกับ “ขนนก” สัญญะที่แทนความพร้อมที่จะปลิดปลิวตามสายลมกับชีวิตผันผวนของวัยรุ่นที่ถูกกระแสสังคมและปัจจัยต่าง ๆ พัดพาเราให้ไปพบเจอกับสิ่งใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา

          ในภาพรวมของรวมเรื่องสั้น Teen Labyrinth ทำให้เห็นถึงมิติและแง่มุมที่ซับซ้อนของ “วัยรุ่น” กับ “ความรัก” ผ่านสำนวนภาษาที่คมคายจากการเลือกใช้กรอบคิดแบบ “เซอร์เรียลลิสม์” นอกจากจะทำให้เข้าใจชีวิตวัยรุ่นอย่างไม่แข็งทื่อแล้ว ยังทำให้เห็นว่าวัยรุ่นเป็นเพียง “จุดเริ่มต้น” ของการค้นหาตัวเองเท่านั้น ขณะที่ผู้วิจารณ์ยังอยู่ในช่วงที่นิยามกันว่า “วัยเยาว์” เมื่อได้อ่านวรรณกรรมเรื่องนี้ ผู้วิจารณ์ฟังเสียงและเข้าใจ “หัวใจ” หรือ “ความรู้สึก” ของตัวเองเปลี่ยนไป จากเดิมที่อาจมีเพียงมิติความรักและความสับสนวุ่นวายเพียงด้านเดียว มาสู่สิ่งที่จะติดตัวเราไปตลอดชีวิต วงกตแห่งความวัยเยาว์จะกลับมาอีกเมื่อเรานึกถึงมัน ในวันที่โลกของผู้ใหญ่ไม่ได้เป็นดังที่คาดการณ์ไว้ครั้นยังเป็นเด็ก จึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่บางครั้งใครหลายคนบอกกล่าวว่า “วัยรุ่นเป็นวัยที่เข้าใจยาก” เพราะพวกเขาอาจจะรู้จักคนในวัยนี้โดยผิวเผิน และอาจซ่อนเร้นหรือหลงลืมความเป็นวัยรุ่นครั้งเดียวในชีวิตไว้ในวงกตแห่งความเยาว์ตลอดไป

 

รายการอ้างอิง

นิชตุล. (2565). Teen Labyrinth: ในวงกตแห่งความเยาว์. ภาพพิมพ์.

ยศ สันตสมบัติ. (2559). ฟรอยด์และพัฒนาการของจิตวิเคราะห์: จากความฝันสู่ทฤษฎีสังคม. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย
            
ธรรมศาสตร์.

 

Visitors: 72,505