“ทฤษฎีสีชมพู” ซีรีย์ยูริเรื่องแรกของไทย
ภาพสะท้อนความเป็นหญิงรักหญิงที่ผุดขึ้นมาใหม่
ท่ามกลางซีรีย์วายที่กระจุกหมวดความเป็นชายรักชายนิยม

รัฐธัญญา เรืองโรจน์ 

 

 

 

            บริบทสังคมในปัจจุบันได้มีการเปิดกว้างยอมรับความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) มากกว่าสมัยอดีต   เพราะมนุษย์แต่ละบุคคลมีอัตลักษณ์ทางตัวตนที่หลากหลาย มีเสรีภาพในการแสดงความรักและการแสดงออกทางเพศวิถีแบบไร้ข้อจำกัด  ราวกับว่าคำนำหน้าชื่อที่สื่อถึงความเป็นหญิงและความเป็นชายแทบไม่จำเป็นแล้วในสมัยนี้   ปัจจุบันเราจะพบเห็นสื่อนำเสนอภาพความหลากหลายทางเพศในรูปแบบของความบันเทิง, การทำการตลาดและการรณรงค์เคลื่อนไหวทางสังคม เป็นหลัก  และในปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมาปฎิเสธไม่ได้ว่ากระแสหญิงรักหญิงได้มีการปรากฏบนพื้นที่สื่อมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปรากฏตัวผ่านรูปแบบคู่จิ้นในวงการนางงาม   การปรากฏตัวผ่านสื่อละครโทรทัศน์หรือซีรีย์ รวมถึงการปรากฎตัวผ่านสื่อออนไลน์รูปแบบอื่นๆ  จนทำให้คนในสังคมได้เห็นภาพความเป็นหญิงรักหญิงที่ชัดเจนมากกว่าสมัยอดีต  หลังจากที่ภาพความเป็นหญิงรักหญิงถูกทำให้เลือนรางและหลับใหลมาหลายทศวรรษด้วยกัน  ปรากฏการณ์ความแรงของกระแสหญิงรักหญิงบนสื่อซีรีย์ที่ดังที่สุดคงหนีไม่พ้น “ทฤษฎีสีชมพู”   ซึ่งเป็นซีรีย์ยูริ (Yuri)หรือแนวหญิงรักหญิงเรื่องแรกในไทยที่ฉายผ่านทางไทยทีวีสีช่อง 3 เวลา23.00 – 24.00 น. ปรากฎการณ์ความดังของซีรีย์เรื่องนี้ทำให้ผู้วิจารณ์ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับซีรีย์ถึงสองประเด็นด้วยกัน ได้แก่ 1.ภาพสะท้อนความเป็นหญิงรักหญิงในซีรีย์ทฤษฎีสีชมพู  2.การนำเสนอภาพสะท้อนความเป็นหญิงรักหญิงผ่านตัวละครหลักในสื่อซีรีย์โทรทัศน์ที่เดินตามหลังภาพสะท้อนความเป็นชายรักชายมาเกือบหนึ่งทศวรรษ

            กลุ่มหญิงรักหญิง  ในคำจำกัดความของผู้วิจารณ์คือบุคคลที่มีความพึงพอใจในเพศกำเนิดที่อยู่ในเรือนร่างของความเป็นหญิงและมีสำนึกในความรักที่ปรารถนาต่อเพศหญิงด้วยกัน  ซึ่งภาพสะท้อนของความเป็นหญิงรักหญิงที่ปรากฎในสื่อผู้วิจารณ์จะไม่หยิบยกภาพสะท้อนของ “ทอม” เข้ามาประกอบในบทวิจารณ์  เพราะผู้วิจารณ์มองว่าบุคคลที่เป็น ทอม คือ บุคคลที่มีเพศกำเนิดเป็นผู้หญิงแต่เขาไม่พึงพอใจในเพศกำเนิดดังกล่าวจึงมีการพยายามเปลี่ยนอัตลักษณ์ภายนอกทางเพศให้มีลักษณะใกล้เคียงกับความเป็นชายรวมถึงทอมบางคนก็มีความปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงเพศกำเนิดของตัวเองให้เป็นผู้ชายข้ามเพศ (Transman) อีกด้วย ทำให้ผู้วิจารณ์มองว่าบุคคลที่เป็นทอมเขาก็ไม่ต่างอะไรกับผู้ชายคนหนึ่ง   เพียงแต่ในพจนานุกรมคำศัพท์ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้มีการจัดให้ทอมอยู่ในหมวดเดียวกับเลสเบี้ยนหรือกลุ่มหญิงรักหญิง   ฉะนั้นเพื่อให้ง่ายต่อการมองภาพผู้วิจารณ์เลยนิยามความหมายของกลุ่มหญิงรักหญิง   ว่าเป็นบุคคลที่มีความพอใจในเพศกำเนิดที่เป็นผู้หญิงและมีความรู้สึกปรารถนารักในตัวผู้หญิงด้วยกัน

            ทฤษฎีสีชมพูเป็นนวนิยายรัก แนวโรแมนติก-ดราม่า  จัดพิมพ์ครั้งแรกรูปแบบ E-bookเมื่อ พ.ศ.2561  เขียนโดย เจ้าปลาน้อย ซึ่งเป็นนามปากกาของคุณไพลิน รัตนนาม นักเขียนหญิงผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงมีอุดมการณ์ที่ต้องการผลักดันให้ความหลากหลายทางเพศกลายเป็นเรื่องปกติในสังคม[1]  ส่วนตัวผู้วิจารณ์ก็มีโอกาสได้อ่านนวนิยายเรื่องนี้รวมถึงได้รับชมซีรีย์ทฤษฎีสีชมพูมาบ้างแล้ว  ซึ่งภาพสะท้อนของความเป็นหญิงรักหญิงในนวนิยายและซีรีย์ค่อนข้างที่จะมีจุดเหมือนและจุดแตกต่างบางอย่างร่วมกันอย่างชัดเจน   

            จุดเหมือนของนวนิยายและซีรีย์ทฤษฎีสีชมพูก็คือ  การนำเสนอภาพสะท้อนของหญิงรักหญิงในรูปแบบรักโรแมนติกพาฝันระหว่างของ “คุณสาม”หม่อมหลวงผู้สูงศักดิ์กับ  “ม่อน” ลูกสาวภารโรงผู้ต่ำต้อย ซึ่งพล็อตรูปแบบนี้มันก็ไม่ต่างอะไรกับพล็อตละครแนวพาฝันของรักต่างเพศที่เราพบเห็นทั่วไปตามสื่อละครโทรทัศน์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  ซีรีย์ทฤษฎีชมพูก็เช่นกันที่สะท้อนภาพความเป็นหญิงรักหญิงรูปแบบความรักพาฝันท่ามกลางความแตกต่างทางสังคม  โดยมีอุปสรรคที่สำคัญคือครอบครัวของคุณสามซึ่งเป็นครอบครัวหัวอนุรักษ์นิยมที่มีกฎระเบียบทางสังคมของชนชั้นสูงเป็นบรรทัดฐานในการดำรงชีวิต  ไม่ยอมรับความรักระหว่างเพศเดียวกันรวมถึงไม่ยอมรับความต่างของสถานะทางสังคมอีกด้วย  อุปสรรคเหล่านี้แหละคือบททดสอบที่ตัวละครในนวนิยายและซีรีย์ต้องฝ่ามันไปให้ได้

            ส่วนจุดที่แตกต่างกันระหว่างนวนิยายและซีรีย์ก็คือ  ตัวซีรีย์มีการเพิ่มประเด็นของสมรสเท่าเทียมร่วมไปในบทด้วย  ในขณะที่นวนิยายเล่าเรื่องเพียงแค่การต้องการให้สังคมยอมรับความรักระหว่างหญิงรักหญิงเฉกเช่นความรักรูปแบบปกติเท่านั้น  ซึ่งผู้วิจารณ์ได้ตั้งข้อสังเกตุว่าประเด็นการเล่าเรื่องสมรสเท่าเทียมในซีรีย์มันมีการเคลื่อนกระบวนการเล่าล้อไปกับกระแสของสังคมเรื่องสมรสเท่าเทียม  เพราะช่วงที่นวนิยายเรื่องนี้จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2561 มันเป็นช่วงที่กระแสของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในไทย  ล้วนเคลื่อนไหวผ่านการแสดงออกเชิงอัตลักษณ์และตัวตนทางเพศของตนเอง  แต่หลังจากที่พรรคอนาคตใหม่ หรือ พรรคก้าวไกลในปัจจุบัน ได้มีการขับเคลื่อนนโยบายสมรสเท่าเทียม  ทำให้เกิดกระแสการเคลื่อนไหวเพื่อจุดติดประเด็นนี้ในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย  โดยพวกเขาต้องการยกระดับความเท่าเทียมทางกฎหมายมากกว่าต้องการการยอมรับจากสังคมแบบผิวเผินเหมือนในอดีต  ซีรีย์ทฤษฎีสีชมพูก็เช่นกันก็ได้มีการใส่ประเด็นนี้ร่วมลงไปในบทด้วย  นอกจากนี้ตอนจบของนวนิยายและซีรีย์ก็มีการถูกปรับเปลี่ยน เพราะในนวนิยายตัวละครหลักสามารถรักกันท่ามกลางความเห็นชอบของคนในครอบครัวแต่ไม่สามารถเปิดเผยตัวต่อสาธารณะชนได้  แต่ในซีรีย์มีการปรับบทให้ตัวละครหลักสามารถแต่งงานกันได้อย่างเปิดเผยท่ามกลางการร่วมยินดีของคนในสังคม  ถ้าเปรียบเทียบตอนจบในนวนวนิยายและซีรีย์เราจะเห็นว่าภาพสะท้อนความเป็นหญิงรักหญิงมันได้ถูกปรับเปลี่ยนไป  สิ่งนี้มันก็สะท้อนถึงการเล่าเรื่องที่ต้องการยกระดับภาพจำของหญิงรักหญิงที่ปรากฎตามสื่อสมัยอดีตในรูปแบบของความรักที่ไม่สมหวังให้เป็นความรักที่มีความหวังมากยิ่งขึ้น

            เนื่องจากตอนจบของซีรีย์ทฤษฎีสีชมพูได้เล่าเรื่องราวความรักที่สมหวังของตัวละครหญิงรักหญิงซึ่งเป็นตัวละครหลักให้จบลงในรูปแบบที่สวยงาม  ภาพสะท้อนของตอนจบในละครมันถือว่าเป็นการยกระดับภาพสะท้อนชีวิตรักของกลุ่มหญิงรักหญิงตามสื่อต่างๆที่มักจะจบลงในรูปแบบที่ไม่สวยงามตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันจนกลายเป็นภาพสะท้อนร่วมสมัยให้เกิดภาพลักษณ์ใหม่ขึ้นมา  ผู้วิจารณ์ได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาพสะท้อนของความเป็นหญิงรักหญิงที่ปรากฎตามสื่อต่างๆ ตั้งแต่สมัยยุคอนาล็อคจนถึงยุคโซเชียลมีเดีย  ผู้วิจารณ์พบว่าสื่อแรกที่นำเสนอภาพสะท้อนของความเป็นหญิงรักหญิงได้ชัดเจนที่สุดคือสื่อสิ่งพิมพ์ นั่นคือนวนิยายเรื่อง รากแก้ว ของคุณกฤษณา อโศกสิน ผู้วิจารณ์ไม่ทราบข้อมูลที่แน่ชัดว่านวนิยายเรื่องนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อไหร่  ผู้วิจารณ์ทราบข้อมูลเพียงแค่ว่านวนิยายเรื่องรากแก้วได้รับรางวัลชมเชยจากการประกวดหนังสือดีเด่นประจำปี พ.ศ.2517 และนวนิยายเรื่องรากแก้วก็ถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เมื่อปี พ.ศ.2530  ภาพสะท้อนของกลุ่มหญิงรักหญิงที่ปรากฎในนวนิยายรวมถึงภาพยนตร์จะสะท้อนไปในทิศทางเดียวกัน นั้นคือ การสะท้อนให้เห็นว่าการรักเพศเดียวกันคือสิ่งที่ผิดปกติ โดยเส้นเรื่องของนวนิยายจะเล่าเรื่องความทะเยอทะยานในการอยากรักร่วมเพศของตัวละครรังรอง ที่พึงกระทำต่อโรยทองทรายซึ่งเป็นเด็กในอุปการะ  ซึ่งภาพสะท้อนจากสื่อนวนิยายรวมถึงสื่อภาพยนตร์มันก็ทำให้คนในสังคมมองภาพหญิงรักหญิงในแง่ลบตามเรื่องเล่าที่ปรากฏในสื่อ  และในปีเดียวกันก็มีภาพยนตร์เรื่อง “ฉันผู้ชายนะยะ” ซึ่งนำเสนอภาพของเกย์ในเชิงสนุกสนาน และภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก[2]  ผู้วิจารณ์คิดว่าภาพสะท้อนของกลุ่มชายรักชายในสมัยนั้นมันมีทิศทางตอบรับจากคนในสังคมไปในเชิงบวกมากกว่าภาพสะท้อนของกลุ่มหญิงรักหญิงเสียอีก   ทำให้การสร้างสื่อเกี่ยวกับชายรักชายนับแต่นั้นเป็นต้นมามันมีการผลิตสร้างที่มากกว่าสื่อเกี่ยวกับหญิงรักหญิง  เนื่องจากปัจจัยเรื่องของภาพลักษณ์ตัวละครที่สามารถขายความสนุกสนานได้มากกว่าภาพสะท้อนของกลุ่มหญิงรักหญิงที่ขายความหมองเศร้านั้นเอง  ผู้วิจารณ์มองว่าจุดนี้แหละคือสารตั้งต้นที่ทำให้ไม่ค่อยมีสื่อนำเสนอภาพสะท้อนของความหญิงรักหญิงเลย  ถึงแม้จะมีสื่อบางประเภทที่ทำเสนอ แต่ภาพลักษณ์ของความเป็นหญิงรักหญิงส่วนใหญ่จะถูกนำเสนอในรูปแบบของความรักที่ไม่สมหวังหรือนำเสนอเศษเสี้ยวของความเป็นหญิงรักหญิงที่รันทด เช่น ภาพยนตร์ 1448 รักเราของใคร ที่ฉายเมื่อปี พ.ศ. 2557  หรือ ภาพสะท้อนความเป็นหญิงรักหญิงที่ปรากฎในซีรีย์คลับฟรายเดย์ เป็นหลัก   แต่เมื่อซีรีย์ฮอร์โมยวัยว้าวุ่น ซีรีย์ชั่น 3 ได้ออกอากาศเมื่อปี  พ.ศ.2558 ที่ผ่านมา ตัวซีรีย์ได้นำเสนอภาพสะท้อนความเป็นหญิงรักหญิงระหว่างดาวกับก้อยซึ่งเป็นหนึ่งในตัวละครของซีรีย์เรื่องนี้ให้มีตอนจบที่สมหวังในเรื่อง  มันก็เป็นเสมือนตัวจุดประกายในการเริ่มผลิตสื่อสะท้อนความเป็นหญิงรักหญิงที่ความรักจบลงในรูปแบบของความสุขมากขึ้น  เช่น ซิตคอมระเบิดเถิดเถิงซอยข้าใครอย่าแตะ ที่ออกอากาศเมื่อปี พ.ศ.2561 -2564 , ซีรีย์ 365 วันบ้านฉันบ้านเธอ ที่ออกอากาศเมื่อปี พ.ศ.2562, ละครอุบัติร้ายอุบัติรัก ที่ออกอากาศเมื่อ พ.ศ.2564 เป็นต้น    

            เมื่อกลางปี พ.ศ.2564 ค่าย IDOL FACTORYได้มีการประกาศสร้างซีรีย์ทฤษฎีสีชมพู ซึ่งเป็นซีรีย์แนวหญิงรักหญิงที่มีผู้หญิงสองคนเป็นตัวละครหลักในเรื่อง  ผลตอบรับที่ได้คือมีแฟนคลับกลุ่มหญิงรักหญิงในประเทศไทยตั้งตารอชมซีรีย์เรื่องนี้เป็นจำนวนมาก  พอซีรีย์เรื่องทฤษฎีสีชมพูออกอากาศช่วงปลายปี พ.ศ.2565 ทำให้เกิดกระแสตอบรับจากกลุ่มแฟนคลับชาวไทยและกลุ่มแฟนคลับชาวต่างชาติอย่างล้นหลาม  จนกลายเป็นอำนาจในการดึงดูดผ่านการมีส่วนร่วม (soft power)ที่สำคัญของซีรีย์ไทยและยังได้กระแสการตอบรับที่ถล่มทลายไม่แพ้ซีรีย์แนวชายรักชายอีกด้วย  ผู้วิจารณ์มองว่าโด่งดังของซีรีย์เรื่องนี้มันเกิดมาจากการสั่งสมภาพนำเสนอของความเป็นหญิงรักหญิงที่มีค่อยๆฉายชัดทีละเล็กทีละน้อย จากจุดเริ่มต้นของความรักที่ไม่สมหวังจนค่อยๆฉายชัดการสมหวังในความรักมากขึ้น   ประกอบกับช่วงต้นปี พ.ศ 2565 ได้เกิดกระแสคู่จิ้นนางงามของเวทีมิสแกรนด์ระหว่างคุณอิงฟ้ากับคุณชาล็อต  โดยแฟนคลับของสองคนนี้ส่วนมากจะเป็นกลุ่มหญิงรักหญิง  ซึ่งพวกเขาจะแสดงความรักผ่านการสนับสนุนนางงามที่ตัวเองจิ้นอย่างถึงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการร่วมสร้างกระแสในโซเชียลมีเดีย, การร่วมซื้อสินค้าเมื่อนางงามที่ตนรักไลฟ์สดขายของ, ไปจนถึงการมอบเงินรางวัลให้ด้วยความเสน่หา  เป็นต้น ผู้วิจารณ์ตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มแฟนคลับหญิงรักหญิงพยายามจะสร้างกระแสเพื่อส่งต่อไปสู่สังคมภายนอกให้รับรู้ถึงการมีตัวตนของพวกเขาผ่านภาพตัวแทนนางงามคู่จิ้นที่พวกเขาชื่นชอบ และก่อนที่ซีรีย์ทฤษฎีสีชมพูจะออกอากาศ ก็ได้มีละครเรื่องรากแก้ว ที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายรากแก้วของคุณ กฤษณา อโศกสิน ฉายออกอากาศผ่านไทยทีวีสีช่อง 3 กระแสการตอบรับของละครเรื่องนี้ได้รับเสียงวิพากวิจารณ์เชิงลบในบรรดากลุ่มหญิงรักหญิง เพราะพวกเขามองว่าละครเรื่องนี้มีเนื้อหาที่ไม่แตกต่างจากนวนิยายมากนัก  มิหนำซ้ำยังมีการนำเสนอภาพของกลุ่มหญิงรักหญิงในแง่ลบที่หมกหมุ่นกับความความสัมพันธ์ทางเพศอย่างเอาเป็นเอาตายอีกด้วย  ผู้วิจารณ์มีการตั้งข้อสังเกตว่าภาพสะท้อนด้านลบของกลุ่มหญิงรักหญิงในละครรากแก้ว อาจเป็นตัวเปรียบเทียบที่ช่วยส่งเสริมซีรีย์ทฤษฎีสีชมพูที่ออกอากาศในเวลาต่อมาได้รับความนิยม รวมถึงเนื้อหาในซีรีย์ที่เป็นแนวโรแมนติกพาฝันเล่าเรื่องเข้าถึงกลุ่มคนได้ง่าย  มีองค์ประกอบด้านโปรดักชั่น  นักแสดง รวมถึงการทำการตลาดที่ดี เลยส่งผลให้ซีรีย์เรื่องนี้ได้รับความนิยมในเวลาที่รวดเร็ว  

            ความโด่งดังของซีรีย์ทฤษฎีชมพูมันนำมาสู่ประเด็นที่สองที่ผู้วิจารณ์อยากจะตั้งคำถามต่อ  นั่นคือ ทำไมการนำเสนอภาพสะท้อนความเป็นหญิงรักหญิงผ่านตัวละครหลักในสื่อซีรีย์โทรทัศน์ถึงเดินตามหลังซีรีย์ชายรักชายมาเกือบหนึ่งทศวรรษ   โดยผู้วิจารณ์ได้มีโอกาสฟังไลฟ์สดเสวนาของ The Visual Talk: มองเพศผ่านภาพยนตร์/ซีรีย์ เพื่อพื้นที่เราไม่เท่ากัน ทางช่องยูทูป Thai PBS[3]  ซึ่งผู้วิจารณ์สามารถสรุปประเด็นเสวนาได้ว่า   สาเหตุที่ซีรีย์แนวชายรักชายมีการผลิตอย่างแพร่หลาย ปัจจัยหลักมาจากเรื่องของธุรกิจที่เจ้าของทุนต้องการจะผลิตซีรีย์ขายให้กับตลาดเฉพาะกลุ่ม  นั้นก็คือกลุ่มสาววายและกระแสซีรีย์ชายรักชายจะมีทิศทางไปทางไหน   ขึ้นอยู่กับกลุ่มเป้าหมายที่ดูซีรีย์จะเป็นผู้ตรวจสอบประเด็นหรือให้คุณค่าในซีรีย์เรื่องนั้น    ซึ่งกลุ่มสาววายที่หลงใหลในซีรีย์ชายรักชายจะประกอบไปด้วย 2 กลุ่ม นั้นคือ 1.กลุ่มผู้หญิงแท้ที่ส่วนมากเป็นติ่งไอดอลเกาหลี กลุ่มนี้คือฐานแฟนคลับที่มีมากที่สุดในการสนับสนุนซีรีย์แนวชายรักชาย 2. กลุ่มผู้ชายที่มีความหลากหลายทางเพศ  เป็นต้น  ต่างกับกลุ่มสาววายที่คลั่งไคล้ในซีรีย์แนวหญิงรักหญิง ที่ส่วนมากจนเกือบทั้งหมดจะเป็นกลุ่มหญิงรักหญิงเป็นหลัก   แต่ก็มีผู้ชายจำนวนน้อยคนที่เข้ามาปะปนร่วมเป็นสาวกซีรีย์แนวหญิงรักหญิงด้วย  ผู้วิจารณ์เคยนำประเด็นที่ตั้งข้อสังเกตุถึงสาเหตุที่ผู้ชายบางส่วนเข้ามาเป็นแฟนคลับซีรีย์แนวหญิงรักหญิง ไปลองแลกเปลี่ยนสนทนากับนักเขียนนวนิยายนิยายแนวหญิงรักหญิงท่านหนึ่ง   ซึ่งนักเขียนท่านนั้นก็ให้คำตอบที่น่าสนใจว่า  แท้จริงแล้วก็มีผู้ชายหลายคนมากที่ชอบอ่านนวนิยายแนวหญิงรักหญิง   เพราะมันได้ปลดปล่อยจินตนาการบางอย่างของพวกเขา  เพียงแต่ว่าผู้ชายเหล่านั้นไม่สามารถแสดงตนเป็นแฟนคลับนวนิยายแนวหญิงรักหญิงได้อย่างโจ่งแจ้ง  เพราะในมุมมองของแฟนคลับกลุ่มผู้หญิงจะมองว่าผู้ชายเหล่านั้นเป็นพวกที่มีความหมกหมุ่นทางเพศทันที  และเมื่อมีการจัดแฟนมีต (Fan Meet) ของแฟนคลับผู้ชื่นชอบความเป็นหญิงรักหญิง   การที่มีแฟนคลับผู้ชายมาปะปนกับแฟนคลับกลุ่มผู้หญิง   แฟนคลับผู้ชายจะดูเป็นชนชั้นชายขอบของกลุ่มไปเลย

            ผู้วิจารณ์มีความเห็นว่าสาเหตุที่ทำให้สื่อผลิตสร้างซีรีย์ที่มีตัวละครหลักเป็นชายรักชายมากกว่าสื่อซีรีย์ที่มีตัวละครหลักเป็นหญิงรักหญิง  น่าจะมีสาเหตุหลักมาจากภาพลักษณ์ของความเป็นชายรักชายในอดีตที่ถูกสร้างในรูปแบบของความสนุกสนาน  ถ้าเรานับตั้งแต่จุดเริ่มต้นของภาพยนตร์เรื่อง ฉันผู้ชายนะยะ ที่ฉายเมื่อปี พ.ศ.2530 เป็นต้นมา  ผนวกกับสื่อละครโทรทัศน์รวมถึงสื่อภาพยนตร์ได้มีการสร้างภาพลักษณ์ของตัวละครชายรักชายในลักษณะของความสมบูรณ์แบบทางรูปร่างหน้าตาและสถานะทางสังคม  โดยสื่อดังกล่าวประกอบไปด้วย ละครมงกุฎดอกส้ม ออกอากาศเมื่อปี 2539, ละครรักเล่ห์เพทุบาย ออกอากาศเมื่อปี พ.ศ.2542, ซีรีย์รักแปดพันเก้า ออกอากาศ เมื่อปี 2547,ภาพยนตร์ รักแห่งสยาม ออกฉายเมื่อ พ.ศ.2550 ,ละครพรุ่งนี้ก็รักเธอ ออกอากาศเมื่อปี 2552 เป็นต้น  ซึ่งภาพลักษณ์ความเป็นชายรักชายที่สะท้อนถึงความสมบูรณ์แบบเหล่านี้   ผู้วิจารณ์มองว่ามันก็เป็นแรงผลักดันที่ทำให้กลุ่มเจ้าของทุนอยากเข้ามาลงทุนผลิตซีรีย์แนวชายรักชายออกสู่ตลาด โดยซีรีย์แนวชายรักชายเรื่องแรกคือเรื่อง Love Sickออกอากาศเมื่อปี พ.ศ. 2557  สังเกตได้ว่ากว่าจะมีการผลิตซีรีย์แนวชายรักชายได้นั้น  มันก็มีระยะเวลาในการสั่งสมภาพลักษณ์ที่ดีของความเป็นชายรักชายมาอย่างต่อเนื่อง  ผู้วิจารณ์มองว่าซีรีย์แนวหญิงรักหญิงก็เช่นกันถึงแม้จะมีการสร้างซีรีย์ที่มีตัวละครหลักเป็นหญิงรักหญิงตามหลังซีรีย์แนวชายรักชายมาถึงแปดปีด้วยกัน    แต่มันก็ถูกอธิบายด้วยบริบทเดียวกัน นั่นคือการสั่งสมภาพสะท้อนในด้านดีผ่านสื่อก่อนเพื่อเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เจ้าของทุนอนุมัติทุนในการสร้างเพื่อขายซีรีย์ ให้กับกลุ่มเป้าหมายนั้นเอง

            ปรากฎการณ์ความโด่งดังของซีรีย์ทฤษฎีสีชมพู  มันสะท้อนให้เห็นถึงการพยายามที่จะผลักดันให้เกิดภาพตัวแทนของกลุ่มหญิงรักหญิงผ่านสื่อซีรีย์ในรูปแบบของความรักที่มีความทัดเทียมกับรักต่างเพศรวมถึงการทลายภาพความทรงจำว่าความรักของหญิงรักหญิงมักจะจบลงในทิศทางที่ไม่สมหวัง อีกทั้งซีรีย์ยังมีการเล่าประเด็นสมรสเท่าเทียมเพื่อร่วมขับเคลื่อนความเท่าเทียมให้กับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศอีกด้วย    ส่งผลให้ซีรีย์เรื่องนี้ได้เข้าไปอยู่ในดวงใจใครหลายคนเป็นที่เรียบร้อย  ถึงแม้ว่าซีรีย์ทฤษฎีสีชมพูจะถูกผลิตสร้างออกอากาศตามหลังซีรีย์แนวชายรักชายมาถึงแปดปีด้วยกัน แต่ผู้วิจารณ์มองว่ามันก็ไม่ได้เกิดข้อเสียเปรียบระหว่างความแตกต่างเรื่องภาพตัวแทนทางเพศเลย  ผู้วิจารณ์กลับมองว่ามันก็เป็นเรื่องที่ดีด้วยซ้ำที่ประเทศไทยจะมีสื่อที่นำเสนอความหลากหลายทางเพศมากยิ่งขึ้น  และสื่อเหล่านี้จะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่สำคัญในการสร้างชื่อเสียงรวมถึงมูลค่าของอุตสาหกรรมบันเทิงให้กับประเทศในอนาคต

            ผู้วิจารณ์มีความเห็นเพิ่มเติมว่าประเทศไทยมีบริบททางสังคมรวมถึงสื่อที่ยอมรับเรื่องควาหลากหลายทางเพศมากกว่าประเทศอื่นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้   เพราะตัวผู้วิจารณ์ก็เคยทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “Lesbian พื้นที่และตัวตนที่ขาดหลายไปในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ” ผู้วิจารณ์มองเห็นถึงพลวัตรทางสังคมที่มีการค่อยๆปรับเปลี่ยนความคิดรวมถึงมีการถกประเด็นเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างเปิดกว้าง  ถึงแม้ว่าในส่วนของกฎหมายกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศจะไม่ได้รับการรองรับเท่าที่ควร  แต่ผู้วิจารณ์มองว่าอีกไม่นานประเทศไทยจะมีกฎหมายที่รองรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเกิดขึ้น เพียงแต่ว่ามันต้องใช้เวลาและการสั่งสมพลวัตรทางสังคมในการเปลี่ยนแปลงเท่านั้นเอง

 

[1] “จากออนไลน์สู่ออนแอร์ หวังขยายตลาด Y ด้วยซีรีส์ "หญิงรักหญิง," Thai pbs, 24 สิงหาคม 2564, https://www.thaipbs.or.th/news/content/307240?fbclid=IwAR3ae-UFGLiFSFS_g7P40B4XFNebGd94PhyEq8qgmp-ol3L_jRwRQw4rpx4

[2] รัฐธัญญา เรืองโรจน์, “Lesbian พื้นที่และตัวตนที่ขาดหายไปจากกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ.”( วิทยานิพนธ์ปริญญาบันฑิต, สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา,คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์,2547), น.55, https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:303438?fbclid=IwAR0lqQlk9uTHKQi2cqDTcuKXDvkPvkQsM-Lv7KyPNYkPNbWGPgDzIix1opw

[3] Thai PBS, “The Visual Talk: มองเพศผ่านภาพยนตร์/ซีรีย์ เพื่อพื้นที่เราไม่เท่ากัน,” ยูทูป, 28 มิถุนายน 2564, https://www.youtube.com/watch?v=vR213cZb-Y0

 

Visitors: 81,114