ความงดงามที่ถูกจำกัด

 จิดาภา มั่นศรีจันทร์

 

 

 

            “นางขี้เหร่สุดในโรงเรียน”

          “หน้าปลวกนะ แต่ความมั่นให้สิบ”

          “ยัยนั่นจะแบกหน้ามาโรงเรียนยังไง”

            ถ้อยคำเหล่านี้มาจากซีรีส์เกาหลีเรื่อง True Beauty ของช่อง tvN เล่าถึงเรื่องราวของ “อิมจูกยอง” นักเรียนหญิงชั้นมัธยมปลาย (รับบทโดย มุนกายอง) ที่โดนกลุ่มนักเรียนมากอิทธิพลในชั้นเรียนกลั่นแกล้งเพียงเพราะว่าเธอหน้าตา “ไม่ตรงกับค่านิยมความงาม” จนทำให้เธอมีความคิดที่อยากจะฆ่าตัวตาย และวันนั้นเองที่ก็เธอได้พบกับ “อีซูโฮ” (รับบทโดย ชาอึนอู) นักเรียนชายคนหนึ่งที่เพียบพร้อมไปทั้งหน้าตา สติปัญญา และฐานะทางครอบครัว ซึ่งช่างตรงข้ามกับครอบครัวของอิมจูกยองที่กำลังประสบปัญหาทางการเงินจนต้องย้ายบ้านกลับไปยังบ้านเกิด ส่งผลให้อิมจูกยองต้องย้ายโรงเรียนใหม่ และที่นั่นเธอตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตัวเองโดยการแต่งหน้าเพื่อปกปิดใบหน้าที่แท้จริง และเริ่มต้นชีวิตนักเรียนใหม่ที่โรงเรียนแห่งนี้ในฐานะ ‘นางฟ้าของโรงเรียนมัธยมแซบม’

            เรื่องราวชีวิตในรั้วโรงเรียนใหม่ของอิมจูกยองล้วนเต็มไปด้วยความราบรื่นและน่ายินดี ความรู้สึกที่แตกต่าง การกระทำที่เปลี่ยนไปของคนรอบข้าง ล้วนมาจากใบหน้าอันงดงามของเธอที่ถูกแต่งแต้มไปด้วยเครื่องสำอางเพียงเพราะต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเอง สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของบุคคลที่หลงเชื่อในค่านิยมที่บิดเบือนและปิดกั้นความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ค่านิยมความงามเหล่านั้นล้วนถูกสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนจินตนาการของมนุษย์ด้วยกันเอง แต่จินตนาการเหล่านั้นกลับทำลายกลุ่มบุคคลบางส่วนที่ไม่เป็นไปตามค่านิยมที่ถูกสร้างขึ้น เฉกเช่นเดียวกับชีวิตของอิมจูกยองในโรงเรียนเก่าที่ถูกกลั้นแกล้ง นินทา ทำร้ายมามากมายจนเกือบที่จะทำให้เธอต้องลาจากโลกใบนี้ไป

            ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ใด ประเทศอะไร พื้นที่ตารางวาไหน ล้วนมีเหตุการณ์การกลั่นแกล้งระหว่างกันเสมอ มาตรฐานความงาม หรือที่เรารู้จักกันดีอย่าง ‘Beauty Standard’ เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้มนุษย์เราหลายคนถูกกลั่นแกล้งหรือบูลลี่ (Bully) แม้ว่ามาตรฐานความงามที่เกิดขึ้น เป็นเพียงแค่อุดมคติของค่านิยมซึ่งเกิดจากกลุ่มคนกลุ่มเล็ก แต่เมื่อค่านิยมนั้นได้ยอมรับกันอย่างแพร่หลาย มันจึงกลายเป็นรูปแบบความงามและค่ามาตรฐานสำหรับมนุษย์ด้วยกันเอง

 

“เราถูกปลูกฝังจากสิ่งรอบข้างมาว่า ถ้า “สวย” เราจะมีโอกาสมากขึ้น”

          ความสวยเปรียบเสมือนสิทธิพิเศษ (privilege) ที่จะมีหรือไม่มีก็ได้ แต่ถ้าหากคุณมี คุณก็จะได้รับสิทธิ์หรือโอกาสต่าง ๆ มากกว่าคนอื่น ๆ โดยปริยาย เฉกเช่นเดียวกับค่านิยมความงามในสมัยกรีซโบราณ (Ancient Greece) ที่ประติมากรรมในยุคกรีกและประวัติศาสตร์อันยาวนานสอนเรามาว่าการเกิดเป็นหญิง (ในยุค) นั้นยากลำบาก สังเกตได้จากวลีกรีกที่ว่า Kalon Kakon แปลได้ว่า  "the beautiful-evil thing" วลีที่บรรยายผู้หญิงคนแรกในคัมภีร์ไบเบิลว่าความสวยนั้นเป็นบาป และเพราะเป็นคนบาปจึงเต็มไปด้วยความสวย โดยนักปรัชญาชาวกรีกนามว่า เพลโต ได้กล่าวว่า ใบหน้าของผู้หญิงต้องได้รับการกำหนดด้วยสัดส่วนทองคำ (Golden Ratio) ก่อนที่จะถูกล้มล้างด้วยความงามที่สมมาตรของพิธากอรัส ซึ่งระบุว่า ‘ผู้หญิงสวย หน้าต้องมีความกว้าง 2/3 เท่าของความยาว และสมมาตรกันทุกส่วน’ หรือค่านิยมความงามในยุคของควีนอลิซาเบธ ที่เป็นยุคที่เรียกได้ว่าเป็นยุคแรกเริ่มแห่งการแต่งหน้า ประชาชนเชื่อว่าความงามที่ดีคือความขาวซีดจากการอยู่ในที่ร่ม ไม่เหมือนสามัญชนซึ่งต้องทำงานกลางแดดทำให้มีผิวคล้ำ อีกทั้งลิปสติกสีแดงในความเชื่อตามการค้นคว้าจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดยังหมายถึงการใช้เวทมนตร์ที่เหนือกว่าทุกสิ่งอีกด้วย

 

“ความสวยทำให้เปลี่ยนไปจริง ๆ ”

          อิมจูกยองคิดขึ้นมาในใจระหว่างการแนะนำตัวของเธอที่โรงเรียนใหม่ เธอนั้นได้รับความสนใจจากคนรอบตัวตั้งแต่ที่ก้าวเท้าเข้ามาในโรงเรียน เธอได้เพื่อนใหม่ตั้งแต่การเข้าเรียนวันแรก มีกลุ่มแชตกับเพื่อนอย่างที่เธอไม่เคยมีมาก่อน และเธอไม่โดนแกล้งหรือโดนใช้งานเหมือนตอนที่อยู่โรงเรียนเก่า อิมจูกยองมีเพื่อนมากมายที่พร้อมจะเข้าใจ เป็นห่วง และช่วยเหลือ แต่ก็แลกมากับความหวาดระแวงที่ว่า “จะมีใครเห็นหน้าสดเธอหรือไม่” “แล้วถ้าเห็นแล้ว เธอจะโดนสังคมตราหน้าว่าเป็นคนหลอกลวง และกลั่นแกล้งเธอเพียงเพราะหน้าตาของเธอเหมือนตอนที่อยู่โรงเรียนเก่าหรือไม่” ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องเพื่อนเท่านั้น แต่ในซีรีส์เรื่องนี้ยังคงนำเสนอถึงสายตาของคนรอบข้าง และสิทธิพิเศษที่อิมจูกยองได้รับจากความสวยของเธอ เช่น ฉากที่เห็นได้ชัดว่าความสวยทำให้กลายเป็นชนชั้นอภิสิทธิ์ก็คือตอนที่เธอขึ้นรถเมล์เพื่อไปเรียน อดีตเธอเคยต้องยืนเบียดกับผู้โดยสารคนอื่น ๆ ในรถ และถูกมองด้วยสายตารังเกียจ แต่เมื่อเธอแต่งหน้าและขึ้นรถเมล์เช่นเดิม ผู้โดยสารคนอื่น ๆ กลับหลีกทางให้เธอไปนั่ง และชื่นชมในความสวยของเธอตลอดทาง นั่นยิ่งตอกย้ำว่าคนสวยมักจะได้รับสิทธิพิเศษเหนือกว่าคนอื่นหรือที่เรียกว่า Beauty Privilege

            การนำเสนอในรูปแบบนี้ไม่ว่าจะในซีรีส์หรือเว็บตูน ล้วนเป็นการสะท้อนสังคมที่เด่นชัดว่าสังคมเหล่านั้น คือ สังคมที่ผู้คนต่างตัดสินกันและกันเพียงเพราะรูปลักษณ์ภายนอก แม้ว่าจิตใจของบุคคลเหล่านั้นจะดีเลิศและงดงามมากเพียงใด แต่สุดท้ายบุคคลเหล่านั้นก็ยังคงถูกตัดสินด้วยค่านิยมความงามที่สร้างมาโดยจินตนาการของมนุษย์ด้วยกันเอง ไม่ต่างอะไรกับการกระทำของมนุษย์ที่ตัดสินเนื้อหาและความสนุกของหนังสือ จากปกหนังสือที่ไม่อาจดึงดูดสายตาและความประทับแรกเห็นได้

 

ความสวยคือดาบสองคม

          ความสวยในมายาคติกลับกลายเป็นปัญหาสังคมที่ยิ่งใหญ่ เรื่องราวที่หลากหลาย มิติที่มากมาย หล่อหลอมความคิดของสังคมจนกลายเป็นค่านิยมที่ต้องยึดถือและปฏิบัติตาม มาตรฐานที่จำกัดกรอบความคิดที่ขับเคลื่อนแนวคิดของสังคม จนเป็นกระแสความเชื่อที่แรงกล้า เพียงเพราะความเชื่อเหล่านี้ทำให้เราต้องหันกลับมามองถึงวัฒนธรรมและความเชื่อของสังคมปัจจุบันในเรื่องของ Beauty Standard ที่มอบคำถามให้ว่า “วันนี้เราดูดีแล้วหรือยัง” “ออกจากบ้านไปแล้วจะไม่โดนทักว่าอ้วนขึ้นใช่ไหม” “ผิวคล้ำขึ้นหรือเปล่า” คำทักหรือคำติเหล่านี้กลายเป็นความสวยพร้อมที่สังคมต้องการเพราะค่านิยมที่ปฏิบัติตามกันมา จึงทำให้ Beauty Standard กลายเป็นดาบสองคมที่พร้อมจะทำร้ายจิตใจเราเสมอมา และมีหลากหลายเหตุการณ์ที่บุคคลสาธารณะบางส่วนถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องของ Beauty Standard ไม่ว่าจะเป็นคอมเมนต์และข่าวต่าง ๆ ที่ยังสามารถพบเจอได้ทั่วไปตามโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งไม่คำนึงถึงจิตใจของผู้ถูกวิจารณ์เลยแม้แต่น้อย ทำให้ค่านิยมความงามกลายเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องใช้ความพยายามเพื่อที่จะเข้าสู่มาตรฐานที่สังคมกำหนด

            ความสวยที่เราได้รับมาจากธรรมชาติที่มีมาตั้งแต่กำเนิด (nature) หรือที่ได้รับการดูแลมาเป็นอย่างดี (nurture) เป็นสิ่งที่น่ากลัวในการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นสังคมขนาดใหญ่อย่างสถานศึกษา ก็มีมาตรฐานความงามอย่างไม่สามารถปฏิเสธได้ แล้วสังคมขนาดเล็กอย่างครอบครัวล่ะ?  สถาบันที่ได้ชื่อว่าเป็นสังคมแรกที่คอยถ่ายทอดความรู้ วัฒนธรรม และการวางตัวในสังคม บุคคลนั้นจะเป็นเช่นใดถ้าหากถูกจำกัดสิทธิ เสรีภาพ และเส้นทางอนาคตของตนเพียงเพราะค่านิยมความงามที่ถูกกำหนดขึ้นมาจากมนุษย์ด้วยกันเอง แต่ถึงแม้ว่าในปัจจุบันคำว่า “ความสวย” จะมีความหลากหลายในสื่อมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการออกมา Call out“Beauty Standard” เพื่อเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพที่ถูกจำกัดไป แต่มาตรฐานความงามนั้นยังคงติดตาไปอีกนานแสนนาน เพราะค่านิยมนี้ถูกเปลี่ยนไปตามประเพณีวัฒนธรรมและสื่อสังคมออนไลน์เสมอ โดยสื่อโฆษณาจะคอยโน้มน้าวและชักจูงให้ยังคงปฏิบัติตามมาตรฐานความงามตลอดไป เพราะสื่อคือสิ่งที่สำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนสังคมและทัศนคติของผู้คน

 

“การปลอมตัวที่สมบูรณ์แบบเป็นทางเดียวที่จะรอด”

            การกลั่นแกล้งระหว่างกันภายในสถานศึกษา เป็นสถานการณ์ที่พบได้ทั่วไปและมากมายในสังคมไทยและต่างประเทศทั่วโลก สาเหตุนั้นล้วนแต่เกิดจากความขัดแย้งทางความคิดและการกระทำที่แตกต่างกัน ค่านิยมความงามก็เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการบูลลี่ในโรงเรียน ซีรีส์ True beauty สามารถถ่ายทอดภาพ อารมณ์ ความคิด ความรู้สึก บทบาทของแต่ละตัวละครออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมและโดดเด่นยิ่งกว่าในเว็บตูนที่เป็นต้นฉบับของสื่อ ดังเหตุการณ์บางส่วนในซีรีส์ที่ถูกถ่ายทอดออกมาถึงอดีตอันขมขื่นของอิมจูกยองที่ถูกกลั่นแกล้งสารพัดนับไม่ถ้วน ตั้งแต่ทำร้ายจิตใจเธอรวมไปถึงการทำร้ายร่างกาย เช่น การถูกสาดน้ำใส่และหัวเราะเยาะจนตัวเธอสูญเสียความมั่นใจในตัวเองซ้ำ ๆ จนเกิดความคิดด้านลบอย่างการฆ่าตัวตาย แต่สำหรับการเริ่มต้นชีวิตในโรงเรียนใหม่ อิมจูกยองจึงต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองมาใช้ชีวิตอยู่กับใบหน้าสองใบหน้าอย่างการแต่งหน้าเพื่อปกปิดใบหน้าที่แท้จริง ซึ่งมาพร้อมด้วยความเหนื่อยและเรื่องน่าอายที่ถูกปิดบัง เพียงเพราะนั่นเป็นเพียงหนทางเดียวที่จะทำให้เธอรอดจากการกลั่นแกล้งจากคนรอบข้างเพียงเพราะเธอไม่ตรงกับค่านิยมความงามที่สังคมกำหนดขึ้น

            แต่แล้วชีวิตใหม่ที่เริ่มต้นได้อย่างสวยงามของเธอก็ไม่ได้ราบรื่นเสมอไป เมื่อเธอได้กลับมาพบกับกลุ่มตัวละครดาวเด่น ที่อดีตเป็นกลุ่มที่รุมกลั่นแกล้งสารพัดเมื่อตอนอยู่โรงเรียนเก่า ทุกสิ่ง ทุกอย่าง ทุกช่วงเวลาหวนคืนกลับมา ภาพที่เธอถูกสังคมผลักไสไล่ส่ง กลั่นแกล้งต่าง ๆ นานา ไม่สนว่าเธอก็เป็นมนุษย์เหมือนกับ  ทุก ๆ คนในโรงเรียนจนเธอแทบยืนไม่ไหว ความรู้สึกในอดีตที่เคยถูกกลั่นแกล้ง และครุ่นคิดตบตีกับความคิดที่หลากหลายว่าตัวเธอนั้นควรทำอย่างไรต่อไป เพื่อไม่ให้กลุ่มนั้นจดจำเธอได้และกลับมากลั่นแกล้งเธออีกครั้ง

 

“ความจริงแล้ว ฉันใกล้เคียงกับนางเอกใส่หน้ากากต้องคำสาป”

          กลวิธีการนำเสนอเรื่องชีวิตของอิมจูกยองในซีรีส์ถูกนำเสนอ ตั้งแต่เกิดจนถึงช่วงปัจจุบันที่เธอย้ายไปโรงเรียนใหม่ ภาพติดตาในวัยเด็กของเธอนั้นถูกมาตรฐานความงามกัดกินความสุขของเธอราวกับหน้ากากต้องคำสาปที่เธอนำมันมาเปรียบตัวเอง ก่อนหน้านั้นเธอเป็นเพียงแค่เด็กสาวบริสุทธิ์คนหนึ่งที่เคยวาดฝันถึงช่วงเวลาแห่งเวทมนตร์ ช่วงเวลาที่สามารถแปลงโฉมเด็กสาวหน้าตาธรรมดาให้เป็นนางฟ้าแสนสวยได้ในชั่วพริบตาเหมือนดังการ์ตูนทั้งหลาย แต่สุดท้ายเธอก็ยังคงถูกญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านหรือเด็กรอบข้างบูลลี่และบั่นทอนจิตใจอยู่เช่นเคย ทั้งกล่าวว่าเธอนั้นเป็นเจ้าปีศาจตนหนึ่ง หรือโรคหลงตัวเองที่คิดว่าตัวเองเป็นนางฟ้า และก่อนที่เธอจะย้ายโรงเรียน อิมจูกยองก็ยังคงถูกตัวละครสาวดาวเด่นของโรงเรียนกลั่นแกล้งและนินทาลับหลังเธอ เช่น คำพูดที่อิมจูกยองถูกนินทาว่าเธอนั่นคือน้ำเสียน้ำเน่าที่อยู่ตามท่อน้ำทิ้ง หรือในตอนที่เธอถูกแฉการสารภาพรักของเธอลงในเว็บบอร์ดนิรนามของโรงเรียน คอมเมนต์ทั้งหลายล้วนบูลลี่และวิพากษ์วิจารณ์หน้าตาของเธอแทบนับไม่ถ้วน บั่นทอนจิตใจนับแสนล้านครั้ง ทั้งกล่าวว่าเธอเป็นบุคคลที่ขี้เหร่ที่สุดในโรงเรียน หรือเรียกว่ายัยหน้าปลวก จนทำให้เธอนั้นเกิดความคิดที่จะฆ่าตัวตาย แต่สุดท้ายความคิดนั้นก็ไม่สำเร็จ และไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาไหน สถานที่ใด หรือสภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร ตัวละครอิมจูกยองก็ยังคงถูกมาตรฐานความงามทำร้ายกลับมาเสมอ เช่นเดียวกับช่วงชีวิตในโรงเรียนเก่าของเธอที่ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านเว็บตูน สะท้อนให้เห็นถึงสังคมโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาที่นักเรียนหลายคนถูกกลั่นแกล้งเพียงเพราะหน้าตาไม่ตรงตามค่านิยมความงาม แม้ภาพบางเหตุการณ์ในเว็บตูนจะถูกปรับแต่งหรือตัดออก เพื่อให้ในซีรีส์ได้มีการถ่ายทอดสภาพสังคมที่เด่นชัดมากยิ่งขึ้น แต่สุดท้ายชีวิตตัวละครอิมจูกยองไม่ว่าจะในซีรีส์หรือเว็บตูน เธอก็ยังคงถูกมาตรฐานความงามทำร้ายอยู่เช่นเดิมไม่มีเปลี่ยนแปลง แต่ถึงแม้ว่าชีวิตของเธอจะถูกกัดกินเพราะค่านิยมความงามมาตลอด ก็ใช่ว่าชีวิตของเธอจะเลวร้ายเสมอไป การที่เธอได้ย้ายโรงเรียนทำให้ได้เจอผู้คนมากมาย ได้รู้จักความรัก ได้เรียนรู้ว่าถึงแม้ตัวเธอจะไม่สวยตามมาตรฐานความงาม เธอก็สามารถมีความรักเช่นมนุษย์คนหนึ่งได้ และนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ได้เรียนรู้ว่าค่านิยมความงามนั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับชีวิต แต่มันคือการยอมรับตัวตนที่แท้จริงของตนเองต่างหาก

 

หากโลกนี้ไม่มีมาตรฐานความงาม

            มาตรฐานความงามเกิดขึ้นจากความคิดของกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งที่มีความเห็นเกี่ยวกับความสวยงามของมนุษย์หรือที่เรียกว่า ‘ทัศนคติ’ ก่อนที่ทัศนคติเหล่านั้นจะถูกยอมรับและยึดถือปฏิบัติตามต่อกันมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็น ‘ค่านิยม’ และจนกลายเป็นมาตรฐานความงามที่คอยกัดกินสิทธิ เสรีภาพ และเส้นทางอนาคตของหลากหลายคนไป การมีมาตรฐานความงามเหมือนเป็นการบังคับยัดเยียดให้คนหลายคนต้องก้มหน้าก้มตาปฏิบัติตามอย่างโต้แย้งไม่ได้ เหมือนเป็นการล้างสมองมนุษย์ด้วยกันเองด้วยความคิดที่บิดเบือน ความสวยงามเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ใช่ว่าสิ่งที่ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานความงามนั้นจะไม่สวยงามเช่นกัน ทุกสิ่งทุกอย่างมีความสวยงามที่แตกต่างกัน หากผีเสื้อสวยดั่งดอกไม้ แล้วจะมีผีเสื้อให้เชยชมความงามไปทำไม มันคงเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ผีเสื้อไม่อาจมองเห็นได้ว่าตัวตนของมันเองนั้นงดงามมากเพียงใด เพียงเพราะมาตรฐานความงามที่ถูกกำหนดขึ้นมา

            มนุษย์เรามีสิทธิและเสรีภาพในการกระทำการใดได้อย่างชอบธรรม แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น ไม่ว่าการกระทำใดมนุษย์เรามีอิสระที่จะแสดงออก มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และตัดสินใจว่าอะไรดีไม่ดี จากความเชื่อที่ถูกสร้างขึ้นและถูกเก็บสะสมมาจนกลายเป็นองค์ความรู้ แต่เมื่อเหตุใดมีใครสักคนกล่าวแย้งถึงเรื่อง Beauty Standard กลับถูกต่อต้านและไม่รับฟังความคิดเห็น เราทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น มีสิทธิที่จะบอกว่าอะไรสวย อะไรไม่สวย แต่นั่นยังคงต้องควรอยู่ภายใต้คำว่า ‘การทำร้ายจิตใจผู้อื่น’ หากเรามองเรื่องราวของ Beauty Standard ในมุมมองที่กว้างขึ้นและแตกต่างออกไป เรื่องนี้มันก็คงเป็นเพียงเรื่องราวค่านิยมอย่างหนึ่งที่อาจส่งผลเสียให้แก่ตัวมากกว่าผลดี หรือให้ผลดีมากกว่าผลเสีย ซึ่งนั่นขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน

            มาตรฐานความงาม หรือ Beauty Standard อยู่เคียงคู่และเคียงข้างมนุษย์เรามาช้านานและจะคงอยู่ตลอดไปจนกว่ามนุษย์เราจะไร้ความคิดและความรู้สึกซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้ มาตรฐานความงามสำหรับบุคคลที่มองในมุมที่กว้างมากขึ้นอาจเห็นเส้นทางที่ทำให้ตัวเองมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น ชอบตัวเองในสิ่งที่เป็นมากยิ่งขึ้นและมีความสุขมากยิ่งขึ้น แต่สำหรับบุคคลที่เคยประสบปัญหาการถูกกลั่นแกล้งเพราะค่านิยมความงามคงไม่อาจจะยอมรับได้ว่า เรื่องนี้เป็นเพียงแค่ค่านิยมของสังคมหรือเป็นสิ่งที่บุคคลควรถูกกระทำ มาตรฐานความงามสำหรับบุคคลที่สังคมมองว่าไม่สวย น่าเกลียด น่ารังเกียจเป็นเพียงเครื่องมือในการทำร้ายความรู้สึกและสร้างบาดแผลที่ร้าวลึกจนเกินเยียวยา ความงามกลับกลายเป็นเครื่องมือที่สร้างโดยมนุษย์เพื่อทำลายมนุษย์ที่ผิดแปลกและไม่เหมาะสมตามความคิดของตนที่จะอยู่บนโลกมายาคติใบนี้อย่างเลือดเย็น

 

อ้างอิง:

อาภาภัทร ธาราธิคุณ. (2564).  Beauty Standard ส่องวิวัฒนาการมาตรฐานความงามที่ไม่ควรมี

          มาตรฐาน. สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2566, จาก https://themodernist.in.th/beauty-standard/ Meekhwamsook.outsource. (2565).  ถ้าไม่มี Beauty Standard ฉันอาจจะเป็นคนมั่นใจกว่านี้.

            สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2566, จาก https://meekhwamsook.com/beautystandard/

PlutoDemo'. (2564).  Beauty Standards จุดร้าวของความเป็นมนุษย์. สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม

            2566, จาก https://www.kaidee.com/blog/th/beauty-standard-devalue/

 

Visitors: 82,074