202507VIP07

ความทรงจำร่วมของหญิงชายขอบ :

ภาพสะท้อนผ่านละครโทรทัศน์ ‘คุณพี่เจ้าขาดิฉันเป็นห่านมิใช่หงส์

ดร. สรรัตน์ จิรบวรวิสุทธิ์

 

 

บทนำ : เมื่อละครย้อนยุคกลายเป็นพื้นที่ความทรงจำของคนไร้ปากเสียง

           ในโลกของละครโทรทัศน์ไทย ประวัติศาสตร์มักถูกผลิตซ้ำผ่านเรื่องเล่าในราชสำนัก ชีวิตชนชั้นสูง และความรักข้ามภพข้ามชาติ ทว่าละครโทรทัศน์เรื่อง “คุณพี่เจ้าขาดิฉันเป็นห่านมิใช่หงส์” (Good Heavens ! I'm a Goose Not a Swan) ซึ่งสร้างจากนวนิยายของ “ฝันเอ้อระเหย” ดัดแปลงเป็นบทละครโทรทัศน์โดยศุภวรรณ ทองขลิบ และเหมือนฝัน ชาวเหนือ กำกับโดยยุทธนา ลอพันธุ์ไพบูลย์ กลับกล้าท้าทายแนวทางเดิมโดยเปิดพื้นที่ให้กลุ่มชายขอบอย่างหญิงโสเภณีในซ่องได้เล่าเรื่องราวของตนผ่านละครแนวโรแมนติก คอเมดี้ แฟนตาซี ย้อนยุค ถ่ายทอดเรื่องราวของตัวละคร “นิทรา” นางเอกสาวดาวรุ่งที่ประสบอุบัติเหตุทางน้ำจนเป็นเหตุให้เดินทางย้อนภพข้ามเวลาตื่นขึ้นมาในร่างของ “บุญตา” โสเภณีประจำ “โรงยายแฟง” ในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งกำลังจะกระโดดน้ำฆ่าตัวตายจนได้พบรักกับหลวงทุกขราษฎร์ หรือ “พ่อฉาย” ที่มาช่วยชีวิตไว้ได้ทันเวลา

           นอกจากเนื้อเรื่องที่สนุกสนาน ถูกใจผู้ชม จนคว้าเรตติ้งโทรทัศน์รายวันทั่วประเทศตอนจบสูงถึง 5.9 แล้ว ละครโทรทัศน์เรื่องนี้ยังนำเสนอภาพอดีตในฐานะความทรงจำร่วม (Collective Memory)อันพร่าเลือนที่ไม่มักค่อยถูกพูดถึงในละครอิงประวัติศาสตร์ไทยและยังเป็นปากเป็นเสียงให้แก่ผู้หญิงที่เคยถูกผลักไสให้เป็นคนชายขอบและมักถูกละเลยในพื้นที่ประวัติศาสตร์กระแสหลักอย่างหญิงโสเภณีและแม่เล้าซึ่งเป็นกลุ่มคนที่แม้จะมีอยู่จริงในประวัติศาสตร์แต่ก็ไม่เคยมีพื้นที่ความทรงจำในการรับรู้ของคนไทยโดยทั่วไปอีกด้วย

 

1. “โรงยายแฟง” ในฐานะ “พื้นที่แห่งความทรงจำ”

           ตามแนวคิดของ Pierre Nora (1989) ความทรงจำร่วมไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวเหตุการณ์เพียงอย่างเดียว แต่เกิดจาก “พื้นที่แห่งความทรงจำ” (Site of Memory) ที่หล่อหลอมความรู้สึกส่วนบุคคลให้กลายเป็นเรื่องเล่าร่วมของสังคม ซ่องยายแฟงในละครโทรทัศน์เรื่อง “คุณพี่เจ้าขาดิฉันเป็นห่านมิใช่หงส์” จึงไม่ได้เป็นเพียงฉากหลังของเรื่องเท่านั้น หากแต่เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมยุคใหม่ได้ทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ที่ถูกหลงลืม ทั้งในเชิงกายภาพไม่ว่าจะเป็นโรงซ่อง การแต่งกาย การอบโยนี และพื้นที่เชิงอารมณ์อย่างความกลัว ความคับแค้น และการต่อรองอำนาจในร่างกายของหญิง

           ความทรงจำของผู้คนเกี่ยวกับ “ยายแฟง” แม่เล้าใจบุญในสมัยรัชกาลที่ 3 ผู้รวบรวมเอาเงินบริจาคจากหญิงโสเภณีมาสร้าง “วัดใหม่ยายแฟง” จนโด่งดังถึงขนาดมีวลีติดปากว่า “ยายฟักขายข้าวแกง ยายแฟงขาย… ยายมีขายเหล้า” ซึ่งต่อมาลูกหลานขอพระราชทานชื่อใหม่ในรัชกาลที่ 5 ว่า “วัดคณิกาผล” ซึ่งยังคงตั้งตระหง่านอยู่ในย่านตรอกเต๊าหรือซอยเจริญกรุง 14 กลายเป็นพื้นที่ที่ถูกจดจำในฐานะ “อนุสรณ์ทางศีลธรรม” ที่สะท้อนความย้อนแย้งของการทำบุญด้วยเงินจากธุรกิจค้าประเวณี ทำให้ผู้ชมต้องตั้งคำถามว่า “เราจะจดจำอดีตแบบไหน ?” เป็นความทรงจำแบบจารีต หรือเป็นความทรงจำแบบวิพากษ์อำนาจที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง ?

           ในพื้นที่ความทรงจำแบบจารีต(Conventional Memory) ที่มักผลิตซ้ำอดีตตามกรอบคุณธรรมของรัฐ ศาสนา และสังคม เช่น การมองหญิงโสเภณีว่าเป็น “หญิงคนชั่ว” ที่ได้รับการไถ่บาปเมื่อทำบุญสร้างวัด เป็นการทำให้ความผิดบาปนั้นถูกให้อภัยผ่านพิธีกรรมและเครื่องมือศาสนา แนวทางนี้สะท้อนแนวคิดแบบอนุรักษนิยมที่ตีค่าความดี-ชั่วตามศีลธรรมจารีตโดยไม่ตั้งคำถามต่อบริบทเชิงโครงสร้าง ในขณะที่พื้นที่ความทรงจำแบบวิพากษ์อำนาจ (Critical Memory) เป็นการจดจำอดีตโดยเปิดโปงเบื้องหลังของระบบอำนาจ เช่น การตั้งคำถามว่าเหตุใดหญิงโสเภณีจึงต้องหาเงินมาสร้างวัด ? ระบบแบบใดที่ทำให้ผู้หญิงต้องไถ่บาปหรือชดใช้ความผิดด้วยการทำบุญ ? จากคำเทศนาของสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ทำไมเงินของหญิงขายบริการจึงต้องได้รับการลดค่าอานิสงส์ลงเหลือแค่ “สลึงเฟื้อง”? ความทรงจำในรูปแบบนี้เปิดทางให้ผู้ชมมองเห็นโครงสร้างอำนาจทางศีลธรรมที่ซ่อนอยู่หลังวาทกรรม “บุญ-บาป” และชี้ให้เห็นว่าอดีตที่เราจำกันนั้นไม่เป็นกลาง หากแต่ถูกประกอบสร้างเพื่อจัดระเบียบความดีงามแบบชนชั้นนำในสังคมไทย

 

2. นิทรา-บุญตา : ตัวแทนของความทรงจำร่วมระหว่างอดีต-ปัจจุบัน

           ทฤษฎีความทรงจำร่วมของ Maurice Halbwachs อธิบายว่าการจดจำอดีตในเชิงสังคมมิได้เกิดขึ้นจากความทรงจำส่วนบุคคล (Individual Memory) ล้วน ๆ หากแต่ต้องได้รับการเสริมแรงจากความทรงจำร่วมของกลุ่ม  (Group Memory) ซึ่งสามารถดำรงอยู่ได้เมื่อมีผู้แลกเปลี่ยน สื่อสาร และผลิตซ้ำ บทละครเรื่องนี้ได้วางตัวละคร “นิทรา” ให้ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมโลกยุคใหม่เข้ากับความทรงจำของผู้หญิงในอดีต เมื่อเธอต้องเข้าสู่โลกของ “บุญตา” เธอไม่เพียงแต่ต้องเรียนรู้วัฒนธรรมยุคนั้น แต่ยังต้องจดจำความเจ็บปวดและโศกนาฏกรรมที่เคยเกิดขึ้นกับหญิงในซ่องซึ่งบางครั้งมาจากชนชั้นสูงที่ถูกขายเข้าซ่องโดยระบบชายเป็นใหญ่ นิทราในฐานะนางเอกละครโทรทัศน์ยุคใหม่จึงกลายเป็นสื่อกลางให้ผู้ชมร่วมรื้อฟื้นความทรงจำที่เคยถูกลืม และแปลงมันเป็นอารมณ์ร่วมที่ซ้อนทับระหว่างอดีตกับปัจจุบัน เป็นการจดจำที่ไม่ใช่เพื่อยกย่องหญิงโสเภณีเยี่ยงวีรสตรีทั่วไป หากแต่เพื่อเยียวยาบาดแผลที่ถูกกดขี่ในประวัติศาสตร์และเป็นปากเป็นเสียงให้แก่ผู้ที่ถูกลืม

          ภาพของหญิงโสเภณีในสังคมไทยมักถูกกดทับภายใต้เรื่องเล่าแบบอุดมคติจนแทบไม่มีพื้นที่ให้เล่าถึงอัตลักษณ์ ความรู้สึก และชีวิตจริงของพวกเธอ บทบาทของละครเรื่องนี้จึงไม่ใช่เพียงเล่าเรื่องความทรงจำเท่านั้น แต่คือการถูกสังคมทำให้หลงลืมอย่างเป็นระบบ (Systematic Forgetting) ผลักไสผู้หญิงเหล่านี้ให้มีตัวตนอันพร่าเลือนในหน้าประวัติศาสตร์ ละครโทรทัศน์เรื่อง “คุณพี่เจ้าขาดิฉันเป็นห่านมิใช่หงส์” ได้รื้อฟื้นความทรงจำให้กลายเป็นการกระทำทางการเมืองทางวัฒนธรรม คืนพื้นที่ให้ความทรงจำของหญิงชายขอบ กลุ่มผู้ถูกกดขี่ และระบบที่ไม่เป็นธรรมในอดีต เรียกร้องความเข้าใจใหม่ต่อประวัติศาสตร์หญิงที่เคยถูกลืม และชวนให้จดจำพวกเธอในฐานะมนุษย์ที่มีตัวตน มีปากเสียง และมีเรื่องราวในวิถีของตนเอง

          เรื่องราวของ “บุญตา” มิได้สะท้อนเพียงกลุ่มหญิงโสเภณีในซ่องในอดีตเท่านั้น แต่ยังสะท้อนรูปแบบการกดทับและการลืมเลือนเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับกลุ่มชายขอบอื่น ๆ ในประวัติศาสตร์อย่างเช่นหญิงบำเรอสงคราม (Comfort Women) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้หญิงหลายแสนคนในกาหลี จีน ฟิลิปปินส์ และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกบังคับให้เป็นหญิงบำเรอในซ่องทหารของกองทัพญี่ปุ่น ภายหลังสงครามพวกเธอต้องเผชิญกับการถูกตีตราจากสังคม ไม่มีการยอมรับหรือการกล่าวถึงอย่างเป็นทางการมานานกว่า 50 ปี จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1991 คิม ฮักซุน หญิงชาวเกาหลี ได้ออกมาเปิดเผยประสบการณ์อันน่าเจ็บปวดของตนเองอย่างกล้าหาญจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการฟื้นคืนความทรงจำร่วมของหญิงบำเรอทั่วโลกผ่านอนุสรณ์ ผลงานศิลปะ และการเคลื่อนไหวเรียกร้องความยุติธรรม โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นปากเสียงให้แก่ผู้หญิงที่ถูกลืม ไม่ใช่เพื่อเรียกร้องให้ชดใช้ แต่เพื่อการเยียวยาและป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

 

3. กลวิธีข้ามภพย้อนอดีตในละครไทย : อดีตของใคร ? เพื่อใคร ?

          ละครโทรทัศน์แนวย้อนยุคข้ามภพข้ามชาติ (Time-Travel Romance) ในแบบกระแสหลักอย่างเรื่อง บุพเพสันนิวาส, พรหมลิขิตหรือทวิภพ ล้วนตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่า “อดีตคือพื้นที่แห่งความอภิรมย์” ที่แม้จะมีความโหดร้าย แต่ก็มีความงามทางวัฒนธรรม ความรัก และศีลธรรมอันบริสุทธิ์ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบกับโลกยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความเสื่อมถอยทางคุณธรรม ในเชิงกลวิธีเล่าเรื่องตัวละครหญิงมักทำหน้าที่เป็นผู้มาเยือนที่เรียนรู้วัฒนธรรมไทยจากยุคอดีตอย่างชื่นชม และมักลงเอยด้วยการรักและสมรสกับตัวละครชายในระบบราชสำนัก เช่น ขุนนาง ทหาร หรือเจ้านาย จุดนี้สะท้อนถึงโครงสร้างชายเป็นใหญ่ที่ไม่ได้เพียงนำเสนอในเนื้อเรื่องเท่านั้น แต่ฝังลึกในระดับ อุดมการณ์ของการเล่าเรื่อง (Narrative Ideology)

           ในขณะที่ละครโทรทัศน์แนวย้อนยุคข้ามภพข้ามชาติแบบเดิมวาดภาพนางเอกให้เป็นหญิงบริสุทธิ์ผู้มาเติมเต็มอดีต ละครโทรทัศน์เรื่อง “คุณพี่เจ้าขาดิฉันเป็นห่านมิใช่หงส์” กลับพลิกกระบวนทัศน์ดังกล่าวโดยสิ้นเชิง โดยให้ “นิทรา” ตัวละครเอกในเรื่องไม่ได้ย้อนกลับไปในฐานะ “ว่าที่คุณหญิง” แต่กลับกลายเป็นหญิงโสเภณีในซ่องยายแฟงซึ่งเป็นกลุ่มชายขอบที่ไม่เคยถูกพูดถึงในละครแนวย้อนยุคของไทย ตรงนี้เองที่ละครเรื่องนี้ขยับจากขนบละครไทยกระแสหลัก มาสู่ละครย้อนยุคเชิงสตรีนิยมแนวตลกร้าย (Feminist Dark Comedy) ที่ตั้งคำถามว่า “ทำไมเราจึงจดจำอดีตผ่านภาพของชนชั้นสูงเท่านั้น ?” และ “เหตุใดหญิงในซ่องจึงไม่สามารถมีตัวตนในประวัติศาสตร์ได้ ?” และเปิดโอกาสให้ตัวละครหญิงเป็นผู้มีปากมีเสียงในสังคมและกล้าต่อรองกับอำนาจถึงแม้ว่าจะอยู่ในบริบทของซ่องโสเภณีก็ตาม ตัวละคร “บุญตา” คือภาพแทนของหญิงที่ถูกขายเข้าสู่ระบบอาชีพที่ถูกกดขี่ แต่กลับมีชีวิต ความรัก ความทรงจำ และความฝันของตนเอง

           หลายฉากในละครโทรทัศน์เรื่องนี้ที่แสดงให้เห็นว่า “บุญตา” มิได้ยอมจำนนต่อบทบาทที่สังคมยัดเยียดให้ แต่กลับใช้ เสียงหัวเราะ มุกตลกใต้สะดือ และไหวพริบ เพื่อเอาตัวรอดจากระบบอำนาจชายเป็นใหญ่ที่กดทับอยู่ และทวงคืนศักดิ์ศรีของผู้หญิงเหล่านั้นผ่านการเล่าเรื่องแบบเย้ยหยันด้วยอารมณ์ขัน การล้อเลียนตัวละครจากวัฒนธรรมละครโทรทัศน์ร่วมสมัยที่เคยประสบความสำเร็จอย่าง “บุพเพสันนิวาส”  ตลอดจนมุกตลกสองแง่สองง่ามที่ใช้ในบทสนทนาในซ่อง เช่น การทัดดอกไม้ การพูดถึงการอบโยนี หรือการสอนวิธีรับแขกแบบตลกร้าย สะท้อนถึงการที่หญิงเหล่านี้ถูกฝึกฝนและบงการร่างกายเพื่อใช้เป็นสินค้า โดยใช้เสียงหัวเราะทำหน้าที่กลบเกลื่อนความเจ็บปวดและช่วยให้เรื่องเล่าที่ยากจะพูดถึงกลายเป็นสิ่งที่พูดได้ในพื้นที่สาธารณะ อีกทั้งยังใช้เป็นกลไกในการต่อต้านอำนาจการจดจำแบบเดิมที่มักลดทอนบทบาทของหญิงโสเภณีให้เป็นเพียงภาพตายตัวหรือสัญลักษณ์ของหญิงคนชั่วเพื่อทำให้ผู้ชมเริ่มตระหนักว่าประวัติศาสตร์ของหญิงชั้นล่างก็มีความหมายไม่แพ้กัน ดังนั้นการข้ามภพข้ามชาติในละครนี้จึงไม่ใช่เพื่อพบรักหรือเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ หากแต่เพื่อฟื้นคืนความทรงจำร่วมของกลุ่มคนที่ไร้ปากเสียงและถูกลบเลือนในหน้าประวัติศาสตร์

 

บทสรุป : ความทรงจำร่วมของ ‘ห่าน’ และอุดมการณ์รัฐของ ‘หงส์’ ในละครแนวข้ามภพ

           ละครโทรทัศน์อิงประวัติศาสตร์แนวข้ามภพข้ามชาติของไทยมักตั้งอยู่บนกรอบอุดมการณ์ของรัฐชาติและประวัติศาสตร์กระแสหลักที่ยึดศูนย์กลางของชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ไว้เป็นหัวใจของการเล่าเรื่อง โดยสร้างตัวละครนางเอกที่บริสุทธิ์เพียบพร้อมประดุจดัง “หงส์” ให้เป็นภาพแทนของหญิงไทยในอุดมคติย้อนอดีตกลับไปสู่ยุคที่บ้านเมืองยังดี ความทรงจำที่ถูกรื้อฟื้นผ่านละครประเภทนี้จึงมักอยู่ในกรอบของความหวนหาอดีต (Nostalgia) ที่นำเสนอภาพของอดีตที่สงบ สวยงาม และศักดิ์สิทธิ์ มากกว่าจะตั้งคำถามเชิงวิพากษ์ต่อประวัติศาสตร์ที่ตนเองเดินทางไปพบเจอ แต่ละครโทรทัศน์เรื่อง “คุณพี่เจ้าขาดิฉันเป็นห่านมิใช่หงส์” ได้ฉีกขนบดังกล่าวโดยวางโครงเรื่องผ่านมุมมองของหญิงโสเภณีที่เปรียบดัง “ห่าน” ให้เป็นภาพแทนของหญิงที่ถูกตีตราว่าไร้ค่าในประวัติศาสตร์อย่าง “บุญตา” ผ่านมุมมองของหญิงสาวยุคใหม่อย่าง “นิทรา” ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบัน และเปิดพื้นที่ให้กับความทรงจำชายขอบที่เคยถูกกดทับหรือถูกทำให้ลืมเลือนในระบบความทรงจำของรัฐ

          ละครโทรทัศน์ย้อนยุคแนวข้ามภพข้ามชาติโดยทั่วไปมักมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเดินทางข้ามกาลเวลาของตัวละครเอกจากเวลา ณ ปัจจุบันที่ตนเองอยู่ย้อนอดีตไปยังยุคสมัยใดยุคสมัยหนึ่งในประวัติศาสตร์ เพื่อเผชิญกับอุปสรรคและความแตกต่างของยุคสมัย โดยนำไปสู่ความเข้าใจในอดีตและการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ส่งผลต่อความรักของตัวละครเอกในตอนท้ายเรื่องมักนำเสนอแก่นที่ว่าไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงอดีตได้และอดีตมีความน่าอภิรมย์กว่าโลกปัจจุบันตัวอย่างละครโทรทัศน์ที่ใช้กลวิธีการเล่าเรื่องแนวนี้เช่นเรื่องบุพเพสันนิวาส (2561), อตีตา (2544), (2559) นิราศสองภพ (2545), และทวิภพ (2537), (2554)เป็นต้น

          กลวิธีการเล่าเรื่องละครอิงประวัติศาสตร์แนวข้ามภพข้ามชาติมักพบในละครอิงประวัติศาสตร์ยุคกรุงศรีอยุธยาครั้งบ้านเมืองยังดี ยุคกรุงแตก และยุคสยามยามเปลี่ยนผ่าน โดยตัวเอกมักเป็นชนชั้นกลางในยุคปัจจุบันเป็นผู้เล่าเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ ตัวร้ายมักเป็นชาวต่างชาติที่เข้ามารุกราน เช่น พม่า และฝรั่งที่เป็นชาติมหาอำนาจ รวมทั้งขุนนางชั่วในราชสำนัก โดยมีแก่นเรื่องคืออดีตไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ และอดีตมีความน่าอภิรมย์กว่าปัจจุบันซึ่งเป็นปรากฏการณ์โหยหาอดีตของผู้คนในสังคม ถ่ายทอดจากมุมมองการเล่าเรื่องที่มีเมืองหลวงเป็นศูนย์กลาง โดยมีอุดมการณ์แบบชาตินิยมและราชาชาตินิยมเป็นส่วนใหญ่ สามารถสรุปเป็นแผนภาพแสดงกลวิธีการเล่าเรื่องละครอิงประวัติศาสตร์แนวข้ามภพข้ามชาติทั่วไปได้ดังนี้

แผนภาพแสดงกลวิธีการเล่าเรื่องละครอิงประวัติศาสตร์แนวข้ามภพข้ามชาติ

 

           แต่ละครโทรทัศน์เรื่อง “คุณพี่เจ้าขาดิฉันเป็นห่านมิใช่หงส์” ใช้กลวิธีการเล่าเรื่องที่แตกต่างออกไปโดยใช้ตัวละคร “นิทรา” ในฐานะผู้เดินทางข้ามภพไปเผชิญกับอดีตทำหน้าที่เป็นกลไกการสื่อสารความทรงจำของ “บุญตา” ต่อผู้ชมยุคปัจจุบัน ซึ่งมิใช่การยกย่องอดีต หากเป็นการเปิดพื้นที่ให้ความเจ็บปวดและโศกนาฏกรรมของหญิงในระบบซ่อง โดยเฉพาะหญิงจากชนชั้นล่างหรือแม้กระทั่งหญิงชนชั้นสูงที่ตกเป็นเหยื่อของระบบชายเป็นใหญ่ได้ถูกนำเสนออย่างมีศักดิ์ศรีและความเข้าใจในเชิงมนุษยนิยม ในขณะที่ภาพของ “หงส์” หรือหญิงในอุดมคติที่ปรากฏในละครย้อนยุคแนวข้ามภพข้ามชาติทั่วไปมักถูกผูกติดกับคุณค่าความงาม ความดี และความบริสุทธิ์ทางศีลธรรม แต่ “ห่าน” อย่าง “บุญตา” กลับเป็นตัวแทนของผู้หญิงที่ถูกตราหน้าว่าเป็นมลทินหรือจุดด่างพร้อยในสังคม ความกล้าหาญของละครเรื่องนี้จึงอยู่ที่การสร้างพื้นที่ให้กับความทรงจำของผู้หญิงชายขอบเหล่านี้กลับมามีตัวตนพร้อมกับยืนยันว่าความทรงจำในอดีตมีความหลากหลายและไม่ควรถูกกลบเกลื่อนด้วยภาพจำที่สวยงามเพียงด้านเดียว

           ละครโทรทัศน์เรื่อง “คุณพี่เจ้าขาดิฉันเป็นห่านมิใช่หงส์” จึงมิใช่เพียงละครแนวย้อนยุคข้ามภพข้ามชาติเพื่อย้อนกลับไปถวิลหาอดีตที่สงบงามตามอุดมคติ หากแต่เป็นความพยายามในการรื้อถอนอุดมการณ์ที่เคยกำกับความทรงจำเกี่ยวกับอดีตมาโดยตลอด และเปิดพื้นที่ในการตั้งคำถามว่า “อดีตแบบใดที่เราจดจำ ?” อดีตของชนชั้นสูง วีรบุรุษผู้กล้า และแม่หญิงแสนดีแบบที่รัฐเคยบอกเรามา หรืออดีตของคนชายขอบ ผู้ถูกกดขี่ และผู้ที่ไม่เคยมีพื้นที่ให้จดจำอย่างเท่าเทียมในฐานะมนุษย์.

Visitors: 97,351